2018
สื่อให้รู้ว่าท่านห่วงใย
ธันวาคม 2018


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

สื่อให้รู้ว่าท่านห่วงใย

มีหลายวิธีที่เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เราสามารถพูด ส่งข้อความ เขียน ให้ แบ่งปัน สวดอ้อนวอน อบขนม ร้องเพลง กอด เล่น ปลูกต้นไม้ หรือทำความสะอาด เพียงแค่ลองทำ

ภาพ
communicating you care

การแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็นหัวใจของการปฏิบัติศาสนกิจ จีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า “การปฏิบัติศาสนกิจที่แท้จริงบรรลุผลสำเร็จเป็นรายบุคคลโดยมีความรักเป็นแรงจูงใจ … ปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นเมื่อมีความรักเป็นแรงจูงใจ เราจะพบวิธีนำพี่น้องชายหญิงที่ ‘หายไป’ เข้ามาในอ้อมกอดพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ครบทุกคน”1

การให้ผู้อื่นรู้ว่าเราห่วงใยเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของการพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่คนเรารู้สึกถึงความรักไม่เหมือนกัน แล้วเราจะแสดงความรักต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมได้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเห็นคุณค่า ต่อไปนี้เป็นวิธีสื่อให้รู้ว่าเราห่วงใย พร้อมด้วยแนวคิดบางประการที่จะจุดประกายความคิดของท่าน

พูด

บางครั้งไม่มีสิ่งใดดีไปกว่าการพูดว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับคนๆ นั้น แม้อาจจะหมายถึงการบอกบางคนว่าท่านรักพวกเขา แต่รวมถึงการบอกสิ่งที่ท่านชื่นชมเกี่ยวกับพวกเขาหรือกล่าวคำชมที่จริงใจด้วย การยืนยันเช่นนั้นช่วยกระชับความสัมพันธ์ (ดู เอเฟซัส 4:29)

  • หาโอกาสให้แต่ละคนรู้ว่าท่านชื่นชมข้อดีอย่างหนึ่งของเขามากเพียงใด

  • แวะเยี่ยม โทรศัพท์ หรือส่งอีเมล ส่งข้อความ หรือการ์ดบอกคนนั้นว่าท่านคิดถึงพวกเขา

ไปเยี่ยม

การใช้เวลาพูดคุยและฟังเป็นวิธีแสดงให้เห็นได้อย่างดีว่าท่านให้ความสำคัญกับเขามากเพียงใด ไม่ว่าไปเยี่ยมที่บ้าน ที่โบสถ์ หรือที่ใดก็ตาม มีหลายคนต้องการคนที่พวกเขาจะพูดคุยด้วยได้ (ดู โมไซยาห์ 4:26; คพ. 20:47)

  • วางแผนการเยี่ยมตามความต้องการของแต่ละบุคคล ใช้เวลาฟังจริงๆ และเข้าใจสภาวการณ์ของเขา

  • หากไปเยี่ยมบ้านลำบากเพราะระยะทาง บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม หรือสภาวการณ์อื่น ท่านอาจจะหาเวลาอยู่ด้วยกันหลังเลิกการประชุมที่โบสถ์

รับใช้อย่างมีจุดประสงค์

จงคำนึงถึงสิ่งที่บุคคลหรือครอบครัวต้องการ การรับใช้ที่มีความหมายสื่อให้รู้ว่าท่านห่วงใย ผนวกกับของขวัญล้ำค่าของเวลาและความเอื้ออาทร “การกระทำที่เรียบง่ายของการรับใช้สามารถส่งผลอันลึกซึ้งต่อผู้อื่น” ซิสเตอร์บิงแฮมกล่าว2

  • ให้การรับใช้ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุคคลหรือครอบครัวของพวกเขา เช่น ดูแลลูกเพื่อให้พ่อแม่ได้ไปพระวิหาร

  • หาวิธีแบ่งเบาภาระเมื่อชีวิตมีงานล้นมือ เช่น ทำความสะอาดหน้าต่าง พาสุนัขไปเดินเล่น หรือช่วยทำงานในสวน

ทำสิ่งต่างๆ ด้วยกัน

มีบางคนไม่เชื่อมความสัมพันธ์ผ่านการสนทนาที่ลึกซึ้ง บางคนเชื่อมความสัมพันธ์โดยหาความสนใจที่เหมือนกันและใช้เวลาทำสิ่งเหล่านั้นด้วยกัน พระเจ้าทรงกระตุ้นให้เรา “อยู่กับ [พี่น้องชายหญิงของเรา] และทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น” (คพ. 20:53)

  • ไปเดินเล่น เล่มเกม หรือกำหนดเวลาออกกำลังกายด้วยกันเป็นประจำ

  • รับใช้โครงการศาสนจักรหรือชุมชนด้วยกัน

ให้ของขวัญ

บางครั้งเวลาหรือโอกาสปฏิสัมพันธ์กันมีจำกัด ในหลายวัฒนธรรม การให้ของขวัญเป็นเครื่องหมายของความห่วงใยและความเอาใจใส่ ของขวัญง่ายๆ เป็นครั้งคราวสามารถสื่อให้รู้ว่าท่านสนใจจะสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น (ดู สุภาษิต 21:14)

  • พาพวกเขาไปรับประทานอาหารที่ชื่นชอบ

  • แบ่งปันคำพูดอ้างอิง ข้อพระคัมภีร์ หรือข่าวสารอื่นที่ท่านรู้สึกว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์

งานแห่งความรัก

เมื่อท่านรู้จักคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจและคนที่ท่านแสวงหาการดลใจเพื่อเขา ท่านจะเรียนรู้วิธีสื่อความรักความห่วงใยของท่านต่อพวกเขาแต่ละคนอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

คิมเบอร์ลีย์ เซย์โบลด์ จากรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา เล่าเรื่องที่เธอแสวงหาการดลใจและให้ของขวัญเพื่อแสดงความรักดังนี้

“เมื่อดิฉันพบว่าชีวิตกำลังทำให้ดิฉันท้อ ดิฉันจะลุกขึ้นมาทำขนมปังซุกินี ปกติจะทำประมาณแปดแถว ส่วนประกอบพิเศษของดิฉันคือการสวดอ้อนวอนในใจขณะอบขนมปังเพื่อให้รู้ว่าใครต้องการขนมปังเหล่านั้น ดิฉันได้รู้จักคนบ้านใกล้เรือนเคียงดีขึ้นเพราะขนมปังซุกินีอุ่นๆ ของดิฉันเป็นผู้เชิญดิฉันเข้าไปในบ้านและในชีวิตพวกเขา

“ฤดูร้อนที่อบอ้าววันหนึ่ง ดิฉันจอดรถข้างๆ ครอบครัวหนึ่งที่กำลังขายแบล็คเบอรี่อยู่ริมถนน ดิฉันไม่ต้องการแบล็คเบอรี่ แต่เด็กผู้ชายร่างผอมยืนมองดิฉันด้วยความตื่นเต้นพลางคิดว่าดิฉันเป็นลูกค้าคนต่อไปของเขา ดิฉันซื้อแบล็คเบอรี่ แต่มีของขวัญให้เขาด้วย ดิฉันให้ขนมปังเด็กผู้ชายคนนั้นสองแถว เขาหันไปขออนุญาตคุณพ่อ จากนั้นก็พูดว่า ‘ดูสิพ่อ ตอนนี้เรามีของกินวันนี้แล้ว’ ดิฉันเปี่ยมด้วยความสำนึกคุณสำหรับโอกาสนี้ที่ได้แสดงความรักอย่างเรียบง่าย”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองขอร้องว่า “ชายหญิงทุกคน—เยาวชนชายและเยาวชนหญิงรุ่นพี่—จะ … ตั้งใจดูแลเอาใจใส่กันมากขึ้น โดยมีความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์เป็นแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้น … ขอให้เราทำงานเคียงข้างพระเจ้าแห่งสวนองุ่น โดยช่วยเหลือพระผู้เป็นเจ้าและพระบิดาของเราทุกคนทำภารกิจใหญ่หลวงของพระองค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอน ให้การปลอบโยน เช็ดน้ำตา และเสริมกำลังเข่าที่อ่อนล้า”3

พระเยซูคริสต์ทรงห่วงใย

ก่อนพระเยซูคริสต์ทรงทำให้ลาซารัสเป็นขึ้นจากตาย “พระเยซูทรงกันแสง

“พวกยิวจึงกล่าวว่า ดูสิว่าท่านรักเขาเพียงไร” (ยอห์น 11:35–36)

“เรามีความสงสารเจ้า” พระคริสต์ตรัสกับชาวนีไฟ จากนั้นพระองค์ทรงถามหาคนป่วย คนมีทุกข์ คนง่อย และคนตาบอด และ “พระองค์ทรงรักษาเขาทุกคน” (ดู 3 นีไฟ 17:7–9)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเราเมื่อทรงห่วงใยผู้อื่น พระองค์ทรงสอนเราว่า

“จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน

“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก

“ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37–39)

ใครต้องการความห่วงใยของท่าน ท่านจะแสดงให้พวกเขาเห็นได้อย่างไรว่าท่านห่วงใย

อ้างอิง

  1. จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 106.

  2. จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” 104.

  3. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “อยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 103.