พันธสัญญาใหม่ 2023
30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: “พระ‍เยซู​คริสต์ ‘แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​’​”


“30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระเยซูคริสต์ “​แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์,”’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2021)

“30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
พระคริสต์ทรงยืนอยู่กับเด็กสาว

ยารักษาแห่งกิเลอาด โดย แอนนี เฮนรี

30 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน

ฮีบรู 1–6

พระเยซูคริสต์ “​แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​”

ท่านพบความจริงใดใน ฮีบรู 1–6 ที่ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้สอนเด็ก? ตั้งใจฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณขณะที่ท่านเตรียม และให้จดบันทึกไว้ด้วย

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เด็กยอมรับคำเชื้อเชิญเมื่อสิ้นสุดบทเรียนของสัปดาห์ที่แล้วหรือไม่ที่ให้หาข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาจะแบ่งปันได้? หากใช่ ให้เวลาพวกเขาแบ่งปัน หากไม่ ช่วยพวกเขานึกถึงบางสิ่งที่เรียนรู้จากพระคัมภีร์เมื่อไม่นานมานี้ที่พวกเขาจะแบ่งปันได้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

ฮีบรู 1:1–10; 2:8–10, 17–18

ฉันเชื่อในพระเยซูคริสต์

ข้อเหล่านี้สามารถช่วยเด็กเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน ฮีบรู 1:1–10; 2:8–10, 17–18 และเขียนลงบนกระดาษ ซ่อนกระดาษไว้รอบห้องและเชิญให้เด็กค้นหา ช่วยพวกเขาอ่านความจริงที่เขียนบนกระดาษ และพูดคุยกันว่าความจริงเหล่านี้หมายถึงอะไร หากจำเป็น อธิบายว่าเราเรียกพระเยซูว่าพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเพราะพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระบิดาทั้งทางวิญญาณและร่างกายของพระองค์

  • ชูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและแบ่งปันว่าทำไมท่านขอบพระทัยสำหรับพระองค์ ให้เด็กแต่ละคนผลัดกันถือภาพแล้วแบ่งปันว่าทำไมเขาจึงขอบพระทัยสำหรับพระเยซูคริสต์

ฮีบรู 3:8

พระบิดาบนสวรรค์ทรงขอ “อย่าให้จิตใจ [ของเรา] ดื้อรั้น”

ฮีบรู 3 บรรยายถึงชาวอิสราเอลที่มีจิตใจดื้อรั้นและปฏิเสธพรของพระเจ้า สิ่งนี้สามารถเตือนเราทุกคนว่าอย่าให้จิตใจเราดื้อรั้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • นำสิ่งที่ซับน้ำได้ดีมาชั้นเรียน (เช่น ฟองน้ำหรือผ้าขนหนู) และบางสิ่งที่แข็ง (เช่น ก้อนหิน) เชื้อเชิญให้เด็กสัมผัสสิ่งของดังกล่าวและบรรยายว่าสิ่งของเหล่านั้นรู้สึกอย่างไร หยดน้ำสองสามหยดลงบนสิ่งของแต่ละชิ้น และชี้ให้เห็นว่าน้ำซึมเข้าไปในฟองน้ำมากกว่าก้อนหิน อธิบายว่าใจของเราต้องอ่อนและไม่แข็งกระด้างเพื่อที่เราจะยอมรับความจริงและความรักของพระบิดาบนสวรรค์

  • ตัดรูปหัวใจออกจากวัสดุที่อ่อนนิ่ม เช่น ผ้า และวัสดุที่แข็งกว่า เช่น กระดาษแข็ง สนทนากับเด็กถึงความแตกต่างระหว่างการมีใจที่อ่อนโยนกับการมีใจที่แข็งกระด้าง แบ่งปันตัวอย่างจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับคนที่มีใจอ่อนโยนหรือคนใจแข็งกระด้าง เช่น นีไฟ เลมัน และเลมิวเอล (1 นีไฟ 2:16–19); เปาโล (กิจการของอัครทูต 9:1–22) หรือโจเซฟ สมิธ (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–20) ขณะที่ท่านแบ่งปันตัวอย่าง เชื้อเชิญให้เด็กชี้ไปที่ใจอ่อนโยนหรือใจแข็งกระด้าง

ภาพ
โมเสสแต่งตั้งอาโรน

“พระเจ้าทรงเรียก” อาโรน (ฮีบรู 5:4) โมเสสเรียกอาโรนสู่การปฏิบัติศาสนกิจ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ฮีบรู 5:4

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

ฮีบรู 5:4 เป็นข้อที่สำคัญเพราะข้อนี้ขยายความว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับใครก็ตามที่ถูกเรียกให้มารับใช้ในศาสนจักรของพระเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน ฮีบรู 5:4 ให้เด็กฟัง ขอให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งอธิบายว่าฐานะปุโรหิตคืออะไร เขาอาจแบ่งปันวิธีที่เขารับใช้ผู้อื่นขณะทำหน้าที่ของเขาให้สำเร็จ ขอให้พี่น้องสตรีคนหนึ่งในวอร์ดแบ่งปันประสบการณ์ของเธอที่ได้รับการวางมือมอบหน้าที่สู่การเรียกในศาสนจักรด้วย กระตุ้นให้เธอแบ่งปันว่าพระเจ้าประทานพรเธอด้วยพลังอำนาจที่จะทำการเรียกของเธอให้สำเร็จอย่างไร

  • ช่วยให้เด็กท่องจำวลีจากหลักแห่งความเชื่อข้อห้า แสดงประจักษ์พยานว่าคนที่ได้รับเรียกให้ทำงานของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับเรียกโดยพระผู้เป็นเจ้าผ่านการเปิดเผย

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

ฮีบรู 1:1–10; 2:8–10, 17–18

ฉันเชื่อในพระเยซูคริสต์

สาส์นถึงชาวฮีบรู เขียนขึ้นเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของวิสุทธิชนชาวฮีบรูในพระเยซูคริสต์ สามารถทำแบบเดียวกันได้กับเด็กที่ท่านสอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • มอบหมายข้อพระคัมภีร์สองสามข้อใน ฮีบรู 1:1–10; 2:8–10, 17–18 ให้เด็กแต่ละคนและเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในข้อเหล่านั้น ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบหรือเขียนบนกระดาน เรารู้อะไรอีกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? เด็กอาจหาแนวคิดจากเพลง เช่น “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 59) หรือ “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21)

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปตนเองกับพ่อแม่ของพวกเขา ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขามีเหมือนกับพ่อแม่ของพวกเขา อธิบายว่าเมื่อ ฮีบรู 1:3 บอกว่าพระเยซูคริสต์ทรงมี “แก่น‍แท้​เดียว​กับ [​พระ‍ผู้เป็นเจ้า]” นั่นหมายความว่าพระเยซูและพระบิดาบนสวรรค์ทรงมีคุณสมบัติและคุณลักษณะเหมือนกัน พูดคุยกับเด็กว่าการติดตามพระเยซูคริสต์จะนำเราเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นได้อย่างไร

ฮีบรู 3:7–19

เพื่อจะรับคำแนะนำและพรของพระบิดาบนสวรรค์ เราต้อง “อย่าให้จิตใจ [ของเรา] ดื้อรั้น”

ใน ฮีบรู 3 เรื่องราวของชาวอิสราเอลในแดนทุรกันดารใช้สอนความสำคัญของการไม่ทำให้ใจของเราดื้อรั้น ท่านจะใช้เรื่องนี้สอนเด็กในชั้นเรียนของท่านถึงหลักธรรมนี้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่แข็งและนุ่ม (ถ้าเป็นไปได้นำตัวอย่างมาให้พวกเขาดู) อ่าน ฮีบรู 3:8 ด้วยกัน การมีใจดื้อรั้นหมายความว่าอย่างไร? เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงต้องการให้เรามีใจที่อ่อนโยน?

  • ในถ้อยคำของท่านเอง เล่าเรื่องราวที่ชาวอิสราเอลมีใจดื้อรั้นต่อพระเจ้าในแดนทุรกันดาร (ดู กันดารวิถี 14:1–12; ฮีบรู 3:7–19) ให้เด็กแสดงท่าทางประกอบเรื่องราว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำใจดื้อรั้นต่อพระเจ้าและพระกิตติคุณของพระองค์?

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน มัทธิว 13:15; ฮีบรู 3:15; โมไซยาห์ 11:29; และ โมเสส 6:27 ให้พวกเขาวาดรูปส่วนต่างๆ ของร่างกายที่กล่าวถึงในข้อเหล่านี้ การมีหูตึง ตาบอด และใจดื้อรั้นทางวิญญาณมีความหมายว่าอย่างไร? เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าหู ตา และใจของเราพร้อมจะจดจำสุรเสียงของพระวิญญาณ?

ฮีบรู 5:1–4

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

ฮีบรู 5 ให้โอกาสสนทนาว่าฐานะปุโรหิตคืออะไร—พลังอำนาจและสิทธิอำนาจที่จะกระทำในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า—และวิธีได้รับฐานะปุโรหิต

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพ โมเสสมอบฐานะปุโรหิตให้อาโรน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 15) ขณะที่เด็กคนหนึ่งอ่าน ฮีบรู 5:4 อธิบายว่าฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนตั้งชื่อตามอาโรน ช่วยเด็กนึกถึงหน้าที่ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน (เช่น การให้บัพติศมา การให้พรและส่งผ่านศีลระลึก และการเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์ ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:46–48, 59)

  • ช่วยเด็กนึกถึงวิธีต่างๆ ที่ผู้คนได้รับสิทธิอำนาจ ตัวอย่างเช่น ครู หมอ ผู้นำทางการเมืองได้รับสิทธิอำนาจอย่างไร? พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิอำนาจของพระองค์อย่างไร? เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงคำถามนี้ขณะที่พวกเขาอ่าน ฮีบรู 5:4 และหลักแห่งความเชื่อข้อห้า ช่วยให้เด็กนึกถึงผู้คนในวอร์ดที่มีสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า—รวมถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิต ตลอดจนชายและหญิงที่ได้รับการวางมือมอบหน้าที่เพื่อรับใช้ในการเรียกที่เจาะจง

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันพระคัมภีร์ เพลง หรือกิจกรรมที่พวกเขาเรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้กับครอบครัวของพวกเขาในกิจกรรมยามค่ำที่บ้าน

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กสามารถรับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณ สอนเด็กว่าความรู้สึกถึงสันติ ความรัก และความอบอุ่นที่พวกเขามีเมื่อพวกเขาพูดหรือร้องเพลงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์