จงตามเรามา
6–12 พฤษภาคม ลูกา 12–17; ยอห์น 11: ‘มาร่วมยินดีกับข้า เพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว’


“6–12 พฤษภาคม ลูกา 12–17; ยอห์น 11: ‘มาร่วมยินดีกับข้า เพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“6–12 พฤษภาคม ลูกา 12–17; ยอห์น 11,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
ชายโอบกอดบุตรชายของเขา

บุตรหายไป โดย ลิซ เลมอน สวินเดิล

6–12 พฤษภาคม

ลูกา 12–17; ยอห์น 11

“มาร่วมยินดีกับข้า เพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว”

เริ่มการเตรียมของท่านโดยศึกษา ลูกา 12–17 และ ยอห์น 11 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านนึกถึง “แกะหาย” ตัวใดในชั้นเรียนของท่าน ใช้ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้ขณะท่านแสวงหาการนำทางของพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีตอบรับความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนให้ดีที่สุดแม้พวกเขาไม่เข้าชั้นเรียน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

การประยุกต์ใช้เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ จงเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาเลือกดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์สัปดาห์นี้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ลูกา 14:15–24

ไม่มีข้ออ้างใดฟังขึ้นสำหรับการปฏิเสธพระกิตติคุณ

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาอุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่ ท่านอาจจะเชิญพวกเขามางานเลี้ยงสมมติที่ท่านจะเป็นเจ้าภาพ ให้พวกเขาบอกเหตุผลบางประการที่พวกเขาจะมาหรือไม่มาร่วมงาน อ่าน ลูกา 14:15–24 ด้วยกันและสนทนาข้ออ้างของคนในอุปมาเมื่อพวกเขาได้รับเชิญมางานเลี้ยงที่หมายถึงพรของพระกิตติคุณ คนทุกวันนี้มีข้ออ้างอะไรสำหรับการไม่ยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้มารับพรของพระบิดาบนสวรรค์ บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจจะบอกพรที่พวกเขาได้รับเมื่อพวกเขาทำการเสียสละที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณข้อใดข้อหนึ่ง

ลูกา 15

เราสามารถเสาะหาคนที่หายไปและชื่นชมยินดีกับพระบิดาเมื่อพวกเขากลับมา

  • ท่านจะดลใจคนที่ท่านสอนให้เสาะหาคนที่ “หายไป” เพราะพวกเขาไม่มีพรของพระกิตติคุณและเชิญชวนให้กลับมาได้อย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนคิดสักครู่เกี่ยวกับ “แกะหาย” ที่พวกเขารู้จักแล้วอ่าน ลูกา 15:1–7 พร้อมกับนึกถึงคนนั้น พวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือบุคคลนั้นด้วยความเข้าใจและความรัก เรื่องเล่าโดยประธานโธมัส เอส. มอนสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” หรือคำปราศรัยของเอ็ลเดอร์เมอร์วิน บี. อาร์โนลด์เรื่อง “ช่วยชีวิต: เราทำได้” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 53–55) อาจช่วยการสนทนานี้

  • จะเป็นประโยชน์หรือไม่ถ้าสมาชิกชั้นเรียนเข้าใจสภาพการณ์ซึ่งทำให้บุคคลหนึ่งหายไป ท่านอาจจะมอบหมายให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาอุปมาหนึ่งในสามเรื่องใน ลูกา 15 อุปมาเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรพยายามหาคนที่หายไป คำใดใน ลูกา 15 เปิดเผยว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรต่อคนที่หายไป การร้องเพลง “ของรักจากใจพระผู้เลี้ยงแกะ,” เพลงสวด บทเพลงที่ 107 ด้วยกันอาจจะเสริมคำสอนของอุปมานี้ได้อย่างมีความหมาย

  • สมาชิกชั้นเรียนของท่านอาจได้ประโยชน์จากการให้ความสนใจกับคำพูดและการกระทำของบุตรคนโตในอุปมาเรื่องบุตรหายไป พวกเขาอาจจะเขียนตอนจบของอุปมาอีกแบบหนึ่งซึ่งท่าทีของบุตรคนโตต่อน้องชายของเขาต่างจากเดิม คำแนะนำของบิดาในอุปมาสอนอะไรเราว่าเราควรรู้สึกอย่างไรต่อคนที่หายไปและคนที่หวนคืนสู่พระกิตติคุณ (ดูคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) หรือท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนสมมติว่าพวกเขาเป็นบิดาในอุปมาเรื่องนี้ พวกเขาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมอะไรแก่บุตรคนโตเพื่อช่วยให้เขาชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของผู้อื่น

ยอห์น 11:1–46

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นชีวิตและการฟื้นคืนชีวิต

  • ขณะพวกเขาอ่านเรื่องการทำให้ลาซารัสคืนชีพสัปดาห์นี้ สมาชิกชั้นเรียนของท่านพบสิ่งที่เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาหรือไม่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ ประสบการณ์ใดสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์อีกบ้าง ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่า ณ เวลาของปาฏิหาริย์นี้ ลาซารัสไม่ได้ฟื้นคืนชีวิตแต่ทรงนำชีวิตมรรตัยกลับมาให้เขา

    ภาพ
    พระเยซูทรงกันแสง

    พระเยซูทรงกันแสง โดย เจมส์ ทิสซอท

  • วิธีหนึ่งที่จะพิเคราะห์ ยอห์น 11:1–46 คือขอให้สมาชิกชั้นเรียนผลัดกันอ่านและให้พวกเขาหยุดเมื่อพบหลักฐานแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ขอให้พวกเขาสนทนาสิ่งที่พบ การทดลองและความทุพพลภาพเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระองค์อย่างไร

  • การอ่านเรื่องนี้อีกวิธีหนึ่งคือมอบหมายให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนพิจารณามุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง—เช่นพระผู้ช่วยให้รอด อัครสาวก มารธา มารีย์ และลาซารัส เราสามารถเรียนรู้อะไรจากบุคคลเหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก ยอห์น 11:33–35 เหตุใดการรู้เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับพระองค์จึงสำคัญ

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 19–20; มาระโก 10; และ ลูกา 18 ท่านอาจจะถามคำถามเช่น “ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านทำงานทั้งวันและได้รับค่าจ้างเท่ากับคนที่ทำงานชั่วโมงเดียว” บอกพวกเขาว่ามีอุปมาเรื่องหนึ่งในการอ่านของสัปดาห์ถัดไปบอกเป็นนัยว่านี่ยุติธรรมแล้ว

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ลูกา 12–17; ยอห์น 11

“คุณหาเจอจนได้”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันเล่าประสบการณ์ต่อไปนี้ที่ท่านมีขณะรับใช้เป็นอธิการ “เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งข้าพเจ้าสังเกตว่าริชาร์ดปุโรหิตคนหนึ่งของเราที่นานๆ ครั้งจึงจะมาร่วมการประชุมไม่ได้มาการประชุมฐานะปุโรหิตอีก ข้าพเจ้าจึงฝากผู้ให้คำปรึกษาดูแลโควรัมแล้วไปเยี่ยมบ้านของริชาร์ด คุณแม่ของเขาบอกว่าเขาทำงานอยู่ที่อู่ซ่อมรถ ข้าพเจ้าจึงขับรถไปหาริชาร์ดที่อู่และหาจนทั่วแต่ไม่พบ ทันใดนั้น ข้าพเจ้าได้รับการดลใจให้มองลงไปในหลุมถ่ายน้ำมันเครื่องข้างตึก ข้าพเจ้าเห็นตาวาวๆ สองดวงอยู่ในความมืด ข้าพเจ้าได้ยินริชาร์ดพูดว่า ‘คุณหาผมเจอจนได้ อธิการ! ผมจะขึ้นไป’ ขณะที่ข้าพเจ้ากับริชาร์ดพูดคุยกัน ข้าพเจ้าบอกเขาว่าเราคิดถึงเขามากและต้องการเขา เขารับปากกับข้าพเจ้าว่าจะไปร่วมการประชุม … [ต่อมา] ริชาร์ดกล่าวว่าจุดพลิกผันของชีวิตเขาคือเมื่ออธิการเจอเขาแอบอยู่ในหลุมถ่ายน้ำมันเครื่องและช่วยให้เขากลับมาแข็งขันอีกครั้ง” (“ชูการ์บีทและค่าของจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, ก.ค. 2009, 5–6)

เรียนรู้จากบุตรหายไปอีกคน

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพี่ชายของบุตรที่หายไปดังนี้

“บุตรคนนี้โกรธที่น้องกลับมาบ้านแต่ก็ไม่มากเท่าความโกรธที่บิดามารดามีความสุขกับเรื่องนั้น ความที่รู้สึกน้อยใจและบางทีอาจจะเป็นมากกว่าความสงสารตัวเอง ทำให้บุตรที่มีความรับผิดชอบคนนี้—ผู้มีความรับผิดชอบ มากเป็นพิเศษ —ลืมไปชั่วขณะว่าเขาไม่เคยต้องพบกับความสกปรกหรือสิ้นหวัง ความกลัวหรือเกลียดตัวเอง เขาลืมไปชั่วขณะว่าวัวทุกตัวในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นของเขาอยู่แล้ว เสื้อผ้าทุกชุดในตู้และแหวนทุกวงในลิ้นชักก็เป็นของเขาด้วย เขาลืมไปชั่วขณะว่าความซื่อสัตย์ของเขามีผลตอบแทนให้เสมอ

“เขาผู้มีทุกสิ่ง และผู้ที่ได้มาด้วยการทำงานหนักด้วยวิธีที่ยอดเยี่ยม ขาดเพียงสิ่งเดียวที่อาจทำให้เขาเกือบเป็นคนสมบูรณ์แบบของพระเจ้า เขายังไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีเมตตา ไม่มีสายตากว้างไกลและความใจกว้าง เขาไม่เห็นว่า คนที่กลับมาไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นน้องชายของเขาเอง ดังที่บิดาขอให้เขาเข้าใจว่าน้องคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก น้องที่หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 77)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เอื้อมออกไปหาคนนั้น เฉกเช่นคนเลี้ยงแกะในอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 15:4) “ท่านสามารถเอื้อมออกไปหาผู้ที่ไม่มาชั้นเรียนของท่าน โอกาสของท่านที่จะสอนและหนุนใจสมาชิกชั้นเรียนและช่วยพวกเขาให้มาสู่พระคริสต์นั้นมีมากกว่าในห้องเรียนและมากกว่าผู้ที่เข้าชั้นเรียนทางการของท่าน” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 8)