การถ่ายทอดประจำปี
เปี่ยมด้วยปีติ


เปี่ยมด้วยปีติ

การถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา • 13 มิถุนายน 2017

สองปีก่อนเอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์ก กรรมาธิการของเราสอนจาก 3 นีไฟเรื่องเทพและเด็กๆ ผู้ถูกล้อมรอบด้วยไฟ ท่านสอนเราว่าในฐานะนักการศึกษาด้านศาสนา เราควรถูกล้อมรอบด้วยไฟศักดิ์สิทธิ์นั้นเช่นกัน1 ดังที่ท่านรู้ มีอีกเรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกล้อมรอบด้วยเปลวไฟจากสวรรค์ ลีไฮกับนีไฟถูกคุมขังในเรือนจำและเรื่องราวนั้นเล่าว่า

“พวก เขา . . . ราวกับว่าอยู่ท่ามกลางเปลวไฟ . . .

“และดูเถิด, พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์, . . . และพวกเขาได้รับการเติมให้เต็มราวกับด้วยไฟ”2

เรื่องราวกล่าวไว้เช่นกันว่า “และพวกท่านเปี่ยมด้วยปีตินั้นซึ่งสุดจะพรรณนาและเปี่ยมด้วยความยินดี.”3

วันนี้ข่าวสารของข้าพเจ้าคือ ในฐานะนักการศึกษาด้านศาสนา เราไม่ควรถูกล้อมรอบด้วยไฟเท่านั้น แต่เราควรเปี่ยมด้วยปีติเช่นกัน นักเรียนควร เรียนรู้ เกี่ยวกับ “แผนแห่งความสุข” ในชั้นเรียนของเรา แต่พวกเขาควร เห็น หลักฐานในตัวเราที่แสดงถึงผลงานจากแผนนั้นด้วย—ว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณนำมาซึ่งปีติ ในความฝันเรื่องต้นไม้แห่งชีวิต ลีไฮกวักมือเรียกครอบครัวให้มารับส่วนของผลไม้อัน “พึงปรารถนาที่จะทำให้คนเป็นสุข”4 การเชื้อเชิญของท่านมีพลังและความน่าเชื่อถือเพราะท่านพูดจากประสบการณ์ ท่านรับส่วนและรู้สึกถึงปีตินั้นด้วยตัวท่านเอง

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมีความสุขในงานนี้ เรามีผู้คนที่เศร้าหมองมากมายในศาสนจักรซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่านี่คือพระกิตติคุณแห่งความสุข”5 เราสามารถมีความสุขที่ประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงได้โดยรับพระวิญญาณในชีวิตเรา จากนั้นตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ ดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข”6

ข้าพเจ้าขอเสนอหลักธรรมให้ท่านพิจารณา หลักธรรมเหล่านี้มีส่วนช่วยข้าพเจ้าในฐานะนักการศึกษาด้านศาสนาผู้ดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” อาจไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งหรือแนวคิดใหม่ แต่ข้าพเจ้าพูดถึงด้วยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตและสอนตามนั้นมีปีติมากขึ้น ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับนักการศึกษาด้านศาสนาโดยอาชีพเท่านั้นแต่พูดกับผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบนักการศึกษาด้านศาสนาในเซมินารีและสถาบันที่เป็น “การเรียก” ชั่วระยะเวลาหนึ่งด้วย

หลายปีก่อนข้าพเจ้าพบข้อความของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าคิดหนัก ท่านกล่าวว่า “ขอให้เรายึดมั่นกับความสุขวันนี้ จงรู้ไว้ว่า ถ้าวันนี้ท่านไม่มีความสุข ท่านอาจไม่มีวันมีความสุขเลย”7

ไม่น่าจะใช่นะ ข้าพเจ้าคิด แล้วการกลับใจล่ะ ถ้าวันนี้ไม่มีความสุข ข้าพเจ้าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือ ข้าพเจ้าคิดเรื่องนี้ต่อไป และเชื่อว่าเจตนาของข่าวสารจากประธานคิมบัลล์คือ ถ้าท่านไม่มีความสุขและเชื่อว่าท่านจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อสภาวการณ์ต่างไปจากนี้เท่านั้น ท่านอาจไม่มีวันมีความสุขเลยเพราะความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของท่าน นักประพันธ์ท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ว่า

“เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าถ้าเราอยู่อีกที่หนึ่ง—ในช่วงวันหยุด กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ทำงานอย่างอื่น มีบ้านหลังอื่น ในสภาวการณ์ต่างไปจากนี้— เราคงจะมีความสุขและความพอใจมากกว่านี้ ไม่ใช่เลย!

“ความจริงก็คือ ถ้าท่านมีนิสัยชอบก่อปัญหาในเชิงลบ . . . หรือถ้าท่านปรารถนาจะให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา แนวโน้มเช่นนั้นจะติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง”8

เลมันและเลมิวเอลเชื่อว่าความสุขขึ้นอยู่กับสภาวการณ์—โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวการณ์ที่จะทำให้พวกเขา สะดวกสบาย พวกเขาพูดถึงการเดินทางในแดนทุรกันดารว่า

“[ภรรยาของเรา] คลอดลูกในแดนทุรกันดาร และทนทุกข์กับสิ่งทั้งปวง, นอกจากความตาย; และหากพวกนางตายก่อนที่พวกนางออกจากเยรูซาเล็มก็จะดีกว่าต้องมาทนความทุกข์ทรมานเหล่านี้.

“ดูเถิด, หลายปีมานี้เราทนทุกข์ในแดนทุรกันดาร, ซึ่งเป็นเวลาที่เราอาจเกษมสำราญอยู่กับทรัพย์สมบัติของเราและแผ่นดินแห่งมรดกของเรา; แท้จริงแล้ว, และเราอาจมีความสุข.”9

ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่พักอาศัย งานมอบหมาย ผู้ร่วมงาน นักเรียนที่มี หรือโอกาสที่ยังไม่มาถึง ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าการมี “เจตคติที่ดี” จะช่วยปัดเป่าปัญหาให้พ้นไปและเติมเต็มชีวิตท่านด้วยความสดใส บางครั้งเราพบว่าตนเองตกอยู่ในสภาวการณ์ที่บีบคั้นจิตใจและแทบจะทนไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าแม้ในสภาวการณ์เช่นนั้น เรายังสามารถมีวิญญาณและมุมมองที่ส่งมาจากสวรรค์ ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตเปี่ยมด้วยปีติได้

มีข้อหนึ่งในหนังสือแอลมากล่าวว่า “และนี่คือเรื่องราวของแอมันและพี่น้องท่าน, ในการเดินทางของพวกท่านในแผ่นดินแห่งนีไฟ, ความ ทุกขเวทนา ของพวกท่านในแผ่นดิน, โทมนัส ของพวกท่าน, และ ความทุกข์ ของพวกท่าน, และ ปีติของพวกท่านที่เกินกว่าจะเข้าใจได้,”10 โทมนัสและปีติต่างไม่อาจแยกออกจากกัน ในฐานะครูผู้ได้รับเรียก ท่านอาจหวังว่าจะได้รับการเรียกอื่น ในฐานะครูโดยอาชีพ ท่านอาจหวังว่าจะได้รับงานมอบหมายอื่น หวังได้ ไม่เป็นไร แต่ขอให้จำไว้ว่าความสุขของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำความหวังให้เป็นจริง ความสุขเป็นลักษณะของการเดินทางไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ถ้าท่านดำเนินชีวิตโดยคิดว่าชีวิตคือจุดหมายปลายทาง ท่านจะไม่มีวันมีความสุข

เราจะพบความสุขในทุกสภาวการณ์ได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้คำตอบทั้งหมด แต่มีคำตอบสำคัญให้ท่านหนึ่งข้อ นั่นคือ ความสำนึกคุณ มีส่วนช่วยมากสำหรับการดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าแนะนำว่าแทนที่จะขอบพระทัย สำหรับ สิ่งต่างๆ ขอให้เรามุ่งขอบพระทัย ใน สภาวการณ์ของเรา—ไม่ว่าสภาวการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร …

“ความสำนึกคุณเช่นนี้อยู่เหนือสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นรอบข้างเรา . . . บานสะพรั่งอย่างสวยงามในภูมิทัศน์ฤดูหนาวที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง เฉกเช่นที่บานในฤดูร้อนอันอบอุ่นแสนสบาย …

“การสำนึกคุณ ใน สภาวการณ์ของเราเป็นการกระทำด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า …

“ความสำนึกคุณที่แท้จริงคือการแสดงออกถึงความหวัง และ ประจักษ์พยาน”11

ข้าพเจ้าขอแนะนำหลักธรรมอีกหนึ่งข้อที่ช่วยข้าพเจ้าดำเนินชีวิตและสอนด้วยปีติได้มากขึ้น สองสามปีแรกของงานอาชีพ ข้าพเจ้าตัดสินใจลาออกจากเซมินารีและสถาบัน เพราะคิดว่าข้าพเจ้าไม่มีอะไรดีเท่าครูท่านอื่นๆ ที่เห็นอยู่รอบข้าง ข้าพเจ้าเห็นครูที่อุทิศตน เป็นนักวิชาการ มีอารมณ์ขันและมั่นใจ—และพบว่าตนเองมีสิ่งเหล่านั้นน้อยมาก ในที่สุด ข้าพเจ้าไม่ได้ลาออกจากเซมินารีและสถาบัน แต่หันมาต่อสู้กับเรื่องที่อยู่ในใจต่อไปขณะสงสัยว่าบุคลิกภาพอย่างข้าพเจ้าจะสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเยาวชนได้หรือไม่

พูดถึงบุคลิกภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของเรา ซิสเตอร์แพทริเชีย ฮอลแลนด์ ภรรยาเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์ ฮอลแลนด์กล่าวว่า

“พระบิดาในสวรรค์ทรงต้องการเราดังที่เราเป็น ดังที่เรากำลังเติบโตเพื่อจะเป็น พระองค์ตั้งพระทัยสร้างเราให้แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อว่าแม้เราจะมีความบกพร่องแต่ก็ยังทำให้พระประสงค์เกิดสัมฤทธิผลได้ เรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตดิฉันเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าต้องทำตัวให้เข้ากับสิ่งที่คนอื่นทำอยู่หรือสิ่งที่คนอื่นคาดหวังจากดิฉัน และมีความสุขที่สุดเมื่อเป็นตัวของตัวเองตามสบายและพยายามทำสิ่งที่พระบิดาในสวรรค์และตนเองคาดหวังให้เป็น

“เป็นเวลาหลายปีที่ดิฉันพยายามเปรียบเทียบแพท ฮอลแลนด์ที่ชอบอยู่เงียบๆ ไตร่ตรองอยู่ในใจ คิดคำนึงกับเจฟฟ์ ฮอลแลนด์ที่ร่างกายกำยำ มีชีวิตชีวา คุยเก่งและเปี่ยมพลัง รวมทั้งคนอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน ดิฉันเรียนรู้ผ่านความล้มเหลวที่เหนื่อยหน่ายหลายครั้งว่าคุณไม่อาจมีปีติเมื่อคุณพยายามทำตัวให้น่าสนใจถ้าคุณไม่ใช่คนที่น่าสนใจ นี่เป็นความขัดแย้งใน คำศัพท์ ดิฉันเลิกมองว่าตนเองบกพร่อง … การเลิกมองเช่นนี้ทำให้ดิฉันเป็นอิสระที่จะยอมรับและชื่นชมลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของตนเองได้ …

ไม่ว่าที่ไหน อย่างไร พระเจ้าทรง ‘ส่งข่าวสารขึ้นบนจอดิฉัน’ ว่าบุคลิกภาพของดิฉันได้รับการสร้างสรรค์ให้เหมาะสมพอดีกับพันธกิจและพรสวรรค์ที่พระองค์ประทานมา … ดิฉันพบว่าตนเองมีแหล่งพลังงานมหาศาลที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่เมื่อใดก็ตามที่ดิฉันปล่อยใจให้คิดเลียนแบบเพื่อนบ้าน ดิฉันจะรู้สึกปวดร้าว เหนื่อยหน่าย และพบว่าตนเองกำลังว่ายทวนน้ำอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรารู้สึกคับข้องใจกับแผนซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมีไว้ให้เรา เราสูญเสียโลกนี้และอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในส่วนที่เป็นของเราโดยเฉพาะ”12

การเป็นตัวของตัวเอง ต้องระวังไว้สองเรื่อง หนึ่ง อย่าดำเนินชีวิตตามเจตคติที่ว่า “ฉันก็เป็นอย่างนี้แหละ” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม เนลสันกล่าวว่า “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ คือ พระกิตติคุณของการเปลี่ยนแปลง”13 ข้าพเจ้าควรมุ่งมั่นแสวงหาคำติชมจากผู้นำอย่างจริงจังเพื่อให้รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างไร ซึ่งจะดีกว่าถ้าอยู่ในแนวทางเดียวกันกับบุคลิกภาพและความพยายามของข้าพเจ้าในการบรรลุวัตถุประสงค์ของเรา ที่สำคัญกว่านั้นคือ ข้าพเจ้าได้รับประกาศิตจากพระคริสต์พระองค์เองว่า ข้าพเจ้าต้องเป็นแม้ดังที่พระองค์ทรงเป็น แต่ไม่ต้องเป็นอย่างครูคนโน้นคนนี้ โดยได้พลังเสริมจากของประทานแห่งพระวิญญาณ บุคลิกภาพของข้าพเจ้าสามารถเอื้อประโยชน์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่งานของเซมินารีและสถาบัน

สอง ครั้งแรกที่ข้าพเจ้ามาสำนักงานกลางเพื่อรับงานมอบหมายใหม่ เอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสัน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น เชิญข้าพเจ้าไปที่ห้องทำงานเพื่อสอนและแนะนำบางเรื่อง มีเรื่องหนึ่งท่านกล่าวว่า “อย่าตั้งข้อจำกัดของตัวคุณเอง” ความหมายที่ข้าพเจ้าเข้าใจคือ ถ้าข้าพเจ้าตั้งข้อจำกัดว่าพระเจ้าจะทรงใช้ข้าพเจ้าอย่างไรให้ดีที่สุดในการทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ ข้าพเจ้าอาจจำกัดโอกาสตนเองที่จะเติบโตและรับใช้

เรื่องที่ท่านเตือนตรงกับเรื่องที่ข้าพเจ้าเป็นอยู่บ่อยๆ ข้าพเจ้าพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายด้านบริหารอย่างสุดความสามารถ แต่ข้าพเจ้าบ่นอยู่ในใจว่า “ผมไม่ใช่ผู้บริหารนะ” ข้าพเจ้าบอกตนเอง “ผมเป็นครู ผมควรอยู่ในห้องเรียน ไม่ใช่มานั่งประชุม” ต้องผ่านขั้นตอนที่เจ็บปวดและยาวนานกว่าจะเรียนรู้ว่าความปรารถนาจะสอนที่ข้าพเจ้าอ้างนั้นเป็นเพียงเสื้อคลุมอำพรางความปรารถนาที่จะทำให้ความต้องการส่วนตัวของตนเองเกิดสัมฤทธิผล การให้เวลากับนักเรียนและพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก การสละวันเวลาในการประชุม เพื่อสนทนาเรื่องนโยบาย ไม่ค่อยคุ้มค่านัก แต่นั่นเป็นเรื่องนอกประเด็น ข้าพเจ้าทำงานนี้เพื่อรางวัลและสัมฤทธิผลส่วนตัว หรือทำด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว

หวังว่าท่านจะฉลาดกว่าข้าพเจ้าและไม่ตั้งข้อจำกัดให้ตัวท่านเองและวิธีที่ท่านจะถูกใช้งาน มีความสุขอย่างหนึ่งที่เกิดจากการยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดา ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนและทรงแสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า

เรื่องของการยอมนำไปสู่คำแนะนำอีกข้อหนึ่งซึ่งช่วยเราได้ดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” ในฐานะนักการศึกษาด้านศาสนา ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพวกเราส่วนใหญ่โดยแท้แล้วต้องการยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ เรื่องนี้มีความท้าทายมากกว่าเดิมเมื่อมีผู้ขอให้เรายอมต่อมนุษย์ที่นี่บนแผ่นดินโลกซึ่งพระเจ้าทรงใช้ในการกำกับดูแลงานของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นในวอร์ด ในสเตคหรือในเซมินารีและสถาบัน ในงานอาชีพนี้ข้าพเจ้ารู้จักครูผู้มีความสามารถหลายท่านที่ต้องขุ่นเคืองเพราะการกระทำของผู้นำหรือจากนโยบายที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ไม่ว่าความอยุติธรรมนั้นจะจริงหรือเป็นแค่ความรู้สึก ครูเหล่านี้ต้องจ่ายค่าการปกป้องและรักษาความเจ็บปวดของพวกเขาด้วยความสุขของตนเอง ความเจ็บปวดมักจะกลายเป็นความเคืองแค้น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ดูแลการทำงานของพวกเขา

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แมกซ์เวลล์เขียนไว้ว่า “ชีวิตในศาสนจักร [และข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมว่า ชีวิตในเซมินารีและสถาบัน] หมายถึงการมีผู้นำแบบต่างๆ ที่ใช่ว่าทุกคนจะฉลาด มีวุฒิภาวะ และชำนิชำนาญเสมอไป อันที่จริง พวกเราบางคน ทั้งไร้ประโยชน์และขาดความกระฉับกระเฉงจริงๆ แล้ว การขัดเกลาบางอย่างที่เราได้รับเป็นผลมาจากการเสียดสีกันเองมากกว่า ในสภาวการณ์เช่นนั้นจะมีความอดทนยิ่งและความรักที่ช่วยลดแรงเสียดทานอยู่ได้อย่างไร!”14

ข้าพเจ้าไม่สามารถเน้นได้มากพอว่า “ความอดทนและความรักที่ช่วยลดแรงเสียดทาน” สำคัญต่อนักการศึกษาด้านศาสนาเพียงใด ทั้งสองสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นพบความสุขและการสอนด้วยพระวิญญาณ

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์กล่าวว่า “ผู้ที่กล่าวว่าเขาจะสนับสนุนประธานของศาสนจักรหรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่แต่ไม่สนับสนุนอธิการของเขาเองกำลังหลอกตนเอง คนที่ไม่สนับสนุนอธิการวอร์ดของตนและประธานสเตคของตนเท่ากับไม่สนับสนุนประธานของศาสนจักร”15

เวลาไม่พอสำหรับข้อคิดเห็นมากกว่านี้ แต่มีหลักธรรมในถ้อยคำนั้นที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าประยุกต์ใช้กับนักการศึกษาด้านศาสนาและสัมพันธภาพของพวกเขากับผู้คนที่ได้รับแต่งตั้งให้นำพวกเขาได้  หากมีใครในพวกท่านรู้สึกไม่ดีต่อการบริหารงาน ต่อผู้นำท่านใดหรือนโยบายใดเป็นพิเศษ หรือต่อการถูกมองข้ามหรือถูกจับตามองมากเกินไป ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านปล่อยวางเพื่อตัวท่านเอง ความสุขจะหลีกลี้ไปตลอดกาลจากคนที่ไม่ให้อภัย คนที่ขยายความไม่พอใจต่อผู้อื่น หรือคนที่บ่มเพาะความขัดแย้ง

ต่อไปนี้ถึงเวลาสำหรับคำแนะนำข้อสุดท้าย ไม่กี่ชั่วโมงก่อนสิ้นพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงล้างเท้าอัครสาวกแล้วตรัสว่า “

เพราะฉะนั้นถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์ยังล้างเท้าของพวกท่าน ท่านก็ควรจะล้างเท้าของกันและกันด้วย …

“เมื่อพวกท่านรู้อย่างนี้แล้วและประพฤติตาม ท่านก็เป็นสุข”16

ความสุขมากมายที่เราประสบได้ในชีวิตจะเกิดขึ้นขณะลืมตนเองและทุ่มเทความคิดกับการรับใช้ไปที่ผู้อื่น สำหรับนักการศึกษาด้านศาสนา เราจะพบความสุขที่ยิ่งใหญ่ขณะทุ่มเทความคิด ความปรารถนาและความพยายามของเราให้เป็นพรแก่นักเรียน ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์พูดกับนักการศึกษาด้านศาสนาว่า “การเจริญเติบโตและพัฒนาการ” ของคนหนุ่มสาวควรเป็น “ความหลงใหลที่งดงามล้ำเลิศ”17 ของเรา เมื่อใดที่ความทุ่มเทของเราหันเหไปจากนักเรียนและเริ่มมุ่งไปที่ความต้องการ ความสะดวกสบาย ความสำเร็จ หรือความมีชื่อเสียงของตัวเราเอง เราจะเกิดการสูญเสียพลังอำนาจที่จะสอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพูดถึงการสูญเสียความสุขอีกมากมายของตนเอง

แฮร์รีย์ อีเมอร์สัน ฟอสดิค ศิษยาภิบาลนิกายโปรเตสแตนท์แห่งศตวรรษที่แล้วเขียนไว้ว่า “ชาวคริสต์บางคนแบกศาสนาของเขาไว้บนบ่า สิ่งที่เขาต้องแบกคือห่อบรรจุความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติ ในยามที่สิ่งเหล่านั้นหนักอึ้งและเขาอยากจะวางมันลง แต่นั่นหมายถึงการหักล้างประเพณีเก่าแก่ ดังนั้นเขาจึงต้องแบกไว้ ต่อไป แต่ชาวคริสต์ที่แท้จริงจะไม่แบกศาสนาของเขาไว้ ศาสนาต่างหากที่แบกเขา ศาสนาไม่หนักเพราะนั่นคือปีกซึ่งจะยกเขาขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่า คอยดูแลให้เขาผ่านพ้นความยากลำบาก ทำให้มนุษยชาติเป็นมิตร ทำให้ชีวิตมีจุดหมาย ความหวังกลายเป็นความจริง และคุ้มค่าแก่การเสียสละ ศาสนาทำให้เขาเป็นอิสระจากความกลัว ความรู้สึกต่ำต้อย ความท้อแท้ และบาป—ซึ่งจองจำจิตวิญญาณมนุษย์ไว้เป็นทาส ท่านจะรู้จักชาวคริสต์ที่แท้จริงได้ เมื่อท่านเห็นความเบิกบานของเขา”18

ข้าพเจ้ามีความหวังและคำสวดอ้อนวอนสำหรับทุกท่านว่า พระกิตติคุณคือปีกและไม่หนัก ท่านจะถูกล้อมรอบด้วยไฟและเปี่ยมด้วยปีติ ความสุขของท่านเองจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่นแสวงหาและติดตามแหล่งที่มาของความสุขนั้น ซึ่งได้แก่พระเจ้า พระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานว่าพระองค์คือคนที่มีความสุขที่สุดที่เคยดำเนินบนแผ่นดินโลกและทรงเชื้อเชิญให้เราติดตามพระองค์ในการดำเนินชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. คิม บี. คลาร์ก, “Encircled About with Fire” (การถ่ายทอดผ่านดาวเทียมเซมินารีและสถาบันศาสนา, 4 ส.ค. 2015), lds.org.

  2. ฮีลามัน 5:44–45.

  3. ฮีลามัน 5:44.

  4. 1 นีไฟ 8:10.

  5. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 256.

  6. 2 นีไฟ 5:27.

  7. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, The Teachings of Spencer W. Kimball, ed. Edward L. Kimball (1982), 173.

  8. ริชาร์ด คาร์ลสัน,Don’t Sweat the Small Stuff … and It’s All Small Stuff (1997), 133.

  9. 1 นีไฟ 17:20–21.

  10. แอลมา 28:8; เน้นตัวเอน.

  11. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “สำนึกคุณในทุกสภาวการณ์,” เลียโฮนา พค. 2014, 75–76.

  12. แพทริเชีย ที. ฮอลแลนด์, “Portraits of Eve: God’s Promises of Personal Identity,” ใน LDS Women’s Treasury: Insights and Inspirations for Today’s Woman (1997), 97–98.

  13. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การตัดสินใจเพื่อนิรันดรเลียโฮนา พย. 2013, 108.

  14. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, If Thou Endure It Well (1996), 99.

  15. บอยด์ เค. แพคเกอร์, Follow the Brethren, Brigham Young University Speeches of the Year (Mar. 23, 1965), 4–5; ใน Liahona, Sept. 1979, lds.org ด้วย.

  16. ยอห์น 13:14, 17.

  17. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, Men of Example (คำปราศรัยต่อนักการศึกษาศาสนาระบบการศึกษาของศาสนจักร, 12 ก.ย. 1975; หนังสือเล่มเล็ก), 7; ใน Teaching Seminary: Preservice Readings (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2004), 26 ด้วย.

  18. แฮร์รีย์ อีเมอร์สัน ฟอสดิค, Twelve Tests of Character (1923), 87–88; อ้างอิงใน แอล. ทอม เพอร์รีย์ “ปีเสียงเขาสัตว์เลียโฮนา ม.ค. 2000, 95.