2022
ความหวังและการปลอบโยนในพระคริสต์
กันยายน 2022


“ความหวังและการปลอบโยนในพระคริสต์,” เลียโฮนา, ก.ย. 2022.

ความหวังและการปลอบโยนในพระคริสต์

ขอให้เรายึดมั่นกับพระสัญญาที่ว่าพระเจ้าทรงจดจำและประทานรางวัลแก่วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์

ภาพ
พระหัตถ์จากรูปปั้นพระคริสต์

เรายึดเหนี่ยวความหวังสูงสุดของเราได้ในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

ภาพถ่ายพระหัตถ์จากรูปปั้น พระคริสต์ โดย สก็อตต์ ลอว์

เจนส์และแอน แคธรีน แอนเดอร์เซ็นมีประจักษ์พยานที่ลึกซึ้งและแนบสนิทในความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ แม้จะมีฝูงชนและชุมชนที่เกรี้ยวกราดรวมทั้งการข่มเหงในเขตศาสนา แต่ทั้งสองยังเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปี 1861

ฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา พวกเขาใส่ใจการเรียกแห่งไซอัน ซึ่งเรียกหาจากหุบเขาซอลท์เลคที่อยู่ไกลออกไป 5,000 ไมล์ (8,000 กม.) การไปรวมกันที่ไซอันหมายถึงการละทิ้งชีวิตที่สุขสบายของตนในเดนมาร์กไว้เบื้องหลัง—รวมถึงเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และฟาร์มอันสวยงามที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นจากพ่อสู่ลูกชายคนโต ฟาร์มที่กว้างใหญ่และมีผลผลิตสูง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเวดดัม ใกล้ออลบอร์ บนคาบสมุทรจัตแลนด์อันอุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือของเดนมาร์ก ฟาร์มนี้ว่าจ้างคนงานหลายสิบคนอีกทั้งนำเกียรติและทรัพย์สินมาสู่ครอบครัวแอนเดอร์เซ็น

โดยแบ่งปันทรัพย์สินเหล่านั้นแก่เพื่อนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส เจนส์และแอน แคธรีนออกค่าใช้จ่ายการย้ายถิ่นฐานของวิสุทธิชนคนอื่นๆ ประมาณ 60 คนเพื่อเดินทางมาสู่ไซอัน วันที่ 6 เมษายน ปี 1862 ครอบครัวแอนเดอร์เซ็น พร้อมลูกชายวัย 18 ปี แอนดรูว์ กับวิสุทธิชนชาวเดนมาร์กอื่นๆ อีก 400 คนร่วมเดินทางด้วยเรือกลไฟขนาดเล็ก อัลบียอน ไปยังเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี สองวันต่อมาก็ถึงเมืองฮัมบูร์ก พวกเขารวมตัวกับวิสุทธิชนที่มาชุมนุมกันมากกว่าเดิมและลงเรือโดยสารขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเริ่มเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

แต่ในไม่ช้า ปีติของการไปรวมตัวกันที่ไซอัน ก็เปลี่ยนเป็นความโศกเศร้า เด็กหลายคนที่เริ่มเดินทางมากับเรือ อัลบียอน เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคหัด เมื่อโรคแพร่ระบาดไปในหมู่ผู้อพยพ เด็ก 40 คนและผู้ใหญ่อีกหลายคนตายและถูกฝังร่างไว้ในทะเล ในบรรดาผู้ตายมีเจนส์ แอนเดอร์เซ็นวัย 49 ปี คุณตาเทียดของข้าพเจ้า

ความฝันของเจนส์ที่จะไปถึงและร่วมสร้างไซอันกับครอบครัวและเพื่อนวิสุทธิชนชาวเดนมาร์กดับวูบลงเพียง 10 วันหลังออกจากฮัมบูร์ก นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเขียนว่า “ผู้ปลดปล่อยคนหนึ่งซึ่งเปรียบดังโมเสสผู้ไม่เคยย่างเท้าของตนเหยียบแผ่นดินแห่งคำสัญญาคือเจนส์ แอนเดอร์เซ็นแห่ง [เวดดัม] ออลบอร์ ผู้ช่วยให้เพื่อนของตนไม่น้อยกว่าหกสิบคนอพยพย้ายถิ่นฐาน เขาพบความตายในทะเลเหนือในปี 1862 ไม่นานหลังออกจาก [เยอรมนี] ”1

การทดลองของความเป็นมรรตัย

การเสียสละของครอบครัวแอนเดอร์เซ็น—ที่ต้องละทิ้งฟาร์มที่สุขสบายและต้องสูญเสียสามีและบิดาที่รักของตนไป—เป็นเรื่องคุ้มค่าหรือไม่? ข้าพเจ้ามั่นใจว่าคำตอบของโลกคือ ไม่ แต่โลกไร้ศรัทธา การเห็นล่วงหน้า และ “มุมมองนิรันดร์”2 ที่พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์มอบให้

มุมมองนั้นช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมรรตัยของเราและการทดลองมากมายในนั้น เราเผชิญความกลัว การหักหลัง การล่อลวง บาป การสูญเสีย และความอ้างว้าง โรคภัย ภัยพิบัติ ภาวะซึมเศร้า และความตายทำลายความฝันของเรา บางครั้ง ภาระเหล่านั้นดูเหมือนมากเกินกว่าที่เราจะแบกรับไหว

“แม้ว่ารายละเอียดจะแตกต่างกัน เหตุการณ์ร้ายแรง การทดสอบและการทดลองที่คาดไม่ถึง ทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ เกิดขึ้นกับเราแต่ละคนเพราะนี่คือความเป็นมรรตัย” เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว ท่านเสริมว่า: “เราแสวงหาความสุข เราปรารถนาสันติสุข เราหวังจะได้รับความรัก พระเจ้าทรงเทพรแสนวิเศษมาให้เราอย่างล้นเหลือ แต่ที่แอบปะปนมากับปีติและความสุข สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ: จะมีช่วงเวลา ชั่วโมง วัน บางครั้งเป็นปีเมื่อจิตวิญญาณของท่านจะบาดเจ็บ”3

เรากล้ารับรสความขม เพื่อชื่นชมรสหวาน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:39) ในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ เราทุกคนถูกขัดเกลา—แล้ว ได้รับเลือก—“ในเตาของความทุกข์ยาก” (อิสยาห์ 48:10)

คำสัญญาเรื่องการชดใช้

ภาพ
รูปปั้นพระคริสต์

ภาพถ่ายรูปปั้น พระคริสต์ โดย อลัน เบรนท์ ฮาร์เดอร์

ความทุกข์ยากเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข” (แอลมา 42:8; ดู 2 นีไฟ 2:11 ด้วย) แต่ศูนย์กลางของแผนนั้นคือการปลอบโยนและความหวังซึ่งมาจาก “การชดใช้ที่ยิ่งใหญ่และเรืองโรจน์”4 ผ่านการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์เสด็จมาช่วยชีวิตเรา (ดู แอลมา 36:3)

พระผู้ช่วยให้รอด “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6) เพื่อทรงสามารถรับเอาความยากลำบากและความผิดพลาดของเราไว้กับพระองค์ ทรงทราบวิธีปฏิบัติศาสนกิจกับเราโดยเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเจ็บตรงไหนและทำไมจึงเจ็บ

“เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยทนทุกข์ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกหรือประสบ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนอ่อนแอให้กลับเข้มแข็งได้” ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “ทรงประสบมาด้วยพระองค์เองทั้งหมดนั้น พระองค์เข้าพระทัยความเจ็บปวดของเราและจะทรงดำเนินกับเราแม้ในช่วงเวลาที่มืดสนิทที่สุดของเรา”5

นั่นคือเหตุผลที่เราสามารถยึดเหนี่ยวความหวังสูงสุดของเราได้ในพระองค์และการชดใช้ของพระองค์

“สิ่งที่เรามีคือโลกที่มองแง่ร้ายและเหยียดหยามกัน—โลกที่ ในระยะยาว ไม่มีความหวังในพระเยซูคริสต์ทั้งไม่มีความหวังในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความสุขของมนุษย์” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “ทำไมจึงมีความขัดแย้งและความหดหู่ไปทั่วโลก? เหตุผลนั้นธรรมดามาก หากไม่มีความหวังในพระคริสต์ ย่อมไม่มีการรับรู้แผนอันสูงส่งสำหรับการไถ่มนุษยชาติ เมื่อไม่มีความรู้ดังกล่าว ผู้คนจึงเชื่อกันอย่างผิดๆ ว่าการดำรงอยู่วันนี้ตามมาด้วยการดับสูญในวันพรุ่งนี้—ว่าความสุขและความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น”6

ข้าพเจ้าพบความหวังและการเยียวยาในพระเยซูคริสต์เมื่อเข้าพระวิหารและฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ข้าพเจ้าพบการปลอบโยนเมื่อศึกษาพระคัมภีร์และเป็นพยานในพระองค์และการชดใช้ของพระองค์ เมื่อความเป็นมรรตัยข่มขวัญ “สันติ [ของท่าน] ให้ลี้ลับตา”7 จงหันไปพึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ข้อพระคัมภีร์แห่งการปกป้อง” นี่คือบางข้อที่ข้าพเจ้าชอบมาก:

พันธสัญญาเดิม

  • “พระ‍องค์จะทรงกลืนความตายเสียเป็นนิตย์แล้วพระ‍ยาห์‌เวห์องค์‍เจ้า‍นายจะทรงเช็ดน้ำ‍ตาจากทุกใบหน้า” (อิสยาห์ 25:8)

  • “แน่ทีเดียวท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป … แต่​ท่าน​ถูก​แทง​เพราะ​ความ​ทรยศ​ของ​เราท่าน​บอบ‍ช้ำ​เพราะ​ความ​บาป‍ผิด​ของ​เรา: การ​ตี‍สอน​ที่​ตก​บน​ท่าน​นั้น​ทำ​ให้​พวก‍เรา​มี​สวัสดิ‌ภาพ และ​ที่​ท่าน​ถูก​เฆี่ยน‍ตี​ก็​ทำ‍ให้​เรา​ได้​รับ​การ​รักษา” (อิสยาห์ 53:4–5)

พันธสัญญาใหม่

  • “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28)

  • “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิด เพราะว่าเราชนะโลกแล้ว” (ยอห์น 16:33)

พระคัมภีร์มอรมอน

  • “และพระองค์จะทรงรับเอาความตาย, เพื่อพระองค์จะทรงทำให้สายรัดแห่งความตายที่ผูกมัดผู้คนของพระองค์หลุดออก; และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:12)

  • “และอะไรเล่าที่ท่านจะหวัง? ดูเถิดข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าท่านจะมีความหวังโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์และเดชานุภาพแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์, เพื่อยกท่านขึ้นสู่นิรันดรแห่งชีวิต, และนี่เพราะศรัทธาของท่านในพระองค์ตามสัญญา” (โมโรไน 7:41)

หลักคำสอนและพันธสัญญา

  • “ดังนั้น, จงรื่นเริงเถิด, และอย่ากลัวเลย, เพราะเราพระเจ้าอยู่กับเจ้า, และจะยืนเคียงข้างเจ้า; และเจ้าจะกล่าวคำพยานถึงเรา, แม้พระเยซูคริสต์, ว่าเราคือพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์, ว่าเราเคยดำรงอยู่, ว่าเราดำรงอยู่, และว่าเราจะมา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:6)

  • “ดังนั้น, อย่ากลัวเลยแม้จนถึงความตาย; เพราะในโลกนี้ปีติของเจ้าไม่บริบูรณ์, แต่ในเราปีติของเจ้าบริบูรณ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36)

ข้อเหล่านี้และข้อพระคัมภีร์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่เป็นพยาน อยู่ในถ้อยคำของประธานบอยด์ เค. แพ็คเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองในหัวข้อ “สัญญาแห่งการชดใช้ของพระคริสต์”8

คำวิงวอนของศาสดาพยากรณ์

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

เมื่อเราเข้าใจบทบาทสำคัญที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีในความสุขของเราขณะนี้และในโลกที่จะมา เราเข้าใจว่าเหตุใดประธานเนลสันจึง วิงวอน เราให้ทำให้พระองค์ทรงเป็นรากฐานทางวิญญาณของชีวิตเรา:

“พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิงวอนท่านให้จัดสรรเวลาให้พระเจ้า! ทำให้รากฐานทางวิญญาณของท่านมั่นคงและสามารถทนต่อบททดสอบแห่งเวลาโดยทำสิ่งที่ช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสถิตกับท่าน ตลอดเวลา” การจัดสรรเวลาให้พระเจ้า ประธานเนลสันเสริม โดยรวมการจัดสรร “เวลาให้พระเจ้าในพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ” ผ่านการรับใช้และการนมัสการในพระวิหาร9

“สำหรับทุกท่านที่ทำพันธสัญญาพระวิหารแล้ว ขอให้ท่านพยายาม—อย่างสม่ำเสมอร่วมกับการสวดอ้อนวอน—เพื่อที่จะเข้าใจพันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหาร …

“… เมื่อใดก็ตามที่เกิดความวุ่นวายใดๆ ในชีวิต สถานที่ปลอดภัยที่สุด ทางวิญญาณ ก็คือการดำเนินชีวิต ภายใน พันธสัญญาพระวิหารของท่าน!

“โปรดเชื่อเมื่อข้าพเจ้าพูดว่าเมื่อท่านสร้างรากฐานทางวิญญาณเป็นปึกแผ่นบนพระเยซูคริสต์ ท่าน ไม่ต้องกลัว10

สลักไว้บนฝ่าพระหัตถ์

ภาพ
ครอบครัว

แอนดรูว์กับสมาชิกในครอบครัว

เกิดอะไรขึ้นกับแอน แคธรีนและแอนดรูว์ บุตรชายของเธอ? พวกเขาสิ้นหวังและกลับไปเดนมาร์กหรือไม่ หลังการเดินทางอันน่าเศร้าสู่กรุงนิวยอร์กเป็นเวลาหกสัปดาห์? ไม่ โดยพึ่งพาประจักษ์พยานในพระผู้ช่วยให้รอดของตนรวมทั้งแผนแห่งความรอด ผนวกกับความวางใจในพระผู้เป็นเจ้า พวกเขารุดหน้าต่อไปอย่างกล้าหาญด้วยรถไฟ เรือกลไฟ และขบวนเกวียน พวกเขามาถึงหุบเขาซอลท์เลคเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1862 และเข้าร่วมการสร้างไซอัน

พวกเขาตั้งรกรากในเอฟราอิม ยูทาห์ ที่นั่นแอนดรูว์แต่งงานและเริ่มชีวิตครอบครัว ต่อมาแอนดรูว์ย้ายครอบครัว รวมทั้งคุณแม่ ไปลีไฮ ยูทาห์ ที่นั่นเขากลายเป็นเกษตรกร นายธนาคาร และนายกเทศมนตรีที่ประสบความสำเร็จ เขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาสามปีที่ประเทศบ้านเกิด เป็นฝ่ายอธิการนานกว่าสองทศวรรษ และอยู่ในสภาสูงหรือโควรัมมหาปุโรหิตเกินกว่าสามทศวรรษ ลูกชายสามคนของเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในเดนมาร์กและนอรเวย์

ด้วยดวงตามรรตัย เราไม่อาจเห็นบทสุดท้ายที่รุ่งโรจน์จากบทเริ่มต้นที่นองน้ำตา แต่ด้วยศรัทธาในพระคริสต์ เราสามารถมองอนาคตด้วยความหวัง และเราสามารถยึดมั่นกับพระสัญญาที่ว่าพระเจ้าทรงจดจำและประทานรางวัลแก่วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ รวมถึงเจนส์ แอน แคธรีน และแอนดรูว์ พระเจ้าทรงระลึกถึงพวกเขา และทรงระลึกถึงเรา ทรงสัญญาไว้ว่า:

“​แต่​เรา​ก็​จะ​ไม่​ลืม​เจ้า

“ดูสิ เราได้สลักเจ้าไว้บนฝ่ามือของเรา” (อิสยาห์ 49:15–16)

อ้างอิง

  1. William Mulder, Homeward to Zion: The Mormon Migration from Scandinavia (1957), 149–50. รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องราวครอบครัวแอนเดอร์เซ็นมาจาก Andrew B. Andersen, History of Andrew Rasmus Anderson, Pioneer of 1862 and Wife Nelsina M. Pederson, Pioneer of 1868, งานสะสมชีวประวัติธิดาของผู้บุกเบิกยูทาห์; Jens Christensen,, Rural Denmark, 1750–1980, trans. Else Buchwald Christensen (1983); Hamilton Gardner, History of Lehi: Including a Biographical Section (1913); Fern Gray, Life Sketch of Andrew R. Anderson, งานสะสมชีวประวัติธิดาของผู้บุกเบิกยูทาห์; Andrew Jenson, “Narratives of the Emigration from the Scandinavian Mission 1852–1868,” History of the Scandinavian Mission (1979).

  2. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 93.

  3. นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “บาดแผล,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 84.

  4. Neal A. Maxwell, “Testifying of the Great and Glorious Atonement,” Liahona, Apr. 2002, 12.

  5. เจมส์ อี. เฟาสท์, “การชดใช้: ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา,เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 22–25.

  6. Russell M. Nelson, “A More Excellent Hope,” Ensign, Feb. 1997, 62.

  7. เราขอบพระทัยสำหรับศาสดา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 10.

  8. บอยด์ เค. แพคเกอร์, “ความแจ่มใสของเช้าแห่งการให้อภัย,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 20.

  9. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “จัดสรรเวลาให้พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 120, 121.

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระวิหารและรากฐานทางวิญญาณของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 96.