คู่มือและการเรียก
31. การสัมภาษณ์และการพบปะอื่นๆ กับสมาชิก


“31. การสัมภาษณ์และการพบปะอื่นๆ กับสมาชิก” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“31. การสัมภาษณ์และการพบปะอื่นๆ กับสมาชิก” คู่มือทั่วไป

ภาพ
ชายจับมือทักทายกัน

31.

การสัมภาษณ์และการพบปะอื่นๆ กับสมาชิก

31.0

บทนำ

บ่อยครั้งพระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นทีละคน (ดูตัวอย่างใน ยอห์น 4:5–26; 3 นีไฟ 17:21) พระองค์ทรงรักลูกแต่ละคนของพระผู้เป็นเจ้า และทรงช่วยเหลือพวกเขาเป็นรายบุคคล

ในฐานะผู้นำศาสนจักรและผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านมีโอกาสช่วยลูกๆ ของพระองค์เป็นรายบุคคลเช่นกันในความก้าวหน้าทางวิญญาณของพวกเขา วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่ท่านช่วยได้คือผ่านการสัมภาษณ์และการพบปะตัวต่อตัว การรับใช้ที่มีความหมายมากที่สุดของท่านบางครั้งจะเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัว ในสภาวะแวดล้อมเหล่านี้ ท่านสามารถให้ความรักเหมือนพระคริสต์ โดยยก “มือที่อ่อนแรง” และเสริมกำลัง “เข่าที่อ่อนล้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5)

ในบทนี้ คำว่า การสัมภาษณ์ หมายถึงการพบปะระหว่างผู้นำกับบุคคลเพื่อตัดสินว่าบุคคลควรมีส่วนร่วมในศาสนพิธีหรือได้รับการเรียกหรือไม่ (ดู 31.2) โดยทั่วไปสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสเตคดำเนินการสัมภาษณ์เหล่านี้ คำว่า การสัมภาษณ์ หมายถึงการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนพิธีที่ดำเนินการโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์หรือฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ด้วย (ดู 21.3)

นอกจากการสัมภาษณ์เหล่านี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ผู้นำศาสนจักรจะพบปะสมาชิกเป็นรายบุคคล (ดู 31.3) ตัวอย่างเช่น ฝ่ายอธิการทำนัดพบปะเยาวชนแต่ละคนในวอร์ดเป็นประจำ (ดู 31.3.1) ถึงแม้ท่านไม่ได้รับใช้ในฝ่ายอธิการ แต่อธิการอาจขอให้ท่านพบปะสมาชิกคนหนึ่งที่ขัดสนเพื่อให้การประคับประคองและการปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่อง หรือสมาชิกคนหนึ่งอาจมาหาท่านเมื่อเขากำลังประสบความท้าทายส่วนตัวหรือในครอบครัว

บทนี้จะช่วยผู้นำทุกคนที่มีโอกาสพบปะสมาชิกเป็นรายบุคคล ผู้นำเหล่านี้จะได้แก่ผู้นำของสมาคมสงเคราะห์ โควรัมเอ็ลเดอร์ และเยาวชนหญิง บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ หรือคนอื่นๆ ที่อธิการมอบหมาย

31.1

หลักธรรมที่เป็นแนวทาง

31.1.1

เตรียมพร้อมทางวิญญาณ

หากท่านมีหน้าที่รับผิดชอบในการพบปะสมาชิก พระเจ้าจะทรงอวยพรท่านด้วยการดลใจที่ต้องการขณะท่านแสวงหาการดลใจนั้น เตรียมตัวท่านให้พร้อมทางวิญญาณผ่านการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ฟังสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงนำทางท่านด้วยความประทับใจ ความคิด และความรู้สึก จะทรงช่วยให้ท่านจำคำสอนที่เคยศึกษาในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายได้เพื่อจะสามารถช่วยบุคคลที่ท่านพบปะ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85; 100:5–8)

คลังค้นคว้าพระกิตติคุณมีงานสะสม แหล่งช่วยให้คำปรึกษา เก็บไว้ในนั้น ขณะท่านเตรียมพบปะสมาชิก จงทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่นำมาใช้กับสมาชิกคนนั้นได้

พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำทางสมาชิกที่ท่านกำลังพบปะเช่นกัน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกเตรียมพร้อมทางวิญญาณก่อนมาพบท่านด้วย

อาจจะสวดอ้อนวอนกับสมาชิกเมื่อเริ่มพูดคุยกัน ซึ่งจะเชื้อเชิญวิญญาณของความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธาขณะท่านพร้อมใจกันทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:32; 29:6)

ระหว่างการสัมภาษณ์หรือการพบปะ อาจมีปัญหาหรือคำถามที่ท่านรู้สึกไม่พร้อมจะตอบ ท่านอาจจะเสนอแนะให้ท่านกับสมาชิกต่างคนต่างทูลขอการนำทางจากพระเจ้า—ตัวอย่างเช่น ผ่านการศึกษา การสวดอ้อนวอน และการอดอาหาร ท่านอาจจะอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องใน แหล่งช่วยให้คำปรึกษา หรือ ความช่วยเหลือในชีวิต ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย จากนั้นท่านจะพบกันอีกครั้งเพื่อสนทนาเพิ่มเติม

หากสมาชิกทำบาปร้ายแรง ท่านจะส่งต่อเขาหรือเธอให้อธิการ

31.1.2

ช่วยให้สมาชิกรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า

ในฐานะผู้นำศาสนจักรท่านเป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอด ส่วนสำคัญของพระพันธกิจของพระองค์คือถ่ายทอดความรักของพระผู้เป็นเจ้าให้กับลูกๆ ของพระองค์ (ดู ยอห์น 3:16–17) เมื่อสมาชิกมาขอสัมภาษณ์หรือขอให้ช่วยเรื่องความท้าทายส่วนตัว บ่อยครั้งสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขา ความรักนี้จะเพิ่มพลังและดลใจให้พวกเขามาหาพระคริสต์ กลับใจจากบาป และเลือกทำสิ่งที่ดี

พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายอัญเชิญพระวิญญาณและสอนหลักคำสอนที่บริสุทธิ์ จงใช้บ่อยๆ ด้วยความละเอียดอ่อนและความรักเมื่อท่านพบปะสมาชิก ใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจ ไม่ใช่กล่าวโทษ บีบบังคับ หรือก่อให้เกิดความกลัว (ดู ลูกา 9:56)

กำหนดเวลาพบปะให้มากพอ สมาชิกไม่ควรรู้สึกว่าท่านยุ่งมาก ให้ความสนใจสมาชิกอย่างเต็มที่

31.1.3

ช่วยสมาชิกดึงเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดมาใช้

พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาปของเราไว้กับพระองค์ “เพื่อพระองค์จะทรงลบการล่วงละเมิด [ของเรา] ตามพระพลานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระองค์” (แอลมา 7:13) พระองค์ทรงรับเอาความทุกข์ ความเจ็บปวด และความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์เช่นกัน “เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ … ได้อย่างไร” (ดู แอลมา 7:11–12)

จงกระตุ้นให้สมาชิกหันมาหาพระองค์ ช่วยพวกเขาดึงเดชานุภาพของพระองค์มาเพิ่มพลัง ปลอบโยน และไถ่ เดชานุภาพนี้มาโดยการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ทำตามแบบอย่างของพระองค์ รับศาสนพิธีฐานะปุโรหิต รักษาพันธสัญญา และทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

31.1.4

ช่วยให้สมาชิกรู้สึกสบายใจและปลอดภัย

สมาชิกบางคนเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกกังวลใจหรือหนักใจเมื่อพบปะผู้นำศาสนจักร จงหาวิธีช่วยให้พวกเขารู้สึกสงบ ปลอดภัย และสบายใจ สอบถามสมาชิกว่าท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง

ให้สมาชิกมีทางเลือกเสมอว่าจะให้คนอื่นอยู่ด้วยระหว่างการสัมภาษณ์หรือการพบปะ เมื่อพบปะสมาชิกเพศตรงข้าม เด็ก หรือเยาวชน ต้องแน่ใจว่าบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่อีกคนอยู่ด้วย เขาหรือเธออาจเข้าพบปะด้วยหรือรอนอกห้อง ขึ้นอยู่กับความพอใจของสมาชิกที่ท่านกำลังพบปะ

หากการพบปะที่อาคารประชุมทำให้สมาชิกไม่สบายใจ จงตัดสินใจด้วยกันเรื่องการพบปะกันที่อื่น หาสถานที่ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ได้และท่านสามารถรักษาความลับได้ อีกทั้งพิจารณาความปลอดภัยของท่านเองและความปลอดภัยของสมาชิกด้วย ดูข้อมูลเกี่ยวกับการพบปะสมาชิกทางออนไลน์ใน 31.4

อีกส่วนที่สำคัญของการช่วยให้สมาชิกรู้สึกปลอดภัยคือการรักษาความลับ ยืนยันกับสมาชิกอีกครั้งว่าการสนทนาของท่านจะเป็นความลับ

อย่าบอกข้อมูลที่เป็นความลับกับใคร—รวมถึงคู่สมรสหรือผู้นำศาสนจักรท่านอื่น—เว้นแต่สมาชิกอนุญาต เก็บเรื่องเหล่านั้นไว้เป็นความลับต่อไปแม้ท่านจะพ้นจากหน้าที่แล้ว การทำลายความเชื่อมั่นจะส่งผลเสียต่อศรัทธา ความไว้วางใจ และประจักษ์พยานของสมาชิก สมาชิกมีแนวโน้มจะขอความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนจักรมากขึ้นหากรู้ว่าผู้นำจะเก็บสิ่งที่พวกเขาบอกไว้เป็นความลับ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาความลับ รวมทั้งข้อมูลทางกฎหมาย ใน 32.4.4

31.1.5

ถามคำถามที่ได้รับการดลใจและตั้งใจฟัง

เมื่อพบปะสมาชิก ให้ถามคำถามที่ช่วยให้ท่านเข้าใจสถานการณ์ของสมาชิก เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความคิดและความรู้สึกของตนอย่างเสรี

ขณะสมาชิกพูด จงตั้งใจฟังและสนใจฟัง พยายามเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนตอบ หากจำเป็นให้ถามคำถามตามเพื่อแน่ใจว่าท่านเข้าใจ แต่อย่าสืบสาวราวเรื่องโดยไม่จำเป็น

การฟังช่วยสร้างความไว้วางใจ จะช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ เห็นค่า และรักพวกเขา คนเรามักต้องการให้คนที่พวกเขาไว้วางใจฟังขณะพวกเขาพยายามแก้ปัญหา การฟังจะช่วยให้ท่านเปิดใจรับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกัน

31.1.6

ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง

เพราะท่านรักสมาชิก ท่านอาจต้องการเสนอวิธีแก้ปัญหาให้พวกเขาทันที แต่ท่านจะเป็นพรแก่พวกเขามากกว่าหากช่วยพวกเขาหาวิธีแก้ปัญหาของตนและตัดสินใจด้วยตนเอง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:8)

ช่วยพวกเขาวิเคราะห์ปัญหาหรือข้อสงสัยของตนภายในบริบทของพระกิตติคุณและแผนแห่งความรอด สอนให้พวกเขารู้วิธีแสวงหาการนำทางจากพระเจ้าผ่านพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และการเปิดเผยส่วนตัว ในวิธีนี้ท่านจะช่วยสมาชิกเตรียมเผชิญความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต สมาชิกจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งครอบครัวของตนได้ดีขึ้นด้วย

31.1.7

สนับสนุนความพยายามกลับใจ

บางครั้งสมาชิกอาจขอให้ช่วยเรื่องการกลับใจจากบาป มีมากมายที่ท่านทำได้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกระตุ้นให้สมาชิกแสวงหาการให้อภัย

เฉพาะอธิการหรือประธานสเตคเท่านั้นสามารถช่วยบุคคลแก้ไขบาปร้ายแรงได้ บาปบางอย่างเหล่านี้ระบุไว้ใน 32.6 หากสมาชิกทำบาปใดก็ตามในบาปเหล่านี้ เขาควรพบกับอธิการหรือประธานสเตคทันที

อธิการและประธานสเตคแต่ละคนเป็น “ผู้พิพากษาในอิสราเอล” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:72) โดยสิทธิอำนาจนี้พวกเขาช่วยให้สมาชิกกลับใจจากบาปและมาหาพระคริสต์ผู้ทรงอภัยบาป (ดู 32.1 และ 32.3)

ในหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ ผู้นำเหล่านี้เป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาพยายามใช้ “คำพิพากษาซึ่ง [พระองค์] จะให้แก่ [พวกเขา]” (3 นีไฟ 27:27) พวกเขาสอนว่าการกลับใจได้แก่การใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ มีวิญญาณที่สำนึกผิด ละทิ้งบาป แสวงหาการให้อภัย ชดเชยความผิด และรักษาพระบัญญัติด้วยความมุ่งมั่นอีกครั้ง

เพื่อช่วยให้อธิการและประธานสเตคทำหน้าที่ตามบทบาทของตน พวกเขาจึงได้รับพรด้วยของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งการเล็งเห็น ของประทานดังกล่าวช่วยให้พวกเขาเล็งเห็นความจริง เข้าใจจิตใจของสมาชิก และทราบความต้องการของสมาชิก (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 3:6–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:27–28)

แม้จะสารภาพกับ “ผู้พิพากษาในอิสราเอล” แต่เมื่อสมาชิกอนุญาต ผู้นำคนอื่นๆ สามารถให้การสนับสนุนขณะสมาชิกพยายามกลับใจ การสนับสนุนนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อการกลับใจจะใช้เวลามาก ดูแนวทางในส่วนสุดท้ายของ 32.8.1

31.1.8

ตอบสนองการทารุณกรรมอย่างเหมาะสม

ศาสนจักรไม่ยอมรับการทารุณกรรมทุกรูปแบบ จริงจังกับรายงานเรื่องการทารุณกรรม หากสมาชิกทราบว่ามีคนถูกทารุณกรรม ให้รายงานเรื่องการทารุณกรรมต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและปรึกษากับอธิการ แนวทางการรายงานและการตอบสนองการทารุณกรรมอยู่ใน 38.6.2

ดูข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่อธิการและประธานสเตคควรทำเมื่อทราบเรื่องการทารุณกรรมใน 38.6.2.1

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ถูกทารุณกรรมใน “การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ)” ใน แหล่งช่วยให้คำปรึกษา ท่านสามารถให้สมาชิกอ่าน แหล่งช่วยที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการทารุณกรรม ใน ความช่วยเหลือในชีวิต

ดูข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ถูกข่มขืนหรือถูกคุกคามทางเพศอื่นๆ ใน 38.6.18.2

31.2

การสัมภาษณ์

31.2.1

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

โดยทั่วไปผู้นำศาสนจักรสัมภาษณ์สมาชิกเพื่อตัดสินว่าพวกเขา:

  • พร้อมรับหรือพร้อมมีส่วนร่วมในศาสนพิธีหรือไม่

  • ควรได้รับการเรียกสู่ตำแหน่งในศาสนจักรหรือไม่

การสัมภาษณ์ลักษณะนี้ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือฝ่ายประธานสเตค พวกเขาจะไม่มอบหมายให้ผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ ทำแทน อย่างไรก็ดี ประธานสเตคอาจมอบหมายให้สมาชิกสภาสูงดำเนินการสัมภาษณ์บางอย่างตามที่ระบุไว้ในแผนภูมิการเรียก (ดู 30.8)

31.2.2

การสัมภาษณ์แบบต่างๆ

อธิการได้รับการเรียกให้เป็น “ผู้พิพากษาใหญ่” ในวอร์ดของตน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:74; ดู 7.1.3 ด้วย) ประธานสเตครับใช้เป็นผู้พิพากษาใหญ่เช่นกัน (ดู 6.2.3) ผู้นำเหล่านี้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อมอบอำนาจให้ประกอบศาสนพิธี ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงมีการสัมภาษณ์บางอย่างที่พวกเขาเท่านั้นจะทำได้ พวกเขาสามารถมอบหมายให้ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์อื่นๆ ตารางต่อไปนี้ระบุว่าใครสามารถดำเนินการสัมภาษณ์แต่ละอย่าง

ใครดำเนินการสัมภาษณ์

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

ใครดำเนินการสัมภาษณ์

อธิการเท่านั้น

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

  • ออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือผนึกกับคู่สมรส (ดู 26.3.1)

  • ออกใบรับรองพระวิหารให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ (ดู 26.4.2)

  • แต่งตั้งชายผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่สู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน (ดู 38.2.9.1)

  • แต่งตั้งเยาวชนชายหรือชายสู่ตำแหน่งปุโรหิต (ดู 18.10.2)

  • เสนอชื่อชายให้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิต (ดู 31.2.6) การดำเนินการสัมภาษณ์นี้ต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสเตค

  • เสนอชื่อสมาชิกให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา (ดู 24.4.2)

  • เรียกสมาชิกให้รับใช้เป็นประธานองค์การวอร์ด

  • เรียกปุโรหิตให้รับใช้เป็นผู้ช่วยในโควรัมปุโรหิต

  • ช่วยให้สมาชิกกลับใจจากบาปร้ายแรง (ดู บทที่ 32)

  • ลงนามรับรองสมาชิกเพื่อลงทะเบียนหรือต่อการลงทะเบียนที่ มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยของศาสนจักร

  • ลงนามรับรองสมาชิกให้ได้รับ เงินกู้ยืมจากกองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา หากที่นั่นมีกองทุน

  • ให้สมาชิกประกาศสถานะเป็นผู้จ่ายส่วนสิบของตน (ดู 34.3.1.2)

  • มอบอำนาจให้ใช้เงินทุนบริจาคอดอาหาร (ดู 31.3.4 และ 22.6.1)

ใครดำเนินการสัมภาษณ์

อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

  • ต่อใบรับรองพระวิหาร (ดู 26.3.1)

  • ออกใบรับรองพระวิหารให้มีส่วนร่วมในบัพติศมาและการยืนยันแทนผู้วายชนม์ (ดู 26.4.3)

  • ออกใบรับรองพระวิหารให้รับการผนึกกับบิดามารดาหรือเป็นพยานการผนึกของพี่น้องกับบิดามารดา (ดู 26.4.4)

  • เรียกสมาชิกให้รับใช้ในการเรียกต่างๆ ของวอร์ดดังระบุไว้ใน 30.8

  • มอบอำนาจให้บัพติศมาและยืนยันเด็กอายุ 8 ขวบที่เป็นสมาชิกในบันทึกหรือมีบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งเป็นสมาชิกของศาสนจักร (ดู 31.2.3.1)

  • มอบอำนาจให้แต่งตั้งเยาวชนชายสู่ตำแหน่งมัคนายกหรือผู้สอน (ดู 18.10.2)

  • ออกใบรับรองปิตุพร (ดู 18.17)

  • มอบอำนาจให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิตในอีกวอร์ดหนึ่งหากเขาไม่มีใบรับรองพระวิหาร (ดู แบบฟอร์มใบรับรองเพื่อประกอบศาสนพิธี)

ใครดำเนินการสัมภาษณ์

ประธานสเตคเท่านั้น

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

  • ออกใบรับรองพระวิหารให้สมาชิกที่จะรับเอ็นดาวเม้นท์ของตนหรือรับการผนึกกับคู่สมรส (ดู 26.3.1)

  • เสนอชื่อสมาชิกให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา (ดู 24.4.2)

  • ปลดผู้สอนศาสนาเต็มเวลาที่กลับบ้านให้พ้นจากหน้าที่ (ดู 24.8.2)

  • เมื่อได้รับมอบอำนาจ เรียกสมาชิกให้รับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสเตค ผู้ประสาทพร หรืออธิการ (ดู 30.8.1 และ 30.8.3)

  • เรียกสมาชิกให้รับใช้เป็นประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์สเตค

  • ช่วยให้สมาชิกกลับใจจากบาปร้ายแรง (ดู บทที่ 32)

ใครดำเนินการสัมภาษณ์

ประธานสเตคหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมาย

จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์

  • ต่อใบรับรองพระวิหาร (ดู 26.3.1)

  • มอบอำนาจการแต่งตั้งชายสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิต (ดู 18.10.1)

  • เรียกสมาชิกให้รับใช้ในการเรียกต่างๆ ดังระบุไว้ใน 30.8.1 และ 30.8.3

  • ตรวจสอบสุขภาพและความมีค่าควรของคนที่จะจากไปเป็นผู้สอนศาสนาพอสังเขปก่อนเขาหรือเธอจะรับการวางมือมอบหน้าที่ (ดู 24.5.3)

  • ลงนามรับรองสมาชิกให้ลงทะเบียนเรียนที่ มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยของศาสนจักร

ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสัมภาษณ์ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพื่อบัพติศมาและการยืนยัน (ดู 31.2.3.2)

สมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ (ดู 21.3)

31.2.3

การสัมภาษณ์บัพติศมาและการยืนยัน

31.2.3.1

เด็กที่เป็นสมาชิกในบันทึก

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับบัพติศมาสมาชิกในบันทึกที่อายุ 8 ขวบในวอร์ด เพราะเหตุนี้เขาหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายจึงสัมภาษณ์บุคคลต่อไปนี้เพื่อบัพติศมา:

  • เด็กอายุ 8 ขวบที่เป็นสมาชิกในบันทึก

  • เด็กอายุ 8 ขวบที่ไม่เป็นสมาชิกในบันทึกแต่มีบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งเป็นสมาชิก

  • สมาชิกในบันทึกที่อายุ 9 ขวบขึ้นไปผู้บัพติศมาล่าช้าเนื่องด้วยความบกพร่องทางสติปัญญา

ในการสัมภาษณ์ สมาชิกฝ่ายอธิการต้องแน่ใจว่าเด็กเข้าใจจุดประสงค์ของบัพติศมา (ดู 2 นีไฟ 31:5–20) ต้องแน่ใจด้วยว่าเด็กเข้าใจพันธสัญญาบัพติศมาและรับปากว่าจะดำเนินชีวิตตามพันธสัญญานั้น (ดู โมไซยาห์ 18:8–10) เขาไม่จำเป็นต้องใช้รายการคำถามที่ระบุ นี่ไม่ใช่การสัมภาษณ์เพื่อตัดสินความมีค่าควรเนื่องจาก “เด็กเล็กๆ ไม่ต้องมีการกลับใจ” (โมโรไน 8:11)

ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองก่อนผู้เยาว์จึงจะรับบัพติศมาได้ (ดู 38.2.8.2)

ภาพ
ชายหญิงคุยกัน

31.2.3.2

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส

ประธานคณะเผยแผ่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการบัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส เพราะเหตุนี้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจึงสัมภาษณ์:

  • บุคคลอายุ 9 ขวบขึ้นไปผู้ไม่เคยรับบัพติศมาและการยืนยัน ดูข้อยกเว้นสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาใน 31.2.3.1

  • เด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไปที่บิดามารดาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร

  • เด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไปที่มีบิดาหรือมารดาจะรับบัพติศมาและการยืนยันด้วย

หัวหน้าดิสตริกท์หรือหัวหน้าโซนผู้สอนศาสนาดำเนินการสัมภาษณ์ ดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ต้องได้รับมอบอำนาจพิเศษใน 38.2.8.7

แต่ละคนที่หวังเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสควรพบปะอธิการก่อนรับบัพติศมาเช่นกัน แต่อธิการไม่สัมภาษณ์เขาหรือเธอเพื่อบัพติศมา และไม่ตัดสินความมีค่าควรด้วย จุดประสงค์ของการพบปะครั้งนี้คือสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว

ในการสัมภาษณ์ ผู้สอนศาสนาทำตามการนำทางของพระวิญญาณเพื่อตัดสินว่าบุคคลมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่อธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 หรือไม่ (ดู โมไซยาห์ 18:8–10; โมโรไน 6:1–4 ด้วย) ผู้สอนศาสนาใช้คำถามต่อไปนี้: เขาปรับคำถามตามอายุ วุฒิภาวะ และสภาวการณ์ของบุคคล

  1. คุณเชื่อไหมว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดานิรันดร์ของเรา? คุณเชื่อไหมว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของโลก?

  2. คุณเชื่อไหมว่าศาสนจักรและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้รับการฟื้นฟูผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ? คุณเชื่อไหมว่า [ประธานศาสนจักรคนปัจจุบัน] เป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า? นี่มีความหมายต่อคุณอย่างไร?

  3. การกลับใจมีความหมายต่อคุณอย่างไร? คุณรู้สึกไหมว่าคุณได้กลับใจจากบาปในอดีตแล้ว?

  4. คุณได้รับการสอนมาแล้วว่าการเป็นสมาชิกในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหมายรวมถึงการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานพระกิตติคุณ คุณเข้าใจมาตรฐานต่อไปนี้อย่างไร? คุณยินดีทำตามมาตรฐานเหล่านี้หรือไม่?

    • กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศซึ่งห้ามความสัมพันธ์ทางเพศทุกอย่างนอกพันธะของการแต่งงานตามกฎหมายระหว่างชายหญิง

    • กฎส่วนสิบ

    • พระคำแห่งปัญญา

    • การรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์และการรับใช้ผู้อื่น

  5. คุณเคยทำผิดอาญาร้ายแรงหรือไม่? หากเคย ขณะนี้คุณอยู่ระหว่างถูกภาคทัณฑ์หรือถูกคุมประพฤติหรือไม่?

  6. คุณเคยมีส่วนในการทำแท้งหรือไม่? (ดู 38.6.1)

  7. เมื่อคุณรับบัพติศมา คุณทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าคุณเต็มใจรับพระนามของพระคริสต์ รับใช้ผู้อื่น ยืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ตลอดชีวิตคุณ คุณพร้อมทำพันธสัญญานี้และจะพยายามซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาหรือไม่?

ดูคำแนะนำใน 38.2.8.7 หากบุคคลตอบคำถามข้อ 5 หรือ 6 ว่าเคย ดู 38.2.8.8 ด้วย

หากบุคคลพร้อมรับบัพติศมา ผู้สัมภาษณ์กรอกบันทึกบัพติศมาและการยืนยัน (ดู 18.8.3)

31.2.4

การสัมภาษณ์เพื่อแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เขาถือกุญแจสำหรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิตด้วย อธิการหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายสัมภาษณ์ผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายกหรือผู้สอนเพื่อตัดสินว่าพวกเขาพร้อมทางวิญญาณหรือไม่ อธิการสัมภาษณ์ผู้จะรับการแต่งตั้งเป็นปุโรหิต

ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน 18.10.2

31.2.5

การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร

พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า การเข้าพระวิหารและการมีส่วนร่วมในศาสนพิธีที่นั่นเป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ สิทธิพิเศษดังกล่าวสงวนไว้สำหรับผู้พร้อมทางวิญญาณและพยายามดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระเจ้าตามการตัดสินของผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจ

เพื่อทำการตัดสินนี้ ผู้นำฐานะปุโรหิตสัมภาษณ์สมาชิกโดยใช้คำถามใน LCR (ดูแนวทางใน 26.3 ด้วย) ผู้นำไม่ควรเพิ่มหรือตัดข้อกำหนดใดๆ ออก แต่พวกเขาอาจปรับคำถามให้เหมาะกับอายุและสภาวการณ์ของสมาชิก

31.2.6

การสัมภาษณ์เพื่อแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ประธานสเตคถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เขาถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิตด้วย

ด้วยการอนุมัติของฝ่ายประธานสเตค อธิการสัมภาษณ์สมาชิกโดยใช้คำถามที่ให้ไว้ด้านล่าง ก่อนสัมภาษณ์ อธิการตรวจสอบว่าบันทึกสมาชิกภาพของบุคคลไม่มีคำอธิบายประกอบ การจำกัดศาสนพิธี หรือการจำกัดสมาชิกภาพศาสนจักร

หลังจากสัมภาษณ์แล้วหากอธิการรู้สึกว่าสมาชิกพร้อมรับการแต่งตั้ง เขากรอกข้อมูลและส่ง บันทึกการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค จากนั้นสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคสัมภาษณ์สมาชิกโดยใช้คำถามด้านล่างด้วย

ชายผู้ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเข้าสู่คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต ดังอธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:33–44 ระหว่างการสัมภาษณ์ อธิการและสมาชิกฝ่ายประธานสเตคต้องแน่ใจว่าสมาชิกเข้าใจคำปฏิญาณและพันธสัญญาดังกล่าวและรับปากว่าจะดำเนินชีวิตตามนั้น ต่อจากนั้นผู้นำถามคำถามต่อไปนี้:

  1. ท่านมีศรัทธาและประจักษ์พยานในพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์; พระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์; และพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?

  2. ท่านมีประจักษ์พยานถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของท่านหรือไม่?

  3. ท่านมีประจักษ์พยานถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือไม่?

  4. ท่านสนับสนุนประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย และในฐานะที่เป็นเพียงบุคคลเดียวบนแผ่นดินโลกที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้กุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตหรือไม่?

    ท่านสนับสนุนสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยหรือไม่?

    ท่านสนับสนุนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ในระดับท้องที่ของศาสนจักรหรือไม่?

  5. พระเจ้าตรัสว่าสิ่งทั้งปวงต้อง “กระทำในความสะอาด” ต่อพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:41)

    ท่านพากเพียรที่จะให้ความคิดและพฤติกรรมของท่านมีความสะอาดทางศีลธรรมหรือไม่?

    ท่านเชื่อฟังกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศหรือไม่?

  6. ท่านทำตามคำสอนของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในพฤติกรรมที่เป็นส่วนตัวและพฤติกรรมในที่สาธารณะกับสมาชิกครอบครัวและผู้อื่นหรือไม่?

  7. ท่านสนับสนุนหรือส่งเสริมคำสอน การปฏิบัติ หรือหลักคำสอนที่ตรงข้ามกับที่เป็นของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหรือไม่?

  8. ท่านพากเพียรในการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่บ้านและที่โบสถ์ เข้าร่วมการประชุมของท่าน เตรียมตัวและรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร และดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎและพระบัญญัติของพระกิตติคุณหรือไม่?

  9. ท่านพากเพียรที่จะซื่อสัตย์ในทุกสิ่งที่ท่านทำหรือไม่?

  10. ท่านเป็นผู้จ่ายส่วนสิบเต็มหรือไม่?

  11. ท่านเข้าใจและเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญาหรือไม่?

  12. ท่านมีภาระผูกพันทางการเงินหรือภาระผูกพันอื่นๆ กับอดีตคู่สมรสหรือลูกๆ หรือไม่?

    หากมี ท่านปฏิบัติตามภาระผูกพันเหล่านั้นโดยสมบูรณ์จนถึงปัจจุบันหรือไม่?

  13. มีบาปร้ายแรงในชีวิตท่านที่ควรได้รับการแก้ไขกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฐานะปุโรหิตในขั้นตอนการกลับใจของท่านหรือไม่?

  14. ท่านพิจารณาว่าตัวท่านมีค่าควรรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคหรือไม่?

31.3

โอกาสอื่นที่ผู้นำจะพบปะสมาชิก

ผู้นำมีโอกาสมากมายให้พบปะสมาชิกเป็นรายบุคคล ตัวอย่างเช่น:

  • สมาชิกอาจขอพบผู้นำศาสนจักรเมื่อต้องการการชี้นำทางวิญญาณหรือมีปัญหาหนักเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ในบางกรณี ผู้นำอาจรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้จัดการพบปะสมาชิก ศาสนจักรไม่สนับสนุนให้สมาชิกติดต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว (ดู 38.8.25)

    เพื่อจะได้ใช้เวลากับเยาวชนมากขึ้น อธิการจึงอาจมอบหมายการพบปะบางอย่างเหล่านี้ให้ผู้นำคนอื่นในวอร์ด สมาชิกของฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ โควรัมเอ็ลเดอร์ และเยาวชนหญิงช่วยเหลือได้มากทีเดียว อย่างไรก็ดี อธิการจะไม่มอบหมายเรื่องที่ต้องใช้บทบาทการเป็นผู้พิพากษาใหญ่ของเขา เช่น การกลับใจจากบาปร้ายแรง

  • อธิการหรือคนที่เขามอบหมายจะพบปะสมาชิกที่มีความขัดสนทางโลก (ดู 31.3.4 และ 22.6)

  • ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์พบปะสมาชิกโควรัมแต่ละคนเป็นรายบุคคลปีละครั้ง พวกเขาสนทนาเรื่องความเป็นอยู่ของสมาชิกและครอบครัว ตลอดจนหน้าที่ฐานะปุโรหิตของสมาชิกด้วย (ดู 8.3.3.2)

  • ประธานสมาคมสงเคราะห์พบปะสมาชิกสมาคมสงเคราะห์แต่ละคนปีละครั้ง และสนทนาเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้องสตรีและครอบครัวของเธอ (ดู 9.3.2.2)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการพบปะเด็กอายุ 11 ขวบแต่ละคนเมื่อย้ายจากปฐมวัยไปโควรัมมัคนายกหรือชั้นเรียนเยาวชนหญิง ระหว่างการพบปะนี้สมาชิกฝ่ายอธิการสัมภาษณ์เยาวชนชายให้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนด้วย (ดู 18.10.2)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการพบปะสมาชิกที่จะเข้ารับราชการทหาร (ดู 38.9.2)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการพบปะเยาวชนแต่ละคนปีละสองครั้ง (ดู 31.3.1)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการพบปะหนุ่มสาวโสดแต่ละคนอย่างน้อยปีละครั้ง (ดู 31.3.2)

  • สมาชิกในฝ่ายประธานสเตค ฝ่ายอธิการ และผู้นำคนอื่นๆ พบปะผู้นำที่รับใช้ภายใต้การกำกับดูแลของตนเป็นประจำ (ดู 31.3.3)

เมื่อผู้นำพบปะสมาชิก พวกเขาทำตามหลักธรรมใน 31.1

ดูข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อพบปะสมาชิกใน แหล่งช่วยการให้คำปรึกษา ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ผู้นำสามารถให้สมาชิกอ่านข้อมูลใน ความช่วยเหลือในชีวิต ได้เช่นกัน

31.3.1

การพบปะเยาวชน

หน้าที่รับผิดชอบอันดับแรกสุดของอธิการคือช่วยเหลืออนุชนรุ่นหลังในวอร์ดให้ก้าวหน้าทางวิญญาณ วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่เขาช่วยเหลือคือการพบปะเยาวชนเป็นรายบุคคล (หรือมีผู้ใหญ่อีกคนอยู่ด้วย; ดู 31.1.4) อธิการหรือที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาพบปะเยาวชนแต่ละคนปีละสองครั้ง การพบปะเหล่านี้อย่างน้อยปีละครั้งควรเป็นการพบปะอธิการ เริ่มต้นปีที่เยาวชนอายุครบ 16 ปี การพบปะทั้งสองครั้งระหว่างปีควรเป็นการพบปะอธิการหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้

นอกจากการพบปะเหล่านี้แล้ว เยาวชนควรปรึกษาอธิการได้ตลอดเมื่อต้องการคำแนะนำหรือการสนับสนุน อธิการพยายามสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและวางใจได้กับเยาวชนเพื่อพวกเขาจะรู้สึกสบายใจกับการปรึกษาอธิการ

ประธานเยาวชนหญิงมีหน้าที่ปฏิบัติศาสนกิจต่อเยาวชนหญิงเป็นรายบุคคลเช่นกัน เธอทำเช่นนี้โดยพบปะเยาวชนหญิงตัวต่อตัว (หรือมีผู้ใหญ่อีกคนอยู่ด้วย; ดู 31.1.4)

เมื่อผู้นำพบปะเยาวชน พวกเขาทำตามหลักธรรมใน 31.1 หลักธรรมหลายข้อเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งเมื่อพบปะเยาวชน

31.3.1.1

การสื่อสารกับบิดามารดา

ในการพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชน ผู้นำทำงานอย่างใกล้ชิดกับบิดามารดา พวกเขาหาทางสนับสนุนบิดามารดาในหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องสอนบุตรธิดาเรื่องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ผู้นำแบ่งปันข้อมูลต่อไปนี้กับเยาวชนและบิดามารดาก่อนการพบปะครั้งแรก:

  • บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา

  • อธิการหรือที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาพบปะเยาวชนแต่ละคนอย่างน้อยปีละสองครั้ง ประธานเยาวชนหญิงจะพบปะเยาวชนหญิงแต่ละคนเป็นระยะเช่นกัน ในการพบปะเหล่านี้ ผู้นำจะตอบคำถาม ให้การสนับสนุน ให้งานมอบหมาย และสนทนาหัวข้อที่ระบุไว้ใน 31.3.1.2

  • เพื่อช่วยให้เยาวชนเตรียมพร้อมทางวิญญาณ จำเป็นต้องมีการสัมภาษณ์เรื่องศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น ใบรับรองพระวิหาร การแต่งตั้งฐานะปุโรหิต และการเรียกเป็นผู้สอนศาสนา ผู้นำทำงานกับบิดามารดาเพื่อช่วยเยาวชนเตรียมรับการสัมภาษณ์เหล่านี้

  • บิดามารดากระตุ้นให้บุตรธิดาปรึกษากับอธิการหรือผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเมื่อต้องการให้ช่วยชี้นำทางวิญญาณหรือช่วยเรื่องการกลับใจ

  • เมื่อเยาวชนพบปะผู้นำศาสนจักร บิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่อีกคนต้องอยู่ด้วย เยาวชนอาจเชิญผู้ใหญ่เข้าพบปะด้วยหรือรออยู่นอกห้องก็ได้

31.3.1.2

หัวข้อที่จะสนทนา

จุดประสงค์หลักของการพบปะเยาวชนคือสร้างศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และช่วยให้เยาวชนติดตามพระองค์ การพบปะเหล่านี้ควรเป็นประสบการณ์ที่ยกระดับทางวิญญาณ ผู้นำพยายามช่วยให้เยาวชนแต่ละคนรู้สึกเป็นที่รัก มีกำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

เยาวชนและผู้นำจะสนทนา:

  • ประสบการณ์ทางวิญญาณที่กำลังสร้างประจักษ์พยานของเยาวชนเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

  • วิธีที่เยาวชนจะรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของตน

  • การเตรียมเยาวชนให้พร้อมทำและรักษาพันธสัญญาพระวิหาร

  • เป้าหมายส่วนตัวของเยาวชนในการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในชีวิตทุกด้าน (ดู “โปรแกรมเด็กและเยาวชน”)

  • ความสำคัญของการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัว

  • วิธีกระชับความสัมพันธ์กับบิดามารดาและสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ

  • หลักธรรมและมาตรฐานในจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน

  • ด้านต่างๆ ที่เยาวชนสามารถมีส่วนในงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1.2)

  • ประสบการณ์ของเยาวชนชายในการทำหน้าที่ฐานะปุโรหิตและการเตรียมตัวให้พร้อมรับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่สูงขึ้น

  • พรของการมีส่วนร่วมในเซมินารี

  • การเตรียมตัวรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา (ดู 24.0 และ 24.3) พระเจ้าทรงขอให้เยาวชนชายที่สามารถและมีค่าควรทุกคนเตรียมตัวรับใช้งานเผยแผ่ สำหรับเยาวชนชายวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเป็นความรับผิดชอบฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:1, 4–7) พระเจ้าทรงยินดีให้เยาวชนหญิงที่สามารถและมีค่าควรรับใช้งานเผยแผ่ด้วยหากพวกเธอปรารถนา สำหรับเยาวชนหญิง งานเผยแผ่เป็นโอกาสอันทรงพลังยิ่งแต่ท่านเลือกได้ การเตรียมทำงานเผยแผ่จะเป็นพรแก่เยาวชนหญิงไม่ว่าจะตัดสินใจรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ก็ตาม

    ผู้นำควรเห็นใจคนที่ไม่สามารถรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา (ดู 24.4.4)

    ดูข้อมูลเกี่ยวกับงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ใน 24.2.2

เมื่อสนทนาเรื่องการเชื่อฟังพระบัญญัติ ผู้นำอาจใช้คำถามสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารและจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน พวกเขาต้องมั่นใจว่าการสนทนาเรื่องความสะอาดทางศีลธรรมไม่ก่อให้เกิดความอยากรู้อยากลอง

31.3.2

การพบปะหนุ่มสาวโสด

อธิการให้ความสำคัญอย่างมากกับความก้าวหน้าทางวิญญาณของหนุ่มสาวโสดในวอร์ด เขาหรือที่ปรึกษาที่เขามอบหมายพบปะหนุ่มสาวโสดแต่ละคนอย่างน้อยปีละครั้ง

สมาชิกฝ่ายอธิการและหนุ่มสาวโสดอาจสนทนาเรื่องที่เกี่ยวข้องใน 31.3.1.2 และเรื่องที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อคนหนุ่มสาวด้วย เช่น การพัฒนาการพึ่งพาตนเอง

31.3.3

การพบปะสมาชิกเพื่อสนทนาเรื่องการเรียกและหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา

ฝ่ายประธานสเตค ฝ่ายอธิการ และผู้นำท่านอื่นพบปะสมาชิกแต่ละคนที่รายงานการเรียกต่อพวกเขา ตัวอย่างเช่น:

  • ประธานสเตคพบปะอธิการแต่ละคนในสเตคเป็นประจำ (ดู 6.2.1.2)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคพบปะประธานโควรัมเอ็ลเดอร์แต่ละคนในสเตคเป็นประจำ (ดู 8.3.1)

  • อธิการพบปะประธานสมาคมสงเคราะห์เดือนละครั้ง (ดู 9.3.1) เขาพบปะประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และประธานเยาวชนหญิงเป็นประจำด้วย (ดู 8.3.1 และ 11.3.1)

  • สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการพบปะประธานปฐมวัยและประธานโรงเรียนวันอาทิตย์เป็นประจำ (ดู 12.3.1 และ 13.2.1)

  • สมาชิกในฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์พบปะบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ (ดู 21.3)

ในการพบปะเหล่านี้ผู้นำสร้างแรงบันดาลใจและสอนสมาชิกให้รู้หน้าที่รับผิดชอบของเขาหรือเธอ ผู้นำแสดงความขอบคุณต่อการรับใช้ของสมาชิกและให้กำลังใจ สมาชิกรายงานความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ของคนที่เขาหรือเธอรับใช้ พวกเขาสนทนากันเรื่องเป้าหมาย ความท้าทาย และโอกาสต่างๆ ตลอดจนทบทวนงบประมาณและค่าใช้จ่ายเมื่อเหมาะสมด้วย

ภาพ
ผู้หญิงคุยกัน

31.3.4

การพบปะสมาชิกเพื่อสนทนาเรื่องความต้องการทางโลกและการพึ่งพาตนเอง

การดูแลคนขัดสนเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1.2) เมื่อผู้นำพบปะสมาชิกที่มีความขัดสนทางโลก พวกเขาช่วยดูแลความต้องการระยะสั้นและสร้างการพึ่งพาตนเองระยะยาว (ดู 22.3)

อธิการอาจมอบหมายให้คนอื่นๆ ในวอร์ด เช่น ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์และฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ พบปะสมาชิกที่มีความขัดสนทางโลก แต่เฉพาะอธิการเท่านั้นสามารถอนุมัติการใช้เงินบริจาคอดอาหาร (ดู 22.6.1)

หลักธรรมและนโยบายเพิ่มเติมสำหรับช่วยคนขัดสนทางโลกอธิบายไว้ใน บทที่ 22

31.3.5

การพบปะสมาชิกเรื่องการแต่งงานและการหย่าร้าง

ผู้นำศาสนจักรจะไม่แนะนำสมาชิกให้แต่งงานกับใคร ทั้งไม่แนะนำให้หย่าหรือไม่หย่ากับคู่สมรสด้วย แม้การหย่าร้างเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในบางสถานการณ์ แต่การตัดสินใจดังกล่าวต้องอยู่กับบุคคลนั้น

บ่อยครั้งตามการทรงนำของพระวิญญาณ ผู้นำพบปะคู่สามีภรรยาและคนที่จะแยกทางหรือหย่าร้าง ผู้นำจะหาทางช่วยให้คู่สามีภรรยามีชีวิตแต่งงานมั่นคงขึ้นด้วย ผู้นำสอนเรื่องพลังและการเยียวยาที่มาจากการรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระเจ้าและการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ การสอนเหล่านี้รวมถึงศรัทธา การกลับใจ การให้อภัย ความรัก และการสวดอ้อนวอน

สมาชิกที่แยกทางกับคู่สมรสหรือกำลังหย่าร้างจะไม่ออกเดทจนกว่าการหย่าร้างสิ้นสุด

31.3.6

การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและการบำบัด

ผู้นำศาสนจักรไม่ได้รับการเรียกให้เป็นที่ปรึกษามืออาชีพหรือให้การบำบัด ความช่วยเหลือที่พวกเขาให้เป็นความช่วยเหลือทางวิญญาณ โดยเน้นที่เดชานุภาพการทำให้เข้มแข็ง การปลอบประโลม และการไถ่ของพระเยซูคริสต์ นอกจากความช่วยเหลือที่สำคัญและได้รับการดลใจนี้ สมาชิกบางคนอาจได้ประโยชน์จากการปรึกษามืออาชีพด้วยหากมี การปรึกษาหรือการบำบัดดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิกเข้าใจและตอบสนองความท้าทายของชีวิตได้ถูกวิธี

การพบปะผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพเพื่อทราบข้อมูลเชิงลึกและมีทักษะมาส่งเสริมความผาสุกทางอารมณ์ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นสัญญาณของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเข้มแข็ง

สมาชิกควรเลือกผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีชื่อเสียงและมีใบอนุญาตอย่างรอบคอบ ผู้ให้คำปรึกษาควรเคารพสิทธิ์เสรี คุณค่า และความเชื่อของคนที่ขอความช่วยเหลือ ตามจรรยาบรรณแล้วการให้คำปรึกษาระดับมืออาชีพควรผสมผสานคุณค่าเหล่านี้

ศาสนจักรคัดค้านการบำบัดแบบใดก็ตามที่ทำให้บุคคลได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการบำบัดเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ (ดู “เสน่หาเพศเดียวกัน” และ “คนข้ามเพศ” ใน ความช่วยเหลือในชีวิต)

ในสหรัฐและแคนาดา อธิการและประธานสเตคจะติดต่อหน่วยงานสนับสนุน (Family Services) เพื่อทราบแหล่งช่วยที่จะให้คำปรึกษาสอดคล้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณ ข้อมูลติดต่ออยู่ด้านล่าง:

1-801-240-1711

1-800-453-3860 ต่อ 2-1711

FamilyServices.ChurchofJesusChrist.org

ในภาคอื่น ผู้นำจะติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานสนับสนุนครอบครัวหรือผู้จัดการด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองในสำนักงานภาค

หากสมาชิกไม่สามารถจ่ายค่าปรึกษามืออาชีพด้วยตนเองหรือผ่านประกัน อธิการอาจใช้เงินบริจาคอดอาหารช่วยเหลือ (ดู 22.4)

31.4

การพบปะสมาชิกทางออนไลน์

โดยปกติผู้นำพบปะสมาชิกด้วยตนเองเพื่อสัมภาษณ์ ให้ความช่วยเหลือทางวิญญาณ และปฏิบัติศาสนกิจ แต่ข้อยกเว้นคือพวกเขาสามารถพบปะทางออนไลน์ได้เมื่อไม่สามารถพบด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น สมาชิกจะพบปะผู้นำทางออนไลน์เมื่อสมาชิก:

  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือมีความสามารถจำกัดในการเดินทาง

  • มีปัญหาสุขภาพทางกาย ใจ หรืออารมณ์

  • ดูแลผู้ป่วยที่ถูกจำกัดอยู่ในบ้านและไม่สามารถปล่อยให้อยู่ตามลำพังได้

การสัมภาษณ์ระหว่างประธานคณะเผยแผ่กับผู้สอนศาสนาเต็มเวลาอาจจัดทางออนไลน์เช่นกันหากได้รับอนุมัติ

ไม่ควรบันทึกเสียงการสัมภาษณ์และการพบปะอื่นๆ ระหว่างผู้นำกับสมาชิก

สมาชิกอาจเชิญบางคนให้อยู่ด้วยระหว่างการสัมภาษณ์หรือการพบปะทางออนไลน์เช่นเดียวกับการสัมภาษณ์และการพบปะด้วยตนเอง

เมื่อจัดสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารทางออนไลน์ จะส่งใบรับรองพระวิหารใบใหม่ให้สมาชิกหลังจากผู้นำฐานะปุโรหิตเซ็นชื่อแล้ว อย่างไรก็ดี พนักงานสเตคจะไม่เปิดใช้งานใบรับรองจนกว่าเขาตรวจสอบแล้วว่าสมาชิกได้ใบรับรองแล้ว