หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
18–24 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5: “งานของเราจะออกไป”


“18–24 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5: ‘งานของเราจะออกไป’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“18–24 มกราคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
คนทำงานในทุ่ง

เวลาเก็บเกี่ยวในฝรั่งเศส โดย เจมส์ เทย์เลอร์ ฮาร์วูด

18–24 มกราคม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3–5

“งานของเราจะออกไป”

จดสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกขณะศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งจะช่วยให้ท่านจำความประทับใจเหล่านั้นได้และแบ่งปันให้กับผู้อื่น

บันทึกความประทับใจของท่าน

ในช่วงไม่กี่ปีแรกของการเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า โจเซฟ สมิธยังไม่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับ “งานอัศจรรย์” ที่ทรงเรียกให้ท่านทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ประสบการณ์ช่วงแรกของโจเซฟสอนท่านคือการจะมีคุณสมบัติคู่ควรทำงานของพระผู้เป็นเจ้านั้น ดวงตาของท่านต้อง “เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว” จริงๆ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:1, 5) ตัวอย่างเช่น ถ้าพระเจ้าประทานคำแนะนำที่ขัดกับความปรารถนาของโจเซฟ ท่านต้องทำตามคำแนะนำของพระเจ้า และถึงแม้โจเซฟได้รับ “การเปิดเผยหลายประการ, และมีพลังที่จะทำงานยิ่งใหญ่หลายอย่าง” แต่ถ้าความประสงค์ของท่านเองสำคัญในสายตาตนมากกว่าพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ท่าน “ต้องตก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:4) แต่โจเซฟเรียนรู้อีกเรื่องที่สำคัญพอกันเกี่ยวกับการทำงานของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ “พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา” และถ้าโจเซฟกลับใจอย่างแท้จริง ท่าน “ยังได้รับเลือกอยู่” (ข้อ 10) ท้ายที่สุดแล้ว งานของพระผู้เป็นเจ้าคืองานแห่งการไถ่ และงานนั้น “จะล้มเหลวไม่ได้” (ข้อ 1)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1–15

ฉันควรวางใจพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะกลัวมนุษย์

ในการปฏิบัติศาสนกิจช่วงแรกของโจเซฟ สมิธ เพื่อนดีๆ หายาก—โดยเฉพาะเพื่อนอย่างมาร์ติน แฮร์ริสชายที่น่านับถือและมั่งคั่งผู้สามารถให้การสนับสนุนอันมีค่า มาร์ตินยินดีสนับสนุนโจเซฟถึงแม้จะทำให้เพื่อนๆ เลิกนับถือเขาและเขาต้องเสียสละเงินทองก็ตาม

ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดโจเซฟต้องการทำตามคำขอของมาร์ตินที่จะนำงานแปลพระคัมภีร์ส่วนแรกไปให้ภรรยาของเขาผู้สงสัยความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนดู โจเซฟรบเร้าพระเจ้าเกี่ยวกับคำขอนี้ ทั้งที่พระองค์ทรงห้าม จนในที่สุด หลังจากโจเซฟทูลขอครั้งที่สาม พระเจ้าจึงตอบตกลง น่าเศร้าที่ต้นฉบับหายขณะอยู่ในครอบครองของมาร์ติน และพระเจ้าทรงตำหนิโจเซฟกับมาร์ตินอย่างรุนแรง (ดู วิสุทธิชน, 1:51–53)

ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1–15 ให้ไตร่ตรองว่าความคิดเห็นของผู้อื่นอาจมีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร ท่านอาจสังเกตเช่นกันว่านอกจากทรงตำหนิโจเซฟ สมิธแล้ว พระเจ้าทรงมีพระดำรัสด้วยพระเมตตาเช่นกัน ท่านเรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระเจ้าทรงแก้ไขและให้กำลังใจโจเซฟ? ท่านพบคำแนะนำอะไรที่สามารถช่วยท่านได้เมื่อท่านถูกล่อลวงให้กลัวผู้อื่นมากกว่าพระผู้เป็นเจ้า?

ดู “The Contributions of Martin Harris,” Revelations in Context, 1–9, history.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 4

พระเจ้าทรงขอให้ฉันรับใช้พระองค์ด้วยสุดใจของฉัน

ภาค 4 มักประยุกต์ใช้กับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา แต่น่าสนใจตรงที่เดิมทีการเปิดเผยนี้ประทานแก่โจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ผู้ไม่ได้รับเรียกให้ทำงานเผยแผ่แต่ยังมี “ความปรารถนาจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 3)

วิธีอ่านภาคนี้วิธีหนึ่งคือให้สมมติว่าภาคนี้เป็นคำบรรยายลักษณะงานสำหรับคนที่ต้องการทำงานของพระเจ้า คุณสมบัติมีอะไรบ้าง? เหตุใดทักษะหรือคุณลักษณะเหล่านี้จึงจำเป็น? ท่านอาจจะเลือกหนึ่งอย่างที่ท่านจะทำให้ดีขึ้นร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อ “ทำให้ [ตัวท่าน] สมกับงาน” (ข้อ 5)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 5

ฉันสามารถได้รับพยานของฉันเองถึงพระคัมภีร์มอรมอน

ภาพ
มาร์ติน แฮร์ริส

มาร์ติน แฮร์ริส โดย ลูอิส เอ. แรมซีย์

ถ้าท่านได้รับเรียกให้เป็นพยานในศาลเกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะให้หลักฐานอะไร? คำถามคล้ายกันอยู่ในความคิดของมาร์ติน แฮร์ริสเมื่อลูซีภรรยาของเขายื่นคำร้องว่าโจเซฟ สมิธกำลังหลอกผู้คนโดยอวดอ้างว่าแปลแผ่นจารึกทองคำ (ดู วิสุทธิชน, 1:56–58) มาร์ตินจึงขอหลักฐานเพิ่มเติมจากโจเซฟว่าแผ่นจารึกทองคำมีอยู่จริง หลักคำสอนและพันธสัญญา 5 เป็นการเปิดเผยเพื่อตอบคำขอของมาร์ติน

ท่านเรียนรู้อะไรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 5 เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้:

  • พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับคนที่จะไม่เชื่อความจริงทางวิญญาณเว้นแต่พวกเขามีหลักฐาน (ดู ข้อ 5–8; ดู ยอห์น 20:24–29 ด้วย)

  • บทบาทของพยานในงานของพระเจ้า (ดู ข้อ 11–15; ดู 2 โครินธ์ 13:1ด้วย)

  • วิธีได้รับประจักษ์พยานของพระคัมภีร์มอรมอนด้วยตัวท่านเอง (ดู ข้อ 16; ดู โมโรไน 10:3–5ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:1–10

คนรุ่นนี้จะได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าผ่านโจเซฟ สมิธ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:1–10 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของโจเซฟ สมิธในสมัยการประทานของเรา—และในชีวิตท่าน? ไตร่ตรองว่าท่านได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างไร ท่านอาจจะเขียนลงในบันทึกส่วนตัวหรือแบ่งปันกับบางคนว่าท่านสำนึกคุณสำหรับความจริงที่ได้รับการฟื้นฟูหรือทำให้กระจ่างผ่านโจเซฟ

ดู 2 นีไฟ 3:6–24

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:1–4ขอให้สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเดินตามเส้น “คดเคี้ยว” แล้วเดินตามเส้น “ตรง” การรู้ว่า “ทาง [ของพระผู้เป็นเจ้า] ตรง” มีความหมายต่อครอบครัวเราอย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:7–10เมื่อมีคนกดดันเราไม่ให้เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า ความจริงอะไรในข้อเหล่านี้สามารถช่วยให้เราซื่อสัตย์ต่อไป? สมาชิกครอบครัวอาจแสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ซึ่งคนบางคนยังคงซื่อสัตย์แม้ถูกกดดันไม่ให้เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 4ขณะครอบครัวท่านสนทนาความหมายของการทำงานในทุ่งของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะทำงานบางอย่างในสวน (หรือทำท่าประกอบ) ต้องใช้เครื่องมืออะไรทำสวน? พระผู้เป็นเจ้าทรงบรรยายอะไรใน ภาค 4 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ทำงานของพระองค์? ครอบครัวท่านจะสนทนาว่าเหตุใดเครื่องมือแต่ละชิ้นจึงสำคัญในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:7มีตัวอย่างความจริงอะไรบ้างที่เราเชื่อแต่มองไม่เห็น เราจะตอบเพื่อนที่ต้องการหลักฐานยืนยันว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริงอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ฉันจะกล้าหาญหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 85

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

ท่องจำพระคัมภีร์ “การท่องจำพระคัมภีร์เป็นการหล่อหลอมมิตรภาพใหม่ เปรียบเสมือนการค้นพบบุคคลอีกคนหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้ยามจำเป็น ให้การดลใจและการปลอบโยนตลอดจนเป็นบ่อเกิดของแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์ “พลังแห่งพระคัมภีร์” เลียโฮนา พ.ย. 2011, 7)

ภาพ
โจเซฟ สมิธกับบิดามารดาของท่าน

หนักใจเรื่อง 116 หน้า โดย ควานี โปวี วินเดอร์