หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
12–18 เมษายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40: “หากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา”


“12–18 เมษายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40: ‘หากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“12–18 เมษายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
วิสุทธิชนกำลังเตรียมย้าย

วิสุทธิชนย้ายไปเคิร์ทแลนด์ โดย แซม ลอว์เลอร์

12–18 เมษายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40

“หากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา”

การบันทึกความประทับใจขณะศึกษาเป็นวิธีหนึ่งที่ท่านสามารถเชื่อฟังคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้าให้ “สั่งสมปัญญา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:30)

บันทึกความประทับใจของท่าน

สำหรับวิสุทธิชนยุคแรก ศาสนจักรเป็นมากกว่าสถานที่ฟังการสั่งสอนบางอย่างในวันอาทิตย์ ตลอดการเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธ พระเจ้าทรงเรียกศาสนจักรด้วยคำต่างๆ เช่น อุดมการณ์ อาณาจักร ไซอัน และที่เรียกบ่อยมากคือ งาน ทั้งหมดนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดสมาชิกยุคแรกหลายคนเข้ามาสู่ศาสนจักร มากเท่าๆ กับที่พวกเขารักหลักคำสอนที่ได้รับการฟื้นฟูของศาสนจักร หลายคนต้องการบางอย่างที่พวกเขาจะอุทิศชีวิตให้ด้วย แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับบางคนที่จะทำตามพระบัญชาปี 1830 ของพระเจ้าให้วิสุทธิชนไปรวมกันในโอไฮโอ สำหรับคนอย่างเช่นฟีบี คาร์เตอร์ นั่นหมายถึงการออกจากบ้านที่สุขสบายไปอยู่ชายแดนที่ไม่คุ้นเคย (ดู “เสียงของการฟื้นฟู” ท้ายโครงร่างนี้) ปัจจุบันเราเห็นได้ชัดในสิ่งที่วิสุทธิชนเหล่านั้นจะเห็นได้ด้วยดวงตาแห่งศรัทธาเท่านั้น นั่นคือพระเจ้าทรงมีพรใหญ่หลวงคอยท่าพวกเขาในโอไฮโอ

การต้องไปรวมกันในโอไฮโอผ่านไปนานแล้ว แต่วิสุทธิชนในปัจจุบันยังเป็นหนึ่งเดียวกันในอุดมการณ์เดียวกัน งานเดียวกัน นั่นคือ “นำไซอันออกมา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:13) เฉกเช่นวิสุทธิชนยุคแรกเหล่านั้น เราละทิ้ง “ความกังวลทางโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 40:2) เพราะเราวางใจสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “เจ้าจะได้รับ … พรสำคัญยิ่งนักอย่างที่เจ้าไม่เคยพบเห็นมาก่อน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:10)

ดู วิสุทธิชน, 1:109–111 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:1

โจเซฟ สมิธกำลังแปลอะไรในปี ค.ศ. 1830

ในข้อนี้ พระเจ้าตรัสถึงงานของโจเซฟในการแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ ซึ่งเรียกว่า “การแปล” เมื่อโจเซฟได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน ภาค 37 ท่านแก้ไขหนังสือปฐมกาลไปบ้างแล้วและเพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับเอโนคและนครแห่งไซอัน (ดู ปฐมกาล 5:18–24; โมเสส 7) หลักธรรมบางประการที่พระเจ้าทรงสอนเอโนคคล้ายกับหลักธรรมที่พระองค์ทรงเปิดเผยใน ภาค 38

ดู Church History Topics, “Joseph Smith Translation of the Bible,” ChurchofJesusChrist.org/study/topicsด้วย

ภาพ
โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน

โจเซฟ สมิธทำงานกับซิดนีย์ ริกดันในการแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ ภาพประกอบโดย แอนนี เฮนรี เนเดอร์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 38

พระผู้เป็นเจ้าทรงรวมเราเพื่อประทานพรเรา

พระเจ้าทรงสรุปพระบัญชาให้ไปรวมกันในโอไฮโอโดยตรัสว่า “ดูเถิด, นี่คือปัญญา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:4) แต่ใช่ว่าทุกคนเห็นปัญญาในพระบัญชานั้นทันที ใน ภาค 38 พระเจ้าทรงเปิดเผยพระปรีชาญาณของพระองค์ละเอียดขึ้น เราเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 11–33 เกี่ยวกับพรของการรวม? สมาชิกศาสนจักรไม่ได้รับบัญชาให้รวมโดยย้ายไปที่หนึ่งอีกต่อไป เรารวมกันทุกวันนี้ในด้านใด? พรเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับเราอย่างไร (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “การรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจายเลียโฮนา พ.ย. 2006, 99–103)

ขณะอ่านข้อที่เหลือของภาคนี้ ให้มองหาข้อที่น่าจะช่วยให้วิสุทธิชนมีศรัทธาที่ต้องใช้เชื่อฟังพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าให้ไปรวมกันในโอไฮโอ ตรึกตรองพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่ท่านและศรัทธาที่ท่านต้องใช้เชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้นด้วย คำถามต่อไปนี้จะเป็นแนวทางในการศึกษาของท่าน:

  • ท่านพบอะไรใน ข้อ 1–4 ที่ทำให้ท่านเชื่อมั่นในพระเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์?

  • ข้อ 39 จะช่วยให้ท่านเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแม้ในเวลาที่เรียกร้องให้เสียสละได้อย่างไร?

ท่านพบอะไรอีกบ้าง?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:11–13, 22–32, 41–42

ถ้าฉันพร้อม ฉันไม่ต้องกลัว

วิสุทธิชนประสบการต่อต้านมามากแล้ว และพระเจ้าทรงทราบว่าจะมีการต่อต้านอีก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:11–13, 28–29) เพื่อช่วยให้พวกเขาไม่กลัว พระองค์จึงทรงเปิดเผยหลักธรรมล้ำค่าประการหนึ่ง นั่นคือ “หากเจ้าพร้อมเจ้าจะไม่กลัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:30) ใช้เวลาหนึ่งนาทีไตร่ตรองความท้าทายที่ท่านพบเจอ จากนั้นขณะที่ท่านศึกษา ภาค 38 จงฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะเตรียมรับความท้าทายที่ท่านไม่จำเป็นต้องกลัว

ดู โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์ “อย่ากังวลใจเลยเลียโฮนา พ.ย. 2018, 18–21 ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 39–40

ความกังวลทางโลกต้องไม่ทำให้เราหันเหจากการเชื่อฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

อ่าน ภาค 3940 รวมทั้งภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในหัวบทของภาค และพิจารณาด้านต่างๆ ที่ประสบการณ์ของเจมส์ โควิลล์อาจจะประยุกต์ใช้กับท่านได้ ตัวอย่างเช่น คิดถึงเวลาที่ “ใจ [ท่าน] … ถูกต้องต่อ [พระผู้เป็นเจ้า]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 40:1) ท่านได้รับพรอย่างไรเพราะความซื่อสัตย์ของท่าน? คิดเช่นกันว่าท่านประสบ “ความกังวลทางโลก” อะไรบ้าง (หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:9; 40:2) ท่านพบอะไรในภาคเหล่านี้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเชื่อฟังอย่างเสมอต้นเสมอปลายมากขึ้น?

ดู มัทธิว 13:3–23ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 37:3เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อไปรวมกันในโอไฮโอ ท่านจะให้ดูแผนที่ซึ่งมาพร้อมกับโครงร่างนี้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:22เราจะทำให้พระเยซูคริสต์เป็น “ผู้ให้กฎ” ของครอบครัวเราได้อย่างไร? การทำตามกฎของพระองค์ทำให้เราเป็น “อิสรชน” อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:24–27เพื่อสอนให้บุตรธิดารู้ความหมายของการ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ท่านจะช่วยพวกเขานับจำนวนสมาชิกในครอบครัวและพูดคุยกันว่าเหตุใดแต่ละคนจึงสำคัญต่อครอบครัวท่าน เน้นว่าท่านรวมกันเป็น หนึ่ง ครอบครัว ท่านจะช่วยบุตรธิดาวาด 1 ตัวใหญ่บนโปสเตอร์และตกแต่งด้วยชื่อและภาพวาดหรือรูปภาพของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน ท่านจะเขียนสิ่งที่ท่านจะทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นไว้บนโปสเตอร์ด้วย ท่านอาจจะให้ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Love in Our Hearts” ด้วย (ChurchofJesusChrist.org) หรืออ่าน โมเสส 7:18

หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:29–30ท่านจะสนทนาถึงประสบการณ์ส่วนตัวหรือกับครอบครัวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ต้องมีการเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมของท่านส่งผลต่อประสบการณ์นั้นอย่างไร? พระเจ้าทรงต้องการให้เราเตรียมพร้อมสำหรับอะไร? การเตรียมพร้อมจะช่วยให้เราไม่กลัวได้อย่างไร? เราทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมพร้อม?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 40วลี “ความกังวลทางโลก” (ข้อ 2) มีความหมายต่อเราอย่างไร? มีความกังวลทางโลกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ที่ขัดขวางเราไม่ให้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “ด้วยความยินดี”? เราจะเอาชนะอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “พระเยซูตรัสจงรักทุกคนหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39

ภาพ
ไอคอนเสียงของการฟื้นฟู

เสียงของการฟื้นฟู

การรวมกันในโอไฮโอ

ภาพ
อาคารต่างๆ ในเคิร์ทแลนด์

หมู่บ้านเคิร์ทแลนด์ โดย อัล ราวด์ส

ภาพ
ฟีบี คาร์เตอร์ วูดรัฟฟ์

ท่ามกลางวิสุทธิชนจำนวนมากที่ไปรวมกันในโอไฮโอเมื่อทศวรรษ 1830 คือฟีบี คาร์เตอร์ เธอเข้าร่วมศาสนจักรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐเมื่ออายุประมาณยี่สิบห้าปีแม้บิดามารดาของเธอไม่เข้าร่วม ต่อมาเธอเขียนเล่าการตัดสินใจย้ายไปโอโฮโอเพื่อร่วมกับวิสุทธิชนว่า

“เพื่อนๆ ประหลาดใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ ดิฉันเองก็ประหลาดใจ แต่มีบางอย่างในตัวดิฉันบีบคั้นให้ทำเช่นนั้น ดิฉันแทบจะทนดูความโศกเศร้าของคุณแม่ขณะที่ดิฉันออกจากบ้านไม่ไหว และถ้าไม่ใช่เพราะพระวิญญาณที่อยู่ในใจดิฉันคงจะใจอ่อนในที่สุด คุณแม่บอกดิฉันว่าท่านยอมเห็นดิฉันถูกฝังมากกว่าจะให้ดิฉันออกไปในโลกไร้หัวใจตามลำพัง

“‘[ฟีบี]’ ท่านถามเสียงหนักแน่นว่า ‘ลูกจะกลับมาหาแม่ไหมถ้าลูกพบว่าความเชื่อของมอรมอนผิด’?

“ดิฉันตอบว่า ‘ค่ะแม่ หนูจะกลับมา’ … คำตอบของดิฉันทำให้ท่านเบาใจ แต่ทำให้เราทุกคนเศร้ามากเมื่อจากกัน เมื่อถึงเวลาออกเดินทางดิฉันไม่เชื่อใจตนเองว่าจะกล่าวลาได้ ดิฉันจึงเขียนลาแต่ละคนแทน วางไว้บนโต๊ะ วิ่งลงบันได และกระโดดขึ้นรถม้า ดิฉันจึงจากบ้านวัยเด็กที่ดิฉันรักมาแบบนั้นเพื่อเชื่อมโยงชีวิตดิฉันกับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้า”1

ในข่าวสารอำลาฉบับหนึ่ง ฟีบีเขียนว่า

“พ่อแม่ที่รัก—ตอนนี้หนูกำลังจะออกจากหลังคาบ้านพ่อแม่ไปสักพัก … หนูไม่รู้ว่านานแค่ไหน—แต่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกสำนึกคุณต่อความเมตตาที่หนูได้รับตั้งแต่ยังเป็นทารกจนถึงปัจจุบัน—แต่ดูเหมือนพระผู้อารักขาทรงสั่งให้ไปตอนนี้ ขอให้เรามอบทั้งหมดนี้ไว้ในพระหัตถ์ของพระผู้อารักขาและขอบพระทัยที่เราได้รับอนุญาตให้อยู่ด้วยกันมานานภายใต้สภาวการณ์อันน่าพอใจที่เรามี โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะเกิดผลดีต่อเราถ้าเรารักพระผู้เป็นเจ้าอย่างยิ่งยวด ขอให้เราตระหนักว่าเราสามารถสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าผู้จะทรงฟังคำสวดอ้อนวอนที่จริงใจของทุกคนที่พระองค์ทรงสร้างและประทานสิ่งที่ดีที่สุดให้เรา …

“แม่คะ หนูเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้หนูไปตะวันตกและหนูเชื่อมั่นว่าเป็นมานานแล้ว ตอนนี้หนทางเปิดแล้ว … หนูเชื่อว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงเปิดหนทางนั้นซึ่งกว้างพอสำหรับทุกสิ่ง อย่าทุกข์ใจเพราะลูกของแม่เลย พระเจ้าจะทรงปลอบโยนหนูค่ะ หนูเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงดูแลหนูและประทานสิ่งที่ดีที่สุดให้หนู … หนูไปเพราะพระอาจารย์ทรงเรียก—พระองค์ทรงทำให้หนูเข้าใจหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี”2

อ้างอิง

  1. ใน Edward W. Tullidge, The Women of Mormondom (1877), 412.

  2. จดหมายของฟีบี คาร์เตอร์ถึงบิดามารดาของเธอ ไม่ลงวันที่ หอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้ ปรับเครื่องหมายวรรคตอนให้ทันสมัย ฟีบีเข้าร่วมศาสนจักรเมื่อปี 1834 ย้ายไปโอไฮโอประมาณปี 1835 และแต่งงานกับวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ในปี 1837