สถาบัน
บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน


“บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน” รากฐานของการฟื้นฟู สำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน (2019)

“บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

บทที่ 5 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน

ภาพ
โจเซฟกับออลิเวอร์กำลังแปลพระคัมภีร์มอรมอน

ก่อนโมโรไนซ่อนบันทึกชาวนีไฟ เขาพยากรณ์ถึงการออกมาของบันทึกนั้นในยุคสุดท้ายว่า “ไม่มีผู้ใดมีพลังความสามารถนำมันมาสู่ความสว่างได้นอกจากพระผู้เป็นเจ้าประทานให้เขา” (มอรมอน 8:15) พิจารณาว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกเด็กหนุ่มชาวไร่ด้อยการศึกษาให้แปลและจัดพิมพ์หนังสือที่มีอิทธิพลมากสุดเล่มหนึ่งในสมัยของเรา

หัวข้อ 1

โจเซฟ สมิธนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาผ่านเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

เหตุการณ์อัศจรรย์หลายอย่างที่เกิดขึ้นอันเป็นส่วนหนึ่งของการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนให้หลักฐานยืนยันว่าพระคัมภีร์เล่มนี้แปลโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า (ดู วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เล่ม 1 มาตรฐานแห่งความจริง 1815–1846 [2018] หน้า 21–30, 39–64)

เทพปฏิบัติศาสนกิจต่อโจเซฟ สมิธและบอกท่านเรื่องบันทึกโบราณ

ในคืนวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1823 เทพโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธและบอกท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้ท่านทำ (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:33)

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34–35

ภาพ
เทพโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ โดย ทอม โลเวลล์

โจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์ทั้งที่อายุยังน้อยและด้อยการศึกษา

โจเซฟ สมิธอายุ 17 ปีเมื่อเทพโมโรไนมาเยือนท่านครั้งแรกและเมื่อท่านเห็นแผ่นจารึกทองคำครั้งแรก ในช่วงอายุ 18 ถึง 21 ปีโมโรไนมาเยือนท่านปีละครั้งและให้ “คำสั่งสอนและความรู้แจ้ง” แก่ท่าน (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:54) เมื่ออายุ 21 ปีโจเซฟได้รับอนุญาตให้นำแผ่นจารึกมาแปล เมื่ออายุ 22 ปีท่านแปลแผ่นจารึกส่วนหนึ่งโดยมีมาร์ติน แฮร์ริสทำหน้าที่ผู้จด (ต้นฉบับ 116 หน้าหายไปตอนนั้นและไม่ได้แปลใหม่) เมื่ออายุ 23 ปีโจเซฟแปลส่วนที่เหลือเสร็จสมบูรณ์โดยมีออลิเวอร์ คาวเดอรีและคนอื่นๆ ทำหน้าที่ผู้จด

เอ็มมา สมิธภรรยาของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่า “[เวลานั้น] โจเซฟไม่สามารถเขียนหรือบอกให้เขียนปะติดปะต่อกันด้วยถ้อยคำสละสลวยได้ นับประสาอะไรกับการบอกให้เขียนหนังสืออย่างพระคัมภีร์มอรมอน และถึงแม้ดิฉันเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้น และอยู่ในช่วงแปลแผ่นจารึก แต่ ‘สิ่งอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง’ ทำให้ดิฉันประหลาดใจมากเท่ากับคนอื่นๆ … พระคัมภีร์มอรมอนเป็นของแท้—ดิฉันไม่มีความสงสัยแม้แต่น้อยในเรื่องนี้ (“Last Testimony of Sister Emma,” The Saints’ Herald, Oct. 1, 1879, 290)

โจเซฟ สมิธทำงานแปลเสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลาสั้นมาก

คาดว่าโจเซฟ สมิธใช้ “วันทำงานหกสิบห้าวันหรือน้อยกว่านั้น” แปลหนังสือ “ซึ่งมี 531 หน้าในฉบับปัจจุบัน” จนเสร็จสมบูรณ์ คำนวณได้ว่าโจเซฟแปลเฉลี่ยวันละแปดหน้า ลองพิจารณาค่าเฉลี่ยดังกล่าวเมื่อท่านแปลหนังสือเล่มหนึ่ง หรือเมื่อท่านกำหนดเวลาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนของท่านเอง (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “A Treasured Testament,” Ensign, July 1993, 61–62)

โจเซฟ สมิธแปลโดยไม่มีอ้างอิงและไม่มีการทบทวนต้นฉบับ

ภาพ
เอ็มมาช่วยงานแปล

เอ็มมาอธิบายขั้นตอนการแปลให้กับโจเซฟ สมิธที่สามบุตรชายของเธอฟังก่อนเธอจะสิ้นชีวิตในปี 1879 ไม่นานว่า:

[แม่] เชื่อว่าศาสนจักรได้รับการสถาปนาตามการกำกับดูแลของพระองค์ แม่มีศรัทธาโดยสมบูรณ์ในเรื่องนี้ …

[โจเซฟ] ไม่มีต้นฉบับหรือหนังสือให้อ่าน [ขณะกำลังแปล] …

ถ้ามีอะไรแบบนั้น พ่อจะปกปิดแม่ไม่ได้แน่นอน …

แผ่นจารึกมักจะวางอยู่บนโต๊ะโดยไม่พยายามปกปิดใดๆ ห่อไว้ในผ้าปูโต๊ะลินินผืนเล็กที่แม่เอาให้พ่อห่อแผ่นจารึก แม่เคยสัมผัสแผ่นจารึกขณะที่วางอยู่บนโต๊ะ ไล่นิ้วไปตามขอบและรูปทรงของแผ่นจารึก ดูเหมือนจะพับได้คล้ายกระดาษหนาๆ และมีเสียงดังกรอบแกรบคล้ายโลหะเมื่อใช้นิ้วโป้งคลี่ขอบแผ่น เหมือนเวลาใช้นิ้วโป้งคลี่ขอบหนังสือ …

แม่เชื่อว่าไม่มีใครบอกให้เขียนต้นฉบับได้เว้นแต่เขาจะได้รับการดลใจ เพราะเมื่อแม่ทำหน้าที่ผู้จด พ่อจะบอกให้แม่จดเป็นชั่วโมง และเมื่อกลับจากรับประทานอาหาร หรือหลังจากถูกขัดจังหวะ พ่อจะเริ่มตรงที่แปลค้างไว้ได้เลยโดยไม่ต้องดูต้นฉบับหรืออ่านส่วนใดส่วนหนึ่งให้พ่อฟัง นี่เป็นเรื่องปกติที่พ่อทำ ผู้รอบรู้ไม่น่าจะทำสิ่งนี้ได้ และสำหรับคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาและขาดความรู้แบบพ่อ นั่นเป็นไปไม่ได้เลย (เอ็มมา สมิธ ใน “Last Testimony of Sister Emma,” The Saints’ Herald, Oct. 1, 1879, 289–90)

โจเซฟ สมิธได้รับเครื่องมือที่จะช่วยท่านแปล

โจเซฟไม่ได้แปลพระคัมภีร์มอรมอนแบบธรรมดาทั่วไป ท่านไม่รู้ภาษาดั้งเดิมของแผ่นจารึกแล้วแปลภาษานั้นเป็นภาษาอังกฤษ แต่ท่านถอดความจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งผ่านการเปิดเผย—โดย “ของประทานและอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:3)

โจเซฟ สมิธและผู้จดของท่านเขียนเกี่ยวกับเครื่องมือสองชิ้นที่ใช้ในการแปลพระคัมภีร์มอรมอน เครื่องมือชิ้นหนึ่งที่เรียกในพระคัมภีร์มอรมอนว่า “เครื่องแปลความหมาย” (โมไซยาห์ 8:13) ปัจจุบันวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรู้จักมากขึ้นในชื่อว่า “อูริมและทูมมิม” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:35) ออลิเวอร์ คาวเดอรีกล่าวว่าโดย “มองผ่าน” อูริมและทูมมิม โจเซฟก็สามารถ ‘อ่านตัวอักษรอียิปต์ปฏิรูปซึ่งจารึกไว้บนแผ่นจารึกออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้” (“Book of Mormon Translation,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org

เรื่องราวบางตอนในเวลาต่อมาบอกว่าบางครั้งโจเซฟใช้เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งแปลพระคัมภีร์มอรมอน เครื่องมือชิ้นนี้เป็นหินกลมรีก้อนเล็กเรียกว่าศิลาผู้หยั่งรู้ที่โจเซฟค้นพบนานหลายปีก่อนท่านได้แผ่นจารึกทองคำ เรื่องราวเหล่านี้บอกว่าโจเซฟจะวางเครื่องแปลความหมายหรือศิลาผู้หยั่งรู้ไว้ในหมวกเพื่อช่วยบังแสงจากภายนอก ทำให้ท่านเห็นคำที่ปรากฎบนเครื่องแปลความหมายได้ชัดขึ้น (ดู “Book of Mormon Translation,” topics.ChurchofJesusChrist.org; ดู Richard E. Turley Jr., Robin S. Jensen, and Mark Ashurst-McGee, “Joseph the Seer,” Ensign, Oct. 2015, 51)

หลังจากจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้ปีกว่า ในการประชุมหนึ่งมีผู้ขอให้โจเซฟพูดถึงรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน บันทึกการประชุมเขียนว่า ท่าน “กล่าวว่าพระเจ้าไม่ประสงค์ให้บอกรายละเอียดทั้งหมดของการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนแก่ชาวโลก” และ ‘ท่านไม่สมควรเล่าเรื่องนี้” (“Minutes, Oct. 25–26, 1831” ใน Minute Book 2, 13, josephsmithpapers.org)

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า:

เราเข้าใจได้ว่าคนจำนวนมากที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนปรารถนาจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์ดังกล่าว รวมถึง ’ขั้นตอนจริงของการแปล … สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนมีมากพอ แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด …

… บางทีที่ไม่บอกรายละเอียดของการแปล … เพราะตั้งใจจะให้เราทุ่มเทศึกษาเนื้อหาของพระคัมภีร์แทนที่จะกังวลโดยไม่จำเป็นกับขั้นตอนที่เราได้รับหนังสือนี้ (นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “By the Gift and Power of God,” Ensign, Jan. 1997, 39, 41)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงควรกังวลกับ “เนื้อหาของพระคัมภีร์” มากกว่า “ขั้นตอนที่เราได้รับพระคัมภีร์”?

หัวข้อ 2

ประจักษ์พยานของพยานพระคัมภีร์มอรมอนให้หลักฐานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้เพิ่มเติมอย่างไร?

ภาพ
โจเซฟกับพยานสามคนสวดอ้อนวอนด้วยกัน

ระหว่างแปลพระคัมภีร์มอรมอน โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีทราบว่าพระเจ้าจะทรงแสดงแผ่นจารึกให้พยานพิเศษสามคนเห็น (ดู อีเธอร์ 5:2–4) “ความปรารถนาอันเกิดจากแรงบันดาลใจน้อมนำให้ [ออลิเวอร์, เดวิด วิตเมอร์ และมาร์ติน แฮร์ริส] เป็นพยานพิเศษสามคนนี้” (หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 17)

ในเดือนมิถุนายน ปี 1829 ออลิเวอร์ เดวิด และมาร์ตินเห็นแผ่นจารึกอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งสามท่านเป็นพยานว่า “เทพของพระผู้เป็นเจ้าลงมาจากสวรรค์ และท่านนำมาวางอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ว่าเราเห็นและดูแผ่นจารึก และอักขระที่อยู่บนนั้น” (“ประจักษ์พยานของพยานสามคน” พระคัมภีร์มอรมอน)

ทันทีหลังจากพยานสามคนมีประสบการณ์กับเทพแล้ว โจเซฟ สมิธกลับไปบ้านวิตเมอร์และร้องบอกบิดามารดาว่า “พ่อครับ แม่ครับ พ่อแม่ไม่รู้หรอกว่าผมมีความสุข [แค่ไหน] ตอนนี้พระเจ้าทรงแสดงแผ่นจารึกให้อีกสามคนเห็นนอกจากผม—พวกเขาเห็นเทพผู้เป็นพยานต่อพวกเขา และพวกเขาจะต้องกล่าวคำพยานถึงความจริงของสิ่งที่ผมพูดไปแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขารู้ด้วยตนเองว่าผมไม่ได้หลอกใคร และผมรู้สึกประหนึ่งถูกแบ่งเบาภาระซึ่งหนัก [เกิน] กว่าผมจะแบกรับไหว และนั่นทำให้ใจผมปลาบปลื้มยินดีที่ผมไม่ต้องโดดเดี่ยวในโลกนี้อีกต่อไป” (“Lucy Mack Smith, History, 1845,” 153–54, josephsmithpapers.org)

ต่อมา โจเซฟ เอาแผ่นจารึกให้พยานอีกแปดคนดู ท่านเหล่านั้นประกาศว่า “เราจับ [แผ่นจารึก] ด้วยมือของเรา; และเราเห็นอักขระบนนั้นด้วย, … และรู้แน่นอนว่า [โจเซฟ สมิธ] มีแผ่นจารึกที่เรากล่าวถึง” (“ประจักษ์พยานของพยานแปดคน” พระคัมภีร์มอรมอน)

ถึงแม้ความผิดใจกับโจเซฟ สมิธทำให้พยานทั้งสามตีตนออกห่างจากศาสนจักร ([ออลิเวอร์] คาวเดอรี และ [มาร์ติน] แฮร์ริสกลับมาภายหลัง) แต่ท่านเหล่านั้นยังคงยืนยันประจักษ์พยานของตนตลอดชีวิตในฐานะพยาน พยานทั้งแปดคนต่างยืนยันประจักษ์พยานของตนเช่นกันว่าได้พินิจพิเคราะห์แผ่นจารึก แม้สุดท้ายแล้วจะมีบางคนเหินห่างจากศาสนจักร น้ำหนักคำพูดของหลายคนรวมกันตลอดหลายปีที่ผ่านมาและแม้พวกเขามีท่าทีเปลี่ยนไปต่อโจเซฟ สมิธและศาสนจักร แต่พวกเขาก็เป็นพยานอันทรงพลังถึงความน่าเชื่อถือของข้อความที่พวกเขาจัดพิมพ์ในพระคัมภีร์มอรมอน (“Witnesses of the Book of Mormon,” Church History Topics, ChurchofJesusChrist.org)

ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกสิ่งที่ท่านคิด

บันทึกประสบการณ์ที่ท่านเคยมีที่ช่วยให้ท่านรู้ความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะมีโอกาสแบ่งปันพยานของท่านเองระหว่างเรียนในชั้นถ้าท่านเลือกแบ่งปัน