จงตามเรามา
16–22 กันยายน 2 โครินธ์ 8–13: ‘พระ‍เจ้า​ทรง​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี’


“16–22 กันยายน 2 โครินธ์ 8–13: ‘พระ‍เจ้า​ทรง​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“16–22 กันยายน 2 โครินธ์ 8–13,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2019

ภาพ
พระเยซูตรัสกับเด็กเล็ก

16–22 กันยายน

2 โครินธ์ 8–13

“พระ‍เจ้า​ทรง​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี”

ท่านจะมีแนวคิดที่ดีที่สุดสำหรับการสอนเด็กในชั้นเรียนของท่านเมื่อท่านศึกษา 2 โครินธ์ 8–13 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนพร้อมทั้งนึกถึงพวกเขาในใจ แนวคิดการสอนอื่นๆ มีอยู่ในโครงร่างนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

วิธีที่ดีอย่างหนึ่งในการเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกันคือเตือนพวกเขาถึงบางสิ่งที่ท่านเชื้อเชิญให้พวกเขาทำในระหว่างบทเรียนที่แล้ว ขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กเล็ก

2 โครินธ์ 9:6–7

ฉันสามารถให้คนขัดสนได้ด้วยใจยินดี

การรับใช้ผู้อื่นเป็นสิ่งดีเสมอ แต่ดียิ่งกว่านั้นเมื่อรับใช้ด้วยใจยินดี พิจารณาว่าสิ่งใดจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแต่ละคนเป็น “คนที่ให้ด้วยใจยินดี”

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่านประโยคนี้ซ้ำ “​พระ‍เจ้า​ทรง​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี” (2 โครินธ์ 9:7) การเป็น “คนที่ให้ด้วยใจยินดี” หมายความว่าอย่างไร ให้ดูภาพหน้ายิ้มและหน้าเศร้า ถามเด็กว่าหน้าไหนเป็นคนที่ให้ด้วยใจยินดี

  • ร้องเพลงเกี่ยวกับการรับใช้ด้วยกัน เช่น “เมื่อเราช่วยเหลือ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 108) ร้องสี่ห้าครั้ง ครั้งแรก ขอให้เด็กร้องด้วยใจยินดี จากนั้นขอให้พวกเขาร้องด้วยอารมณ์หรือทัศนคติที่ต่างออกไป เช่น เศร้า เหนื่อย โกรธ หรือกลัว เตือนเด็กว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราช่วยผู้อื่นด้วยความปีติยินดี จากนั้นร้องเพลงด้วยใจยินดีอีกครั้ง

  • ให้ภาพหน้ายิ้มแก่เด็ก ขอให้พวกเขาชูภาพขึ้นเมื่อได้ยินคำว่า อมยิ้ม ขณะที่พวกเขาร้องเพลง “ยิ้ม” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 128) พวกเขาอาจทำแบบเดียวกันด้วยภาพหน้างอกับคำว่า หน้างอ และ หน้าบึ้ง บอกเด็กว่าหน้างอคือไม่มีใจยินดี วิธีหนึ่งในการมีใจยินดีและรับใช้ผู้อื่นคือการยิ้มและช่วยให้ผู้อื่นยิ้ม

  • วางแผนกิจกรรมชั้นเรียนเพื่อรับใช้ใครบางคน เช่นเด็กที่ไม่เข้าชั้นเรียนปฐมวัยหรือสมาชิกวอร์ดหรือเพื่อนบ้านที่ขัดสน ท่านอาจวางแผนไปเยี่ยมบ้านบุคคลนั้น เขียนข้อความดีๆ หรือวาดรูป หรือทำขนมไปให้

  • เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนวางแผนการรับใช้ด้วยใจยินดีสำหรับสมาชิกครอบครัวของเขา ระหว่างบทเรียนสัปดาห์หน้า ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ทำ

2 โครินธ์ 12:7–10

พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนเสมอ แต่พระองค์ไม่ได้ประทานทุกสิ่งที่ฉันขอ

ประสบการณ์ที่เปาโลมีกับการสวดอ้อนวอนขอให้ทรงนำ “หนามในเนื้อ” ออกไปสอนเราว่าบางครั้งพระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงความรักเราโดยไม่ประทานสิ่งที่เราต้องการ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูต้นไม้ที่มีหนาม (หรือใช้ภาพ) ให้พวกเขานึกดูว่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกหนามตำเป็นเวลานาน สรุป 2 โครินธ์ 12:7–10 ให้เด็กฟัง โดยใช้คำที่พวกเขาจะเข้าใจ อธิบายว่า “หนามในเนื้อ” ของเปาโลคือการทดลอง เช่นความอ่อนแอทางร่างกาย แม้เปาโลทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงนำการทดลองออกไป แต่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงทำเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเปาโลว่าความท้าทายจะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะนอบน้อมถ่อมตนและวางใจในพระองค์ จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เราเข้มแข็งขึ้นได้

  • เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา และพระองค์จะประทานสิ่งที่เราต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นจะแตกต่างจากที่เราคิดว่าเราต้องการ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่คำสวดอ้อนวอนของท่านได้รับคำตอบในวิธีหนึ่งหรือในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งต่างจากที่ท่านคาดหวังไว้ เรื่องราว “อย่าลืมสวดอ้อนวอนให้เอริค” (เลียโฮนา, ม.ค. 2017, 74–75) อาจช่วยได้เช่นกัน

  • ร้องเพลงกับเด็กเกี่ยวกับความรักของพระบิดาบนสวรรค์ เช่น “การสวดอ้อนวอนของเด็กๆ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 6–7) ถามเด็กว่าพวกเขาจะบอกอะไรกับคนที่สงสัยว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนหรือไม่ ร้องเพลงอีกครั้ง และชี้ให้เห็นท่อนที่บรรยายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กโต

2 โครินธ์ 9:6–9

ฉันสามารถให้คนขัดสนได้ด้วยใจยินดี

เปาโลต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจให้วิสุทธิชนให้สิ่งที่พวกเขามีเหลือล้นเพื่อช่วยคนยากจน ท่านจะใช้ถ้อยคำของเปาโลเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนถ้อยคำจาก 2 โครินธ์ 9:7 บนกระดาน โดยเว้นว่างคำสำคัญ ขอให้เด็กทายว่าคำที่หายไปนั้นคืออะไร จากนั้นให้พวกเขาอ่านข้อนั้นในพระคัมภีร์เพื่อเติมคำในช่องว่าง การให้ด้วย “ความ​เสีย‍ดาย” หรือ “​ความ​จำ‍ใจ” หมายความว่าอย่างไร การเป็น “คนที่ให้ด้วยใจยินดี” หมายความว่าอย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กช่วยท่านหาภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่กำลังรับใช้ผู้อื่น (มีหลายภาพใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ถามพวกเขาว่าเห็นอะไรในภาพเหล่านี้ซึ่งช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระเยซูทรงรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก ตั้งเป้าหมายเป็นชั้นเรียนเพื่อตอบตกลงเมื่อสมาชิกครอบครัวหรือคนอื่นๆ ขอให้เรารับใช้ในสัปดาห์ที่จะมาถึง เช่นการช่วยทำงานบ้านหรือการดูแลผู้อื่น

  • ช่วยเด็กตกแต่งหินก้อนเล็กๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาพก “หินรับใช้” ไว้ในกระเป๋าสัปดาห์นี้เพื่อช่วยเตือนให้พวกเขารับใช้ผู้อื่นด้วยใจยินดี

  • ช่วยเด็กคิดคำร้องข้อใหม่ของเพลงที่เกี่ยวกับการรับใช้ เช่น “แสนสนุก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 129) ซึ่งสอนว่าการรับใช้ผู้อื่นในหลากหลายวิธีนั้นแสนสนุก

2 โครินธ์ 12:7–10

พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนเสมอ แต่พระองค์ไม่ได้ประทานทุกสิ่งที่ฉันขอ

เปาโลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงนำความอ่อนแอของท่านออกไป แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่าความอ่อนแอของเปาโลจะทำให้ท่านนอบน้อมถ่อมตนและทำให้ท่านเข้มแข็งขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กเปรียบเทียบ 2 โครินธ์ 12:9–10 กับ อีเธอร์ 12:27 ถ้อยคำหรือวลีใดซ้ำกัน ข้อเหล่านี้สอนอะไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าเปาโลกำลังเปรียบเทียบความท้าทายของท่านกับหนามในเนื้อของท่าน) พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนอะไรเปาโลเกี่ยวกับการทดลอง

  • เชื้อเชิญให้เด็กเขียนการทดลองที่มีอยู่ในชีวิตของผู้คน ช่วยพวกเขาพิจารณาว่าบางคนอาจเรียนรู้และได้รับพรจากการทดลองเหล่านี้อย่างไร

  • อ่าน “พระบิดาบนสวรรค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉันทุกครั้งหรือไม่” กับเด็กๆ (เลียโฮนา, ม.ค. 2017, 69) ขอให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอนขอบางสิ่งและไม่ได้รับ ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์นั้น ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเช่นกัน แสดงประจักษ์พยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราเสมอในวิธีและเวลาที่จะเป็นพรแก่เรามากที่สุด

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กเป็นคนที่ให้ด้วยใจยินดีในบ้านของพวกเขาสัปดาห์นี้และให้เตรียมมารายงานในชั้นเรียนสัปดาห์หน้าว่าพวกเขารับใช้คนที่ขัดสนอย่างไร

ปรับปรุงการสอนของเรา

จัดการกับสิ่งรบกวนด้วยความรัก “บางครั้งเด็กจะมีพฤติกรรมในวิธีที่รบกวนการเรียนรู้ของผู้อื่นในชั้นเรียน เมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้น จงอดทน เต็มไปด้วยความรัก และเข้าใจถึงความท้าทายที่เด็กอาจกำลังเผชิญ … ถ้าเด็กที่ก่อให้เกิดสิ่งรบกวนมีความต้องการพิเศษ ให้คุยกับผู้เชี่ยวชาญความพิการวอร์ดหรือสเตค disabilities.lds.org เพื่อหาวิธีตอบรับความต้องการเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น” (ดูการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 26)