พันธสัญญาใหม่ 2023
30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: “พระ‍เยซู​คริสต์ ‘แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​’”


“30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระเยซูคริสต์ “แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์,”’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
พระคริสต์ทรงยืนอยู่กับเด็กสาวคนหนึ่ง

ยารักษาแห่งกิเลอาด โดย แอนนี เฮนรี

30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน

ฮีบรู 1–6

พระเยซูคริสต์ “แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์”

การบันทึกความประทับใจทางวิญญาณช่วยให้ท่านรับรู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงต้องการสอนอะไรท่าน การทำตามความประทับใจของท่านแสดงให้เห็นศรัทธาของท่านว่าการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นมีจริง

บันทึกความประทับใจของท่าน

เราแต่ละคนต้องสละบางสิ่งบางอย่างเพื่อยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์—นิสัยไม่ดี ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะไม่ควร หรืออื่นๆ สำหรับคนต่างชาติในศาสนจักรของคริสต์ศาสนิกชนยุคแรก การเปลี่ยนใจเลื่อมใสมักหมายถึงการละทิ้งพระเจ้าปลอม แต่สำหรับคนฮีบรู (หรือชาวยิว) การเปลี่ยนใจเลื่อมใสยากกว่านั้นหรือไม่ก็ซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและประเพณีที่พวกเขาหวงแหนหยั่งรากในการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ ย้อนกลับไปหลายพันปี กระนั้นเหล่าอัครสาวกก็ยังสอนว่ากฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผลในพระเยซูคริสต์แล้วและเวลานี้กฎที่สูงกว่าเป็นมาตรฐานสำหรับผู้เชื่อ การยอมรับศาสนาคริสต์หมายความว่าชาวฮีบรูต้องทิ้งความเชื่อเดิมและความเป็นมาของพวกเขาอย่างนั้นหรือ? สาส์นถึงชาวฮีบรูมุ่งหมายจะช่วยตอบคำถามเหล่านั้นโดยสอนว่ากฎของโมเสส ศาสดาพยากรณ์ และศาสนพิธีล้วนสำคัญ แต่พระเยซูคริสต์สำคัญยิ่งกว่า (ดู ฮีบรู 1:1–4; 3:1–6; 7:23–28) ความจริงคือ สิ่งทั้งหมดนี้ชี้ไปที่พระคริสต์และเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ผู้ที่ชาวยิวรอคอย

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสในสมัยแรกและในปัจจุบันหมายถึงการทำให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของการนมัสการและเป็นศูนย์กลางในชีวิตเรา ซึ่งหมายถึงการยึดมั่นความจริงและปล่อยวางสิ่งที่ทำให้เราเขวไปจากพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็น “แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์สำหรับทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์” (ฮีบรู 5:9)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ใครเขียนสาส์นถึงชาวฮีบรู?

นักวิชาการบางคนสงสัยว่าเปาโลเขียนสาส์นถึงชาวฮีบรูหรือไม่ รูปแบบการเขียนฮีบรูต่างจากจดหมายฉบับอื่นของเปาโล และเนื้อหาฉบับแรกๆ ไม่มีชื่อผู้เขียน อย่างไรก็ดี เพราะแนวคิดที่กล่าวไว้ในฮีบรูสอดคล้องกับคำสอนอื่นของเปาโล วิสุทธิชนจึงยอมรับกันทั่วไปตามประเพณีชาวคริสต์ว่าอย่างน้อยเปาโลน่าจะมีส่วนในการเขียนสาส์นฉบับนี้

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล” ด้วย

ฮีบรู 1–5

พระเยซูคริสต์ทรงมี “แก่นแท้เดียวกับ” พระบิดาบนสวรรค์

ชาวยิวจำนวนมากรู้สึกว่ายากจะยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า สังเกตว่าสาส์นถึงชาวฮีบรูเป็นพยานถึงพระองค์อย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านอ่านห้าบทแรก ท่านอาจเขียนรายชื่อพระนาม บทบาท พระคุณลักษณะ และงานของพระเยซูคริสต์ที่กล่าวไว้ในนั้นออกมาเป็นข้อๆ สิ่งเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด? สิ่งเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์?

ข้อความต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้ความเข้าใจเพิ่มเติมอะไรเกี่ยวกับคำสอนในบทเหล่านี้ “พระเยซู … เสด็จมาเพื่อปรับทัศนะของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและขอร้องให้พวกเขารักพระบิดาบนสวรรค์ดังที่พระองค์ทรงรักพวกเขาตลอดมาและจะรักตลอดไป … เมื่อพระองค์ทรงให้อาหารคนหิวโหย รักษาคนป่วย ตำหนิความหน้าซื่อใจคด วิงวอนขอศรัทธา—นี่คือพระคริสต์ผู้ทรงกำลังแสดงให้เราเห็นทางของพระบิดา” (“ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 86)

ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8

พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ทุกสิ่งเพื่อพระองค์จะทรงเข้าใจและช่วยฉันเมื่อฉันทนทุกข์

ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าท่านสามารถ “เข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า” และแสวงหาความเมตตา? (ฮีบรู 4:16) ข่าวสารหนึ่งของสาส์นถึงชาวฮีบรูคือแม้เราจะมีบาปและความอ่อนแอ แต่เราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าและรับพระคุณของพระองค์ได้ ท่านพบอะไรใน ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8 ที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของท่านว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านเรื่องความท้าทายในชีวิตมรรตัยของท่าน? ท่านอาจบันทึกความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อท่านลงในบันทึกส่วนตัวของท่าน

ดู โมไซยาห์ 3:7–11; แอลมา 7:11–13; 34; แมทธิว เอส. ฮอลแลนด์, “ของประทานอันเป็นที่สุดแห่งพระบุตร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 45–47 ด้วย

ฮีบรู 3:74:11

พรของพระผู้เป็นเจ้ามีให้แก่คนที่ “หาทำใจ [ของพวกเขา] แข็งกระด้างไม่”

เปาโลเล่าเรื่องชาวอิสราเอลสมัยโบราณอีกครั้งโดยหวังจะชักชวนชาวยิวให้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่บรรพชนของตนทำมาแล้ว—นั่นคือการปฏิเสธพรของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความไม่เชื่อ (ท่านสามารถอ่านเรื่องที่เปาโลพาดพิงได้ใน กันดารวิถี 14:1–12, 26–35)

พิจารณาว่าจะประยุกต์ใช้ ฮีบรู 3:74:11 กับท่านอย่างไร เพื่อทำเช่นนี้ ท่านอาจจะไตร่ตรองคำถามทำนองนี้

  • ชาวอิสราเอลกบฏต่อพระเจ้าอย่างไร? (ดู ฮีบรู 3:8–11) อะไรคือผลของการมีจิตใจดื้อรั้น?

  • ฉันยอมให้จิตใจฉันดื้อรั้นเมื่อใด? มีพรใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการมอบให้ฉันที่ฉันไม่รับเพราะขาดศรัทธาหรือไม่?

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาใจที่สำนึกผิดและอ่อนโยน? (ดู อีเธอร์ 4:15; สุภาษิต 3:5–6; แอลมา 5:14–15)

ดู 1 นีไฟ 2:16; 15:6–11; ยาโคบ 1:7–8; แอลมา 12:33–36 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

ฮีบรู 1:8–9พระเยซูทรงแสดงให้เห็นในวิธีใดว่าทรงรักความชอบธรรมและเกลียดชังความชั่วช้าสามานย์? ถ้าเรามีความปรารถนาไม่ชอบธรรม เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนความปรารถนานั้น?

ฮีบรู 2:1–4ท่านพอจะนึกถึงบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงหรือไม่ที่จะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจความหมายของการตั้งมั่นอยู่บนความจริงพระกิตติคุณ “ที่เราได้ยิน”? ท่านอาจจะอธิบายเรื่องนี้โดยใช้ของที่จับไว้ให้มั่นได้ยาก การพยายามรักษาประจักษ์พยานของเราเหมือนกับการจับของชิ้นนั้นไว้ให้มั่นอย่างไร? เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราได้ยิน” ไม่ “ห่างไกล” ไปจากเรา? (ข้อ 1)

ฮีบรู 2:9–10เพื่อสำรวจวลี “ผู้เบิกทางสู่ความรอดของพวกเขา” ท่านอาจจะเริ่มโดยสนทนาว่าผู้เบิกทางทำอะไร ความรอดหมายความว่าอย่างไร? พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเสมือนผู้เบิกทางให้เราและความรอดของเราอย่างไร?

ฮีบรู 5:1–5ข้อเหล่านี้จะช่วยให้ท่านได้สนทนาความหมายของการได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าโดยผู้มีสิทธิอำนาจ เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับการรับและทำการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผล?

ภาพ
โมเสสแต่งตั้งอาโรน

“ไม่‍มีใครรับตำ‌แหน่งอันมีเกียรตินี้เองได้ เว้น‍แต่พระ‍เจ้าทรงเรียกเขา เหมือนอย่างทรงเรียกอา‌โรน” (ฮีบรู 5:4) โมเสสเรียกอาโรนสู่การปฏิบัติศาสนกิจ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงสวดที่แนะนำ: “ขอพึ่งพระทุกโมงยามเพลงสวด บทเพลงที่ 44

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

ลองใช้หลายๆ วิธี แทนที่จะศึกษาพระคัมภีร์แบบเดิมทุกครั้ง ลองพิจารณาหลายๆ แนวคิด ดูแนวคิดบางอย่างได้ใน “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” ตอนต้นหนังสือเล่มนี้

ภาพ
พระเยซูคริสต์

แสงสว่างของโลก โดย วอลเตอร์ เรน