พันธสัญญาใหม่ 2023
6–12 มีนาคม มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9: “สิบสองคนนี้พระเยซูทรงใช้ให้ออกไป”


“6–12 มีนาคม มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9: ‘สิบสองคนนี้พระเยซูทรงใช้ให้ออกไป,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“6–12 มีนาคม มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงแต่งตั้งเปโตร

6–12 มีนาคม

มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9

“สิบสองคนนี้พระเยซูทรงใช้ให้ออกไป”

ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 9–10; มาระโก 5; และ ลูกา 9 ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ การกระตุ้นเตือนเหล่านี้ พร้อมกับ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้จะช่วยท่านเตรียมสอนได้

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางอย่างที่พวกเขาทำเพื่อช่วยคนบางคนสัปดาห์นี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อช่วยผู้อื่น?

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

มัทธิว 9:18–30; มาระโก 5:22–43

พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษาฉัน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงเดชานุภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการรักษาผู้ที่มีศรัทธาในพระองค์ ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในเดชานุภาพแห่งการรักษาของพระองค์ได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าเรื่องราวบุตรสาวของไยรัสให้เด็กฟัง (ดู มาระโก 5:22–23, 35–43) ในจุดที่เหมาะสมในเรื่องราวนี้ อ่านพระดำรัสของพระเยซู “จงลุกขึ้นเถิด” (ข้อ 41) และเชิญชวนให้เด็กยืน ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระเยซูทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษาผู้คนและประทานชีวิตนิรันดร์ให้เรา

  • ให้ดูภาพเรื่องราวใน มัทธิว 9:20–22 ขณะท่านอ่านข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ช่วยให้เด็กท่องจำวลี “ที่หายโรคนั้นก็เพราะลูกเชื่อ” (ข้อ 22) ในการทำเช่นนี้ท่านอาจมอบหมายคำให้เด็กแต่ละคน จากนั้นให้เด็กๆ พูดคำตามลำดับหลายครั้ง หญิงผู้นั้นแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเธอมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีศรัทธาในพระคริสต์?

  • ขอให้เด็กหลับตาและฟังขณะที่ท่านอ่านจาก มัทธิว 9:27–30 เมื่อท่านอ่านเรื่องราวที่พระเยซูทรงรักษาคนตาบอด ให้เด็กลืมตา เชิญให้เด็กพูดคุยว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพระเยซูทรงรักษาพวกเขา

  • ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้บุตรสาวของไยรัสฟื้นจากบรรดาคนตาย

ภาพ
หญิงเอื้อมออกไปแตะชายฉลองพระองค์ของพระเยซู

วางใจในพระเจ้า โดย ลิซ เลมอน สวินเดิล

มัทธิว 10:1–10

พระเยซูทรงเรียกอัครสาวกสิบสองและประทานพลังอำนาจให้พวกท่านทำงานของพระองค์

เด็กที่ท่านสอนรู้หรือไม่ว่าเรามีอัครสาวกสิบสองคนในปัจจุบัน? ท่านจะใช้ข้อเหล่านี้สอนพวกเขาเกี่ยวกับความสำคัญของอัครสาวกยุคปัจจุบันและสิ่งที่พวกท่านได้รับเรียกให้ทำได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • สรุป มัทธิว 10:1–10 ด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย อธิบายว่าพระเยซูทรงเรียกอัครสาวกให้ช่วยสร้างศาสนจักรของพระองค์ ให้เด็กนับอัครสาวกในภาพ พระคริสต์ทรงแต่งตั้งอัครสาวก (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 38) และในภาพโควรัมอัครสาวกสิบสองชุดปัจจุบัน (ดู ChurchofJesusChrist.org หรือ เลียโฮนา ฉบับการประชุมใหญ่สามัญ) อธิบายว่าเรามีอัครสาวกสิบสองคนในสมัยนี้ เช่นเดียวกับในสมัยของพระเยซู แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับอัครสาวกของพระเจ้าและบางอย่างที่พวกท่านสอนเมื่อไม่นานมานี้

  • ซ่อนภาพอัครสาวกยุคปัจจุบันไว้ทั่วห้อง (สำหรับภาพ ดู เลียโฮนา ฉบับการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุด) เชื้อเชิญให้เด็กหาภาพเหล่านั้น และบอกพวกเขาเล็กน้อยเกี่ยวกับอัครสาวกแต่ละท่าน (ดู “Meet Today’s Prophets and Apostles” ที่ ChurchofJesusChrist.org)

  • เชิญเด็กคนหนึ่งชูภาพฝ่ายประธานสูงสุด และภาพโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้เด็กคนนั้นพาเด็กคนอื่นๆ ไปรอบๆ ห้องจนถึงภาพพระเยซู เป็นพยานว่าศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกนำเราไปหาพระเยซูคริสต์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

มัทธิว 9:18–30; มาระโก 5:22–43

พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษาฉัน

การอ่านเรื่องราวพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาผู้คนจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระองค์ เรื่องราวเหล่านี้ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความสงสารและความรักของพระองค์ด้วย

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านเรื่องราวพระเยซูทรงรักษาผู้คนด้วยกันซึ่งพบใน มัทธิว 9:20–22, 27–30 และ มาระโก 5:22–23, 35–43 ผู้คนในเรื่องราวเหล่านี้แสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากเรื่องราวเหล่านี้?

  • เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาหรือคนรู้จักได้รับพรฐานะปุโรหิตเพื่อรักษาคนป่วย พวกเขาหายดีหรือได้รับพรอย่างไร? อธิบายว่าบางครั้งการรักษาที่น่าอัศจรรย์ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าแต่เรายังได้รับพรจากความรักและการปลอบโยนของพระองค์

มัทธิว 10:1–10

อัครสาวกสิบสองสามารถสอนฉันเกี่ยวกับพระเยซู

การเรียนรู้เกี่ยวกับอัครสาวกสิบสองในสมัยของพระคริสต์จะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่อัครสาวกสิบสองทำในปัจจุบันได้ดีขึ้นอย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพอัครสาวกในสมัยของพระเยซูและในสมัยของเรา (ดู พระคริสต์ทรงแต่งตั้งอัครสาวก [หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 38] และ เลียโฮนา ฉบับการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุด) ขอให้เด็กอ่าน มัทธิว 10:7 เพื่อค้นหาว่าอัครสาวกทำอะไรบ้าง (ดู ลูกา 9:1–2, 6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23 ด้วย)

  • เชิญชวนให้เด็กเขียนชื่ออัครสาวกชุดดั้งเดิมบนกระดานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ จากนั้นขอให้พวกเขาจดรายชื่ออัครสาวกที่มีชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จำได้ ให้พวกเขาตรวจสอบรายชื่อกับ มัทธิว 10:2–4 และ เลียโฮนา ฉบับการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุด นอกจากนี้ท่านอาจเล่นเกมจับคู่ที่เด็กจับคู่ชื่ออัครสาวกที่มีชีวิตแต่ละท่านกับรูปภาพของท่าน หารูปภาพได้ที่ ChurchofJesusChrist.org

  • ก่อนชั้นเรียนหลายวัน เชิญให้เด็กสองสามคนเตรียมมาแบ่งปันเรื่องราวที่เล่าโดยอัครสาวกที่มีชีวิตท่านหนึ่ง (ดู เลียโฮนา ฉบับต่างๆ สำหรับแนวคิด) อัครสาวกท่านนั้นใช้เรื่องราวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร?

  • แบ่งปันตัวอย่างประจักษ์พยานของอัครสาวกยุคปัจจุบันเกี่ยวกับพระคริสต์ให้เด็กฟังหลายตัวอย่าง (ดู ข่าวสารจากการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุด หรือ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” [ChurchofJesusChrist.org])

  • ช่วยให้เด็กท่องจำและเข้าใจ หลักแห่งความเชื่อ 1:6

ลูกา 9:23–25

การติดตามพระเยซูคริสต์เรียกร้องการเสียสละ

ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการ “เสีย” ชีวิตพวกเขาอย่างไรขณะติดตามพระผู้ช่วยให้รอด?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าให้เด็กฟังถึงช่วงเวลาที่ท่านยอมเสียบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันตัวอย่างของพวกเขาเอง จากนั้นอ่าน ลูกา 9:23–25 ด้วยกัน อธิบายว่าพระเยซูทรงต้องการให้เราเต็มใจยอมเสียสิ่งใดก็ตามเพื่อติดตามพระองค์ แม้พระองค์อาจไม่ได้ขอให้เราเสียชีวิตของเราจริงๆ แต่พระองค์ทรงขอให้เรามอบอะไรให้? (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 16:26)

  • เขียนคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์หลายอย่างบนแผ่นกระดาษและคำตรงข้ามคุณลักษณะเหล่านั้นบนแผ่นกระดาษอื่น (เช่น ความรักและความเห็นแก่ตัว ความถ่อมตนและความจองหอง เป็นต้น) เขียนคำว่า รอด และ เสีย เป็นหัวข้อบนกระดานและเชิญให้เด็กเรียงลำดับคุณลักษณะภายใต้หัวข้อที่เหมาะสม ให้เวลาเด็กไตร่ตรองถึงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์บนกระดานและเลือกหนึ่งอย่างที่จะพัฒนาอย่างเต็มที่มากขึ้น

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้สอนครอบครัวของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูทรงรักษาบุตรสาวของไยรัส

ปรับปรุงการสอนของเรา

ส่งเสริมความคารวะ ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าแง่มุมสำคัญของความคารวะคือการนึกถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะเตือนให้เด็กมีความคารวะโดยร้องเพลงเบาๆ หรือฮัมเพลงหรือให้ดูภาพพระเยซู