2023
การมีความเห็นอกเห็นใจและการแสดงออกถึงสิ่งนี้
กันยายน 2023


“การมีความเห็นอกเห็นใจและการแสดงออกถึงสิ่งนี้,” เลียโฮนา, ก.ย. 2023.

คนหนุ่มสาว

การมี ความเห็นอกเห็นใจ

แบบอย่างอันดีพร้อมของพระผู้ช่วยให้รอดสอนเราถึงพลังของการแสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น

ภาพ
เด็กร้องไห้บนเครื่องบิน

ท่านได้อะไรเมื่อนั่งเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กลำเดียวกับคุณแม่ที่กำลังหนักใจกับเด็กชายตัวเล็กที่กำลังหงุดหงิด? สถานการณ์ที่เครียดหนัก จากที่นั่งสองสามแถวด้านหลัง ผมเฝ้าดูเรื่องสะเทือนใจที่เกิดขึ้น เรื่องราวเป็นไปทำนองนี้:

เด็กชายตัวน้อย: ผมหิว!

แม่: มาดูในกระเป๋าแม่กันว่ามีอะไรบ้าง

เด็กชายตัวน้อย: ไม่เอา!

แม่: แต่ลูกหิวไม่ใช่เหรอจ๊ะ?

เด็กชายตัวน้อย: ขออันนั้น!

แม่: เอาอะไรจ๊ะ?

เด็กชายตัวน้อย: อันนั้น!

แม่: ลูกจ๊ะ ลูกจะเอาสร้อยแม่ไปไม่ได้นะ

เด็กชายตัวน้อย: ผมจะเอา!

ท่านคงนึกภาพออก จากนั้น 20 นาทีต่อมา แม่คนนั้นใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อทำให้ลูกสงบลง: ให้รางวัล เบนความสนใจ ใช้มุกตลก แม้กระทั่งขู่เล็กน้อยสองสามเรื่อง ซึ่งไม่ได้ผลสักวิธี “เดี๋ยวก็ถึงแล้ว” ผมเตือนตนเอง “เธอน่าจะไม่เป็นไร”

แต่เธอไม่โอเค เธอเครียดมาก และเริ่มเช็ดน้ำตา แม้ผมจะไม่รู้จักเธอ แต่ผมรู้สึกอยากช่วยเธอ ผมเริ่มสวดอ้อนวอนให้สองแม่ลูกทันที

ผมไม่ใช่ผู้โดยสารคนเดียวที่สะเทือนใจกับภาพที่เห็น ทันทีที่อารมณ์ของเธอถึงจุดเครียดสุด ผู้โดยสารอีกคนเข้ามาช่วยเธอ เธอเป็นหญิงที่สูงอายุกว่า ซึ่งนั่งอยู่อีกฟากหนึ่งของทางเดิน ด้วยสีหน้าท่าทางที่มีน้ำใจ เธอหันไปหาคุณแม่คนนั้น พูดเบาๆ สองสามคำเพื่อให้ความมั่นใจ พลางกุมมือเธอไว้ เสร็จสิ้นแล้ว และนั่นก็เพียงพอแล้ว

ทั้งสองคนกุมมือกันจากทางเดินคนละฟากตลอดการเดินทางที่เหลือ แม้เด็กชายตัวน้อยยังคงพูดจาโผงผางอย่างรุนแรง แต่คุณแม่ของเขาดูสงบนิ่ง นั่นคือปาฏิหาริย์

ความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสาร: คุณสมบัติสองข้อของการเป็นสานุศิษย์

ในคำศัพท์สมัยใหม่ ปาฏิหาริย์นี้มีชื่อเรียกคือ ความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจมีนิยามว่าเป็นการกระทำที่ไวต่อความรู้สึกในการรับรู้ความคิด ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของอีกคนหนึ่งแทน ความเห็นอกเห็นใจเป็นคำใหม่ ที่ท่านจะหาในพระคัมภีร์ไม่พบ แต่นักภาษาศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่าความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับคำว่า ความเมตตาสงสาร และคำว่าความเมตตาสงสารเป็นคำในพระคัมภีร์ที่มีอยู่มากมาย

ความเห็นอกเห็นใจเป็นความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของบุคคลอีกคนหนึ่ง และความเมตตาสงสารเป็นการกระทำของจิตกุศลที่แตกหน่อมาจากความสามารถนั้น พระเยซูคริสต์ทรงแสดงออกทั้งความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสารขณะทรงปฏิบัติศาสนกิจ อวยพร เยียวยา และไถ่ ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราต้องเรียนรู้ที่จะมีประสบการณ์เรื่องความเห็นอกเห็นใจและแสดงความเมตตาสงสาร สิ่งเหล่านี้อยู่ในบรรดาคุณลักษณะที่เป็นนิยามของความเป็นสานุศิษย์

เมื่อความเห็นอกเห็นใจทำงานได้อย่างน่าพิศวง สิ่งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจ แล้วตอบสนอง ต่อความเจ็บปวด ความต้องการ ความกลัว หรือความเสียใจของอีกคนหนึ่ง ในกรณีของคุณแม่วัยสาวผู้นั้น หญิงสูงวัยซึ่งน่าจะมีประสบการณ์ในการดูแลลูกหลานมาหลายสิบปีสามารถให้การปลอบโยนได้เพราะเธอเคยอดทนต่อความยากลำบากที่คล้ายกันมาก่อนด้วยตนเอง ด้วยคุณค่าจากประสบการณ์ของเธอเอง เธอมีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ปลอบโยน

อะไรทำให้พระเยซูคริสต์ทรงพร้อมที่จะปลอบโยนเรา? เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พระเยซูทรงรู้วิธีช่วยเหลือเราเมื่ออยู่ในความโศกเศร้าและความเจ็บป่วยของเราเพราะพระเยซูทรงทนรับความโศกเศร้าและความเจ็บป่วยของเรามาแล้ว [ดู แอลมา 7:11–12] ทรงรู้จักสิ่งเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง ฉะนั้นจึงทรงมีความเห็นอกเห็นใจ” 1

ภาพ
พระเยซูเสด็จเยือนชาวนีไฟ

พระคริสต์ในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง โดย ไซมอน ดิวอีย์

การมีความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือผู้อื่น

ท่านเคยอดทนกับความยากลำบากใดที่ทำให้ท่าน “มี” ความสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและแสดงความเมตตาสงสารพวกเขา? ท่านเคยทนทุกข์จากความยากจน ถูกกระทำทารุณกรรม ความโง่เขลา โรคภัยไข้เจ็บ การถูกทอดทิ้ง บาป หรือความยากลำบากอื่นใดหรือไม่? ถ้าเคย ท่านอาจพ้นจากความทุกข์ยากนั้นออกมาในฐานะมนุษย์ที่ฉลาดกว่า เข้มแข็งกว่า และไวต่อความรู้สึกกว่าผู้อื่น

สรุปคือ ท่านมีความเห็นอกเห็นใจแล้ว ท่านพร้อมที่จะสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของผู้ที่ต้องทนทุกข์ ควรจะเริ่มตรงไหน? ผมมีข้อเสนอแนะสองข้อ

ข้อแรก พยายามเข้าใจความทุกข์ยากของผู้อื่นให้มากขึ้น ที่น่าเศร้าคือ เป็นไปได้ที่จะอยู่ในกลุ่มคนที่เจ็บปวดและยังคงหลงลืมความทุกข์ของพวกเขา เราจะเข้าใจมากขึ้นได้อย่างไร? แบบอย่างของพระเยซูคริสต์สอนเราได้

หลังฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์เสด็จเยือนชาวนีไฟและทรงอธิบายหลักคำสอนและสอนพระกิตติคุณแก่พวกเขา เมื่อทรงหยุดพัก พระองค์ทอดพระเนตรผู้คนและตรัสว่า “เราเห็นว่าเจ้าอ่อนแอ, ว่าเจ้าเข้าใจถ้อยคำทั้งหมดของเราไม่ได้” (3 นีไฟ 17:2) จากนั้นพระเยซูทรงเชิญพวกเขากลับบ้าน พักผ่อน ไตร่ตรองพระดำรัสสอน กลับมาในวันรุ่งขึ้นด้วยความสดชื่นและพร้อมรับฟังเพิ่มเติม (ดู 3 นีไฟ 17:3)

เพียงเท่านี้ใช่ไหม? ก็ไม่เชิง ความหยั่งรู้ของพระเยซูลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อทรงสังเกตเห็นสีหน้าของผู้ติดตามพระองค์

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเมื่อพระเยซูรับสั่งดังนั้นแล้ว, พระองค์ทอดพระเนตรฝูงชนโดยรอบอีก, และทรงเห็นพวกเขาน้ำตาไหล, และได้เพ่งดูพระองค์ราวกับว่าจะทูลขอให้พระองค์คงอยู่กับพวกเขาอีกสักเล็กน้อย.

“และพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า : ดูเถิด, อุทรของเราเต็มไปด้วยความสงสารต่อพวกเจ้า” (3 นีไฟ 17:5–6) ขณะทอดพระเนตรพวกเขาอย่างตั้งพระทัยมากขึ้น พระองค์เข้าพระทัยยิ่งขึ้น และสิ่งนั้นกระตุ้นให้ทรงตอบสนองด้วยความเมตตาสงสาร

ในโลกที่ตกซึ่งเต็มไปด้วยคนที่ตกแล้ว เป็นเรื่องไม่ยากที่เราจะมองเห็นน้ำตาในดวงตาบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ แต่เราต้องมองดู เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถเลือกที่จะมองผู้คนผ่านเลนส์ความต้องการของพวกเขา และเมื่อเราเห็น เราก็รับใช้ได้

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เมื่อเราตั้งใจพากเพียรทำให้เจตคติแห่งความสงสารอยู่ในวิถีชีวิตเราตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะรับรู้ความต้องการของผู้คนได้ไวขึ้น เมื่อเรารับรู้ไวขึ้น ความสนใจและความรักอย่างจริงใจจะแทรกซึมอยู่ในทุกการกระทำของเรา”2

ข้อสอง ให้ความช่วยเหลือที่ท่านมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่จะให้ หลังจากพระเยซูทรงรับรู้ความต้องการของชาวนีไฟที่แผ่นดินอุดมมั่งคั่ง ทรงเรียกพวกเขาให้เข้าใกล้พระองค์ จากนั้นทรงรักษาคนป่วยและอวยพรเด็กๆ ทรงทำในสิ่งที่มีแต่พระผู้ช่วยให้รอดของโลกเท่านั้นที่ทำได้

ท่านกับผมสามารถนำประสบการณ์และความสามารถผสมผสานกันเพื่อรองรับความต้องการของผู้อื่นได้เช่นกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาของทุกคน แต่เราสามารถแบกภาระของผู้ที่มีความทุกข์ยากที่เราสามารถเกี่ยวโยงด้วยได้ เราอาจรักษาคนโรคเรื้อนไม่ได้ แต่เราปลอบโยนผู้ป่วยได้ เราอาจไม่สามารถยกบางคนให้พ้นจากความยากจนได้ แต่เราแบ่งปันหลักธรรมของการดำเนินชีวิตอย่างมัธยัสถ์ แบ่งปันอาหารสักมื้อ และถวายเงินบริจาคอดอาหารอย่างเอื้อเฟื้อมากขึ้นได้ เราอาจให้อภัยบาปไม่ได้ แต่เราให้อภัยคนที่ล่วงเกินเราได้

ทำความเห็นอกเห็นใจให้เป็นการปฏิบัติ

ท่านได้อะไรเมื่อนั่งเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กลำเดียวกับคุณแม่ที่กำลังหนักใจกับเด็กชายตัวเล็กที่กำลังหงุดหงิด? โอกาสแสดงความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสาร

เครื่องที่เราโดยสารลงจอด คุณแม่วัยสาวออกจากเครื่อง แขนข้างหนึ่งถือกระเป๋า อีกข้างอุ้มลูกชาย กลับกลายเป็นว่าเธอต้องต่อเครื่องบินอีกลำและกำลังจะตกเครื่อง ผมเฝ้าดูท่าทีหวั่นวิตกของเธอเมื่อเธอได้กระเป๋าเดินทาง ผมนับดูข้าวของของเธอ: รถเข็นเด็ก เบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก กระเป๋า กระเป๋าถือขึ้นเครื่อง ถุงผ้าอ้อม เธอต้องการความช่วยเหลือ ความเห็นอกเห็นใจของผมจำเป็นต้องเติบโตเป็นความเมตตาสงสาร

ผมเข้าไปยกของๆ เธอโดยที่ไม่ได้แนะนำตัวพลางพูดว่า “ผมจะช่วยยกของพวกนี้ คุณอุ้มลูก วิ่งไปที่ประตู เดี๋ยวผมตามไป” เธอยอมรับด้วยความสำนึกคุณ แล้วเรารีบวิ่งไปในสนามบิน เมื่อเราถึงประตู ผมเห็นสตรีอีกคนหนึ่งกำลังขอร้องเจ้าหน้าที่สายการบินให้เครื่องจอดรออีกสักสองสามนาที เรามาถึงแบบเหนื่อยหอบแต่ได้รับชัยชนะ คุณแม่วัยสาวผู้นั้นและสตรีคนนั้นกอดกันพลางหลั่งน้ำตาแห่งปีติและความโล่งใจก่อนขึ้นเครื่องไป

การลงมือรับใช้ที่เล็กน้อยนี้ไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เป็นพรที่มีความหมายต่อชีวิตของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้าผู้ต้องการความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่เรื่องนี้ช่วยให้เพื่อนใหม่ของผมก้าวหน้าไปจนบรรลุถึงที่หมาย เรื่องนี้ช่วยให้ผมก้าวหน้าไปจนบรรลุที่หมายทางวิญญาณด้วย การเลือกความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสารช่วยให้ผมเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นอีกเล็กน้อย และสิ่งนี้ทำให้ผมมีความสุข

ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดทั้งที่ทำงานหรือโรงเรียน โบสถ์หรือบนเครื่องบิน เราสามารถเป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอดที่มีความเห็นอกเห็นใจ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระประสงค์ให้ท่านแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อใครวันนี้?