จงตามเรามา
9–15 ธันวาคม วิวรณ์ 1–11: ‘พระสิริ และอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์’


“9–15 ธันวาคม วิวรณ์ 1–11: ‘พระสิริ และอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“9–15 ธันวาคม วิวรณ์ 1–11” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงเฝ้าแกะฝูงหนึ่ง

พระเมษบาลผู้ประเสริฐ โดย เดล พาร์สัน

9–15 ธันวาคม

วิวรณ์ 1–11

“พระสิริ และอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์”

ท่านอาจจะจดคำถามที่มีเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านอ่านในวิวรณ์ จากนั้นท่านจะหาคำตอบของคำถามหรือสนทนากับสมาชิกครอบครัวหรือในชั้นเรียนของศาสนจักร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ท่านเคยพยายามแสดงให้ผู้อื่นเห็นหรือไม่ว่าท่านรู้สึกอย่างไรระหว่างประสบการณ์แรงกล้าทางวิญญาณ ภาษาประจำวันอาจไม่สามารถบรรยายความรู้สึกและความประทับใจทางวิญญาณได้ดีพอ ทั้งนี้อาจจะเป็นสาเหตุให้ยอห์นใช้สัญลักษณ์และภาพพจน์มากมายอธิบายการเปิดเผยอันยิ่งใหญ่ของเขา เขาอาจจะกล่าวเพียงว่าเขาเห็นพระเยซูคริสต์ แต่เพื่อช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของเขา เขาพูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดโดยใช้คำอย่างเช่น “พระเนตรของพระองค์เหมือนอย่างเปลวไฟ” “มีดาบสองคมที่คมกริบออกมาจากพระโอษฐ์” และ “พระพักตร์ของพระองค์เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแรงกล้า” (วิวรณ์ 1:14–16) ขณะที่ท่านอ่านหนังสือวิวรณ์ ลองพยายามค้นหาข่าวสารที่ยอห์นต้องการให้ท่านเรียนรู้และรู้สึกแม้ท่านจะไม่เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้น เหตุใดเขาจึงเปรียบเทียบคริสตจักรกับคันประทีป ซาตานกับพญานาค และพระเยซูคริสต์กับลูกแกะ สุดท้ายแล้ว ท่านไม่ต้องเข้าใจสัญลักษณ์ทุกอย่างในวิวรณ์ก็เข้าใจสาระสำคัญในนั้น รวมทั้งสาระที่โดดเด่นที่สุด นั่นคือ พระเยซูคริสต์และผู้ติดตามพระองค์จะมีชัยชนะเหนืออาณาจักรของมนุษย์และของซาตาน

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

วิวรณ์

ฉันจะเข้าใจหนังสือวิวรณ์ได้อย่างไร

หนังสือวิวรณ์เข้าใจยาก แต่อย่าท้อ คำสัญญาของยอห์นอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านพยายามต่อไป “เขาทั้งหลายผู้ที่ อ่าน ก็เป็นสุขแล้ว และเขาทั้งหลายผู้ที่ ได้ยินและเข้าใจ ถ้อยคำของคำพยากรณ์นี้ และ เชื่อฟัง สิ่งเหล่านั้นซึ่งเขียนไว้ในนั้น เพราะเวลาแห่งการเสด็จมาของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, วิวรณ์ 1:3 [คู่มือพระคัมภีร์] เน้นตัวเอน)

คำถามและแหล่งข้อมูลต่อไปนี้จะให้ความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นขณะที่ท่านศึกษาวิวรณ์

การมองหาข้อคิดในงานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับข้อความต่างๆ ในวิวรณ์อาจจะช่วยได้เช่นกัน (ดูเชิงอรรถและภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษ)

วิวรณ์

นิมิตของยอห์นสอนว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์รอดอย่างไร

ขณะที่ท่านเริ่มศึกษาหนังสือวิวรณ์ ลองคิดว่าสิ่งที่ท่านอ่านเชื่อมโยงอย่างไรกับสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับการไถ่และความสูงส่งของบุตรธิดาพระองค์ ท่านอาจจะเริ่มโดยทบทวนสาระโดยสังเขปของแผนแห่งความรอดใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา (หน้า 49–63) จากนั้น ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวนิมิตของยอห์น ให้ถามตัวท่านทำนองนี้: ฉันเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากวิวรณ์เกี่ยวกับสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำเพื่อช่วยให้ฉันกลับไปหาพระองค์ สิ่งนี้จะช่วยให้ฉันเข้าใจแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับฉันได้อย่างไร

อาจจะช่วยให้ท่านรู้โดยทั่วไปว่า

  • บทที่ 12 ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในชีวิตก่อนเกิด (ดู “Premortality,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย)

  • บทที่ 6–11, 13–14, 16–19 พูดถึงชีวิตมรรตัยและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินโลก (ดู “Mortality,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย)

  • บทที่ 2–3, 15, 20–22 พูดถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายและรัศมีภาพที่รอคอยผู้ซื่อสัตย์ในอาณาจักรนิรันดร์ (ดู “Postmortality,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย)

วิวรณ์ 2–3

พระเยซูคริสต์ทรงรู้จักฉันเป็นส่วนตัวและจะทรงช่วยฉันเอาชนะความท้าทายต่างๆ

พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน วิวรณ์ 2–3 เปิดเผยว่าพระองค์เข้าพระทัยความสำเร็จและการดิ้นรนของแต่ละสาขาของคริสตจักรในสมัยของยอห์น พระองค์ทรงรับรองกับวิสุทธิชนในที่ประชุมหลายแห่งว่านอกเหนือจากเรื่องอื่นๆ แล้วพระองค์ทรงรู้จัก “ความประพฤติ” “ความยากลำบาก” “ความยากจน” และ “ความรัก (จิตกุศล)” ของเราด้วย (วิวรณ์ 2:2, 9, 19)—พร้อมกับบางด้านที่พวกเขาจะปรับปรุงได้

บทเหล่านี้สามารถเตือนสติท่านได้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยความเข้มแข็งและความอ่อนแอของท่าน และทรงต้องการช่วยท่านเอาชนะความท้าทายทางโลกของท่าน พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาอะไรกับคนที่ชนะ ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อเอาชนะความท้าทายของท่าน

วิวรณ์ 5

พระเยซูคริสต์เท่านั้นทรงสามารถทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์เป็นไปได้

ถึงแม้ท่านจะจำไม่ได้ แต่ท่านน่าจะอยู่ในเหตุการณ์ที่ยอห์นบรรยายไว้ใน วิวรณ์ 5 ขณะที่ท่านอ่านเหตุการณ์เหล่านี้ พิจารณาว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเราทุกคนตระหนักว่าพระเยซูคริสต์ (“พระเมษโปดก”) จะทรงทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์เป็นไปได้ (เปิดหนังสือและแกะตราเจ็ดดวง) เหตุใดพระเยซูคริสต์องค์เดียวเท่านั้นที่ทำได้ ท่านจะแสดงศรัทธาของท่านในพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของท่านได้อย่างไร

ดู โยบ 38:4–7; “Atonement of Jesus Christ,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

วิวรณ์ 6–11

การฟื้นฟูมาก่อนการทำลายล้างที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

วิวรณ์ 6–11 พูดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำรงอยู่ชั่วคราวของแผ่นดินโลก (ดู คพ. 77:6) รวมถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย (ดู วิวรณ์ 7) ขณะที่ท่านอ่านเหตุการณ์ที่ยอห์นพยากรณ์ไว้และเฝ้าดูเหตุการณ์บางอย่างที่ยังไม่เปิดเผย ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อเตรียมตัวท่านและครอบครัวให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองมากขึ้น

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

วิวรณ์ 2–3

สมมติว่ามีคนขอให้ยอห์นมอบข่าวสารให้ครอบครัวท่านเหมือนข่าวสารที่เขาให้คริสตจักรต่างๆ ในสมัยของเขา เขาจะพูดว่าอะไรดีอยู่แล้ว ท่านจะปรับปรุงได้อย่างไร

วิวรณ์ 3:20

ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดเคาะที่ประตู (ดูภาพที่ให้มากับโครงร่างนี้) เชิญครอบครัวท่านอ่าน วิวรณ์ 3:20 และสนทนาคำถามทำนองนี้: เหตุใดพระเยซูทรงเคาะแทนที่จะเข้ามาข้างในเลย เราจะอัญเชิญอิทธิพลของพระองค์เข้ามาในบ้านของเราได้อย่างไร

วิวรณ์ 7:9, 13–14

ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับสาเหตุที่เราสวมชุดขาวทำศาสนพิธีพระวิหาร

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้ถามคำถาม คำถามเป็นตัวบ่งชี้ว่าสมาชิกครอบครัวพร้อมเรียนรู้และให้ข้อคิดว่าพวกเขากำลังตอบรับอย่างไรต่อสิ่งที่พวกเขาได้รับการสอน สอนครอบครัวท่านให้รู้วิธีหาคำตอบในพระคัมภีร์ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)

ภาพ
พระคริสต์ทรงเคาะประตู

ให้พระองค์เข้ามา โดย เกรก เค. โอลเซ็น