หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
13–19 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105: “หลังจากความยากลำบากยิ่ง … จึงบังเกิดพร”


“13–19 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105: ‘หลังจากความยากลำบากยิ่ง … จึงบังเกิดพร’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“13–19 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
ผู้ชายกับกองเกวียน

ซี. ซี. เอ. คริสเต็นเซ็น (1831–1912), ค่ายไซอัน ประมาณปี 1878 จิตรกรรมสีฝุ่นบนผ้าฝ้าย 78 x 114 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ ของขวัญจากหลานๆ ของซี. ซี. เอ. คริสเต็นเซ็น ปี 1970

13–19 กันยายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105

“หลังจากความยากลำบากยิ่ง … จึงบังเกิดพร”

หลักธรรมใดจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105 มีความหมายต่อท่าน? ท่านอาจจะบันทึกความคิดและความประทับใจของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

วิสุทธิชนในเคิร์ทแลนด์ใจสลายเมื่อทราบว่าพี่น้องชายหญิงของพวกเขาใน เทศมณฑลแจ๊คสัน มิสซูรีถูกขับไล่ออกจากบ้าน พวกเขาต้องมีกำลังใจแน่นอนเมื่อพระเจ้าทรงประกาศว่า “การไถ่ไซอัน” จะ “มาโดยอำนาจ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:15) โดยที่มีสัญญาดังกล่าวในใจ ผู้ชาย 200 กว่าคนบวกกับสตรีและเด็กประมาณ 25 คนจึงสมัครเป็นทหารในค่ายอิสราเอล ที่ต่อมาเรียกว่าค่ายไซอัน พันธกิจของค่ายคือเดินทัพไปมิสซูรีและไถ่ไซอัน

การไถ่ไซอันสำหรับสมาชิกค่ายหมายถึงการทำให้วิสุทธิชนได้แผ่นดินของพวกเขาคืน แต่ก่อนค่ายจะมาถึงเทศมณฑลแจ็คสัน พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธหยุดและเลิกล้มค่ายไซอัน สมาชิกค่ายบางคนงุนงงสับสนกับคำแนะนำใหม่นี้ สำหรับพวกเขานั่นหมายความว่าคณะเดินทางล้มเหลวและสัญญาของพระเจ้าไม่เกิดสัมฤทธิผล แต่หลายคนมองต่าง ถึงแม้วิสุทธิชนที่ถูกขับไล่ไม่ได้กลับไปเทศมณฑลแจ็คสัน แต่ประสบการณ์นั้นทำให้เกิด “การไถ่” ไซอันระดับหนึ่งและการไถ่นั้น “มาโดยอำนาจ” สมาชิกที่ซื่อสัตย์ของค่ายไซอันซึ่งหลายคนกลายเป็นผู้นำของศาสนจักรในเวลาต่อมาต่างเป็นพยานว่าประสบการณ์นั้นทำให้พวกเขามีศรัทธาลึกซึ้งในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ในการทรงเรียกโจเซฟ สมิธ และในไซอัน—ไม่ใช่แค่ไซอันซึ่งเป็นสถานที่เท่านั้นแต่ไซอันซึ่งเป็นผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าด้วย แทนที่จะสงสัยคุณค่าของภารกิจที่ดูเหมือนไม่ประสบผลสำเร็จครั้งนี้ พวกเขาเรียนรู้ว่าภารกิจจริงๆ คือทำตามพระผู้ช่วยให้รอดแม้เมื่อเราไม่เข้าใจทุกสิ่ง นี่คือวิธีที่ไซอันจะได้รับการไถ่ในท้ายที่สุด

ดู Saints, 1:194–206; “The Acceptable Offering of Zion’s Camp,” Revelations in Context, 213–218

ภาพ
แม่น้ำขนาดเล็ก

ในภาพนี้ค่ายไซอันพักตามริมฝั่งแม่น้ำลิทเทิลฟิชิง

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:12–23

อะไรคือจุดประสงค์ของคำแนะนำในข้อเหล่านี้?

ภาค 102 มีรายงานการประชุมในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ สถานที่จัดตั้งสภาสูงชุดแรกของศาสนจักร ข้อ12–23 อธิบายระเบียบปฏิบัติที่สภาสูงทำตามเมื่อดำเนินสภาวินัยกับคนที่ล่วงละเมิดร้ายแรง

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า “บางครั้งสมาชิกถามว่าเหตุใดศาสนจักรจึงจัดสภาวินัย จุดประสงค์มีสามด้านคือ ช่วยจิตวิญญาณของผู้ล่วงละเมิดให้รอด คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ และพิทักษ์ความบริสุทธิ์ หลักคุณธรรม และชื่อเสียงอันดีงามของศาสนจักร” (“A Chance to Start Over: Church Disciplinary Councils and the Restoration of Blessings,” Ensign, Sept. 1990, 15)

ดู Gospel Topics, “Church Disciplinary Councils,” topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:1–12, 36; 105:1–19

จะสร้างไซอันบนหลักธรรมแห่งความชอบธรรมเท่านั้น

เหตุใดวิสุทธิชนจึงสูญเสียแผ่นดินที่สัญญาไว้ในมิสซูรี? และเหตุใดพระเจ้าไม่ทรงยอมให้ค่ายไซอันทำให้พวกเขาได้แผ่นดินของตนคืน? แน่นอนว่าการกระทำรุนแรงของกลุ่มคนร้ายในมิสซูรีมีบทบาท และผู้ว่าการรัฐมิสซูรีสัญญาจะสนับสนุนวิสุทธิชนแต่ไม่เคยรักษาสัญญา แต่พระเจ้าตรัสว่า “หากมิใช่เพราะการล่วงละเมิดของผู้คนของเรา” ไซอัน “น่าจะได้รับการไถ่แล้ว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:2) ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:1–12, 36; 105:1–19 ท่านอาจสังเกตเห็นบางอย่างที่ขัดขวางการสถาปนาไซอันในมิสซูรีและอีกหลายอย่างที่น่าจะช่วย ท่านเรียนรู้อะไรที่สามารถช่วยท่านสถาปนาไซอันในใจท่านและในบ้านท่าน?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:12–13; 105:1–6, 13–19

พรมาหลังจากความทุกข์และการทดลองศรัทธา

การมีส่วนร่วมในค่ายไซอันเป็นการทดลองศรัทธาในหลายๆ ด้าน การเดินทางไกล อากาศร้อน อาหารและน้ำขาดแคลนบางครั้ง หลังจากอดทนทุกอย่างแล้ว วิสุทธิชนยังไม่สามารถกลับไปแผ่นดินของพวกเขา พิจารณาว่าหลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:12–13 และ 105:1–6, 13–19 น่าจะเคยช่วยสมาชิกค่ายไซอันผู้สงสัยว่าพระบัญชาให้จัดค่ายมาจากพระผู้เป็นเจ้าจริงหรือไม่? หลักธรรมเหล่านี้จะช่วยท่านได้อย่างไรในการทดลองศรัทธาของท่านเอง?

ท่านจะอ่านประสบการณ์ของสมาชิกค่ายไซอันใน “เสียงของการฟื้นฟู” ที่อยู่ท้ายโครงร่างนี้ด้วย ท่านประทับใจอะไรกับเจตคติของพวกเขา? ท่านได้เรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพวกเขา?

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “อยู่ฝ่ายพระเจ้า: บทเรียนจากค่ายไซอัน,” เลียโฮนา, ก.ค. 2017, 26–35 ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:11–18, 78–83

ฉันเป็น “ผู้พิทักษ์ดูแลพรฝ่ายแผ่นดินโลก”

นอกจากการทดลองในมิสซูรีแล้ว ในปี 1834 ศาสนจักรประสบปัญหาการเงิน มีหนี้สินและค่าใช้จ่ายมากมายเช่นกัน ใน ภาค 104 พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับสถานะการเงินของศาสนจักร ท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมใน ข้อ 11–18 และ 78–83 กับการตัดสินใจเรื่องเงินของท่านเองได้อย่างไร?

เพื่อเรียนรู้วิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมทางให้ศาสนจักรได้รับการปลดปล่อยจากพันธะหนี้สิน ให้ดู “Treasure in Heaven: The John Tanner Story” (วีดิทัศน์, ChurchofJesusChrist.org)

เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ “วิธีของ” พระเจ้า (ข้อ 16) ในการจัดหาให้วิสุทธิชน ท่านอาจจะศึกษาข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเรื่อง “การจัดหาให้ในวิธีของพระเจ้า” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 68–72)

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:12, 36; 105:9–13เคยมีคนขอให้ครอบครัวท่าน (หรือบรรพชนคนหนึ่งของท่าน) ทำสิ่งที่ไม่ได้ออกมาตามที่ท่านคาดหวังหรือไม่? ท่านได้เรียนรู้อะไรจากปฏิกิริยาของสมาชิกค่ายไซอันเมื่อการเดินทางของพวกเขาไม่เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวัง? (ดู “เสียงของการฟื้นฟู” ท้ายโครงร่างนี้)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:13–18พระเจ้าประทานอะไรแก่เรา? พระองค์ทรงคาดหวังให้เราทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:23–46ครอบครัวท่านจะค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะ “ทวีพร” (ข้อ 23) ให้คนซื่อสัตย์กี่ครั้ง นี่อาจเป็นเวลาที่เหมาะจะ “นับพระพรท่าน” (“นับพระพรท่านเพลงสวด บทเพลงที่ 118) และสนทนาว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยเราในช่วงเวลายากๆ ได้อย่างไร เด็กเล็กอาจชอบวาดรูปพรที่พวกเขาขอบพระทัยเป็นพิเศษ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:38–41เราจะทำ “ข้อเสนอเพื่อสันติภาพ” (ข้อ 40) เมื่อผู้อื่นปฏิบัติต่อเราไม่ดีหรือไม่ยุติธรรมได้อย่างไร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็น “ธงสัญญาณแห่งสันติภาพ” (ข้อ 39) ในบ้านเรา?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “นับพระพรท่านเพลงสวด บทเพลงที่ 118

ภาพ
ไอคอนเสียงของการฟื้นฟู

เสียงของการฟื้นฟู

ค่ายไซอัน

เพราะค่ายไซอันไม่ได้ทำให้วิสุทธิชนได้แผ่นดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสันคืน หลายคนจึงรู้สึกว่าความพยายามของพวกเขาไร้ผล แต่ผู้เข้าร่วมค่ายไซอันหลายคนนึกถึงประสบการณ์นั้นและเห็นวิธีที่พระเจ้าทรงทำให้บรรลุจุดประสงค์สูงกว่านั้นในชีวิตพวกเขาและในอาณาจักรของพระองค์ ต่อไปนี้เป็นประจักษ์พยานของพวกเขาบางคน

โจเซฟ สมิธ

ภาพ
โจเซฟ สมิธ

40 กว่าปีหลังจากค่ายไซอัน โจเซฟ ยังก์ผู้เคยเป็นสมาชิกคนหนึ่งของค่ายรายงานว่าโจเซฟ สมิธกล่าวดังนี้

“พี่น้องทั้งหลาย บางท่านโกรธข้าพเจ้าเพราะท่านไม่ได้ต่อสู้ในมิสซูรี แต่ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้ท่านต่อสู้ พระองค์ไม่ทรงสามารถจัดตั้งอาณาจักรของพระองค์โดยให้ชายสิบสองคนไปเปิดประตูพระกิตติคุณให้กับประเทศต่างๆ ของแผ่นดินโลก และให้ชายเจ็ดสิบคนภายใต้การกำกับดูแลของพวกเขาเดินตามรอยพวกเขา นอกเสียจากพระองค์จะทรงนำพวกเขาออกจากกลุ่มคนผู้เคยมอบชีวิตของตน และผู้ที่เคยเสียสละมากเท่าอับราฮัม

“ตอนนี้พระเจ้าทรงได้อัครสาวกสิบสองและสาวกเจ็ดสิบของพระองค์แล้ว และจะทรงเรียกสาวกเจ็ดสิบอีกหลายโควรัมผู้จะทำการเสียสละ และคนที่ไม่ได้ทำการเสียสละและอุทิศถวายตอนนี้จะทำหลังจากนี้”1

บริคัม ยังก์

ภาพ
บริคัม ยังก์

“เมื่อเรามาถึงมิสซูรีพระเจ้าตรัสกับโจเซฟผู้รับใช้ของพระองค์ว่า ‘เรายอมรับเครื่องถวายของเจ้า’ และเรามีโอกาสกลับบ้านอีกครั้ง เมื่อกลับมาเพื่อนหลายคนถามข้าพเจ้าว่ามีประโยชน์อันใดในการเรียกคนให้ทิ้งงานไปมิสซูรีแล้วกลับมาโดยไม่บรรลุผลใดๆ เลย ‘ใครได้ประโยชน์บ้าง?’ พวกเขาถาม ‘ถ้าพระเจ้าทรงบัญชาให้ทำ พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์อะไรในการทำเช่นนั้น?’ … ข้าพเจ้าบอกพี่น้องชายเหล่านั้นว่าข้าพเจ้าได้มากทีเดียว—ได้ประโยชน์เยอะมาก—แท้จริงแล้วข้าพเจ้าท่วมท้นไปด้วยความรู้ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเดินทางไปกับท่่านศาสดาพยากรณ์”2

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์

ภาพ
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์

“ข้าพเจ้าอยู่ในค่ายไซอันกับศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเห็นการติดต่อของพระผู้เป็นเจ้ากับท่าน ข้าพเจ้าเห็นเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอยู่กับท่าน ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ สิ่งที่ประจักษ์ต่อท่านโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเหนือภารกิจนั้นมีค่ายิ่งต่อข้าพเจ้าและต่อทุกคนที่ได้รับคำแนะนำจากท่าน”3

“เมื่อสมาชิกค่ายไซอันได้รับเรียก พวกเราหลายคนไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เราต่างเป็นคนแปลกหน้าและหลายคนไม่เคยเห็นศาสดาพยากรณ์ เรากระจายกันอยู่ทั่วประเทศเหมือนเมล็ดข้าวโพดถูกร่อนในตะแกรง เรายังหนุ่มแน่น และท่านขอร้องเราในยุคแรกนั้นให้ขึ้นไปไถ่ไซอัน และสิ่งใดที่ต้องทำเราต้องทำด้วยศรัทธา พวกเราจากรัฐต่างๆ มาชุมนุมกันที่เคิร์ทแลนด์และขึ้นไปไถ่ไซอันตามสัมฤทธิผลแห่งพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึงเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับงานของเราเฉกเช่นพระองค์ทรงยอมรับงานของอับราฮัม เราบรรลุผลมากมาย แต่ผู้ละทิ้งความเชื่อและผู้ไม่เชื่อถามเราหลายครั้งว่า ‘พวกคุณทำอะไรลงไป? เราได้รับประสบการณ์ที่เราจะไม่มีวันได้ในวิธีอื่น เรามีโอกาสเห็นหน้าศาสดาพยากรณ์ เรามีโอกาสเดินทางพันไมล์ไปกับท่าน เห็นพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทำงานกับท่าน เห็นการเปิดเผยของพระเยซูคริสต์ที่มาถึงท่านและสัมฤทธิผลของการเปิดเผยเหล่านั้น ท่านรวบรวมเอ็ลเดอร์จากทั่วประเทศได้ประมาณสองร้อยคนในยุคแรกนั้นและส่งเราไปทั่วโลกเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หากข้าพเจ้าไม่ได้ไปกับค่ายไซอันข้าพเจ้าคงไม่ได้อยู่ที่นี่วันนี้ [ในซอลท์เลคซิตี้ รับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง] … การไปที่นั่นผลักเราเข้าไปในสวนองุ่นเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณ และพระเจ้าทรงยอมรับแรงงานของเรา ในภาระหน้าที่และการข่มเหงทั้งหมดของเรา กับชีวิตเราที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายบ่อยครั้ง เราต้องทำงานและดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา”

“ประสบการณ์ที่ [เรา] ได้รับในการเดินทางในค่ายไซอันมีค่ายิ่งกว่าทองคำ”

อ้างอิง

  1. ใน Joseph Young Sr., History of the Organization of the Seventies (1878), 14.

  2. “Discourse,” Deseret News, Dec. 3, 1862, 177.

  3. ใน Conference Report, Apr. 1898, 29–30; ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (2004), 140 ด้วย

ภาพ
ค่ายไซอันริมแม่น้ำ

ค่ายไซอัน (ค่ายไซอันที่แม่น้ำฟิชิงก์) โดย จูดิธ เอ. เมอร์