เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 10: บทบาทและความรับผิดชอบอันสูงส่งของสตรี


บทที่ 10

บทบาทและความรับผิดชอบอันสูงส่งของสตรี

คำนำ

ในฐานะส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ประทานบทบาทอันสูงส่งของการเป็นภรรยาและมารดาให้แก่สตรี “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” สอนว่า “มารดารับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูบุตรธิดา” และบิดากับมารดาพึง “ช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “อิทธิพลของสตรีที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา ก.ย. 2009, 2–7

  • “เข้าใจบทบาทอันสูงส่งของสตรี,” เลียโฮนา, ก.พ. 2009, 25

  • “สตรีของศาสนจักร,” บทที่ 20 ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (2006), 230–239

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1-3, 10, 13–16

อิทธิพลอันสำคัญยิ่งของสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ชอบธรรมในวันเวลาสุดท้าย

ให้ดูคำพยากรณ์ต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“การเติบโตที่เกิดขึ้นกับศาสนจักรในยุคสุดท้ายนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะสตรีที่ดีจำนวนมากของโลก … ได้รับการชักนำเข้ามาสู่ศาสนจักรมากขึ้น เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสตรีของศาสนจักรสะท้อนความชอบธรรมและความชัดเจนในชีวิตจนถึงระดับที่บรรดาสตรีของโลกมองสตรีของศาสนจักรว่าผิดแผกและแตกต่างอย่างมีความสุข” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 238–239)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดสตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ชอบธรรมจึงเป็นมูลเหตุสำหรับการเติบโตหลักๆ ในศาสนจักร

เพื่อขยายความคิดนี้ ขอให้นักศึกษาค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1–3, 10, 13–16 โดยมองหาคำและวลีที่แสดงให้เห็นวิธีที่สตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสามารถ “ผิดแผกและแตกต่าง” จากสตรีของโลกได้อย่างมีความสุข ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของการเปิดเผยนี้โดยอธิบายว่านี่เป็นการเปิดเผยส่วนตัวสำหรับเอ็มมา สมิธ แต่ประยุกต์ใช้ได้กับสตรีทุกคนในศาสนจักร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับลักษณะพิเศษซึ่งสตรีที่ชอบธรรมควรแสวงหาให้ได้มา

  • ท่านจะพูดถึงหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่สอนใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ว่าอย่างไร (ขณะที่นักศึกษาตอบ จงชี้ให้เห็นหลักธรรมนี้: ในฐานะสานุศิษย์ของพระเจ้า สตรีสามารถใช้ของประทานและพรสวรรค์ของพวกเธอช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า)

แบ่งปันข้อความต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ และเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“การเป็นสตรีที่ชอบธรรมเป็นเรื่องน่ายินดีในทุกยุคทุกสมัย การเป็นสตรีที่ชอบธรรมในช่วงเวลาสุดท้ายบนโลกนี้ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการเรียกที่สูงส่งเป็นพิเศษ ความเข้มแข็งและอิทธิพลของสตรีที่ชอบธรรมในทุกวันนี้มีได้ถึงสิบเท่าของสิ่งที่น่าจะเป็นในยามสงบสุขกว่านี้” (คำสอน: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, 233)

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“พี่น้องสตรีทั้งหลาย แวดวงอิทธิพลของท่านมีลักษณะพิเศษ—ที่ชายไม่อาจลอกเลียนแบบได้ ไม่มีใครจะปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดด้วยการชักชวนหรือพลังได้มากไปกว่าท่าน—ธิดาของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีจิตใจเข้มแข็งและมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น พลังเสียงของสตรีที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสนั้นมิอาจประมาณได้ และศาสนจักรต้องการเสียงของท่านเวลานี้มากกว่าที่ผ่านมา” (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, ก.ย. 2014, 37)

ถามสตรีในชั้นว่าพวกเธอมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรบ้างขณะพิจารณาอิทธิพลที่พวกเธอสามารถมีได้ในบ้าน ในศาสนจักร และในชุมชนของพวกเธอ เน้นบทบาทอันโดดเด่นที่สตรีมีในฐานะผู้นำในศาสนจักร

ท่านอาจจะขอให้พี่น้องชายในชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาเคยเห็นพลังและอิทธิพลของสตรีในวอร์ดหรือสาขานำบุคคลให้ใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นอย่างไร

2 ทิโมธี 1:5; 3:14–15; แอลมา 56:47–48; 57:21

บทบาทที่เบื้องบนกำหนดให้สตรีเป็นมารดาในไซอัน

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ชายและหญิงมีของประทานแตกต่างกัน มีข้อดีแตกต่างกัน และมีมุมมองกับความโน้มเอียงแตกต่างกัน นั่นคือเหตุผลพื้นฐานสำคัญข้อหนึ่งที่เราต้องมีกันและกัน การสร้างครอบครัวต้องใช้ชายและหญิง การดำเนินงานของพระเจ้าต้องใช้ชายและหญิง” (“ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” 36)

  • นอกจากความแตกต่างทางกายที่เห็นชัดแล้ว ท่านเคยสังเกตเห็นชายและหญิงโดยทั่วไปแล้วแตกต่างกันในด้านใดอีกบ้าง

อธิบายว่านอกจากความแตกต่างโดยทั่วไปเหล่านี้แล้ว ชายและหญิงมีบทบาทที่เบื้องบนกำหนดให้ต่างกัน ดังอธิบายไว้ใน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” (ดูย่อหน้าที่เจ็ด) ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“พี่น้องสตรีได้รับเลือกก่อนการวางรากฐานของโลกเพื่อให้กำเนิดและดูแลบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ในการทำเช่นนั้น ท่านเทิดพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 132:63)” (“ท่านจะเลือกอะไร” เลียโฮนา, ม.ค. 2015, 19)

  • สตรีจะเทิดพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรเมื่อพวกเธอให้กำเนิดและดูแลลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า (ขณะที่นักศึกษาแบ่งปันความคิด จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมนี้: เมื่อสตรีน้อมรับบทบาทที่เบื้องบนกำหนดให้เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกๆ ของพระองค์ เท่ากับพวกเธอเทิดพระเกียรติพระองค์และเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรามากขึ้น อธิบายว่าการนำลูกๆ เข้ามาในโลกเป็นส่วนจำเป็นของแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“เสียงมากมายในโลกทุกวันนี้ลดความสำคัญของการมีบุตรหรือบอกให้ประวิงเวลาหรือจำกัดจำนวนบุตรในครอบครัว บุตรสาวของข้าพเจ้าเพิ่งให้อ่านบล็อกในอินเทอร์เน็ตที่เขียนโดยมารดาชาวคริสต์ (ศาสนาอื่น) ที่มีลูกห้าคน เธอเขียนว่า ‘[โดยที่เติบใหญ่] ในวัฒนธรรมนี้ จึงยากที่จะเข้าใจมุมมองของพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการเป็นมารดา … ลูกถูกจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าวิทยาลัย ต่ำกว่าการเดินทางไปทั่วโลก ต่ำกว่าการสามารถออกไปเที่ยวยามราตรี … ต่ำกว่างานใดๆ ที่คุณมีหรือหวังว่าจะมี’ เธอเขียนเพิ่มเติมว่า ‘การเป็นมารดาไม่ใช่งานอดิเรก แต่เป็นการเรียก’” (“บุตรธิดา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 34–35)

  • “ลด” ความสำคัญของการมีบุตรหมายความว่าอย่างไร

  • ท่านเคยเห็นอะไรกดดันสตรีให้ “ลด” ความสำคัญของการมีบุตร

  • คนหนุ่มสาวในศาสนจักรทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีทัศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการมีบุตร

ทำให้นักศึกษาเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจว่าจะมีบุตรเมื่อใดและจะมีกี่คนเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีภรรยาและพระผู้เป็นเจ้า บทเรียนต่อไปจะพูดเรื่องนี้ละเอียดมากขึ้น

เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่านและเปรียบเทียบ 2 นีไฟ 1:5; 3:14–15 กับ แอลมา 56:47–48; 57:21 เพื่อมองหาอิทธิพลอันชอบธรรมที่มารดาสามารถมีต่อบุตรธิดาได้ (การเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบข้อความพระคัมภีร์เป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่นักศึกษาสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต)

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับบทบาทของมารดา (เน้นหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อมารดาสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดา พวกเธอช่วยให้บุตรธิดามีศรัทธาและเตรียมพวกเขาให้พร้อมดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม)

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดซาตานจึงทำงานหนักมากเพื่อลดคุณค่าบทบาทของมารดา

  • สตรีมีลักษณะพิเศษอะไรบ้างที่สามารถช่วยให้พวกเธอประสบความสำเร็จในบทบาทการเป็นมารดา

จงรู้สึกไวต่อข้อเท็จจริงที่ว่าหญิงสาวบางคนในชั้นอาจไม่แต่งงาน และถ้าพวกเธอแต่งงาน พวกเธออาจไม่สามารถมีบุตรได้ ใช้คำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์เชอรี แอล. ดิว อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ ช่วยให้นักศึกษาของท่านเข้าใจว่าบทบาทของมารดาเป็นมรดกอันสูงส่งของสตรีทุกคน

ภาพ
เชอรี แอล. ดิว

“ชายที่มีค่าควรได้รับการแต่งตั้งล่วงหน้าให้ดำรงฐานะปุโรหิตในความเป็นมรรตัยเฉกเช่นสตรีที่ชอบธรรมได้รับการประสาทพรก่อนมรรตัยด้วยสิทธิพิเศษของการเป็นมารดา การเป็นมารดาเป็นมากกว่าการให้กำเนิดบุตร แม้แน่นอนว่าเป็นเช่นนั้น การเป็นมารดาคือส่วนสำคัญของการเป็นสตรี บ่งบอกอัตลักษณ์ของเรา รูปพรรณและธรรมชาติอันสูงส่งของเรา และคุณลักษณะอันหาใดเทียบได้ที่พระบิดาประทานแก่เรา …

“… สตรีบางคนถูกกำหนดให้รอการมีบุตร … แต่ตารางเวลาของพระเจ้าสำหรับเราแต่ละคนไม่ได้ลบล้างธรรมชาติของเรา เรายังมีหนทางอื่นที่จะเป็นมารดา ทุกคนที่อยู่รอบข้างเราคือผู้ที่เราต้องรักและนำ” (“เราไม่ได้ล้วนเป็นมารดาหรอกหรือ?” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 133–134)

  • คำกล่าวของซิสเตอร์ดิวช่วยขยายความเข้าใจของเราเรื่องการเป็นมารดาอย่างไร

ถามนักศึกษาว่ามีใครต้องการแบ่งปันความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับอิทธิพลที่ชอบธรรมของมารดาของพวกเขาเองหรือไม่

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์จูลี บี. เบค อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ เธอพูดกับสตรีเกี่ยวกับความจำเป็นของการทำให้บทบาทที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่พวกเธอเกิดสัมฤทธิผล ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง และเชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสตรีไม่ทำบทบาทของพวกเธอให้เกิดสัมฤทธิผล

ภาพ
จูลี บี. เบค

© Busath.com

“หากเราไม่ทำส่วนของเรา จะไม่มีใครทำส่วนนั้นให้เรา … เราจะให้ใครทำ [ส่วนของเราในแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์] แทนไม่ได้ เราจะส่งผ่านให้ใครไม่ได้ นั่นเป็นของเรา เราจะไม่ยอมรับก็ได้ เราจะปฏิเสธก็ได้ แต่นั่นยังคงเป็นส่วนของเรา และเราจะต้องรับผิดชอบ วันนั้นจะมาถึงเมื่อเราทุกคนจะจำได้ว่าเรารู้อะไรก่อนเราเกิด เราจะจำได้ว่าเราต่อสู้ในความขัดแย้งครั้งใหญ่เพื่อช่วงชิงอภิสิทธิ์นี้ เราจะบรรลุความรับผิดชอบนี้อย่างไร? ทุกๆ วันเราต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานที่เราเท่านั้นต้องทำ” (“เข้าใจบทบาทอันสูงส่งของสตรี,” เลียโฮนา, ก.พ. 2009, 25)

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างเกี่ยวกับวลี “หากเราไม่ทำส่วนของเรา จะไม่มีใครทำส่วนนั้นให้เรา”

  • อะไรจะสูญหายไปจากครอบครัว จากวอร์ดหรือสาขาของท่าน หรือจากโลกถ้าสตรีไม่ทำ “ส่วน” ของพวกเธออีกต่อไป

  • มีวิธีใดบ้างที่สตรีสาวจะสามารถทำบทบาทอันสูงส่งของพวกเธอให้เกิดสัมฤทธิผลในฐานะสตรีในอาณาจักรของพระบิดาบนสวรรค์

เป็นพยานถึงบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์และจำเป็นของสตรีในการเป็นภรรยาและมารดาที่ชอบธรรม และเน้นว่าสักวันหนึ่งพระบิดาในสวรรค์จะประทานพรทุกประการแก่บุตรธิดาที่ชอบธรรมของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักศึกษาบอกมารดาคนหนึ่งที่พวกเขารู้จักว่าพวกเขาชื่นชมเธอมากสำหรับวิธีที่เธอทำบทบาทอันสูงส่งให้เกิดสัมฤทธิผล

สรุปโดยถามนักศึกษาว่ามีใครต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพรที่เกิดขึ้นเมื่อสตรีรู้ว่าพวกเธอเป็นใครในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์และทำตามความรู้นั้น

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน