เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 14: การเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน


บทที่ 14

การเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน

คำนำ

โดยผ่านงานพระวิหาร พระเจ้าทรงสามารถทำให้ทุกคนที่เสียชีวิตโดยปราศจากความรู้ในพระกิตติคุณของพระเยซูตคริสต์ได้ “กลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อที่ครอบครัวจะเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) ในบทนี้ นักศึกษาจะเรียนรู้ว่าวิญญาณของเอลียาห์ผลักดันให้เรามีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวและกลายเป็น “พวกกู้ชาติ … ที่ภูเขาศิโยน” (โอบาดีห์ 1:21)

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 29–33

  • เควนทิน แอล. คุก, “รากและกิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 44–48

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:27–37, 58–59

การปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ในโลกวิญญาณ

เชื้อเชิญให้นักศึกษาพิจารณาว่าบรรพชนของพวกเขามากมายเพียงใดที่เสียชีวิตโดยไม่ได้ยินพระกิตติคุณหรือไม่ได้รับศาสนพิธีแห่งความรอด

เตือนนักศึกษาว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงปรากฏต่อเหล่าวิญญาณของคนตาย รายละเอียดเกี่ยวกับการเสด็จเยือนครั้งนี้ตามที่ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (1838–1918) เห็นในนิมิต มีบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 138 (สังเกตว่านี่เป็นตัวอย่างของการช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบริบทเมื่อศึกษาพระคัมภีร์)

ขอให้นักศึกษาสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:27–37 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงทำระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ในโลกแห่งวิญญาณ

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมทางอย่างไรให้เหล่าวิญญาณของคนตายได้รับการไถ่ (เน้นความจริงต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบหมายงาน ทรงแนะนำสั่งสอน และทรงเตรียมเหล่าวิญญาณที่ชอบธรรมให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณแก่ผู้อยู่ในเรือนจำแห่งวิญญาณ)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 34 เหตุใดจึงต้องสั่งสอนหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณแก่ผู้อยู่ในเรือนจำแห่งวิญญาณ (อธิบายว่าการ “ได้รับการพิพากษาตามมนุษย์ในเนื้อหนัง” หมายความว่าลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า คนเป็นหรือคนตาย จะมีโอกาสยอมรับพระกิตติคุณและได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งนี้เพื่อทุกคนจะได้รับการพิพากษาตามมาตรฐานเดียวกัน ดู คพ. 137:7–9 ด้วย)

ขอให้นักศึกษาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:31, 58–59 โดยดูว่าบุคคลที่ได้รับการสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณต้องทำอะไรจึงจะกลายเป็น “ทายาทแห่งความรอด”

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหล่าวิญญาณของคนตายต้องทำอะไรจึงจะเป็น “ทายาทแห่งความรอด” (ช่วยอธิบายหลักธรรมนี้: หลังจากบุคคลในเรือนจำแห่งวิญญาณได้รับการสอนข่าวสารพระกิตติคุณ พวกเขาสามารถเลือกกลับใจและยอมรับศาสนพิธีที่ทำแทนคนตายในพระวิหาร)

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“บางคนเข้าใจผิดคิดว่าจิตวิญญาณที่ล่วงลับ ‘จะได้รับบัพติศมาเข้าสู่ศาสนามอรมอนโดยไม่ต้องมีความรู้’ หรือ ‘เราสามารถยัดเยียดศาสนามอรมอนให้คนที่เคยนับถือศาสนาอื่นได้เลย’ พวกเขาคิดเอาเองว่าเรามีอำนาจบังคับจิตวิญญาณในเรื่องศรัทธา แน่นอนว่าเราไม่มี พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีให้มนุษย์นับแต่กาลเริ่มต้น ‘คนตายผู้ที่กลับใจจะได้รับการไถ่, โดยการเชื่อฟังศาสนพิธีแห่งพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้า’ [คพ. 138:58] แต่เฉพาะเมื่อพวกเขายอมรับศาสนพิธีเหล่านั้น” (ดู “การไถ่คนตายและประจักษ์พยานของพระเยซู,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 11)

ขอให้นักศึกษาจับคู่และแสดงบทบาทสมมติอธิบายให้คนที่ไม่เป็นสมาชิกฟังว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้าทำให้ทุกคน ทั้งคนเป็นคนตาย ได้รับพระกิตติคุณและศาสนพิธีแห่งความรอดอย่างไร

โอบาดีห์ 1:21; มาลาคี 4:5–6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13–16; 128:18

เราจะต้องเป็น “พวกกู้ชาติ … ในภูเขาศิโยน” (โอบาดีห์ 1:21)

เชื้อเชิญให้นักศึกษาเขียนวิธีที่เราสามารถมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวได้ (การหาชื่อครอบครัวแล้วนำไปพระวิหาร รวบรวมและเก็บรักษารูปภาพและเรื่องเล่าของครอบครัว การทำดัชนี และอื่นๆ)

  • การมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวจะส่งผลต่อความรู้สึกของเราต่อสมาชิกครอบครัวที่ล่วงลับได้อย่างไร

เพื่อช่วยนักศึกษาระบุที่มาของความรู้สึกเหล่านั้น ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าวิญญาณของเอลียาห์คือ ‘การแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยทรงเป็นพยานถึงคุณลักษณะอันสูงส่งของครอบครัว’ (ดู ‘ช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวครั้งใหม่,’ เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 39) อิทธิพลเด่นชัดเช่นนี้ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ดึงให้ผู้คนค้นหา บันทึก และหวงแหนบรรพชนตลอดจนสมาชิกครอบครัวของตน—ทั้งอดีตและปัจจุบัน วิญญาณของเอลียาห์มีผลต่อผู้คนทั้งในและนอกศาสนจักร” (ดู “ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 32)

ท่านอาจจะเขียนนิยามต่อไปนี้ของ “วิญญาณของเอลียาห์” ไว้บน กระดาน

วิญญาณของเอลียาห์คือการแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งส่งผลให้เราค้นหา บันทึก และหวงแหนสมาชิกครอบครัวในอดีตและปัจจุบันของเรา

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาลาคี 4:5–6

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ การเยือนของศาสดาพยากรณ์เอลียาห์ตามที่สัญญาไว้จะมีผลอย่างไรต่อครอบครัวของชาวโลกและงานแห่งความรอดของพระเจ้าในยุคสุดท้าย (เตือนนักศึกษาว่าเอลียาห์ที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วมาปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ และออลิเวอร์ คาวเดอรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1836 ในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ และมอบกุญแจการผนึกของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคให้ท่านทั้งสอง [ดู คพ. 110:13–16])

  • ใจของบรรพบุรุษและลูกหลานจะหันเข้าหากันหมายความว่าอย่างไร

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) เกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“คำว่า หัน ในที่นี้ควรแปลว่า ผูกมัด หรือผนึก แต่อะไรคือวัตถุประสงค์ของพันธกิจอันสำคัญนี้ หรือจะบังเกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร ต้องมอบกุญแจ วิญญาณของเอลียาห์ต้องมา … และวิสุทธิชนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน [ดู โอบาดีห์ 1:21]

“แต่พวกเขาจะเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอันได้อย่างไร เป็นได้โดยโดยสร้างพระวิหาร สร้างอ่างบัพติศมา และออกไปรับศาสนพิธีทั้งหมด … แทนบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วทุกคน และไถ่คนเหล่านั้น … และนี่คือสายโซ่ที่ผูกมัดใจบรรพบุรุษกับลูกหลาน และลูกหลานกับบรรพบุรุษ อันจะทำให้พันธกิจของเอลียาห์บังเกิดสัมฤทธิผล” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 509)

  • โจเซฟ สมิธกล่าวว่าเราจะเป็นอะไรเมื่อเรารับศาสนพิธีพระวิหารแทนคนตายที่เป็นญาติพี่น้องของเรา (ผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์(1910–2008) และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เราเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอันอย่างแท้จริง นี่หมายความว่าอะไร เฉกเช่นพระผู้ไถ่ของเราทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นเครื่องพลีบูชาแทนมนุษย์ทุกคนเพื่อจะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราฉันใด เราก็เป็นฉันนั้นในระดับหนึ่งเมื่อเรามีส่วนในงานแทนคนตายในพระวิหาร กลายเป็นผู้ช่วยให้รอดของคนอีกด้านหนึ่งผู้ไม่มีหนทางก้าวหน้าเว้นแต่ผู้อยู่บนแผ่นดินโลกจะทำแทนพวกเขา” (ดู “คำปราศรัยปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 129–130)

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้แทนเรา เมื่อเราทำศาสนพิธีแทนผู้วายชนม์ เรากลายเป็น “ผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน” คำว่า “เขาไซอัน” สามารถหมายถึงหลายๆ แห่ง รวมทั้งเมืองสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือเมืองเยรูซาเล็มใหม่ (ดู ฮีบรู 12:22; คพ. 76:66; 84:2–4; 1 พงศ์กษัตริย์ 8:1)

  • การเข้าใจวลี “ผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน” สามารถผลักดันเราให้ทำมากขึ้นในด้านใดเพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวทั้งในอดีตและปัจจุบันของเราได้รับพรของพระวิหาร

ส่วนหนึ่งของการสนทนาคือท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เมื่อเราค้นหาบรรพชนของเราและประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดให้พวกเขาที่ไม่อาจทำได้ด้วยตนเอง เรากำลังเป็นพยานถึงการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสต์ พระคริสต์ ‘สิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน’ [2 โครินธ์ 5:15]” (“การไถ่คนตายและประจักษ์พยานของพระเยซู,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 12)

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 128 บันทึกจดหมายฉบับหนึ่งที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนถึงวิสุทธิชนซึ่งในนั้นท่านอ้าง มาลาคี 4:5–6 แล้วแสดงความเห็นที่ได้รับการดลใจเกี่ยวกับข้อเหล่านั้น

เชื้อเชิญให้นักศึกษาให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:18 ในใจ ขอให้พวกเขาทำเครื่องหมายตรงเหตุผลที่โจเซฟ สมิธให้ในเรื่องการมีส่วนร่วมในงานแห่งการไถ่สมาชิกครอบครัวที่ล่วงลับของเรา หลังจากสนทนาสิ่งที่นักศึกษาค้นพบแล้ว ให้สนทนาดังนี้

  • การที่เราพยายามทำศาสนพิธีแห่งความรอดให้บรรพชนของเราสามารถนำความรอดมาสู่เราเช่นกันได้อย่างไร

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: หา นำไป และ สอน

ขอให้นักศึกษาอธิบายว่าสามคำนี้อธิบายถึงขั้นตอนที่เราได้รับการกระตุ้นให้ทำเมื่อเราทำงานพระวิหารและประวัติครอบครัวอย่างไร (นักศึกษาพึงระบุดังนี้: หา และเตรียมชื่อสำหรับงานศาสนพิธีพระวิหาร; นำ ชื่อเหล่านั้นไปพระวิหารและประกอบศาสนพิธีพระวิหารแทนคนเหล่านั้น; สอน คนอื่นๆ ให้ทำแบบเดียวกัน)

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจพรที่มาจากการทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ให้ดูและขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ หรือฉายวีดิทัศน์เรื่อง “The Promised Blessings of Family History” (lds.org/topics/family-history/fdd-cook/blessings-video) ขณะที่นักศึกษาอ่านหรือชม ขอให้พวกเขามองหาพรที่สัญญาไว้ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัว

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้เยาวชนของศาสนจักรเรียนรู้และประสบวิญญาณของเเอลียาห์ ข้าพเจ้ากระตุ้นให้ท่านศึกษา ค้นหาบรรพชนของท่าน และเตรียมตนเองให้พร้อมรับบัพติศมาแทนญาติพี่น้องผู้วายชนม์ ของท่าน ในพระนิเวศน์ของพระเจ้า (ดู คพ. 124:28–36) ข้าพเจ้าขอให้ท่านช่วยคนอื่นๆ ค้นหาประวัติครอบครัวของพวกเขา

“เมื่อท่านขานรับคำเชื้อเชิญนี้ด้วยศรัทธา ใจของท่านจะหันไปหาบรรพบุรุษ … ความรักความกตัญญูที่ท่านมีต่อบรรพชนจะเพิ่มพูน ประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดจะลึกซึ้งและยั่งยืน ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากอิทธิพลที่รุนแรงขึ้นของปฏิปักษ์ เมื่อท่านรักและมีส่วนร่วมในงานศักดิ์สิทธิ์นี้ ท่านจะได้รับการปกป้องในวัยเยาว์และตลอดชีวิตท่าน” (“ใจของลูกหลานจะหันไป,” 32–33)

  • พรใดมาถึงคนที่มีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัว

ถามว่านักศึกษาคนใดสามารถบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการได้รับพรผ่านการมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวได้บ้าง

  • สำหรับท่านที่เคยรับศาสนพิธีแทนบรรพชน ท่านจะบอกเล่าความรู้สึกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้

เชื้อเชิญให้นักศึกษาค้นหาประวัติครอบครัวของพวกเขาโดยใช้แหล่งช่วยที่ FamilySearch.org และขอความช่วยเหลือจากผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติครอบครัวในวอร์ดหรือสาขาเมื่อจำเป็น กระตุ้นนักศึกษาให้วางแผน หา ชื่อบรรพชนของพวกเขา นำ ชื่อบรรพชนเหล่านี้ไปพระวิหาร และทำศาสนพิธีแทน และ สอน คนอื่นๆ ให้ทำแบบเดียวกัน

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน