พันธสัญญาใหม่ 2023
20–26 พฤศจิกายน 1 และ 2 เปโตร: “ชื่น‍ชม​ยินดีด้วย​ความ​ยินดี​เป็น​ล้น​พ้น​สุด​จะ​พรรณ‌นา”


“20–26 พฤศจิกายน 1 และ 2 เปโตร: ‘ชื่นชมยินดีด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“20–26 พฤศจิกายน 1 และ 2 เปโตร,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณ

พระคริสต์ทรงสั่งสอนในโลกวิญญาณ โดย โรเบิร์ต ที. บาร์เรตต์

20–26 พฤศจิกายน

1 และ 2 เปโตร

“ชื่น‍ชม​ยินดีด้วย​ความ​ยินดี​เป็น​ล้น​พ้น​สุด​จะ​พรรณ‌นา”

ขณะที่ท่านอ่าน สาส์นของเปโตร ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้ลงมือ บันทึกทันทีขณะที่ท่าน “ยังอยู่ในพระวิญญาณ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:80) เพื่อให้ท่านสามารถจับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนได้อย่างแม่นยำ

บันทึกความประทับใจของท่าน

หลังจากฟื้นคืนพระชนม์ไม่นาน พระผู้ช่วยให้รอดตรัสคำพยากรณ์ที่ทำให้เปโตรวุ่นวายใจ พระองค์ตรัสว่าเปโตรจะถูกสังหารเป็นมรณสักขีเพราะศรัทธาของเขา โดยถูกพาไป “ที่ที่ [เขา] ไม่ปรารถนาจะไป … เพื่อชี้ให้เห็นว่าเปโตรจะถวายเกียรติพระเจ้าด้วยการตายแบบใด” (ยอห์น 21:18–19) หลายปีต่อมา เมื่อเปโตรเขียนสาส์นของเขา เขารู้ว่ามรณสักขีที่พยากรณ์ไว้นี้จวนจะเกิดขึ้นแล้ว “อีกไม่นานข้าพเจ้าก็จะตาย ดังที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงแจ้งแก่ข้าพเจ้าแล้ว” (2 เปโตร 1:14) ทว่าคำพูดของเปโตรไม่ได้เจือความกลัวหรือการมองโลกในแง่ร้าย เขากลับสอนให้วิสุทธิชน “ชื่นชมยินดี” ทั้งที่พวกเขา “ทนทุกข์ในการทดลองต่างๆ นานา” เขาแนะนำคนเหล่านั้นให้จดจำว่า “การทดสอบความเชื่อ [ของพวกเขา]” จะนำไปสู่ “การสรรเสริญ ศักดิ์ศรี และเกียรติในเวลาที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาปรากฏ” และสู่ “ความรอดแห่งวิญญาณจิต [ของพวกเขา]” (1 เปโตร 1:6–7, 9) ศรัทธาของเปโตรต้องปลอบโยนวิสุทธิชนยุคแรกเหล่านั้นแน่นอน อีกทั้งให้กำลังใจวิสุทธิชนในปัจจุบันผู้ “มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระคริสต์ เพื่อว่าเมื่อพระสิริของพระองค์ปรากฏ [พวกเรา] ก็จะชื่นชมยินดีจนเนื้อเต้น” (1 เปโตร 4:13)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19

ฉันสามารถพบปีติระหว่างช่วงเวลาของการทดลองและการทนทุกข์

ช่วงหลังการตรึงกางเขนของพระคริสต์ไม่ใช่เวลาง่ายที่จะเป็นคริสต์ศาสนิกชน และสาส์นฉบับแรกของเปโตรยอมรับว่า ในสี่บทแรก ท่านจะสังเกตเห็นคำและวลีที่บรรยายถึงความยากลำบาก: ทนทุกข์ ความเจ็บปวด ทุกข์ยาก แสนสาหัส และ ความทุกข์ยาก (ดู 1 เปโตร 1:6; 2:19; 4:12–13) แต่ท่านยังจะสังเกตเห็นคำที่ดูปีติยินดี—ท่านอาจต้องการแจกแจงสิ่งที่พบ ตัวอย่างเช่น ขณะที่ท่านอ่าน 1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; และ 4:12–19 อะไรให้ความหวังแก่ท่านว่าท่านสามารถพบปีติแม้ท่ามกลางสภาวการณ์ยุ่งยากทั้งหลาย?

ท่านอาจจะอ่านข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 81–84) และมองหาความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งที่เปโตรสอนกับสิ่งที่ประธานเนลสันสอน อะไรคือแผนแห่งความรอดและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่ให้ปีติแก่ท่าน?

ดู เอ็ลเดอร์ริคาร์โด พี. ฮิเมเนซ, “พบที่พักพิงจากมรสุมชีวิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 101–103 ด้วย

1 เปโตร 3:18–20; 4:1–6

มีการสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตายเพื่อพวกเขาจะได้รับการพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม

วันหนึ่งแต่ละคนจะยืนที่บัลลังก์พิพากษาและ “ให้การต่อพระองค์ ผู้พร้อมแล้วที่จะทรงพิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย” (1 เปโตร 4:5) พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตัดสินทุกคนอย่างยุติธรรมได้อย่างไรในเมื่อโอกาสที่พวกเขาจะเข้าใจและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณต่างกัน? สังเกตว่าหลักคำสอนที่เปโตรสอนใน 1 เปโตร 3:18–20; 4:6 ช่วยตอบคำถามนี้อย่างไร ข้อเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของท่านในความเป็นธรรมและความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

เพื่อสำรวจหลักคำสอนนี้เพิ่มเติม ให้ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 138 ซึ่งเป็นการเปิดเผยที่ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธได้รับขณะไตร่ตรองข้อเขียนเหล่านี้ของเปโตร ประธานสมิธเรียนรู้ความจริงอะไรอีกบ้าง?

2 เปโตร 1:1–11

โดยผ่านเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ ฉันสามารถพัฒนาธรรมชาติอันสูงส่งของฉันได้

ท่านรู้สึกไหมว่าการเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์และการพัฒนาคุณลักษณะของพระองค์ไม่อยู่ในวิสัยที่ท่านทำได้? เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ให้ความคิดสนับสนุนต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ “คุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอด … เป็นอุปนิสัยผสมผสาน เสริมกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเราด้วยวิธีที่ส่งผลต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่สามารถได้รับอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์อย่างหนึ่งโดยไม่ได้รับและมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยอื่นด้วย เมื่ออุปนิสัยหนึ่งมั่นคง อุปนิสัยอีกมากมายมั่นคงเช่นกัน” (“เป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าของเราพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 46)

ภาพ
งานถักทออย่างประณีต

คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์แต่ละข้อที่เราพัฒนาช่วยเราถักทอผืนผ้าทางวิญญาณแห่งความเป็นสานุศิษย์

ขณะที่ท่านอ่าน 2 เปโตร 1:1–11 ให้ไตร่ตรองคุณลักษณะ “แห่งสวรรค์” ที่แสดงรายการข้อเหล่านี้ จากประสบการณ์ของท่าน คุณลักษณะ “ผสมผสาน” อย่างไรตามที่เอ็ลเดอร์เฮลส์อธิบายไว้? คุณลักษณะต่อยอดจากกันและกันได้อย่างไร? ท่านเรียนรู้อะไรอีกจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับกระบวนการของการเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น?

ท่านอาจไตร่ตรอง “พระสัญญาอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่” ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนของพระองค์—รวมทั้งท่านด้วย (2 เปโตร 1:4) ข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “พระสัญญาอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่” (เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 90–93) สามารถช่วยให้ท่านเข้าใจว่าคำสัญญาเหล่านั้นคืออะไรและจะรับอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

1 เปโตร 2:5–10ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้กับครอบครัวท่าน ท่านอาจจะใช้ก้อนหินช่วยให้สมาชิกครอบครัวเห็นภาพคำสอนของเปโตรที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น “ศิลาหัวมุม” ของเรา เราเหมือน “ศิลาที่มีชีวิต” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังใช้สร้างอาณาจักรของพระองค์อย่างไร? เราเรียนรู้อะไรจากเปโตรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและบทบาทของเราในอาณาจักรของพระองค์? อะไรคือข่าวสารของเปโตรถึงครอบครัวท่าน?

1 เปโตร 3:8–17เราจะ “เตรียมพร้อมเสมอที่จะอธิบาย” กับคนที่ถามเราเกี่ยวกับความเชื่อของเราได้อย่างไร? ครอบครัวท่านอาจจะชอบแสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ซึ่งมีคนสอบถามพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

1 เปโตร 3:18–20; 4:6ครอบครัวของท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้รู้สึกเชื่อมโยงกับบรรพชน? บางทีท่านอาจฉลองวันเกิดของบรรพชนผู้ล่วงลับโดยเตรียมอาหารมื้อโปรด ดูภาพ หรือเล่าเรื่องจากชีวิตของพวกเขา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านอาจจะวางแผนรับศาสนพิธีแทนบรรพชนของท่านในพระวิหารด้วย (สำหรับความช่วยเหลือ โปรดไปที่ FamilySearch.org)

2 เปโตร 1:16–21ในข้อเหล่านี้ เปโตรเตือนให้วิสุทธิชนนึกถึงประสบการณ์ของเขาบนภูเขาแห่งการจำแลงพระกาย (ดู มัทธิว 17:1–9) เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับคำสอนของศาสดาพยากรณ์? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38 ด้วย) อะไรทำให้ท่านมั่นใจในการทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ฉันกำลังทำประวัติครอบครัวหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 100

ปรับปรุงการสอนของเรา

“จงเตรียมพร้อมเสมอ” ช่วงการสอนอย่างไม่เป็นทางการที่บ้านมาเร็วและไปเร็ว ดังนั้นจึงสำคัญที่ต้องใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ท่านจะพยายาม “เตรียมพร้อมเสมอ” ที่จะสอนความจริงพระกิตติคุณแก่สมาชิกครอบครัวท่านและแบ่งปัน “ความหวัง [ที่อยู่ในท่าน]” (1 เปโตร 3:15) ได้อย่างไรเมื่อช่วงการสอนเกิดขึ้น? (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 16)

ภาพ
เปโตรสั่งสอนคนกลุ่มหนึ่ง

ถึงแม้เปโตรประสบการข่มเหงและการต่อต้านมากมาย แต่เขายังคงแน่วแน่ในประจักษ์พยานถึงพระคริสต์