จงตามเรามา
2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘​พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ’


“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘​พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2019

ภาพ
อ่างบัพติศมาในพระวิหาร

2–8 กันยายน

1 โครินธ์ 14–16

“​พระ‍เจ้า​ไม่​ใช่​พระ‍เจ้า​แห่ง​ความ​วุ่น‍วาย แต่​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ”

ขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 14–16 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะสอนอะไรเด็กในชั้นเรียนของท่าน ทบทวนโครงร่างนี้สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านอาจเริ่มบทเรียนของสัปดาห์นี้โดยการอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 14:26 ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเรามาโบสถ์ด้วยกัน เราสามารถจรรโลงใจ (หรือเสริมสร้างและช่วยเหลือ) คนอื่นเมื่อเราแบ่งปัน เด็กจะแบ่งปันอะไรได้บ้างเพื่อจรรโลงใจบางคนในชั้นเรียนวันนี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กเล็ก

1 โครินธ์ 15:12–22

ฉันจะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์หลังจากฉันตายเพราะพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์

ท่านจะสอนเด็กในชั้นเรียนได้อย่างไรว่าเพราะพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์เราจึงสามารถมีชีวิตได้อีกครั้ง

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านประโยคต่อไปนี้ซ้ำหลายครั้งกับเด็ก “ทุก​คน​ก็​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​โดย​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​พระ‍คริสต์” (1 โครินธ์ 15:22) ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) อธิบายว่าวันหนึ่งเราทุกคนจะตาย แต่เพราะพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากเราตาย

  • ใช้บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงเพื่อสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต ตัวอย่างเช่น ให้เด็กดูเสื้อแจ็คเก็ต ซึ่งหมายถึงร่างกายเนื้อหนังของเรา เมื่อเรามีชีวิตอยู่ วิญญาณของเราอยู่ในร่างกายของเรา และร่างกายของเราเคลื่อนไหวได้ (สวมเสื้อแจ็คเก็ต) เมื่อเราตาย วิญญาณออกจากร่างกายเนื้อหนังของเรา และร่างกายของเราเคลื่อนไหวไม่ได้ (ถอดเสื้อแจ็คเก็ตออกและวางไว้บนโต๊ะหรือเก้าอี้เพื่อแสดงถึงร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ) เมื่อเราฟื้นคืนชีวิต วิญญาณของเรากลับคืนสู่ร่างกายของเรา (สวมเสื้อแจ็คเก็ตอีกครั้ง) และจะไม่แยกจากกันอีกเลย ให้เด็กผลัดกันสวมเสื้อแจ็คเก็ตและถอดออกขณะที่เด็กอีกคนอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราฟื้นคืนชีวิต

1 โครินธ์ 15:29

ฉันสามารถรับบัพติศมาแทนคนที่ตายไปแล้ว

เด็กที่ท่านสอนสามารถเตรียมตัวเวลานี้เพื่อไปพระวิหารและรับบัพติศมาแทนคนตายเมื่อพวกเขาอายุ 12 ปี เปาโลกล่าวถึงหลักคำสอนสำคัญนี้ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงชาวโครินธ์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง (เช่นการแบกของหนักมากหรือการเอื้อมไปหยิบของบนชั้นที่สูงมาก) ใครช่วยพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ ให้ดูภาพบรรพชนของท่านคนหนึ่งที่ตายไปโดยไม่ได้รับบัพติศมา บอกเด็กเกี่ยวกับบุคคลนี้ และอธิบายว่าบุคคลนี้จะรับบัพติศมาไม่ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากบางคนในโลกนี้

  • ถามเด็กว่าพวกเขามีสมาชิกครอบครัวที่เคยไปพระวิหารและทำพิธีบัพติศมาแทนคนตายหรือไม่ ให้ดูภาพอ่างบัพติศมาพระวิหาร เด็กรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ อธิบายว่าในพระวิหารเราสามารถรับบัพติศมาแทนคนตายที่ยังไม่ได้รับบัพติศมา จากนั้นคนเหล่านั้นสามารถเลือกได้ว่าเขาจะยอมรับบัพติศมาหรือไม่

1 โครินธ์ 15:40–41

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรซีเลสเชียล

ท่านจะสอนเด็กอย่างไรเกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และทีเลสเชียล กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนบนกระดานว่า ซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และ ทีเลสเชียล ช่วยเด็กพูดคำเหล่านี้

  • ให้ดูภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ดวงไหนส่องสว่างมากที่สุด อ่าน 1 โครินธ์ 15:40–41 ให้เด็กฟัง (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 1 โครินธ์ 15:40 ด้วย) อธิบายว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวแสดงถึงอาณาจักรที่เราจะอาศัยอยู่หลังจากฟื้นคืนชีวิต ในอาณาจักรซีเลสเชียล เราจะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์

  • วาดภาพดวงอาทิตย์บนกระดานและวางกระดาษชิ้นเล็กๆ บนพื้น ซึ่งแสดงถึงก้าวเดิน อันนำไปสู่ดวงอาทิตย์ กระดาษแต่ละชิ้นอาจแสดงถึงสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะเข้าไปในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู คพ. 76:50–53) ให้เด็กแบ่งปันแนวคิดและก้าวเดินสู่อาณาจักรซีเลสเชียล

ภาพ
อรุณรุ่ง

เปาโลเปรียบรัศมีภาพซีเลสเชียลกับดวงอาทิตย์

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

เด็กโต

1 โครินธ์ 15:12–22

เพราะพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ฉันจะฟื้นคืนชีวิต

เด็กที่ท่านสอนเข้าใจความสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์หรือไม่ แนวคิดเหล่านี้อาจช่วยได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันอ่านแต่ละข้อใน 1 โครินธ์ 15:12–22 มองหาคำตอบของคำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการฟื้นคืนชีวิต”

  • เชื้อเชิญให้เด็กแสดงบทบาทสมมุติว่าจะอธิบายเรื่องการฟื้นคืนชีวิตให้บางคนเข้าใจอย่างไร สำหรับแนวคิดอื่นๆ ดู ข่าวสารของประธานโธมัส เอส. มอนสันเรื่อง “คุณนายแพททัน—เรื่องราวดำเนินต่อไป” (เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 25–29) ชมวีดิทัศน์ “Until We Meet Again” (LDS.org) ด้วย แสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์

1 โครินธ์ 15:12–13, 20–22, 29

ฉันสามารถเตรียมตัวไปพระวิหารเพื่อรับบัพติศมาแทนคนตาย

เมื่อเด็กมีอายุ 12 ปี พวกเขาสามารถได้รับใบรับรองพระวิหารและประกอบพิธีบัพติศมาแทนคนตายในพระวิหาร ท่านจะช่วยพวกเขาเตรียมตัวได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 โครินธ์ 15:29 วิสุทธิชนในสมัยของเปาโลทำอะไรที่เราก็ทำเหมือนกันในสมัยนี้

  • ถามเด็กว่าทำไมเราจึงรับบัพติศมาแทนคนตาย หากจำเป็น อธิบายว่าบรรพชนของเราหลายคนไม่มีโอกาสรับบัพติศมาและการยืนยันในช่วงชีวิตนี้ ในพระวิหาร เราสามารถรับบัพติศมาและการยืนยันแทนพวกเขาได้

  • สองสามวันก่อนชั้นเรียน ให้พ่อหรือแม่เด็กคนหนึ่งเตรียมมาแบ่งปันแผนภูมิสืบสกุลของเขา หรือมาเล่าเรื่องบรรพชนคนหนึ่ง ท่านอาจจะแบ่งปันเรื่องราวบรรพชนของท่านเอง

  • เชิญสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการมาแบ่งปันบางสิ่งที่เด็กทำได้เพื่อจะมีค่าควรแก่การเข้าพระวิหาร ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้างเพื่อจะจำได้ว่าต้องทำสิ่งเหล่านี้ เขียนแนวคิดของพวกเขาไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งเขาจะไปพระวิหาร

1 โครินธ์ 15:40–41

หลังจากฉันฟื้นคืนชีวิต ฉันจะได้อยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล

เพื่อสอนชาวโครินธ์เกี่ยวกับร่างกายที่เราจะได้รับในการฟื้นคืนชีวิต เปาโลกล่าวถึงรัศมีภาพสามระดับ ซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และทีเลสเชียล

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 โครินธ์ 15:40–41 และเชิญเด็กคนหนึ่งมาวาดรูปดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวบนกระดาน ขอให้สมาชิกชั้นเรียนระบุว่าร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วแบบไหนที่แสดงถึงภาพวาดแต่ละภาพ

  • ร้องเพลงเกี่ยวกับพระวิหารด้วยกัน เช่น “พระเจ้าประทานพระวิหารให้ฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 73) เพลงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการเตรียมตัวอาศัยอยู่ในรัศมีภาพซีเลสเชียล

  • อธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับนิมิตซึ่งท่านเห็นอาณาจักรทั้งสามตรงกับชนิดของร่างกายที่เปาโลบรรยายไว้ ช่วยเด็กหาวลีจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:50–53, 70; 76:71–79; 76:81–82 ที่บรรยายถึงอาณาจักรทั้งสามเหล่านี้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กขอพ่อแม่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนคนหนึ่งของพวกเขา พวกเขาอาจเล่าเรื่องราวให้ชั้นเรียนฟังในสัปดาห์หน้า

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้เด็กถามคำถาม “พยายามมอง [เด็กๆ] ว่าคำถามของพวกเขาเป็นโอกาส ไม่ใช่สิ่งรบกวนหรืออุปสรรคต่อบทเรียนของท่าน … คำถามเช่นนั้นจะให้ข้อคิดที่มีค่าแก่ท่านว่าเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ พวกเขากังวลเรื่องอะไร และพวกเขาตอบรับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้อย่างไร ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าคำตอบต่อคำถามของพวกเขาจะพบได้ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต” (ดูการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)