2023
หลังความบอบช้ำ: เสริมสร้างการปรับคืนสภาพและน้อมรับการรักษา
กันยายน 2023


“หลังความบอบช้ำ: เสริมสร้างการปรับคืนสภาพและน้อมรับการรักษา,” เลียโฮนา, ก.ย. 2023.

หลังความบอบช้ำ: เสริมสร้าง การปรับคืนสภาพ และ น้อมรับ การรักษา

การเยียวยาเกิดขึ้นเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดและเสริมสร้างการปรับคืนสภาพทางอารมณ์

ภาพ
ภาพขาวดำของต้นไม้มีวงกลมสีเขียวซ้อนทับ

ผู้คนส่วนใหญ่จะประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำอย่างน้อยหนึ่งเรื่องในชีวิตตน เราได้เห็นเรื่องนี้ในชีวิตเราทั้งโดยส่วนตัวและในการงานอาชีพ อะไรคือสาเหตุของความบอบช้ำ? ประสบการณ์ที่ยากลำบากเช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกงาน สงคราม การกระทำทารุณกรรมร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้งรังแกอย่างรุนแรง การสูญเสียผู้เป็นที่รัก และอื่นๆ อีกมาก

ความบอบช้ำทำให้เจ็บปวด และบางครั้งอาจรู้สึกไม่สามารถพบทางคลายทุกข์ได้ แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะรู้ว่าความเจ็บปวดบรรเทาลงได้ และท่านจะรู้สึกได้พบสันติสุขอีกครั้งเมื่อพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน พระเยซูคริสต์

พระบิดาบนสวรรค์ทรงยอมให้เราประสบกับความยากลำบาก แม้ว่าพระองค์มิได้ทรงกำหนดล่วงหน้า สร้าง หรือสนับสนุนประสบการณ์เหล่านี้ แต่พระองค์ทรงสามารถช่วยให้ “สิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของ [เรา]” หากเราวางใจในพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24; ดู 2 นีไฟ 32:9 ด้วย)

เราพบว่าการหันไปพึ่งพาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในกระบวนการรักษา สันติสุขของทั้งสองพระองค์รักษาได้ทั้งทางอารมณ์และทางวิญญาณ เรารู้ว่าในความรักและพระเมตตา ท่านสามารถพบพลังที่จะเยียวยา นอกจากนี้เรายังพบกลวิธีบางอย่างที่ช่วยให้ท่านเสริมสร้างความเข้มแข็งส่วนตัวและมุ่งหน้าไปสู่การรักษา

ทุกคนต่างประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำแตกต่างกันไป อันที่จริง บางคนอาจประสบเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำ ขณะที่คนอื่นๆ อาจเพียงรู้สึกไม่สบายใจ ด้วยเหตุผลนี้ จงจำไว้ว่าอย่าเปรียบเทียบประสบการณ์ของท่านกับของผู้อื่นหรือใช้ประสบการณ์ของท่านเป็นประสบการณ์มาตรฐาน

การตอบสนองต่อเหตุการณ์แตกต่างกันไป

แซมและลูซีเดินทางไปด้วยกัน แล้วคนขับรถหลับในจนขับรถตกถนน เหตุการณ์นี้ทำให้รถพลิกคว่ำหลายตลบ แซมไม่ได้รับบาดเจ็บมากนักและดูเหมือนจะสลัดเหตุการณ์นี้ทิ้งไปแบบไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เขาเฝ้าปลอบโยนลูซี เพราะเธอแขนหักจนต้องเข้าเฝือก

หลายสัปดาห์ต่อมา เมื่อแซมมีโอกาสเดินทางอีกครั้ง เขารู้สึกตื่นตระหนกเมื่อนึกถึงชั่วโมงอันยาวนานบนท้องถนน

แซมกำลังประสบกับผลร้ายทางอารมณ์จากประสบการณ์ที่ทำให้บอบช้ำ เขาลังเลที่จะพูดเรื่องนี้กับใครสักคน แต่เมื่อเขาคุยกับลูซี เขาเรียนรู้ว่าเธอเคยอยู่ในอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก่อนและรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร ทั้งสองสนทนาถึงสิ่งที่ลูซีเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งก่อนเมื่อเธอใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ สวดอ้อนวอนขอการชี้นำ และได้ประโยชน์จากการให้คำปรึกษาเมื่อเธอต้องต่อสู้ดิ้นรน

ภาพ
ภาพขาวดำของต้นไม้ต้นเล็กที่มีวงกลมสีเขียวซ้อนทับ

ความหวังและการเยียวยาผ่านพระเยซูคริสต์

ไม่ว่าความบอบช้ำของเราจะเป็นเช่นไร การเยียวยาเกิดขึ้นได้ผ่านพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ ด้วยการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระผู้ช่วยให้รอดและพระเมตตาสงสารของพระองค์ ทรงสามารถรักษาบาดแผลทั้งหมดที่ประสบในโลกมรรตัยนี้ ไม่ว่าการเยียวยานั้นจะมาในชีวืตนี้หรือชีวิตหน้า บางครั้งอาจใช้เวลานานกว่าที่เราคาดหวังหรือต้องการเพื่อตนเองแม้ด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอด แต่พระองค์ทรงสามารถเยียวยาเราได้ (ดู 3 นีไฟ 17:7)

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ความสว่างของพระผู้เป็นเจ้ามีจริง มีให้แก่ทุกคน ให้ชีวิตแก่สิ่งทั้งปวง มีอำนาจที่จะลดความเจ็บปวดของบาดแผลอันลึกที่สุด”1

ไม่มีใครรู้ความทุกข์ของเรามากเท่ากับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด พระเจ้า “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงด้วย, ในการนั้นพระองค์ทรงเข้าพระทัยสิ่งทั้งปวง, เพื่อพระองค์จะได้อยู่ในสิ่งทั้งปวงและผ่านสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6) ซิสเตอร์เอมี่ เอ. ไรท์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญสอนว่า

“เราล้วนมีบางสิ่งแตกหักในชีวิตซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซ่อมแซม หรือรักษา เมื่อเราหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อเราทำให้ใจและความคิดของเราสอดคล้องกับพระองค์ เมื่อเรากลับใจ พระองค์จะเสด็จมาหาเรา ‘ด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย’ [2 นีไฟ 25:13] ทรงโอบเราไว้ในพระพาหุของพระองค์ด้วยความรักและตรัสว่า ‘ไม่เป็นไร … เราแก้ไขเรื่องนี้ด้วยกันได้!’

“ดิฉันเป็นพยานว่าไม่มีสิ่งใดในชีวิตท่านที่แตกหักเกินเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถที่ไถ่และเยียวยารักษาของพระเยซูคริสต์”2

แบบอย่างของการรักษาและวิธีรักษาพบได้ในพระคัมภีร์—และในชีวิตของครอบครัว เพื่อน รวมทั้งบรรพชนของเรา บรรพชนของท่านปรับคืนสภาพด้วยวิธีใด?3

อัตลักษณ์นิรันดร์ของเรา

เมื่อฮูลิโออายุ 13 ปี คุณลุงล่วงละเมิดทางเพศเขา เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มออกห่างจากครอบครัวและแยกตัวอยู่ตามลำพัง บางครั้ง เขาทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่บางครั้งเขาท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ เขาจัดการชีวิตได้ดีเสมอ—แม้จะรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่ง เช่น การกำเนิดของลูกชาย เขารู้สึกชอกช้ำด้วย ลูกชายของเขาเริ่มเข้าสู่วัยเดียวกับที่เขาเคยถูกกระทำทารุณกรรม และเมื่อฮูลิโอครุ่นคิดถึงประสบการณ์ที่อาจเป็นไปได้ของลูกชาย เขาต้องต่อสู้กับความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าในตนเองและอัตลักษณ์นิรันดร์ของตนเอง

แม้ความบอบช้ำจะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์มรรตัยของเรา แต่นี่ไม่ใช่อัตลักษณ์นิรันดร์ของเรา อัตลักษณ์นิรันดร์ของเราคือการที่เราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:

ท่านเป็นใคร?

“สำคัญที่สุดอย่างแรกคือ ท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า

“สอง ในฐานะสมาชิกศาสนจักร ท่านเป็นลูกแห่งพันธสัญญา และสาม ท่านเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์”4

นอกจากนี้ ความบอบช้ำไม่เคยเป็นผลสะท้อนของคุณค่าหรือความมีค่าควรของเรา ซิสเตอร์จอย ดี. โจนส์ อดีตประธานปฐมวัยสามัญชี้แจงแนวคิดสองประการนี้เมื่อท่านสอนว่า

คุณค่า ทางวิญญาณหมายถึงการเห็นคุณค่าตนเองในวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเห็นคุณค่าเรา …

“… ค่าควร จะได้รับโดยผ่านการเชื่อฟัง หากเราทำบาป เรามีค่าควรน้อยลง แต่เราจะไม่มีวันไร้ค่า”5

การกระทำทารุณกรรมที่ฮูลิโอต้องทนด้วยน้ำมือของลุงไม่ได้ทำให้คุณค่าและความมีค่าควรของฮูลิโอเปลี่ยนไป เขาไม่เคยทำบาปแต่ถูกกระทำ บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากเมื่อนึกถึงคุณค่าและความมีค่าควรหากท่านเคยถูกกระทำทารุณกรรมมาก่อน พึงจำไว้ว่า ท่านไม่ได้ทำบาป ค่าควรของท่านไม่ได้ลดลงเลย และท่านมีค่าควรที่จะดำเนินต่อไปในเส้นทางพันธสัญญา

เมื่อฮูลิโอเริ่มวางใจในพระเจ้า พระองค์ทรงช่วยให้ฮูลิโอตระหนักว่าประสบการณ์มรรตัยไม่ได้เปลี่ยนความรักที่พระบิดาในสวรรค์ทรงมีต่อเรา ตอนนี้เขากำลังเรียนรู้ที่จะเห็นว่าแม้จะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนค่าควรรากฐาน อัตลักษณ์นิรันดร์ หรือความมีค่าควรของเขาเลย

การพึ่งพาตนเองทางอารมณ์

การพัฒนาการพึ่งพาตนเองทางอารมณ์จะช่วยให้ท่านใช้แหล่งช่วยส่วนตัวที่ดีเพื่อรับมือกับเรื่องท้าทายและอารมณ์ที่ยากลำบาก ท่านสามารถพัฒนาการปรับคืนสภาพซึ่งคือความสามารถที่จะปรับตัวและจัดการกับการทดลอง—รวมถึงความบอบช้ำ

การปรับคืนสภาพเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความช่วยเหลือและการนำทางจากพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ การรับใช้ผู้อื่น และการให้ผู้อื่นรับใช้ตามที่จำเป็นและเหมาะสม

การกระทำต่อไปนี้ซึ่งแนะนำโดยผู้ให้คำแนะนำมืออาชีพจะช่วยให้ท่านพัฒนาการปรับคืนสภาพ:

  1. สร้างการเชื่อมโยงกับผู้อื่น

  2. ปรับปรุงความผาสุกทางกาย

  3. ค้นหาจุดประสงค์ในชีวิต

  4. ปลูกฝังความคิดที่ดี

  5. ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น6

ภาพ
ภาพขาวดำของผู้หญิงสองคนที่มีสี่เหลี่ยมสีเขียวซ้อนทับ

1. เชื่อมโยงกับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ที่ดีมักส่งเสริมการรักษา การเชื่อมโยงกับคนที่เสริมกำลังและกระตุ้นให้ท่านหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาบนสวรรค์ของเราอาจสร้างความแตกต่างที่ท่านต้องการเพื่อเยียวยาอย่างเต็มที่มากขึ้น

แซมไปหาลูซี เล่าความกลัวและความไม่สบายใจให้เธอฟัง ความสัมพันธ์นี้ช่วยให้เขาตระหนักและปรับคืนสภาพได้มากขึ้น เธอช่วยให้เขาเข้าใจวิธีที่เขาจะรักษาทางอารมณ์และทางวิญญาณ

ท่านอาจตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับคนอื่นๆ ที่ท่านไว้วางใจ การปฏิบัติศาสนกิจเป็นวิธีหนึ่งที่เราเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในศาสนจักร

2. ดูแลความผาสุกทางกาย

เราไม่ได้รู้สึกถึงความบอบช้ำทางอารมณ์เท่านั้นแต่รู้สึกทางร่างกายด้วย เราอาจรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ หรือปัญหาจากการปวดท้องหรือรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน อาการทางกายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้เรารู้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติและเราจำเป็นต้องเอาใจใส่สุขภาพของเรา เช่นเดียวกับที่เราสามารถทำสิ่งต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพทางอารมณ์ของเราให้ดีขึ้น เราสามารถพิจารณาเลือกวิธีที่จะดูแลร่างกายหลังความบอบช้ำได้เช่นกัน

ขั้นแรก รับรู้อาการทางกายที่ท่านมีอยู่ จากนั้นพยายามทำให้ร่างกายของท่านสงบโดยจดจ่ออยู่กับลมหายใจและหายใจช้าๆ พยายามรับรู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อหายใจเร็วๆ และขาดๆ หายๆ เมื่อเทียบกับความรู้สึกเมื่อหายใจช้าๆ และสม่ำเสมอ

บางครั้งความบอบช้ำอาจเป็นเหตุให้เราบาดเจ็บ ดังนั้นจงทำสิ่งที่เหมาะสมกับร่างกายของท่าน แต่การเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายมีประโยชน์มาก บางคนชอบเดินหรือวิ่ง ขณะที่คนอื่นๆ อาจพบว่าการทำงานหนักมีประโยชน์มากกว่า

จงนึกถึงพระคำแห่งปัญญา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 89) การพยายามปกปิดความเจ็บปวดด้วยพฤติกรรมหรือสารที่ไม่มีประโยชน์ไม่ต่างกับการ “ปิดแผลลึกด้วยผ้าพันแผล”7 จงช่วยให้ร่างกายของท่านจัดการกับความเครียดและความเจ็บปวดแทนที่จะปกปิด

3. ค้นหาจุดประสงค์และความหมาย

จุดประสงค์หลักในชีวิตเราคือการเตรียมตัวกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา (ดู แอลมา 12:24) ความบอบช้ำอาจทำให้จุดประสงค์นี้เลือนรางและปิดบังเราจนไม่เห็นว่าเราเป็นใคร การค้นหาจุดประสงค์ที่จำเพาะเจาะจงในการกระทำประจำวันของเราสามารถช่วยให้เรามุ่งหน้าและระลึกถึงจุดประสงค์หลักของเราในชีวิต ฮูลิโอเริ่มมุ่งหน้าและค้นพบจุดประสงค์ในการกระทำประจำวันของเขาเมื่อตระหนักว่าตนต้องการช่วยลูกชาย

การค้นพบความหมายในความบอบช้ำสามารถช่วยให้เราเห็นทางเบื้องหน้า รู้ว่าประสบการณ์ของเราให้โอกาสเราที่จะเติบโตและเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การแสดงความเมตตาสงสารต่ออีกคนหนึ่งที่มีความทุกข์เป็นเรื่องง่ายขึ้นเมื่อเราผ่านประสบการณ์ยากลำบากมาแล้วด้วยตนเอง

การค้นคว้าพบว่าหลังความบอบช้ำ ผู้คนมักมีประสบการณ์ที่ถูกตีตราว่าเป็น “การเติบโตหลังความบอบช้ำ” คนที่จะแสดงให้เห็นการเติบโตหลังความบอบช้ำคือคนที่พยายามเพิ่มความเข้มแข็งให้ตนเองหลังประสบการณ์ที่ทำให้เกิดการบอบช้ำ เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเดิม ซาบซึ้งในชีวิตหรือคุณภาพชีวิตบางอย่างมากขึ้น หรือการรับรู้ถึงความเป็นไปได้ของชีวิตมากขึ้น หลังประสบเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำ พึงตระหนักว่าประสบการณ์นั้นทำให้ท่านเติบโตหรือจะทำให้ท่านเติบโตได้อย่างไรแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ

4. ปลูกฝังความคิดที่ดี

ประสบการณ์ที่ทำให้บอบช้ำสามารถส่งผลต่อวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับตนเองและโลกที่อยู่รอบตัวเรา หลังประสบการณ์ที่ทำให้บอบช้ำ เราอาจมีความคิดแง่ลบ ความคิดทำนองนี้ “ฉันเป็นคนอ่อนแอ” “พระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงรักฉัน” และ “ฉันไม่มีค่าควร” บั่นทอนความสามารถในการปรับคืนสภาพ ความคิดเหล่านี้มักจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกเรา (ดู สุภาษิต 23:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36)

หลังจากรู้ว่าตนเองมีความคิดแง่ลบ ลองนึกถึงความคิดที่ดีและเป็นไปได้จริงแล้วเขียนลงไป เตือนตนเองเกี่ยวกับความคิดที่ดีเหล่านั้นเมื่อรู้ตัวว่ามีความคิดแง่ลบในใจ

หากต้องการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีทำสิ่งเหล่านี้ ให้ทบทวนบทที่ 2 ของ พบความเข้มแข็งในพระเจ้า: การฟื้นตัวทางอารมณ์ (2021)

ท่านอาจหันไปพึ่งพาการสวดอ้อนวอน บันทึกประจำวัน การไตร่ตรองพระคัมภีร์หรือคำปราศรัยจากการประชุมใหญ่สามัญ (ดู โยชูวา 1:8) หรือวิธีไตร่ตรองอื่นๆ

5. ขอความช่วยเหลือ

บางครั้ง เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะนึกถึงความช่วยเหลือจากแหล่งช่วยที่ตัวท่านเองไม่มี ลูซีแสวงหาความช่วยเหลือที่ทำให้เธอมีโอกาสช่วยแซม นึกถึงผู้คน เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน และผู้นำในวอร์ดที่อาจช่วยเราได้ การรักษาความบอบช้ำเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ท่านอาจจำเป็นต้องใช้แหล่งช่วยทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ในชีวิตท่าน

คู่มือทั่วไป ให้แนวทางไว้ว่าเมื่อใดที่เหมาะสมจะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้คำแนะนำมืออาชีพ8

จะให้เลิกครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเราทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ที่ให้มุ่งความสนใจของเราไปที่พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ “ความสงสัยและความกลัวจะหายไป”9 พึงจำไว้ว่าท่านเป็นบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา เมื่อท่านมุ่งความสนใจไปที่การเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นและใช้แหล่งช่วยที่มีประโยชน์เท่าที่ท่านจะหาได้ พระเจ้าจะทรงช่วยให้ประสบการณ์ทุกอย่างที่ทำให้บอบช้ำเป็นไปเพื่อความดีของท่าน