จงตามเรามา
21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา: ‘อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ’


“21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา: ‘อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“21–27 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนากำลังพูดคุยกับชายหนุ่ม

21–27 ตุลาคม

1 และ 2 เธสะโลนิกา

“อย่า​ให้​ใจ​ของ​ท่าน​หวั่น‍ไหว​ง่าย หรือ​ตื่น‍ตระ‌หนก‍ตก‍ใจ”

แอลมาสอนว่า “ไม่ให้ไว้ใจคนใดเป็นผู้สอนของท่านหรือเป็นผู้ปฏิบัติศาสนกิจของท่านด้วย, เว้นแต่เขาจะเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้า, เดินในทางของพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์.” (โมไซยาห์ 23:14) พระคัมภีร์ข้อนี้เสนอแนะอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ท่านควรเตรียมตนเองเพื่อสอน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีอ่าน 1 และ 2 เธสะโลนิกา อย่างรวดเร็วและหาหนึ่งข้อที่พวกเขาประทับใจ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันข้อนี้กับบางคนในชั้นเรียน จากนั้นขอให้สองสามคู่แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากกัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

1 เธสะโลนิกา 1:5–8; 2:1–13

ผู้ปฏิบัติศาสนกิจแห่งพระกิตติคุณสั่งสอนด้วยความจริงใจและความรัก

  • เปาโลเริ่มสาส์นของท่านถึงชาวเธสะโลนิกาโดยการเตือนวิสุทธิชนถึงพฤติกรรมที่เขาและคนอื่นแบ่งปันพระกิตติคุณกับพวกเขา อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสมาชิกชั้นเรียนของท่านที่จะประเมินว่าพวกเขาสอนและเรียนรู้จากกันได้ดีเพียงใด ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 1 เธสะโลนิกา 1:5–8; 2:1–13 และระบุหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันกระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นพวกเขาอาจเขียนคำถามโดยใช้ข้อเหล่านี้เพื่อช่วยพวกเขาประเมินความพยายามของตนเองในการสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น ตัวอย่างเช่น คำถามหนึ่งอาจเป็น “ข้าพเจ้าเป็นแบบอย่างของสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้หรือไม่” (ดู 1 เธสะโลนิกา 1:7) การทำตามหลักธรรมในข้อนี้จะช่วยเราปฏิบัติศาสนกิจกับคนที่เราสอนได้ดีขึ้นอย่างไร

  • การอ่าน 1 เธสะโลนิกา 1:5–8; 2:1–13 อาจเตือนใจให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงครูเหมือนพระคริสต์ที่มีอิทธิพลด้านดีต่อพวกเขา “เหมือน​บิดา​ทำ​ต่อ​บุตร” (1 เธสะโลนิกา 2:11) เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อหาอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่จริงใจและนึกถึงครูที่พวกเขารู้จักซึ่งเป็นแบบอย่างของอุปนิสัยนั้น ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนจดหมายหรือทำเกียรติบัตรรางวัลให้ครูที่พวกเขานึกถึง กระตุ้นให้พวกเขาใช้ข้อพระคัมภีร์จาก 1 เธสะโลนิกา ในจดหมายหรือรางวัลของพวกเขาและอธิบายว่าครูท่านนั้นเป็นแบบอย่างของข้อนั้นอย่างไร พวกเขาอาจรู้สึกถึงแรงบันดาลใจให้มอบจดหมายหรือรางวัลแก่คนที่พวกเขาเขียนถึง

1 เธสะโลนิกา 3:9–13; 4:1–12

เมื่อเราติดตามพระเยซูคริสต์ เราจะเป็นคนบริสุทธิ์

  • เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาว่า “พระ‍เจ้า​ไม่‍ได้​ทรง​เรียก​เรา​ให้​เป็น​คน‍ลา‌มก แต่​ทรง​เรียก​ให้​เป็น​คน​บริ‌สุทธิ์” (1 เธสะโลนิกา 4:7) เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ ชั้นเรียนของท่านหรือคนใดคนหนึ่งอาจร้อง “เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 56) ขอให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาถึงอุปนิสัยของความบริสุทธิ์ที่กล่าวถึงในเพลงสวดที่โดดเด่นสำหรับพวกเขา เขียนบนกระดาน เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน เพิ่ม … , และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาคำหรือวลีจาก 1 เธสะโลนิกา 3:9–13; 4:1–12 เพื่อเติมประโยคให้ครบถ้วน เราจะพัฒนาอุปนิสัยเหล่านี้ได้อย่างไร

  • สำหรับบางคน การเชื้อเชิญให้เป็นคนบริสุทธิ์อาจฟังดูน่ากลัว อาจเป็นประโยชน์หากสมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าการพัฒนาความบริสุทธิ์เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปที่เรียกร้องให้เรา “ทำอย่างนี้มากขึ้นอีก” ในช่วงเวลาหนึ่ง (1 เธสะโลนิกา 4:10) เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนพูดเกี่ยวกับพรสวรรค์หรือความสำเร็จที่ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นการทำผ้านวมหรือการเล่นเครื่องดนตรี สิ่งนี้คล้ายกับกระบวนการเป็นคนบริสุทธิ์อย่างไร เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน 1 เธสะโลนิกา 3:9–13; 4:1–12 และแบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับความพยายามเป็นคนบริสุทธิ์ในแบบที่เปาโลบรรยาย อะไรช่วยให้เราก้าวหน้าไปสู่ความบริสุทธิ์

1 เธสะโลนิกา 4:11–12; 2 เธสะโลนิกา 3:7–13

เราควรทำงานเพื่อจัดหาให้ตนเองและคนขัดสน

  • คำถามต่อไปนี้อาจกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับคำแนะนำของเปาโลเรื่องงาน: ผลของความเกียจคร้านคืออะไร ท่านคิดว่าคำว่า “สงบ” และ “ใจสงบ” ที่เปาโลใช้หมายความว่าอย่างไร (1 เธสะโลนิกา 4:11; 2 เธสะโลนิกา 3:12) ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเช่นนี้บนกระดานสำหรับให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองเมื่อพวกเขาอ่าน 1 เธสะโลนิกา 4:11–12 และ 2 เธสะโลนิกา 3:7–13 เชื้อเชิญให้พวกเขาสนทนาคำถามเหล่านี้เป็นคู่ เป็นกลุ่มเล็ก หรือเป็นชั้นเรียน มีพระคัมภีร์ข้อใดอีกที่ช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของการทำงานและอันตรายของความเกียจคร้าน (ดูคำแนะนำใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”)

2 เธสะโลนิกา 2

การละทิ้งความเชื่อเกิดก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

  • ความเข้าใจเรื่องการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่จะเสริมสร้างประจักษ์พยานของสมาชิกชั้นเรียนของท่านเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว มีแหล่งช่วยมากมายเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเตรียมมาแบ่งปันข้อคิดจากการศึกษาแหล่งช่วยเหล่านี้ หรือท่านอาจศึกษาและสนทนาด้วยกันในชั้นเรียน มีวีดิทัศน์หลายเรื่องเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะเสริมการสนทนาของท่านได้ด้วย

  • อาจเป็นประโยชน์ที่จะสนทนาอุปลักษณ์บางเรื่องที่ศาสดาพยากรณ์ใช้เพื่อบรรยายถึงการละทิ้งความเชื่อ เช่น การ​กบฏ (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:3) ความกันดาร (ดู อาโมส 8:11–12) พวก​สุนัข‍ป่า​ที่​ดุ‍ร้าย​เข้า‍มา​ใน​หมู่​พวก‍ท่าน (ดู กิจการของอัครทูต 20:28–30) หู​ที่​คัน (ดู 2 ทิโมธี 4:3–4) ท่านอาจแบ่งสมาชิกชั้นเรียนเป็นคู่และขอให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นจากพระคัมภีร์เหล่านี้ (หรือพระคัมภีร์อื่นที่ท่านเลือก) และบรรยายสิ่งที่ข้อเหล่านั้นสอนเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ศาสดาพยากรณ์สอนอะไรเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อและผลที่จะเกิดขึ้น

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ เชื้อเชิญให้พวกเขาจินตนาการว่าพวกเขามีเพื่อนที่ไม่เข้าใจความจำเป็นของการฟื้นฟูพระกิตติคุณ ทำแผนภูมิสองช่องบนกระดานและเขียนว่า เหตุแห่งการละทิ้งความเชื่อ และ ผลของการละทิ้งความเชื่อ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นในหมวดที่ชื่อ “การละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา (หน้า 35–36) เป็นคู่หรือกลุ่มเล็กๆ โดยมองหาเหตุและผลของการละทิ้งความเชื่อ จากนั้นเขียนบนกระดาน ข้อคิดใดจากแผนภูมินี้ที่พวกเขาอาจใช้ได้เพื่อช่วยให้เพื่อนของพวกเขาเข้าใจความจำเป็นสำหรับการฟื้นฟู

  • ชั้นเรียนท่านจะได้ประโยชน์จากการสนทนาวิธีรักษาตนให้พ้นจาก “การกบฏ” หรือไม่ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นใน 2 เธสะโลนิกา 2 และมองหาคำแนะนำที่จะช่วยให้เพื่อนของพวกเขาหลีกเลี่ยงการละทิ้งความเชื่อส่วนตัว

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน 1 และ 2 ทิโมธี, ทิตัส, และ ฟีเลโมน สัปดาห์นี้ เชื้อเชิญให้พวกเขาจินตนาการว่าพวกเขาได้รับจดหมายส่วนตัวจากอัครสาวกที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำให้การเรียกของศาสนจักรเกิดสัมฤทธิผล แนะนำให้พวกเขานึกถึงการเรียกของตนเองเมื่อพวกเขาอ่านจดหมายส่วนตัวจากเปาโลถึงผู้นำศาสนจักรสมัยแรก

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

1 และ 2 เธสะโลนิกา

พระคัมภีร์เกี่ยวกับงานและความเกียจคร้าน

วีดิทัศน์เกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อใน LDS.org

  • “The Great Apostasy”

  • “Apostasy—Jan”

  • “The Apostasy and the Restoration—What the Restoration Means for Me”

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้วิธีที่หลากหลาย เป็นเรื่องง่ายที่จะคุ้นเคยกับรูปแบบการสอนอย่างหนึ่ง แต่วิธีการสอนที่ต่างไปเข้าถึงสมาชิกชั้นเรียนต่างคน มองหาวิธีทำให้วิธีการสอนท่านหลากหลาย เช่นการใช้วีดิทัศน์ งานศิลปะ หรือดนตรีหรือให้โอกาสสมาชิกชั้นเรียนสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22)