จงตามเรามา
18–24 พฤศจิกายน ยากอบ: ‘จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น’


“18–24 พฤศจิกายน ยากอบ: ‘จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“18–24 พฤศจิกายน ยากอบ” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
อับราฮัมสวดอ้อนวอนนอกกระโจม

อับราฮัมบนที่ราบมัมเร โดย แกรนท์ รอมนีย์ คลอว์สัน

18–24 พฤศจิกายน

ยากอบ

“จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น”

ขณะที่ท่านอ่านสาส์นของยากอบ จงเอาใจใส่วลีที่สะดุดใจท่าน และบันทึกไว้ ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

บางครั้งพระคัมภีร์เพียงข้อเดียวก็สามารถเปลี่ยนโลกได้ ยากอบ 1:5 ดูเหมือนเป็นคำแนะนำธรรมดา—หากท่านต้องการปัญญา จงทูลขอพระผู้เป็นเจ้า แต่เมื่อโจเซฟ สมิธวัย 14 ปีอ่านข้อนั้น “ดูเหมือนจะเข้าถึงความรู้สึกทุกอย่างของจิตใจ [ท่าน]” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:12) ด้วยเหตุนี้โจเซฟจึงได้รับการดลใจให้ทำตามคำตักเตือนของยากอบและแสวงหาปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอน พระผู้เป็นเจ้าประทานด้วยพระทัยกว้างขวาง โดยประทานการเสด็จเยือนจากสวรรค์อันน่าอัศจรรย์ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์—ซึ่งก็คือนิมิตแรก นิมิตนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตของโจเซฟและนำไปสู่การฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก เราทุกคนได้รับพรในทุกวันนี้เพราะโจเซฟ สมิธอ่านและทำตาม ยากอบ 1:5

ท่านจะพบอะไรขณะท่านศึกษาสาส์นของยากอบ บางทีหนึ่งข้อหรือสองข้อก็อาจจะเปลี่ยนท่านหรือคนที่ท่านรักได้ ท่านอาจพบการนำทางขณะท่านมุ่งหมายทำพันธกิจของท่านในชีวิตนี้ให้เกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจพบการกระตุ้นให้พูดจาอ่อนโยนหรืออดทนมากขึ้น อะไรก็ตามที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่าน จงให้ถ้อยคำเหล่านี้ “เข้าถึงความรู้สึกทุกอย่างของใจ [ท่าน]” จำไว้ว่า “ด้วยใจที่สุภาพอ่อนโยนจง … รับพระวจนะ” ตามที่ยากอบเขียน “ซึ่งสามารถช่วยจิตวิญญาณของพวกท่านให้รอดได้” (ยากอบ 1:21)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ยากอบ

ยากอบเป็นใคร

เชื่อกันว่าผู้เขียนสาส์นของยากอบคือบุตรชายของมารีย์พระมารดาของพระเยซูคริสต์ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นน้องชายต่างบิดาของพระผู้ช่วยให้รอด หนังสือที่กล่าวถึงยากอบคือ มัทธิว 13:55; มาระโก 6:3; กิจการของอัครทูต 12:17; 15:13; 21:18; และ กาลาเทีย 1:19; 2:9 จากพระคัมภีร์ข้อเหล่านี้ดูเหมือนว่ายากอบเป็นผู้นำศาสนจักรในเยรูซาเล็มและได้รับเรียกเป็นอัครสาวกคนหนึ่ง (ดู กาลาเทีย 1:19)

ยากอบ 1:2–4; 5:7–11

ความอดทนอดกลั้นนำไปสู่ความดีพร้อม

“การรอคอยอาจเป็นเรื่องยาก” ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอน “เราอยากได้สิ่งที่อยากได้ และเราอยากได้เดี๋ยวนั้น ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องความอดทนจึงดูเหมือนไม่น่าอภิรมย์” (“จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 70) หลังจากอ่าน ยากอบ 1:2–4; 5:7–11 ท่านจะบอกว่าอะไรเป็นข่าวสารหลักของยากอบเกี่ยวกับความอดทน ท่านได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรหลังจากอ่านข่าวสารที่เหลือของประธานอุคท์ดอร์ฟ ท่านจะแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าท่านเต็มใจอดทน

ยากอบ 1:3–8, 21–25; 2:14–26; 4:17

ศรัทธาเรียกร้องการกระทำ

ท่านรู้ได้อย่างไรว่าท่านมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หรือไม่ งานของท่านแสดงให้เห็นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ตรึกตรองคำถามเหล่านี้ขณะท่านศึกษาคำสอนของยากอบเกี่ยวกับศรัทธา อาจจะน่าสนใจเช่นกันถ้าอ่านเกี่ยวกับอับราฮัมและราหับ สองตัวอย่างที่ยากอบกล่าวถึง (ดู ปฐมกาล 22:1–22; โยชูวา 2) คนทั้งสองแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขามีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า

การอ่าน ยากอบ 1:3–8, 21–25; 2:14–26; 4:17 อาจช่วยให้ท่านนึกถึงวิธีที่ท่านจะเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะมากขึ้น บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ และวางแผนทำตามนั้น

ดู แอลมา 34:27–29; 3 นีไฟ 27:21 ด้วย

ยากอบ 1:263:1–18

คำพูดที่ฉันพูดสามารถทำร้ายหรือไม่ก็เป็นพรแก่ผู้อื่น

ในบรรดาอุปมาอุปไมยที่ยากอบใช้ทั่วสาส์นของเขานั้น คำพูดชัดเจนที่สุดบางคำของเขาอยู่ในคำแนะนำ เกี่ยวกับ คำพูด ท่านอาจจะเขียนทุกด้านที่ยากอบพูดถึงลิ้นหรือปาก การเปรียบเทียบหรือภาพลักษณ์แต่ละอย่างบอกอะไรเกี่ยวกับคำที่เราพูด นึกถึงสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อเป็นพรแก่บางคนด้วยคำพูดของท่าน (ดู คพ. 108:7)

ยากอบ 2:1–9

ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ฉันควรรักทุกคน ไม่ว่าสภาวการณ์ของพวกเขาเป็นเช่นไร

ยากอบเตือนให้วิสุทธิชนระวังการเข้าข้างคนมั่งมีและดูถูกคนจน แต่คำเตือนของเขาประยุกต์ใช้ได้กับอคติหรือความลำเอียงทุกอย่างที่เราอาจมีต่อผู้อื่น เราอาจดูไม่ออกว่าเราตัดสินผู้อื่นในแง่ลบ แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงช่วยให้เราเห็นว่าเราต้องปรับปรุงจุดไหน (ดู อีเธอร์ 12:27) ขณะที่ท่านศึกษา ยากอบ 2:1–9 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ให้สำรวจใจตนเองและฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องทำในรูปแบบที่ท่านปฏิบัติหรือคิดต่อผู้อื่นหรือไม่

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

ยากอบ 1:5

ท่านอาจจะอ่าน ยากอบ 1:5 และเชิญสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวสรุปเรื่องนิมิตแรก (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8–13 หรือวีดิทัศน์เรื่อง “Ask of God: Joseph Smith’s First Vision” บน LDS.org) เชิญสมาชิกครอบครัวแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและประสบการณ์เมื่อพระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา

ยากอบ 1:26–27

ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับข้อเหล่านี้เรื่อง “True Christianity” (LDS.org) จากนั้นให้อ่านนิยามธรรมะที่บริสุทธิ์ของยากอบและสนทนารูปแบบที่ครอบครัวท่านจะทำให้การปฏิบัติศาสนาบริสุทธิ์มากขึ้น

ยากอบ 3

ยากอบ 3 มีภาพลักษณ์มากมายที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงที่น่าจดจำเพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านจดจำว่าต้องพูดจาอ่อนโยน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะสนทนาว่าประกายไฟเล็กๆ หรือไม้ขีดไฟสามารถทำให้เกิดไฟลุกไหม้ และสมาชิกครอบครัวอาจจะนึกถึงเวลาที่คำพูดไม่ดีก่อให้เกิดปัญหา (ดู ข้อ 5–6) หรือท่านอาจจะเสิร์ฟของเปรี้ยวหรือของขมในบางอย่างที่มักจะใช้สำหรับอาหารหวาน—เช่นน้ำมะนาวในขวดน้ำผึ้ง ทั้งหมดนี้อาจจะนำไปสู่การสนทนาเรื่องการทำให้คำพูดของเราอ่อนหวานและยกระดับจิตใจ (ดู ข้อ 9–14)

ยากอบ 4:5–8

เหตุใดเราจึงควร “เข้าใกล้พระเจ้า” เมื่อเราประสบการล่อลวง

ยากอบ 5:14–16

บางทีการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการได้รับพรฐานะปุโรหิตอาจจะกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัว “ขอพรฐานะปุโรหิตเมื่อ [พวกเขา] ต้องการพลังทางวิญญาณ” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “The Importance of Priesthood Blessings,” New Era, July 2012, 4)

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

ปฏิบัติสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ขณะที่ท่านศึกษา จงฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณว่าท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่กำลังเรียนรู้กับชีวิตท่านอย่างไร ให้คำมั่นว่าจะทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านี้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณครบถ้วนมากขึ้น (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 35)

ภาพ
เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธกำลังอ่านพระคัมภีร์นอกบ้าน

ให้คนนั้นทูลขอจากพระผู้เป็นเจ้า โดย จอห์น แม็คนอตัน