จงตามเรามา
16–22 ธันวาคม คริสต์มาส: ‘ข่าว‍ดี​มา​ยัง​พวก‍ท่าน เป็น​ความ​ยินดี​อย่าง‍ยิ่ง​’


“16–22 ธันวาคม คริสต์มาส: ‘ข่าว‍ดี​มา​ยัง​พวก‍ท่าน เป็น​ความ​ยินดี​อย่าง‍ยิ่ง​’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“16–22 ธันวาคม คริสต์มาส,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระกุมารเยซูในรางหญ้า

ปลอดภัยในรางหญ้า, โดย แดน เบอร์

16–22 ธันวาคม

คริสต์มาส

“ข่าว‍ดี​มา​ยัง​พวก‍ท่าน เป็น​ความ​ยินดี​อย่าง‍ยิ่ง​”

การสนทนาเกี่ยวกับพระกิตติคุณจะมีพลังทางวิญญาณเมื่อมีศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสต์ เมื่อท่านศึกษาการประสูติและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์สัปดาห์นี้ แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อรู้วิธีที่ท่านจะทำให้การสนทนาในชั้นเรียนของท่านมีศูนย์กลางอยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอด

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังทำหรือทำแล้วในอดีตเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดในวิธีที่นำพวกเขาเข้าใกล้พระองค์ยิ่งขึ้น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:26–38; 2:1–20

พระเยซูคริสต์ทรงมีพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมเสด็จมาประสูติบนแผ่นดินโลก

  • จริยวัตรอันอ่อนน้อมหมายถึงเต็มใจลงมาจากตำแหน่งหรือเกียรติ (ดู 1 นีไฟ 11:14–26) คริสต์มาสเป็นเวลาดีที่จะไตร่ตรองและเฉลิมฉลองพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระคริสต์—ความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะจาก “พระราชวังของพระบิดา มาประทับอยู่กับมนุษย์และสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์” (“Again We Meet around the Board,” Hymns, no. 186) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสนทนาหัวข้อนี้ ท่านอาจถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรในการศึกษาส่วนตัวหรือกับครอบครัวสัปดาห์นี้ว่าพระเยซูคริสต์คือใครก่อนพระองค์ประสูติ (ดู ยอห์น 17:5; โมไซยาห์ 7:27; คพ. 76:12–14, 20–24; โมเสส 4:2) จากนั้นท่านอาจจะให้ดูภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนอ่านเกี่ยวกับการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:26–38; 2:1–20) พวกเขามีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะเปรียบเทียบรัศมีภาพก่อนเกิดของพระผู้ช่วยให้รอดกับการประสูติอันต่ำต้อยของพระองค์

  • คำถามเหมือนกับที่เทพถามนีไฟใน 1 นีไฟ 11:16 อาจเป็นวิธีที่ดีที่จะเริ่มการสนทนาในชั้นเรียน แต่ท่านอาจใช้คำที่แตกต่างออกไป บางทีท่านอาจเขียนบนกระดานว่า พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร และขอให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ขณะที่พวกเขาอ่าน 1 นีไฟ 11:17–33 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันความคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะให้ชั้นเรียนดูภาพใดที่เป็นฉากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดตามที่นีไฟบรรยายไว้ พวกเขาอาจไตร่ตรองถึงพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่พวกเขาชมวีดิทัศน์การประสุูติของพระองค์ เช่น “A Gift to the World,” “The Nativity,” “Infant Holy, Infant Lowly (Music Video)—Mormon Tabernacle Choir,” หรือ “He Is the Gift” (วีดิทัศน์ทั้งหมดนี้มีอยู่ที่ LDS.org)

  • ดนตรีเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชั้นเรียนของท่าน ท่านอาจเปิดเพลงสวดคริสมาสต์ที่คณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลแสดง (ดู mormontabernaclechoir.org) เชื้อเชิญให้บางคนเล่นเพลงคริสต์มาส หรืออ่านหรือร้องเพลงสวดสองสามเพลงด้วยกันเป็นชั้นเรียน (เพลงสวด, บทเพลงที่ 94–104) สมาชิกชั้นเรียนอาจมองหาวลีในเพลงสวดเหล่านี้และรายชื่อพระคัมภีร์ในเพลงสวดที่เพิ่มความสำนึกคุณของท่านต่อพระผู้ช่วยให้รอดและความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะเสด็จมาแผ่นดินโลก

ลูกา 4:16–21; ยอห์น 3:16

พระเยซูคริสต์ทรงทำพระพันธกิจของพระองค์ให้เกิดสัมฤทธิผลซึ่งทำให้เราทุกคนได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาสาเหตุที่พระเยซูคริสต์มาประสูติ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาหาและแบ่งปันพระคัมภีร์ที่สรุปพระพันธกิจของพระองค์ (ดูตัวอย่างจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจหาหรืออ่านข้อพระคัมภีร์เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ พวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระคริสต์จากข้อที่พวกเขาพบ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระองค์จากชื่อที่เรียกพระองค์ในพระคัมภีร์ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระเยซูคริสต์”)

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจเรียนรู้เกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดโดยอ่าน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2017, ปกหน้าด้านใน) และแบ่งปันข้อความที่พวกเขาพบซึ่งอธิบายสาเหตุที่พระองค์เสด็จมาแผ่นดินโลก หรือพวกเขาอาจทบทวนข่าวสารจากประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” และสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เราจะให้เวลาในเทศกาลคริสต์มาสนี้เพื่อ “ตรึกตรองในใจและใคร่ครวญอย่างเงียบๆ” เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์ได้อย่างไร

  • ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองถึงประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ พวกเขาจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวหรือเรื่องราวจากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดที่เพิ่มศรัทธาของพวกเขาในพระองค์หรือความรักต่อพระองค์ได้หรือไม่ การศึกษาพันธสัญญาใหม่ในปีนี้ทำให้เกิดเทศกาลคริสต์มาสที่มีความหมายมากขึ้นอย่างไร เพื่อทบทวนเรื่องราวในพันธสัญญาใหม่บางเรื่องที่สมาชิกชั้นเรียนได้เรียนรู้ในปีนี้ ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “For God So Loved the World” หรือ “To This End Was I Born” (LDS.org)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

แนะนำสมาชิกชั้นเรียนของท่านว่าการศึกษา วิวรณ์ 12–22 สัปดาห์นี้จะทำให้ความสำนึกคุณของพวกเขาต่อบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในแผนแห่งความรอดลึกซึ้งขึ้นและเพิ่มเติมความหมายแก่การถือปฏิบัติเทศกาลคริสต์มาส

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

คริสต์มาส

แก่นแท้ของคริสต์มาส

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ สอนว่า

“เมื่อพิจารณาทุกๆ อย่างแล้ว … ไม่มีสิ่งใดยอดเยี่ยม สง่างาม และยิ่งใหญ่เท่าการแสดงพระคุณครั้งนี้เมื่อพระบุตรของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ … พระองค์ผู้ทรงลดองค์ลงมาแผ่นดินโลกเป็นพระกุมารประสูติในเบธเลเฮม ทรงสละพระชนม์ชีพในความอัปยศอดสูและความเจ็บปวดเพื่อให้บุตรและธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าทุกยุคทุกสมัย ทุกคนที่ต้องตาย ได้เดินอีกครั้งและมีชีวิตนิรันดร์ พระองค์ทรงทำเพื่อเราในสิ่งที่เราทำด้วยตนเองไม่ได้ …

“นี่เป็นเรื่องจริงอันน่าพิศวงของคริสต์มาส การประสูติของพระเยซูในเบธเลเฮมแห่งยูเดียเป็นบทนำ การปฏิบัติศาสนกิจสามปีของพระอาจารย์เป็นอารัมภบท เนื้อหาที่งดงามของเรื่องนี้คือการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์ พระกรณียกิจที่ไร้ความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิงของการสิ้นพระชนม์ในความเจ็บปวดบนกางเขนแห่งคัลวารีเพื่อชดใช้บาปของเราทุกคน

ภาพ
พระเยซูทรงคุกเข่าในสวนเกทเสมนี

เกทเสมนีโดย เจ. เคิร์ก ริชาร์ดส์

“บทส่งท้ายคือปาฏิหาริย์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ‘เพราะว่าเช่นเดียวกับที่ทุกคนต้องตายโดยเกี่ยวเนื่องกับอาดัม ทุกคนก็จะได้รับชีวิตโดยเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์’ (1 โครินธ์ 15:22)

“คงจะไม่มีคริสต์มาสถ้าไม่มีอีสเตอร์ พระกุมารเยซูแห่งเบธเลเฮมคงจะเป็นเพียงทารกคนหนึ่งหากปราศจากพระคริสต์ผู้ทรงไถ่ในเกทเสมนีและคัลวารี และชัยชนะของการฟื้นคืนพระชนม์

“ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ชั่วนิรันดร์ ไม่มีใครที่เคยเดินบนแผ่นดินโลกยิ่งใหญ่เท่าพระองค์ ไม่มีใครเสียสละได้เท่าเทียมพระองค์หรือประทานพรได้เท่าเทียมพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของโลก ข้าพเจ้าเชื่อในพระองค์ ข้าพเจ้าประกาศความเป็นพระเจ้าของพระองค์โดยไม่อ้อมค้อมหรือประนีประนอม ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้าพูดถึงพระนามของพระองค์ด้วยความคารวะและความพิศวง …

“สำหรับพวกท่านแต่ละคนนี่อาจเป็นคริสต์มาสอันสุขสันต์ แต่สำคัญที่สุด ข้าพเจ้าประสงค์ให้แต่ละท่านใช้เวลาอาจจะเพียงหนึ่งชั่วโมงตรึกตรองในใจและใคร่ครวญอย่างเงียบๆ เกี่ยวกับความน่าพิศวงและพระบารมีของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นี้ ปีติของเราในเทศกาลนี้คือเพราะพระองค์เสด็จมาในโลก สันติสุขที่มาจากพระองค์ ความรักอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ซึ่งเราแต่ละคนรู้สึกได้ และความสำนึกคุณท่วมท้นต่อสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราเปล่าๆ ด้วยการเสียสละพระองค์อย่างมาก—นี่คือแก่นแท้ของคริสต์มาส” (“The Wondrous and True Story of Christmas,” Ensign, Dec. 2000, 4–5)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เผื่อเวลาให้ผู้เรียนได้แบ่งปัน “เมื่อผู้เรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ไม่เพียงแต่พวกเขาจะสัมผัสถึงพระวิญญาณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของตนเองเท่านั้น แต่พวกเขากระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ ให้ค้นพบความจริงด้วยตนเองเช่นกัน … เผื่อเวลาไว้ให้นักเรียนแบ่งปันทุกบทเรียน—ในบางกรณี ท่านอาจพบว่าการสนทนาเหล่านี้ คือ บทเรียน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 30)