พันธสัญญาใหม่ 2023
7–13 สิงหาคม โรม 1–6: “ฤทธา‌นุ‌ภาพ​ของ​พระ‍เจ้าเพื่อ​ให้ … ​ได้​รับ​ความ​รอด”


“7–13 สิงหาคม โรม 1–6: ‘​ฤทธา‌นุ‌ภาพ​ของ​พระ‍เจ้าเพื่อ​ให้ … ​ได้​รับ​ความ​รอด,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“7–13 สิงหาคม โรม 1–6,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
เปาโลกำลังเขียนสาส์น

7–13 สิงหาคม

โรม 1–6

​“ฤทธา‌นุ‌ภาพ​ของ​พระ‍เจ้าเพื่อ​ให้ … ​ได้​รับ​ความ​รอด”

ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนอะไรเมื่อท่านอ่าน โรม 1–6? การกระตุ้นเตือนเหล่านี้สามารถช่วยท่านเลือกจากแนวคิดการสอนต่อไปนี้หรือเตรียมจากแนวคิดของท่านเอง

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำในการตอบคำเชิญที่ท่านให้ไว้ในบทเรียนของสัปดาห์ที่แล้ว

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

โรม 1:16–17

ฉันสามารถแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยทำตามพระองค์

เปาโลสอนว่าพระกิตติคุณมีพลังในการนำความรอดมาสู่ทุกคนที่ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านสามารถช่วยเด็กแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยการทำตามพระองค์ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน โรม 1:17 ให้เด็กฟัง และช่วยพวกเขาท่องจำวลี “คนชอบธรรมจะมีชีวิตอยู่โดยความเชื่อ” ท่านอาจมอบหมายคำหนึ่งในวลีนั้นให้เด็กแต่ละคนและขอให้พวกเขาพูดคำนั้นเมื่อท่านชี้ไปที่พวกเขา อธิบายว่าวลีนี้หมายความว่าเราควรมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ถามเด็กว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าศรัทธาคืออะไร ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์และอธิบายว่าเราเชื่อว่าพระองค์ทรงมีอยู่จริงแม้ว่าเรามองไม่เห็นพระองค์ นี่คือศรัทธา—การเชื่อในบางสิ่งแม้ว่าเรามองไม่เห็น

  • อธิบายว่าเราแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยการเชื่อฟังพระองค์ ซ่อนภาพผู้คนที่ทำตามสิ่งที่พระเยซูทรงขอให้เราทำไว้ทั่วห้อง ให้เด็กผลัดกันหาภาพและอธิบายภาพ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามพระเยซู?

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งปิดตา และนำทางเขาเดินข้ามห้องไปยังภาพพระเยซู หากมีเวลาเหลือให้เด็กคนอื่นทำด้วย ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพวกเขาจะทำตามคำสอนของพระเยซูได้เหมือนที่พวกเขาทำตามการนำทางของท่าน

โรม 6:1–11

การรับบัพติศมาเหมือนการกลายเป็นคนใหม่

เด็กที่ท่านสอนกำลังเตรียมรับบัพติศมา พวกเขาสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับบัพติศมาจาก โรม 6?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่านซ้ำวลี “ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่” (โรม 6:4) บอกเด็กว่าสิ่งนี้มีความหมายกับท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจแบ่งปันความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ท่านรับบัพติศมาและพูดเกี่ยวกับการรับบัพติศมาของท่านว่าช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้เพื่อสอนเด็กว่าบัพติศมาช่วยให้เรากลายเป็นคนใหม่

  • หากเด็กคนใดเคยเข้าร่วมพิธีบัพติศมา ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ของตน หรือให้ดูภาพคนรับบัพติศมา (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณภาพที่ 35, 103–104) ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าในพิธีบัพติศมาเราทำสัญญาที่จะเป็นเหมือนพระเยซู เชื้อเชิญให้พวกเขาวาดรูปตนเองรับบัพติศมาและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อเตรียมรับบัพติศมา

  • ร้องเพลงกับเด็กเกี่ยวกับบัพติศมา เช่น “เมื่อฉันรับบัพติศมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 53) เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับบัพติศมาจากเพลงนี้?

ภาพ
เด็กรับบัพติศมา

บัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ถึงการเริ่มชีวิตใหม่ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

โรม 1:16–17

ฉันสามารถแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยทำตามพระองค์

เปาโลสอนว่าพระกิตติคุณมีพลังในการนำความรอดมาสู่ทุกคนที่ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ ศรัทธาเป็นแรงจูงใจให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติ ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจศรัทธามากขึ้นได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กคนหนึ่งหากรุงโรมบนแผนที่ ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าในสองสามสัปดาห์ถัดไปนี้ พวกเขาจะเรียนรู้จากจดหมายที่เปาโลเขียนถึงสมาชิกศาสนจักรในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง เริ่มจากจดหมายของท่านถึงผู้คนในกรุงโรม

  • เขียนข้อความจาก โรม 1:16 บนกระดาน เว้นว่างสองสามคำไว้ ขอให้เด็กค้นดูพระคัมภีร์และเติมคำในช่องว่าง เชิญเด็กแบ่งปันว่า “ฉันไม่รู้สึกละอายใจในพระกิตติคุณของพระคริสต์” มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 1:17 และให้เด็กคนอื่นตั้งใจฟังคำที่กล่าวซ้ำ “​มีชีวิตอยู่​โดย​ความ​เชื่อ” หมายความว่าอย่างไร? ช่วยเด็กหานิยามของคำว่าศรัทธาในแหล่งช่วยเช่น คู่มือพระคัมภีร์ “ศรัทธา” (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) ชีวิตเราจะต่างจากนี้อย่างไรถ้าเราไม่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์?

  • ให้เด็กดูต้นไม้และเมล็ด ถามเด็กว่าเราช่วยให้เมล็ดกลายเป็นต้นไม้ได้อย่างไร อธิบายว่าเมื่อเราปลูกและรดน้ำเมล็ด เรากำลังแสดงให้เห็นว่าเรามีศรัทธาว่าเมล็ดจะงอกงาม เราแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์? ท่านอาจร้องเพลงเกี่ยวกับศรัทธา เช่น “ศรัทธา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 50) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้

โรม 3:23–24

เราทุกคนต้องการพระเยซูคริสต์เพื่อจะได้รับการอภัยบาปของเรา

เปาโลต้องการให้ผู้คนในกรุงโรมเข้าใจว่าความรอดมาโดยผ่านพระเยซูคริสต์และพระคุณของพระองค์เท่านั้น ไตร่ตรองว่าท่านจะสอนความจริงนี้กับเด็กได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้วลีหนึ่งแก่เด็กแต่ละคนจาก โรม 3:23–24 ที่เขียนไว้บนกระดาษ เชื้อเชิญให้เด็กเรียงวลีให้ถูกต้องและอ่านข้อพระคัมภีร์ด้วยกัน ถามเด็กว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ อธิบายว่า “พระคุณ” ใน ข้อ 24 หมายถึงของประทานแห่งความรักและความเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งทำให้เราสามารถได้รับการอภัยบาปของเราและเป็นคนที่ดีขึ้น

  • แขวนภาพไว้สูงบนผนังหรือที่อื่นซึ่งเด็กไม่สามารถเอื้อมไปหยิบถึง ให้พวกเขาลองพยายามเอื้อม และเปรียบเทียบเรื่องนี้กับสิ่งที่เปาโลสอนใน โรม 3:23 จากนั้นช่วยให้พวกเขาเอื้อมถึง พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราซึ่งเราไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง? เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพวกเขานึกถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำและสิ่งที่ทรงทำได้เพื่อช่วยพวกเขา

โรม 6:1–11

การรับบัพติศมาเหมือนการกลายเป็นคนใหม่

เปาโลสอนว่าบัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ถึงการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ เป็นสัญลักษณ์ถึงการถูกทำให้ลุกขึ้นเพื่อ “​ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่” ด้วย (โรม 6:4) เราต่อคำมั่นสัญญาที่จะ​ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่ทุกครั้งเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน โรม 6:3–6 เปาโลกล่าวว่าบัพติศมาเป็นการ “เข้าสนิทกับพระองค์ใน” อะไร?

  • สนทนาว่าบัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ถึงความตายและการฟื้นคืนชีวิตอย่างไร การให้ดูภาพการรับบัพติศมาอาจช่วยได้ เหตุใดความตายและการฟื้นคืนชีวิตจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรารับบัพติศมา?

  • อ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกด้วยกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79) เตือนเด็กว่าเมื่อเรารับศีลระลึกเราต่อคำมั่นสัญญาที่จะติดตามพระเยซูคริสต์ซึ่งเราให้ไว้เมื่อเรารับบัพติศมา ศีลระลึกช่วยเรา “ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่” อย่างไร?

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพที่แสดงให้เห็นว่าการ “ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่” มีความหมายอย่างไรต่อพวกเขา เด็กอาจแขวนภาพเหล่านี้ไว้ในห้องของพวกเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำที่จะเลือกสิ่งที่ดี

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

แนะนำให้เด็กขอสมาชิกครอบครัวบอกให้พวกเขารู้เมื่อพวกเขาเห็นเด็กกำลังทำบางสิ่งซึ่งแสดงถึงศรัทธา

ปรับปรุงการสอนของเรา

สร้างความมั่นใจให้เด็ก ชมเชยเมื่อเด็กมีส่วนร่วมในชั้นเรียน นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้พระกิตติคุณ