จงตามเรามา
14–20 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี: ‘ข้าพ‌เจ้าเผชิญได้ทุก‍อย่างโดยพระ‍องค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพ‌เจ้า’


“14–20 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี: ‘ข้าพ‌เจ้าเผชิญได้ทุก‍อย่างโดยพระ‍องค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพ‌เจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่: 2019 (2019)

“14–20 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
เปาโลกำลังเขียนสาส์นจากเรือนจำ

14–20 ตุลาคม

ฟีลิปปี; โคโลสี

“ข้าพ‌เจ้าเผชิญได้ทุก‍อย่างโดยพระ‍องค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพ‌เจ้า”

เริ่มโดยการอ่านฟีลิปปีและโคโลสี ไตร่ตรองหลักคำสอนที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ให้พระวิญญาณทรงนำท่านเมื่อท่านพิจารณาคำถามและแหล่งช่วยที่ท่านใช้ได้เพื่อสอนหลักคำสอนนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนคำหรือวลีไว้บนกระดานเป็นการสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากฟีลิปปีและโคโลสีแล้วอธิบายข้อที่พวกเขาเลือก กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อพระคัมภีร์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบายของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ฟีลิปปี 2:1–5, 14–18; 4:1–9; โคโลสี 3:1–17

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นคน “ใหม่” เมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์

  • ท่านอาจต้องการช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่านนึกภาพว่าการ “ปลด​วิสัย​มนุษย์​เก่า​” และ “สวม​วิสัย​มนุษย์​ใหม่​” ผ่านทางพระเยซูคริสต์ (โคโลสี 3:9–10) หมายความว่าอย่างไร ในการทำเช่นนี้ ท่านอาจแสดงบางสิ่งที่เก่าและบางสิ่งที่ใหม่ (เช่นผลไม้ที่สุกงอมและผลไม้สด หรือเสื้อผ้าตัวเก่าและตัวใหม่) สมาชิกชั้นเรียนอาจสนทนาวิธีที่เราเป็นคน “ใหม่” ผ่านศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์และความเต็มใจที่จะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์ ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจขอให้ครึ่งหนึ่งของชั้นเรียนศึกษา ฟีลิปปี 2:1–5, 14–18; 4:1–9 และอีกครึ่งหนึ่งศึกษา โคโลสี 3:1–17ในการระบุลักษณะนิสัยของ “มนุษย์​เก่า​” และ “มนุษย์​ใหม่” ท่านอาจเชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนให้แบ่งปันว่าการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยให้พวกเขาเป็นคนใหม่อย่างไร พระคัมภีร์อื่นๆ ที่ท่านอาจสำรวจด้วยกัน ได้แก่ โรม 6:3–7; โมไซยาห์ 3:19; และ แอลมา 5:14, 26

ฟีลิปปี 4:1–13

เราสามารถพบปีติในพระคริสต์ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาวการณ์ใด

  • แม้ว่าสภาวการณ์ของเราจะแตกต่างจากเปาโล แต่เราทุกคนสามารถเรียนรู้จากความเต็มใจที่จะพอใจและชื่นชมยินดีในทุกสภาวการณ์ของชีวิต เพื่อเริ่มการสนทนาหัวข้อนี้ ท่านอาจทบทวนการทดลองบางอย่างที่เปาโลประสบ (ตัวอย่างเช่น ดู 2 โครินธ์ 11:23–28) ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน ฟีลิปปี 4:1–13 เพื่อหาคำแนะนำของเปาโลที่จะช่วยให้เราชื่นชมยินดีได้แม้ในยามที่ต้องเผชิญการทดลอง

    หากท่านต้องการค้นคว้าหัวข้อนี้เพิ่มเติม ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันเรื่องเล่าที่ได้รับการดลใจหรือข้อความจากคำพูดของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 81–84) คนในคำพูดของประธานเนลสันพบปีติได้อย่างไรแม้อยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจหาคำแนะนำใน ฟีลิปปี 4 ซึ่งสามารถช่วยพวกเขาเมื่อประสบการทดลอง ท่านอาจแจกกระดาษหนึ่งแผ่นให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนจดสิ่งที่พวกเขาพบ ขอให้พวกเขาวางไว้ในที่ซึ่งพวกเขาจะเห็นได้เมื่อพวกเขาต้องการ

  • บางครั้งเพลงสวดสามารถเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น หลังจากอ่าน ฟีลิปปี 4:7, 13ท่านอาจร้องเพลง “หาสันติได้ที่ใด” หรือข้อแรกของ “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 54, 106) สมาชิกชั้นเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงใดระหว่างคำร้องในเพลงสวดเหล่านี้กับ ฟีลิปปี 4:7, 13 บางทีพวกเขาอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกถึง “​สันติ‍สุข​ของ​พระ‍เจ้า​ที่​เกิน​ความ​เข้า‍ใจ” หรือเมื่อรู้สึกได้รับการเสริมกำลัง “โดยพระองค์” เพื่อบรรลุผลสำเร็จในบางสิ่งที่พวกเขาทำเองไม่ได้ ประสบการณ์ของเอ็ลเดอร์เจย์ อี. เจนเซ็น ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับข้อเหล่านี้

  • เนื่องจากความชั่วร้ายกำลังเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบัน สมาชิกชั้นเรียนของท่านจะได้ประโยชน์จากคำแนะนำของเปาโลให้ “ใคร่ครวญ” สิ่ง​ที่​บริ‌สุทธิ์ สิ่ง​ที่​น่า‍รัก สิ่ง​ที่​ควร​แก่​การ​สรร‌เสริญ รวม​ทั้ง​ถ้า​มี​สิ่ง‍ใด​ที่​ยอด‍เยี่ยม สิ่ง‍ใด​ที่​น่า‍ยก‍ย่อง (ฟีลิปปี 4:8) บางทีท่านอาจมอบหมายคุณสมบัติอย่างหนึ่งให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคน (หรือสมาชิกชั้นเรียนกลุ่มเล็กๆ) จาก ฟีลิปปี 4:8 หรือ หลักแห่งความเชื่อ 1:13 พวกเขาแต่ละคนอาจหาพระคัมภีร์เกี่ยวกับคุณสมบัติที่พวกเขาได้รับมอบหมายและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบกับชั้นเรียน พวกเขาสามารถแบ่งปันตัวอย่างของคุณสมบัติเช่นนั้นในชีวิตของคนทั่วไป เรา “แสวงหาสิ่งเหล่านี้” อย่างไร

โคโลสี 1:12–23; 2:3–8

เมื่อศรัทธาของเรา “ได้หยั่งราก” ในพระเยซูคริสต์ เราได้รับการเสริมกำลังเพื่อต่อต้านอิทธิพลทางโลก

  • ประจักษ์พยานของเปาโลเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดใน โคโลสี 1:12–23; 2:3–8 ให้โอกาสที่ดีแก่สมาชิกชั้นเรียนในการไตร่ตรองและเสริมสร้างศรัทธาของตนเอง สมาชิกชั้นเรียนสามารถค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อหาสิ่งที่จะเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ การ “หยั่ง‍ราก​และ​ก่อ‍ร่าง​สร้าง​ขึ้น​ใน [พระเยซูคริสต์]” หมายความว่าอย่างไร (โคโลสี 2:7) ภาพต้นไม้ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และวีดิทัศน์ “ลมหมุนทางวิญญาณ” (LDS.org) จะช่วยสมาชิกชั้นเรียนสนทนาข้อนี้ (ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ลมหมุนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 18–21 ด้วย) สิ่งที่สามารถทำให้รากของต้นไม้แข็งแรงขึ้นหรืออ่อนแอลงคืออะไร การ “หยั่ง‍ราก​และ​ก่อ‍ร่าง​สร้าง​ขึ้น​ใน [พระเยซูคริสต์]” เสริมสร้างเราให้ต่อต้านอิทธิพลทางโลกอย่างไร (ดู โคโลสี 2:7–8; ดู ฮีลามัน 5:12; อีเธอร์ 12:4 ด้วย)

  • สมาชิกชั้นเรียนของท่านอาจรู้จักปรัชญาและประเพณีของมนุษย์ที่สามารถทำให้ศรัทธาในพระคริสต์ตกเป็นทาสสิ่งเหล่านี้เนื่องจากปรัชญาและประเพณีดังกล่าวตรงข้ามกับความจริงของพระกิตติคุณและทำให้การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณยากขึ้น (โคโลสี 2:8) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจเขียนรายการบางอย่างต่อไปนี้ (แนวคิดที่แนะนำโดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยได้) จากนั้นท่านอาจสนทนาว่าการหยั่งรากในคำสอนของพระเยซูคริสต์ช่วยเราทำตามคำแนะนำของเปาโลอย่างไร “เพราะ‍ฉะนั้น ใน​เมื่อ​พวก‍ท่าน​รับ‍พระ‍เยซู‍คริสต์​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ไว้​แล้ว ก็​จง​ดำ‌เนิน​ชีวิต​ใน​พระ‍องค์​ด้วย” (โคโลสี 2:6) เราจะช่วยสนับสนุนกันในความพยายามของเราเพื่อทำตามพระผู้ช่วยให้รอดและไม่ทำตามประเพณีทางโลกที่ผิดได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกชั้นเรียนของท่านเคยรู้สึกว่าถูกข่มเหงเนื่องจากพวกเขาเชื่อในพระกิตติคุณหรือไม่ บอกพวกเขาว่า 1 และ 2 เธสะโลนิกา มีคำแนะนำที่เปาโลให้แก่วิสุทธิชนที่อยู่ท่ามกลางการข่มเหงอย่างหนักและยังคงซื่อสัตย์

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ฟีลิปปี; โคโลสี

สันติ‍สุข​ที่​เกิน​ความ​เข้า‍ใจ

ขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์เจย์ อี. เจนเซ็นแบ่งปันประสบการณ์นี้

“ควินทันหลานชายเราเกิดมาพร้อมความพิการซ้ำซ้อนและอีกเพียงสามสัปดาห์เขาก็จะอยู่ครบหนึ่งปี ระหว่างนั้นเขาเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เสมอ เวลานั้นข้าพเจ้ากับซิสเตอร์เจนเซ็นอยู่ที่เอาร์เจนตินา เราอยากอยู่กับลูกๆ ของเรามากเพื่อปลอบโยนพวกเขาและรับการปลอบโยน เรารักหลานคนนี้และต้องการอยู่ใกล้เขา เราได้แต่สวดอ้อนวอน เราสวดอ้อนวอนอย่างจริงจัง!

“ข้าพเจ้ากับซิสเตอร์เจนเซ็นอยู่ระหว่างเดินทางไปทำพันธกิจเมื่อเราทราบว่าควินทันสิ้นชีวิต เรายืนอยู่ตรงทางเดินของอาคารประชุม สวมกอดกันและปลอบโยนกัน ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงการรับรองจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่มาถึงเรา ความสงบเกินความเข้าใจและยังคงอยู่กับเราจนถึงวันนี้ (ดู ฟีลิปปี 4:7) เราเป็นพยานถึงของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ไม่อาจบรรยายได้ในชีวิตบุตรชายและสะใภ้ของเรารวมทั้งลูกๆ ของพวกเขาซึ่งยังคงพูดถึงวันนั้นด้วยศรัทธา ความสงบ และความสบายใจ” (ดู“พระวิญญาณบริสุทธิ์และการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 99)

หลักธรรมพระกิตติคุณและประเพณีของมนุษย์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ระบุประเพณีทางโลกหลายอย่างที่ตรงข้ามกับความจริงของพระกิตติคุณ (ดู “การกลับใจและการเปลี่ยนแปลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 48)

  • การไม่ใส่ใจกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ

  • การไม่เข้าร่วมหรือเฉยเฉื่อยกับการร่วมประชุมศาสนจักรเป็นประจำ

  • การละเมิดพระคำแห่งปัญญา

  • การไม่ซื่อสัตย์

  • คาดหวังกับการ “เลื่อน” ตำแหน่งในศาสนจักร

  • บ่มเพาะวัฒนธรรมของการพึ่งพาแทนที่จะรับผิดชอบตนเอง

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้ดนตรี เพลงศักดิ์สิทธิ์อัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บทเพลงจะสร้างบรรยากาศของความคารวะและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดคำมั่นสัญญาและการกระทำ พิจารณาว่า “จง​สั่ง‍สอน​และ​เตือน‍สติ​กัน​ด้วย​ปัญญา​ทั้ง‍สิ้น จง​ร้อง‍เพลง​สดุดี เพลง​นมัส‌การ” จะเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนท่านได้อย่างไร (โคโลสี 3:16; ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22 ด้วย)