จงตามเรามา
25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 1 และ 2 เปโตร: ‘ชื่นชมยินดีด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา’


“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 1 และ 2 เปโตร: ‘ชื่นชมยินดีด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 1 และ 2 เปโตร” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณ

พระคริสต์ทรงสั่งสอนในโลกวิญญาณ โดย โรเบิร์ต ที. บาร์เรตต์

25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม

1 และ 2 เปโตร

“ชื่นชมยินดีด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา”

ขณะที่ท่านอ่านสาส์นของเปโตร ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้ลงมือ บันทึกการกระตุ้นเตือนเหล่านี้ขณะท่าน “ยังอยู่ในพระวิญญาณ” (คพ. 76:80)

บันทึกความประทับใจของท่าน

หลังจากฟื้นคืนพระชนม์ไม่นาน พระผู้ช่วยให้รอดตรัสคำพยากรณ์ที่ทำให้เปโตรวุ่นวายใจ พระองค์ตรัสว่าเมื่อเปโตรแก่ตัว จะมีคนพาเขาไป “ที่ที่ [เขา] ไม่ปรารถนาจะไป … เพื่อชี้ให้เห็นว่าเปโตรจะถวายเกียรติพระเจ้าด้วยการตายแบบใด” (ยอห์น 21:18–19) เมื่อเปโตรเขียนสาส์นของเขา เขารู้ว่ามรณสักขีที่พยากรณ์ไว้นี้จวนเกิดขึ้นแล้ว “อีกไม่นานข้าพเจ้าก็จะตาย ดังที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงแจ้งแก่ข้าพเจ้าแล้ว” (2 เปโตร 1:14) โชคร้ายที่การข่มเหงรุนแรงเช่นนั้นเกิดขึ้นกับวิสุทธิชนทั่วไปในจังหวัดต่างๆ ของโรม กับคนที่เปโตรกำลังเขียนถึง (ดู 1 เปโตร 1:1) ทว่าคำพูดของเขาไม่เจือความกลัวหรือการมองโลกในแง่ร้าย เขากลับสอนวิสุทธิชนให้ “ชื่นชมยินดี” ทั้งที่พวกเขา “ทนทุกข์ในการทดลองต่างๆ นานา” เขาแนะนำคนเหล่านั้นให้จดจำว่า “การทดสอบความเชื่อ [ของพวกเขา]” จะนำไปสู่ “การสรรเสริญ ศักดิ์ศรี และเกียรติในเวลาที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาปรากฏ” และสู่ “ความรอดแห่งวิญญาณจิต [ของพวกเขา]” (1 เปโตร 1:6–7, 9) ศรัทธาของเปโตรต้องปลอบโยนวิสุทธิชนยุคแรกเหล่านั้นแน่นอน อีกทั้งให้กำลังใจวิสุทธิชนในปัจจุบันผู้ “มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระคริสต์ เพื่อว่าเมื่อพระสิริของพระองค์ปรากฏ [พวกเรา] ก็จะชื่นชมยินดีจนเนื้อเต้น” (1 เปโตร 4:13)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19

ฉันสามารถพบปีติในช่วงเวลาของการทดลองและความทุกข์

แวบแรกอาจดูแปลกที่เปโตรใช้คำอย่างเช่น ชื่นชมยินดี มีความสุข เกียรติ และ ยินดีจนเนื้อเต้น ร่วมกับคำที่เราใช้กับความยากลำบาก อาทิ ทนทุกข์ การทดลอง ความเจ็บปวด ความทุกข์ยากแสนสาหัส และ ความทุกข์ยาก (ดู 1 เปโตร 1:6; 2:19; 4:12—13) ข่าวสารของเปโตรถึงวิสุทธิชนยุคแรกเป็นข่าวสารเดียวกับที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอน “วิสุทธิชนมีความสุขได้ภายใต้สภาวการณ์ทุกรูปแบบ … “เมื่อศูนย์กลางของชีวิตเราอยู่ที่แผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า … และพระเยซูคริสต์กับพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้สึกปีติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น—หรือไม่เกิดขึ้น—ในชีวิตเรา ปีติมาจากพระองค์และมาเพราะพระองค์ พระองค์ทรงเป็นที่มาของปีติทั้งปวง” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82)

ขณะที่ท่านอ่าน 1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19 อะไรให้ความหวังแก่ท่านว่าท่านสามารถพบปีติแม้ท่ามกลางสภาวการณ์ยุ่งยากทั้งหลาย

1 เปโตร 3:18–20; 4:1–6

มีการสั่งสอนพระกิตติคุณให้คนตายเพื่อพวกเขาจะได้รับการพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม

วันหนึ่ง แต่ละคนจะยืนที่บัลลังก์พิพากษาและ “ให้การต่อพระองค์ผู้พร้อมแล้วที่จะทรงพิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย” (1 เปโตร 4:5) บางคนอาจจะสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงพิพากษาทุกคนอย่างยุติธรรมได้อย่างไรในเมื่อโอกาสที่พวกเขาจะเข้าใจและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณต่างกัน สังเกตหลักคำสอนที่เปโตรสอนใน 1 เปโตร 3:18–20; 4:6 เพื่อช่วยให้วิสุทธิชนในสมัยของเขาเข้าใจว่าการพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าเที่ยงธรรม ข้อเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของท่านในความเป็นธรรมและความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เพื่อศึกษาหลักคำสอนนี้เพิ่มเติม ให้สำรวจ หลักคำสอนและพันธสัญญา 138 ซึ่งเป็นการเปิดเผยที่ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธได้รับขณะไตร่ตรองข้อเขียนเหล่านี้ของเปโตร พรอะไรมาถึงคนที่ทำให้ศาสนพิธีของพระกิตติคุณเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกครอบครัวของเขาผู้สิ้นชีวิตและยังรอคอยศาสนพิธีเหล่านี้

ดู “Baptisms for the Dead,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

2 เปโตร 1:1–11

โดยผ่านเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ ฉันสามารถพัฒนาธรรมชาติอันสูงส่งของฉันได้

ท่านรู้สึกไหมว่าการเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์และการพัฒนาคุณลักษณะของพระองค์ไม่อยู่ในวิสัยที่ท่านทำได้ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ให้ความคิดสนับสนุนต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ “คุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอด … เป็นอุปนิสัยผสมผสาน เสริมกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเราด้วยวิธีที่ส่งผลต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่สามารถได้รับอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์อย่างหนึ่งโดยไม่ได้รับและมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยอื่นด้วย เมื่ออุปนิสัยหนึ่งมั่นคง อุปนิสัยอีกมากมายมั่นคงเช่นกัน” (“เป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าของเราพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 46)

ภาพ
ผืนพรมที่ถักทออย่างประณีต

คุณสมบัติเหมือนพระคริสต์แต่ละอย่างที่เราพัฒนาช่วยให้เราทักถอผืนพรมทางวิญญาณของการเป็นสานุศิษย์

ท่านอาจจะอ่าน 2 เปโตร 1:1–11 พร้อมกับข่าวสารของเอ็ลเดอร์เฮลส์ ท่านเรียนรู้อะไรจากอัครสาวกสองท่านนี้ที่ช่วยท่านขณะพยายามเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

ดู 1 เปโตร 4:8; เดวิด เอ. เบดนาร์, “พระสัญญาอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 90–93 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

1 เปโตร 2:5–10

ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้กับครอบครัวท่าน ท่านอาจจะใช้ก้อนหินช่วยให้สมาชิกครอบครัวเห็นภาพคำสอนของเปโตรที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น “ศิลาหัวมุม” ของเรา เราเหมือน “ศิลาที่มีชีวิต” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังใช้สร้างอาณาจักรของพระองค์อย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากเปโตรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและบทบาทของเราในอาณาจักรของพระองค์ อะไรคือข่าวสารของเปโตรถึงครอบครัวท่าน

1 เปโตร 3:8–17

เราจะ “เตรียมพร้อมเสมอที่จะอธิบาย” กับคนที่ถามเราเกี่ยวกับความเชื่อของเราได้อย่างไร ครอบครัวท่านอาจจะชอบแสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ซึ่งมีคนสอบถามพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

1 เปโตร 3:18–20; 4:6

ครอบครัวท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพชนผู้ล่วงลับ ในวันเกิดของบรรพชนคนหนึ่งที่สิ้นชีวิตแล้วท่านอาจจะทำอาหารจานโปรดของบรรพชนคนนั้น ติดภาพ หรือเล่าเรื่องราวจากชีวิตของเขา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านอาจจะวางแผนรับศาสนพิธีแทนบรรพชนคนนี้ในพระวิหารด้วย

2 เปโตร 1:16–21

ในข้อเหล่านี้ เปโตรเตือนให้วิสุทธิชนนึกถึงประสบการณ์ของเขาบนภูเขาแห่งการจำแลงพระกาย (ดู มัทธิว 17:1–9) เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับคำสอนของศาสดาพยากรณ์ (ดู คพ. 1:38 ด้วย) อะไรทำให้ท่านมั่นใจในการทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

“จงเตรียมพร้อมเสมอ” ช่วงการสอนอย่างไม่เป็นทางการที่บ้านมาเร็วและไปเร็ว ดังนั้นจึงสำคัญที่ต้องใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ท่านจะพยายาม “เตรียมพร้อมเสมอ” ที่จะสอนความจริงพระกิตติคุณแก่สมาชิกครอบครัวท่านและแบ่งปัน “ความหวัง [ที่อยู่ในท่าน]” (1 เปโตร 3:15) ได้อย่างไรเมื่อช่วงการสอนเกิดขึ้น (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 16)

ภาพ
เปโตรสั่งสอนคนกลุ่มหนึ่ง

ถึงแม้เปโตรประสบการข่มเหงและการต่อต้านมากมาย แต่เขายังคงแน่วแน่ในประจักษ์พยานถึงพระคริสต์