จงตามเรามา
25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4: “พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว”


“25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4: ‘พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“25–31 พฤษภาคม โมไซยาห์ 29–แอลมา 4” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
แอลมาผู้บุตรสั่งสอน

แอลมาผู้บุตรสั่งสอน โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

25–31 พฤษภาคม

โมไซยาห์ 29–แอลมา 4

“พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว”

เด็กที่ท่านสอนสามารถเรียนรู้ได้มากในชั้นเรียนของท่าน แต่พวกเขาจะเรียนรู้มากยิ่งขึ้นถ้าพวกเขาพัฒนานิสัยของการศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้าน พิจารณาว่าท่านจะกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนพระกิตติคุณในบ้านได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้เด็กนั่งเป็นวงกลมบนพื้น และกลิ้งบอลให้เด็กคนหนึ่ง ขอให้เด็กคนนั้นแบ่งปันบางอย่างที่เขาเพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณที่บ้านหรือในปฐมวัย จากนั้นให้เด็กคนดังกล่าวกลิ้งบอลให้คนอื่น ทำซ้ำจนกว่าเด็กทุกคนมีโอกาสแบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

แอลมา 1:2–9, 26–30

ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร ฉันควรรักและรับใช้ผู้อื่น

ท่านอาจจะเลือกบอกเด็กไม่มากนักเกี่ยวกับคำสอนของนีฮอร์ แต่พวกเขาอาจจะได้ประโยชน์จากการรู้ว่าในศาสนจักรเรารับใช้เพราะเรารักผู้อื่น ไม่ใช่เพราะเราต้องการร่ำรวยหรือทำให้คนนิยมชมชอบ

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าเรื่องของแอลมากับนีฮอร์ให้เด็กฟังด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย (ดู แอลมา 1; “บทที่ 20: แอลมาและนีฮอร์เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 54–55 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องบน ChurchofJesusChrist.org) เน้นว่าถึงแม้ผู้ติดตามนีฮอร์จะใจร้ายต่อสมาชิกศาสนจักร แต่สมาชิกศาสนจักรจำนวนมากก็ยังใจดีและรักพวกเขา

  • อ่าน แอลมา 1:30 ให้เด็กฟัง และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าผู้คนของศาสนจักรแบ่งปันสิ่งที่พวกเขามีให้แก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะแบ่งปันได้และคนที่พวกเขาจะแบ่งปันให้ กระตุ้นให้เด็กวาดภาพแผนต่างๆ ของพวกเขา

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความรักและการรับใช้ เช่น “ความเมตตาเริ่มที่เรา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 83) และช่วยเด็กๆ คิดท่าประกอบเพลง

แอลมา 2:28–30

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉัน

เมื่อแอลมากับชาวนีไฟรู้สึก “กลัวมาก” (แอลมา 2:23) พวกเขาสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือและเข้มแข็งขึ้น ช่วยให้เด็กเรียนรู้จากแบบอย่างของพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้ภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว หรือใน “บทที่ 21: ชาวแอมลิไซ” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 56–57 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องบน ChurchofJesusChrist.org) บอกเด็กว่าชาวนีไฟได้รับพละกำลังให้ปราบชาวแอมลิไซ ถามเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่น่ากลัวหรือยากสำหรับพวกเขา และเป็นพยานว่าพวกเขาสามารถสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้

  • แบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านหลังจากท่านสวดอ้อนวอนพระองค์ เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับการสวดอ้อนวอน

แอลมา 4:19

ประจักษ์พยานของฉันสามารถทำให้ผู้อื่นเข้มแข็ง

บ่อยครั้ง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” (แอลมา 4:19) ของเด็กสามารถมีอิทธิพลแรงกล้าต่อผู้อื่น ท่านจะช่วยให้เด็กพบวิธีแบ่งปันประจักษ์พยานของตนได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เปิดพระคัมภีร์ไปที่ แอลมา 4:19 และอธิบายว่าเมื่อแอลมาเห็นผู้คนชั่วร้ายมาก เขาตัดสินใจใช้วิธีที่ดีที่สุดช่วยคนเหล่านั้น นั่นคือ แสดง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” ต่อพวกเขา ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้สอนเด็กว่าประจักษ์พยานคืออะไรและมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานของตน

  • เทน้ำสะอาดลงในแก้วใส และอธิบายว่าน้ำเปรียบเสมือนประจักษ์พยานของเราเพราะเราสามารถแบ่งปันกับผู้อื่นได้ เทน้ำในแก้วใส่ถ้วยเล็กให้เด็กแต่ละคน และบอกเด็กว่าเมื่อเราแบ่งปันประจักษ์พยานของเรา เราช่วยให้ผู้อื่นมีประจักษ์พยานเข้มแข็งขึ้นด้วย

  • ให้เด็กฝึกแสดงประจักษ์พยานถ้าพวกเขาประสงค์จะทำเช่นนั้น เสนอแนะหลายๆ วิธีที่พวกเขาจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้ว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง รวมถึงผ่านการกระทำของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

แอลมา 1:2–9

ฉันสามารถฝึกมองคำสอนเท็จให้ออก

ณ บางจุดในชีวิตเรา เราทุกคนต้องพบเจอคนอย่างนีฮอร์—คนที่พยายามหลอกเราด้วยข่าวสารที่น่าฟังแต่ไม่จริงและเป็นภัย การเล่าเรื่องใน แอลมา 1:2–9 จะช่วยเด็กเตรียมรับการเผชิญหน้าเช่นนั้นในชีวิตพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กอ่าน แอลมา 1:2-4 เพื่อทบทวนบางอย่างที่ผู้สอนปลอมอย่างนีฮอร์สอน ช่วยพวกเขาสร้างคำถามถูกผิดโดยใช้ข้อความจากข้อเหล่านี้ เหตุใดบางครั้งซาตานจึงรวมความจริงกับความเท็จเข้าด้วยกัน ช่วยให้เด็กนึกถึงตัวอย่างบางเรื่อง

  • หลังจากทบทวน แอลมา 1:2–9 ด้วยกันแล้ว ขอให้เด็กอ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้คนละข้อ: มัทธิว 7:21–23; 2 นีไฟ 26:29–31; โมไซยาห์ 18:24–26; และ ฮีลามัน 12:23–26 พระคัมภีร์เหล่านี้หักล้างคำสอนของนีฮอร์อย่างไร เราจะใช้พระคัมภีร์เสริมสร้างประจักษ์พยานของเราในพระกิตติคุณได้อย่างไร

แอลมา 1:26–30; 4:6–13

ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร ฉันควรรักและรับใช้ผู้อื่น

บางครั้งสมาชิกศาสนจักรในสมัยของแอลมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน หลายครั้งพวกเขาใจร้ายและจองหอง ช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเหล่านั้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กอ่าน แอลมา 4:6–13 และนิยามคำต่างๆ อย่างเช่น “ดูหมิ่น” “ข่มเหง” และ “เหยียดหยาม” (ใช้พจนานุกรมหากจำเป็น) เรารู้สึกอย่างไรเมื่อคนอื่นปฏิบัติต่อเราในลักษณะนี้ เชื้อเชิญให้เด็กหาคำใน แอลมา 1:26–30 ที่บอกว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราปฏิบัติต่อกันอย่างไร

  • ขอให้เด็กอ่าน แอลมา 1:27, 30 และเขียนรายชื่อคนประเภทที่สมาชิกศาสนจักรช่วย เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงคนในละแวกบ้านหรือโรงเรียนที่อาจจะ “ขัดสน” (แอลมา 1:30) ความรักและความช่วยเหลือ เพื่อเสริมหลักธรรมนี้ ให้ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความเมตตากรุณา เช่น “ฉันเดินกับเธอ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79)

แอลมา 4:8–20

ประจักษ์พยานของฉันสามารถทำให้ผู้อื่นเข้มแข็ง

แอลมาสละตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อเขาจะได้ใช้เวลาแบ่งปันประจักษ์พยานและช่วยให้ผู้อื่นกลับใจมากขึ้น แบบอย่างของแอลมาอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กแบ่งปันประจักษ์พยานบ่อยขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน แอลมา 4:8–12, 15 กับเด็ก และขอให้พวกเขาระบุปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในศาสนจักรดังที่อธิบายไว้ในข้อเหล่านี้ เชื้อเชิญให้เด็กเสนอบางสิ่งที่แอลมาสามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ช่วยพวกเขาหาสิ่งที่แอลมาตัดสินใจทำใน แอลมา 4:16–20 เหตุใดประจักษ์พยานจึงมีพลังมาก

  • เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าประจักษ์พยานคืออะไรและมีอะไรอยู่ในนั้น ให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Apostle Testimony Montage” (ChurchofJesusChrist.org); ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับหัวข้อนี้ เช่น “ประจักษ์พยาน” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 60) หรือใช้หน้ากิจกรรมของโครงร่างนี้ ขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับประจักษ์พยานจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ช่วยให้เด็กนึกถึงคนที่พวกเขาสามารถแบ่งปันประจักษ์พยานให้ในสัปดาห์ถัดไป กระตุ้นให้พวกเขาเขียนแผนซึ่งจะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายนี้

ปรับปรุงการสอนของเรา

ถามคำถามที่เชื้อเชิญประจักษ์พยาน “การถามคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงประจักษ์พยานถึงหลักธรรมที่สอนสามารถเป็นวิธีอันทรงพลังในการเชื้อเชิญพระวิญญาณ” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 32) เพื่อเชื้อเชิญให้เด็กแสดงประจักษ์พยาน จงถามคำถามที่กระตุ้นให้พวกเขาคิดและแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านอาจจะถามเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีกับการสวดอ้อนวอน การรับใช้ ศาสนพิธีเช่นบัพติศมา หรือรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์