จงตามเรามา 2024
7–13 ตุลาคม: “ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม” 3 นีไฟ 17–19


“7–13 ตุลาคม: ‘ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม’ 3 นีไฟ 17-19” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“7–13 ตุลาคม 3 นีไฟ 17–19” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
พระเยซูทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

ความสว่างของสีพระพักตร์ส่องมาที่พวกเขา โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

7–13 ตุลาคม: “ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม”

3 นีไฟ 17–19

พระเยซูคริสต์ทรงใช้วันนั้นปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง ทรงสอนพระกิตติคุณ ทรงให้ผู้คนได้เห็นและสัมผัสรอยแผลในพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ และทรงเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่สัญญาไว้ ตอนนี้ถึงเวลาที่พระองค์ต้องจากไปแล้ว “เวลาของเราอยู่แค่เอื้อม” พระองค์ตรัส (3 นีไฟ 17:1) พระองค์กำลังจะเสด็จกลับไปหาพระบิดา และทรงทราบว่าผู้คนต้องใช้เวลาไตร่ตรองสิ่งที่พระองค์ทรงสอน ด้วยเหตุนี้จึงทรงสัญญาว่าจะกลับมาวันรุ่งขึ้นและให้ฝูงชนกลับไปบ้าน แต่ไม่มีใครกลับ พวกเขาไม่ได้พูดว่ารู้สึกอย่างไร แต่พระเยซูทรงรับรู้ว่าพวกเขาหวังให้พระองค์ “คงอยู่กับพวกเขาอีกสักเล็กน้อย” (3 นีไฟ 17:5) พระองค์ทรงมีงานสำคัญอื่นๆ ต้องทำ แต่การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับพระองค์เสมอ พระเยซูจึงทรงอยู่กับพวกเขาอีกเล็กน้อย เหตุการณ์ต่อจากนั้นน่าจะเป็นตัวอย่างที่อ่อนโยนที่สุดของการปฏิบัติศาสนกิจที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ คนที่อยู่ตรงนั้นพูดได้เพียงว่าเหนือคำบรรยาย (ดู 3 นีไฟ 17:16–17) พระเยซูทรงสรุปการหลั่งเททางวิญญาณโดยฉับพลันด้วยพระดำรัสที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังว่า “บัดนี้ดูเถิด, ปีติของเราเต็มเปี่ยม” (3 นีไฟ 17:20)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

3 นีไฟ 17; 18:24–25, 30–32

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการปฏิบัติศาสนกิจ

ประมาณ 2,500 คนอยู่ที่นั่นเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏ แต่พระองค์ทรงหาวิธีปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาทีละคน ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจใน 3 นีไฟ 17; 18:24–25, 28–32? พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการเรื่องใด? คุณลักษณะใดทำให้การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์เกิดผล? ท่านอาจจะนึกถึงวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อท่าน ท่านจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร? (ดู 3 นีไฟ 18:24–25 และ 28:32 ด้วย)

ดู “Jesus Christ Has Compassion and Heals the People” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

3 นีไฟ 17:13–22; 18:15–25; 19:6–9, 15–36

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนฉันให้รู้วิธีสวดอ้อนวอน

ลองนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้ยินพระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนให้ท่าน ประสบการณ์เช่นนั้นจะส่งผลต่อวิธีที่ท่านสวดอ้อนวอนอย่างไร? ไตร่ตรองคำถามนี้ขณะที่ท่านศึกษา 3 นีไฟ 17:13–22; 18:15–25; และ 19:6–9, 15–36 ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างและคำสอนของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน? ท่านอาจจะมองหาข้อคิดว่าจะสวดอ้อนวอนอย่างไร เมื่อใด ที่ใด ให้ใคร และทำไม ท่านได้ข้อคิดอะไรอีกบ้างจากข้อเหล่านี้?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 10:5 ด้วย

3 นีไฟ 18:1–12

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
ฉันสามารถเปี่ยมด้วยพระวิญญาณขณะรับส่วนศีลระลึก

เมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ สิ่งนั้นจะกลายเป็นกิจวัตรหรือความเคยชิน บางครั้งเราทำไปโดยไม่ต้องคิด ท่านจะป้องกันไม่ให้เป็นเช่นนั้นกับศาสนพิธีศีลระลึกประจำสัปดาห์ได้อย่างไร? ขณะที่ท่านอ่าน 3 นีไฟ 18:1–12 ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะ “อิ่ม” ทางวิญญาณทุกครั้งที่รับศีลระลึกได้อย่างไร (ดู 3 นีไฟ 20:1–9 ด้วย) ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5–7, 11 ท่านควรทำอะไร “ตลอดเวลา” บ้าง? ท่านอาจจะไตร่ตรองด้วยว่าเหตุใดพระเยซูจึงประทานพิธีศีลระลึกแก่เรา—และศีลระลึกบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ในชีวิตท่านหรือไม่ เหตุใดศีลระลึกจึงศักดิ์สิทธิ์สำหรับท่าน?

ในข่าวสารเรื่อง “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” (เลียโฮนา, ก.พ. 2018, 4–6) ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ให้ “ข้อเสนอแนะสามประการเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านจะระลึกถึงในแต่ละสัปดาห์เมื่อท่านรับส่วนเครื่องหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก” อะไรสำคัญที่สุดสำหรับท่านเกี่ยวกับคำแนะนำของท่าน? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงการนมัสการในช่วงศีลระลึกและตลอดทั้งสัปดาห์?

ท่านจะทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อนมัสการอย่างมีความหมายมากขึ้น? ท่านจะถามตนเองด้วยคำถามทำนองนี้: “การเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของฉันอย่างไร?” “ฉันทำอะไรได้ดีในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ และฉันจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง?”

ดู มัทธิว 26:26–28; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 44–46; “As Now We Take the Sacrament,” Hymns, no. 169; “Jesus Christ Introduces the Sacrament” (วีดิทัศน์), Gospel Library; Gospel Topics, “Sacrament,” Gospel Library ด้วย

ให้เวลาไตร่ตรอง บางครั้งการศึกษาพระคัมภีร์กลายเป็นการผสมผสานระหว่างการอ่าน การสวดอ้อนวอน และการไตร่ตรอง เมื่อท่านใช้เวลาเงียบๆ ไตร่ตรองและพูดกับพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้ ท่านจะสามารถเพิ่มพลังอำนาจแห่งพระวจนะของพระองค์ในชีวิตท่านได้

3 นีไฟ 18:22–25

ฉันสามารถ “ชู” แสงสว่างของพระเยซูคริสต์

สมมติว่าท่านมีเพื่อนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ รู้แต่ว่าท่านเป็นผู้ติดตามคนหนึ่งของพระองค์ เพื่อนของท่านจะสรุปเกี่ยวกับพระองค์ว่าอย่างไรโดยดูจากการกระทำของท่าน? “จงชูแสงสว่างของเจ้าขึ้นเพื่อมันจะส่องโลก” หมายความว่าอย่างไร? (3 นีไฟ 18:24) พระผู้ช่วยให้รอดประทานพระดำรัสเชิญอะไรอีกบ้างใน 3 นีไฟ 18:22–25 ที่ช่วยท่านชูแสงสว่างนั้น?

ดู บอนนี่ เอช. คอร์ดอน, “เพื่อพวกเขาจะเห็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 78–80 ด้วย

3 นีไฟ 18:36–37; 19:6–22

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์แสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

นึกถึงการสวดอ้อนวอนของท่านครั้งล่าสุด คำสวดอ้อนวอนของท่านสอนอะไรท่านเกี่ยวกับความปรารถนาในส่วนลึกที่สุดของท่าน? หลังจากใช้หนึ่งวันเบื้องพระพักตร์พระผู้ช่วยให้รอด ฝูงชน “สวดอ้อนวอนขอสิ่งซึ่งพวกท่านปรารถนาที่สุด”—นั่นคือ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (3 นีไฟ 19:9) เหตุใดของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงเป็นที่พึงปรารถนา? ขณะอ่านข้อเหล่านี้ จงไตร่ตรองความปรารถนาของท่านเองสำหรับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจะแสวงหาความเป็นเพื่อนนั้นอย่างจริงจังได้อย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

3 นีไฟ 17:7, 20–25

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักลูกๆ แต่ละคนของพระบิดาบนสวรรค์

  • ท่านจะใช้ภาพเหมือนในโครงร่างนี้หรือวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Christ Prays and Angels Minister to the Children” (Gospel Library) เพื่อช่วยให้เด็กเห็นภาพเรื่องราวใน 3 นีไฟ 17 อาจจะอ่านวลีหรือข้อต่างๆ จาก 3 นีไฟ 17 ที่เน้นความรักของพระผู้ช่วยให้รอดต่อผู้คน (เช่น ข้อ 7 และ 20–25) จากนั้นเด็กจะวาดรูปตัวเองกับพระเยซู ขณะวาด ท่านจะช่วยให้พวกเขานึกถึงวิธีที่พระเยซูทรงแสดงความรักต่อพวกเขา

ภาพ
พระเยซูทรงให้พรเด็กๆ

จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

3 นีไฟ 18:1–12

ฉันสามารถนึกถึงพระเยซูเมื่อฉันรับศีลระลึก

  • ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้เด็กบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างศีลระลึก จากนั้นท่านจะอ่าน 3 นีไฟ 18:1–12 และขอให้เด็กยกมือเมื่อพวกเขาได้ยินบางอย่างคล้ายกับที่เราทำในสมัยปัจจุบัน พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เราระลึกถึงหรือนึกถึงอะไรในระหว่างศีลระลึก? (ดู 3 นีไฟ 18:7, 11)

3 นีไฟ 18:15–24; 19:6–9, 15–36

พระเยซูทรงสอนให้ฉันรู้วิธีสวดอ้อนวอน

  • การร้องเพลงเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนด้วยกัน เช่น “การสวดอ้อนวอนของเด็กๆ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 6–7) เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้เด็กนึกถึงเหตุผลที่เราสวดอ้อนวอน จากนั้นท่านและเด็กจะอ่าน 3 นีไฟ 18:18–21 และพูดคุยกันว่าพระเยซูทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน การเชื้อเชิญให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อสวดอ้อนวอนจะช่วยห้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน

  • อาจสนุกถ้าเด็กออกไปตามล่าหาพรอันล้ำค่าบางอย่างของการสวดอ้อนวอน ท่านจะเขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาษแผ่นละข้อแล้วซ่อนไว้: 3 นีไฟ 18:15; 3 นีไฟ 18:20; 3 นีไฟ 18:21; 3 นีไฟ 19:9; และ 3 นีไฟ 19:23 จากนั้นให้เด็กหากระดาษและอ่านข้อพระคัมภีร์ โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์หรือสานุศิษย์ของพระองค์สอนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
เหล่าเทพห้อมล้อมพระเยซูและเด็กๆ ชาวนีไฟ

Angels Ministered unto Them [เหล่าเทพปฏิบัติต่อพวกเขา] โดย วอลเตอร์ เรน