จงตามเรามา 2024
10–16 มิถุนายน: “ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?” แอลมา 5–7


“10–16 มิถุนายน: ‘ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?’ แอลมา 5–7,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“10–16 มิถุนายน แอลมา 5–7,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและโบสถ์: 2024 (2024)

ภาพ
แอลมาผู้บุตรกำลังสอนชาวโซรัม

แอลมาผู้บุตรกำลังสอนชาวโซรัม

10–16 มิถุนายน: “ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”

แอลมา 5–7

แอลมาไม่รู้เรื่องศัลยกรรมปลูกถ่ายหัวใจเพื่อช่วยชีวิตในปัจจุบันซึ่งนำหัวใจที่ดีใส่แทนหัวใจที่เป็นโรคหรือเสียหาย แต่เขารู้เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงในใจ” ซึ่งอัศจรรย์กว่า (แอลมา 5:26)—การเปลี่ยนแปลงที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานชีวิตใหม่ทางวิญญาณแก่เรา เหมือนการ “เกิดใหม่” (ดู แอลมา 5:14, 49) แอลมาเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในใจนี้คือสิ่งที่ชาวนีไฟจำนวนมากต้องการ บางคนมั่งมีบางคนยากจน บางคนจองหองบางคนถ่อมตน บางคนเป็นผู้ข่มเหงบางคนทนทุกข์จากการข่มเหง (ดู แอลมา 4:6–15) แต่พวกเขาทั้งหมดจำเป็นต้องมาหาพระเยซูคริสต์เพื่อรับการเยียวยา—เช่นเดียวกับเราทุกคน ไม่ว่าเรากำลังพยายามเอาชนะความจองหองหรืออดทนต่อความทุกข์ทั้งหลาย แต่ข่าวสารของแอลมาเหมือนเดิมคือ “มาเถิด, และอย่ากลัวเลย” (แอลมา 7:15) จงให้พระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนใจที่แข็งกระด้าง เต็มไปด้วยบาป หรือบาดเจ็บให้เป็นใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน บริสุทธิ์ และใหม่

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

แอลมา 5:14–33

ฉันต้องประสบ—และยังคงรู้สึกถึง—การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาถามตนเองเป็นประจำว่า ‘ฉันเป็นอย่างไร?’ … เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการทบทวนส่วนตัวนี้ ข้าพเจ้าชอบอ่านและไตร่ตรองถ้อยคำสะท้อนแนวคิดซึ่งพบในแอลมาบทที่ห้า” (“หวนคืนและได้รับ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 64)

ท่านอาจจะอ่าน แอลมา 5:14–33 ประหนึ่งท่านกำลังสัมภาษณ์ตัวท่านเองและสำรวจใจตนเอง ท่านอาจต้องการบันทึกคำตอบของท่าน ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวท่านเอง? ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรเนื่องจากการสัมภาษณ์ของท่าน?

ดู เดล จี. เรนลันด์, “ดำรงการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 119–122 ด้วย

ภาพ
เด็กหญิงสวดอ้อนวอนข้างเตียง

เมื่อเราหันไปหาพระผู้เป็นเจ้า เราจะประสบ “การเปลี่ยนแปลงในใจ”

แอลมา 5:44–51

ฉันสามารถได้รับพยานของฉันเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

ใน แอลมา 5 เมื่อแอลมาอธิบายว่าเขาได้รับประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร เขาไม่ได้พูดถึงประสบการณ์ที่เห็นเทพ (ดู โมไซยาห์ 27:10–17) แอลมารู้ความจริงด้วยตนเองอย่างไร? ท่านอาจใช้สิ่งที่พบใน แอลมา 5:44–51 เขียน “ตำรา” ที่อธิบายวิธีได้รับประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ แอลมาใส่ “ส่วนผสม” (ความจริงของพระกิตติคุณ) และ “คำแนะนำ” (สิ่งที่เราทำได้เพื่อแสวงหาความจริง) ใดไว้บ้าง? ท่านจะเพิ่ม “ส่วนผสม” และ “คำแนะนำ” อะไรเข้าไปในตำราของท่านจากประสบการณ์ของตนเองหรือของผู้อื่นลงในพระคัมภีร์?

แอลมา 7

“เพราะข้าพเจ้าสำเหนียกว่าท่านอยู่ในทางแห่งความชอบธรรม”

บางครั้งเราก็เหมือนคนในเซราเฮ็มลาที่ต้องถูกเรียกให้กลับใจ (ดู แอลมา 5:32) บางครั้งเราก็เหมือนคนของกิเดียนที่พยายามเดิน “ในทางแห่งความชอบธรรม” (แอลมา 7:19) ท่านพบอะไรในข่าวสารของแอลมาที่กิเดียน (ใน แอลมา 7) ซึ่งคล้ายกับที่เขาพูดในเซราเฮ็มลา (ใน แอลมา 5)? ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง? มองหาสิ่งที่แอลมาสอนที่สามารถช่วยให้ท่านอยู่ “ในทางซึ่งจะนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 7:19)

ภาพ
ไอคอนเซมินารี

แอลมา 7:7–16

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของฉันไว้กับพระองค์

ท่านเคยรู้สึกไหมว่าไม่มีใครเข้าใจความลำบากหรือความท้าทายของท่าน? หากเคย ความจริงที่แอลมาสอนจะช่วยได้ ขณะที่ท่านอ่าน จงใคร่ครวญว่าข้อเหล่านี้ช่วยสอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจทำแผนภูมิโดยระบุหัวข้อว่า พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์อะไร และ เหตุใดจึงทรงทนทุกข์ และเขียนสิ่งที่ท่านพบใน แอลมา 7:7–16 (ดู อิสยาห์ 53:3–5 ด้วย) ท่านนึกถึงบางช่วงเวลาที่พระองค์ทรงทนทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ได้บ้างหรือไม่? ตัวอย่างบางส่วนจากพระคัมภีร์ ได้แก่ มัทธิว 4:1–13; 26:55–56; 27:39–44; มาระโก 14:43–46; ลูกา 9:58 ท่านสามารถเพิ่มสิ่งที่พบจากข้อเหล่านี้ลงในรายการของท่านได้ไหม?

มีเรื่องหนึ่งที่ท่านเชื่อว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อท่าน แต่การทนทุกข์ของพระองค์สร้างความแตกต่างในชีวิตประจำวันของท่านอย่างไร? ต่อไปนี้คือข้อพระคัมภีร์บางข้อที่แสดงวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงสามารถช่วยหรือ “ให้ความช่วยเหลือ” ท่านได้: อีนัส 1:5–6; โมไซยาห์ 16:7–8; 21:15; 24:14–15; 3 นีไฟ 17:6–7; อีเธอร์ 12:27–29; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10 ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้? มีวิธีอื่นใดอีกบ้างที่พระองค์จะเสด็จมาช่วยเหลือท่าน? ท่านเคยประสบความช่วยเหลือจากพระองค์เมื่อใด?

เพลงสวดอย่าง “ขอพึ่งพระทุกโมงยาม” หรือ “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 44, 59) อาจทำให้ท่านซาบซึ้งถึงความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น วลีใดในเพลงสวดเหล่านี้แสดงความรู้สึกของท่านที่มีต่อพระองค์?

เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ พิจารณาวิธีที่ท่านจะแบ่งปันประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและความศักดิ์สิทธิ์ พระคุณ และความรักของพระองค์ ท่านสามารถกระตุ้นให้คนที่ท่านสอนเป็นพยานถึงพระองค์โดยถามคำถามที่กระตุ้นให้พวกเขาบอกว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 5:44–48

ฉันสามารถมีประจักษ์พยานของฉันเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะพัฒนาประจักษ์พยานของตนเองให้เติบโต ท่านอาจให้พวกเขาดูภาพด้านล่างและถามพวกเขาว่าเราช่วยให้ลูกสัตว์เติบโตได้อย่างไร จากนั้นท่านอาจเชื่อมโยงสิ่งนี้กับการดูแลประจักษ์พยานของเรา ประจักษ์พยานของเราต้องการการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องใด? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประจักษ์พยานกำลังเติบโต?

    ภาพ
    เด็กชายสองคนกับลูกสัตว์

    เมื่อเรายอมรับพระกิตติคุณก็เหมือนกับเราเริ่มต้นชีวิตใหม่

  • แอลมาได้รับประจักษ์พยานอันเข้มแข็งถึงพระเยซูคริสต์อย่างไร? ท่านสามารถอ่าน แอลมา 5:44–46 กับเด็กเพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ ท่านอาจให้เด็กเขียนแผนการทำสิ่งหนึ่งในสัปดาห์นี้เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเอง

แอลมา 7:10–13

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของฉันไว้กับพระองค์

  • ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจ แอลมา 7:10–13 ได้อย่างไรเพื่อให้พวกเขารู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงห่วงใยและสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ท่านอาจขอให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาป่วยหรือเจ็บปวดหรือมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเศร้าเสียใจ คนอื่นช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้อย่างไร? แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์กับสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน และพูดถึงเวลาที่พระองค์ทรงปลอบโยนและช่วยเหลือท่าน

  • ขณะที่ท่านและเด็กอ่าน แอลมา 7:11–13 ให้มองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเรา ให้เด็กนำคำและวลีที่พวกเขาพบมาเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์: “พระเยซูทรงทนทุกข์ในเรื่อง เพื่อพระองค์จะสามารถช่วยฉันได้” ทั้งหมดนั้นช่วยให้เรารู้อย่างไรว่าพระเยซูเข้าพระทัยความลำบากของเรา? เราจะรับความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างไร? แบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์

แอลมา 5:14; 7:19–20

การติดตามพระเยซูคริสต์ทำให้ฉันอยู่บนเส้นทางตรงกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

  • ให้เด็กส่องกระจกขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 5:14 (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ด้วย) การมีรูปลักษณ์ของพระผู้ช่วยให้รอดในสีหน้าของเราหมายความว่าอย่างไร?

  • ท่านจะใช้คำอธิบายของแอลมาเรื่องทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเลือกสิ่งดีได้อย่างไร? ท่านสามารถอ่าน แอลมา 7:19–20 ให้เด็กฟังและให้พวกเขาเดินใน “ทางคดเคี้ยว” และเดินในทางตรง ช่วยให้พวกเขานึกถึงทางเลือกที่ช่วยให้เราอยู่บนเส้นทางและทางเลือกอื่นๆ ที่นำเราออกนอกเส้นทาง ท่านอาจดูรูปพระเยซูด้วยกันและพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อแสดงให้เราเห็นเส้นทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ เพลงอย่างเช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41) อาจให้แนวคิดบางอย่างได้

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
พระเยซูทรงสวมฉลองพระองค์สีแดง

พระผู้วิงวอนแทนเรา โดย เจย์ ไบรอันท์ วอร์ด