จงตามเรามา
23–29 ธันวาคม วิวรณ์ 12–22: ‘คน​ที่​ชนะ​จะ​ได้​รับ​สิ่ง‍เหล่า‍นี้​เป็น​มรดก’


“23–29 ธันวาคม วิวรณ์ 12–22: ‘คน​ที่​ชนะ​จะ​ได้​รับ​สิ่ง‍เหล่า‍นี้​เป็น​มรดก’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“23–29 ธันวาคม วิวรณ์ 12–22,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงทักทายผู้คน ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

เมืองนิรันดร์ โดยคีธ ลาร์สัน

23–29 ธันวาคม

วิวรณ์ 12–22

“คน​ที่​ชนะ​จะ​ได้​รับ​สิ่ง‍เหล่า‍นี้​เป็น​มรดก”

สงครามระหว่างความดีกับความชั่วที่บรรยายในวิวรณ์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการติดตามพระคริสต์ที่นี่บนแผ่นดินโลก หลังจากไตร่ตรองหลักธรรมนี้แล้ว พิจารณาความต้องการของสมาชิกชั้นเรียน ความจริงใดจากวิวรณ์จะช่วยพวกเขาทำการเลือกที่ชอบธรรมได้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ขณะสมาชิกชั้นเรียนของท่านมาถึงช่วงสุดท้ายของการศึกษาพันธสัญญาใหม่ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันความคิดของตนเองเกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่ การศึกษาพระคัมภีร์เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

วิวรณ์ 12:7–11

เราชนะซาตาน ​“ด้วย​พระ‍โลหิต​ของ​พระ‍เมษ‌โป‌ดกและ​ด้วย​คำ​พยาน​ของ​ [พวก‍เรา​] เอง”

  • การเรียนรู้เกี่ยวกับสงครามในสวรรค์จะช่วยให้เราเข้าใจชีวิตบนแผ่นดินโลกมากขึ้น ให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, วิวรณ์ 12:7–11 (ในคู่มือพระคัมภีร์) และระบุว่าเราชนะซาตานและไพร่พลของเขาในสงครามในสวรรค์ได้อย่างไร เราได้ข้อคิดอะไรอีกจากหัวข้อสงครามในสวรรค์ใน คู่มือพระคัมภีร์ (topics.lds.org) เราเรียนรู้อะไรที่สามารถช่วยเราเอาชนะปฏิปักษ์ในช่วงชีวิตมรรตัยของเรา

  • พระ‍เมษ‌โป‌ดก​ “ถูก​ปลง‍พระ‍ชนม์​ตั้ง‍แต่​แรก​สร้าง​โลก” หมายความว่าอย่างไร (วิวรณ์ 13:8; ดู วิวรณ์ 5:6 ด้วย) ท่านอาจช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่านหาคำตอบของคำถามนี้โดยอ่าน โมไซยาห์ 3:13 และ โมเสส 7:47 เป็นชั้นเรียน การชนะซาตาน “ด้วย​พระ‍โลหิต​ของ​พระ‍เมษ‌โป‌ดก” หมายความว่าอย่างไร (วิวรณ์ 12:11)

วิวรณ์ 17–18

เราต้องแยกตัวเราเองออกจากความชั่วร้ายของโลก

  • เป็นเรื่องที่ไม่น่ารื่นรมย์นักที่จะอ่านเกี่ยวกับความชั่วร้ายของบาบิโลนและการตกของเมืองนี้ใน วิวรณ์ 17–18 แต่นับว่าเป็นประโยชน์เนื่องจากบาบิโลนสามารถเป็นสัญลักษณ์ของโลกอันชั่วร้ายที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน บางทีท่านอาจแบ่งบทเหล่านี้ให้กลุ่มเล็กๆ ของสมาชิกชั้นเรียนและขอให้พวกเขามองหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: เหตุใดผู้คนจึงถูกดึงไปสู่บาบิโลนหรือความฝักไฝ่ทางโลก เหตุใดบาบิโลนจึงอันตราย จะเกิดอะไรขึ้นกับบาบิโลน ยอห์นให้คำเตือนอะไรเพื่อช่วยเราหลีกเลี่ยงชะตากรรมของบาบิโลน

  • หลังจากอ่าน วิวรณ์ 18:4 สมาชิกชั้นเรียนอาจต้องการสนทนาวิธีที่พวกเขาจะ “ออกมาจาก” บาบิโลนและ “ไม่‍มี​ส่วน​กับ​บาป​ของ​นคร​นั้น” ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์หรือข่าวสารจากผู้นำศาสนจักร มีอะไรบ้างที่เคยช่วยเราต่อต้านการล่อลวงของบาบิโลนหรือโลก ท่านอาจชมวีดิทัศน์ “Dare to Stand Alone” หรือ “Separating Ourselves from the World” (LDS.org) หรืออ่านข้อความของเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนสามารถแบ่งปันแนวคิดอะไรได้บ้างเกี่ยวกับวิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมสองข้อที่เอ็ลเดอร์คุกกล่าวถึง เรา “ออกไปจากบาบิโลน” ในแง่ใด (ดู ตัวอย่างเช่น คพ. 133:12–14) เราจะทำอะไรเพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกัน

วิวรณ์ 19:5–20:15

เราสามารถเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าและวันแห่งการพิพากษา

  • การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์มักจะเรียกว่า “​วัน​แห่ง​พระ​ยาห์‌เวห์​จะ​มา​ถึง คือ​วัน​อัน​ยิ่ง‍ใหญ่​และ​น่า‍สยด‌สยอง” (โยเอล 2:31) และตามที่กล่าวไว้ใน วิวรณ์ 19–20 นั่นดูเหมือนจะเป็นคำบรรยายที่ดี ท่านอาจเขียนเหตุการณ์บางอย่างที่บรรยายไว้ใน วิวรณ์ 19:5–20:15 บนกระดาน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาข้อที่บรรยายเหตุการณ์เหล่านี้ เหตุใดเหตุการณ์เหล่านี้จึงเรียกว่าวัน​อัน​ยิ่ง‍ใหญ่​และ​น่า‍สยด‌สยอง เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและคนเหล่านั้นที่ติดตามพระองค์ เวลานี้เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่ออยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่จะชื่นชมยินดีในเวลาแห่งการเสด็จมาของพระองค์

  • เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสนทนาเกี่ยวกับหนังสือแห่งชีวิต ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทำสมุดง่ายๆ โดยพับกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นสี่ส่วน จากนั้นให้พวกเขาอ่าน วิวรณ์ 20:12–15 ไตร่ตรองเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาและพวกเขาต้องการให้เขียนลงในหนังสือแห่งชีวิต จากนั้นให้พวกเขาเขียนลงในหนังสือของตนเอง (นิยามของ “หนังสือแห่งชีวิต” พบได้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) เราจะรู้สึกอย่างไรหากวันนี้เราได้รับเรียกให้ไปยืนอยู่เบื้องหน้าบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจใช้ข่าวสารของเอ็ลเดอร์ยอร์ก เคลบิงกอต “การเข้าสู่พระที่นั่งของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความมั่นใจ” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 34–37) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40–42) ด้วย ข่าวสารเหล่านี้สนับสนุนการสนทนาเกี่ยวกับการเตรียมรับวันแห่งการพิพากษาอย่างไร

วิวรณ์ 21:1–22:5

หากเราซื่อสัตย์ เราได้รับพรด้วยรัศมีภาพซีเลสเชียล

  • แม้ในยุคสุดท้ายจะมีการพยากรณ์ว่าโลกจะเต็มไปด้วยความชั่วร้ายและภยันตราย แต่รางวัลที่ยอห์นเห็นสำหรับคนซื่อสัตย์นั้นเกินกว่าความยากลำบากที่เกิดก่อนหน้านั้นมากนัก เพื่อช่วยนักเรียนค้นคว้าบทสรุปอันสวยงามของวิวรณ์ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวน วิวรณ์ 21:1–22:5 โดยมองหาวลีที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามุมานะเพื่อรับรัศมีภาพซีเลสเชียล มีสัญญาอะไรให้ไว้กับคนซื่อสัตย์ คำบรรยายนี้ช่วยเราเมื่อเราเผชิญกับความท้าทายและการทดลองของเราในปัจจุบันอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนปีหน้า—ทั้งโดยส่วนตัวและกับครอบครัวของพวกเขา—แบ่งปันคำสัญญาจากศาสดาพยากรณ์ดังนี้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ “ข้าพเจ้าสัญญากับท่านโดยไม่ลังเลว่าหากแต่ละท่านจะ [อ่านพระคัมภีร์มอรมอน] ไม่ว่าท่านจะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนมาแล้วกี่ครั้ง ท่านจะมีพระวิญญาณของพระเจ้ามากขึ้นในชีวิตและในบ้านของท่าน มีปณิธานแน่วแน่มากขึ้นว่าจะดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติ และมีประจักษ์พยานเข้มแข็งมากขึ้นถึงการทรงพระชนม์อยู่จริงของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (“ประจักษ์พยานอันแน่วแน่และมีพลัง,” เลียโฮนา, ส.ค. 2005, 6)

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน “ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้เราแต่ละคนศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์มอรมอนร่วมกับการสวดอ้อนวอนทุกวัน เมื่อเราทำเช่นนั้น เราจะได้ยินสุรเสียงของพระวิญญาณ เพื่อให้เราต้านทานการล่อลวง เอาชนะความสงสัยและความกลัว เราจะได้รับความช่วยเหลือจากสวรรค์ในชีวิตเรา” (“พลังของพระคัมภีร์มอรมอน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 87)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

วิวรณ์ 12–22

เลือกความชอบธรรมแทนความชั่วร้ายของบาบิโลน

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก สอนว่า

“เราหลีกเลี่ยงโลกไม่ได้ การตัดขาดจากโลกไม่ใช่ทางออก มองในด้านบวก การอุทิศตนต่อโลกคือส่วนหนึ่งของความท้าทายของเราและจำเป็นหากเราต้องการพัฒนาพรสวรรค์… สมาชิกของศาสนจักรต้องเกี่ยวข้องกับโลกในทางบวก แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาสมดุลระหว่างความจำเป็นของการอุทิศตนต่อโลกในทางบวกกับการไม่ยอมจำนนต่อบาปของโลก (ดู คพ. 25:10; คพ. 59:9) หลักธรรมสองข้อนี้จะก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมาก

“1. ให้คนทั่วไปรู้ว่าท่านคือวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้มีปณิธาน …

“2. เชื่อมั่นและดำเนินชีวิตตามความเชื่อของท่าน” (“บทเรียนจากพันธสัญญาเดิม: อยู่ในโลกแต่อย่าเป็นของโลก,” เลียโฮนา, ก.พ. 2006, 40–41)

หนังสือแห่งชีวิต

ฟีลิปปี 4:3; วิวรณ์ 3:5; 17:8; 2 นีไฟ 29:11; แอลมา 5:58; หลักคำสอนและพันธสัญญา 127:6–7, 9; 128:6–7

“ในแง่มุมหนึ่ง หนังสือแห่งชีวิตคือความคิดและการกระทำทั้งหมดของบุคคลผู้หนึ่ง—นั่นคือบันทึกแห่งชีวิตของเขา [หรือของเธอ] อย่างไรก็ตาม, พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นอีกด้วยว่ามีบันทึกในสวรรค์เก็บรักษาไว้เกี่ยวกับคนซื่อสัตย์, รวมทั้งชื่อของพวกเขาและเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำอันชอบธรรมของพวกเขา” (คู่มือพระคัมภีร์, “หนังสือแห่งชีวิต”)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ไม่เป็นไรที่จะพูดว่า “ฉันไม่รู้” “ขณะที่เป็นเรื่องธรรมดาที่อยากจะตอบคำถามทุกข้อ ในบางสถานการณ์เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะตอบเพียงว่า ‘ฉันไม่รู้ ขอให้เราศึกษาคำถามนั้นด้วยตนเองในสัปดาห์นี้ และเราจะมาสนทนากันคราวหน้า’” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 24) จากนั้นขอให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาพระคัมภีร์และแหล่งช่วยอื่นๆ ของศาสนจักรเพื่อหาคำตอบ