จงตามเรามา
20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6 “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ”


“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6: ‘การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขา

ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า โดย วอลเตอร์ เรน

20–26 เมษายน

โมไซยาห์ 4–6

“การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ”

คำสอนใดของกษัตริย์เบ็นจามินใน โมไซยาห์ 4–6 จะช่วยเด็กที่ท่านสอนให้เริ่มประสบ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ” (โมไซยาห์ 5:2) ในใจพวกเขาได้ดีที่สุด บันทึกความประทับใจของท่านขณะท่านแสวงหาการนำทางร่วมกับการสวดอ้อนวอน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เขียนชื่อเด็กแต่ละคนในชั้นไว้ในแถบกระดาษ และใส่ไว้ในภาชนะ เมื่อท่านหยิบแต่ละชื่อออกจากภาชนะ ให้เด็กคนนั้นแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาจำได้จากบทเรียนสัปดาห์ที่แล้วหรือบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก โมไซยาห์ 4–6 ที่บ้านสัปดาห์นี้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

โมไซยาห์ 4:1–3, 10

การกลับใจทำให้เกิดปีติ

ช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับของประทานอันแสนวิเศษของการกลับใจที่มีให้เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้ โมไซยาห์ 4:1–3 และ 10 สอนเด็กว่ากลับใจหมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น ช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินรู้สึกเสียใจเพราะบาปของตนและขออภัย (ข้อ 1–2) กษัตริย์เบ็นจามินบอกพวกเขาให้ละทิ้ง (หรือหยุดทำ) บาป (ข้อ 10) อ่าน ข้อ 3 ให้พวกเขาฟัง และถามว่าผู้คนรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขากลับใจ

  • ถามเด็กว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อเสื้อผ้าเราสกปรก เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราสะอาดอีกครั้ง อธิบายว่าเหมือนการซักผ้าสกปรก เรากลับใจได้เมื่อเราทำผิด ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ และเป็นพยานว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพในการลบบาปของเราและทำให้เราสะอาดอีกครั้งถ้าเรากลับใจ ร้องข้อสองของเพลง “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” พร้อมกัน (ดูหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52) ถามเด็กว่าเพลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการกลับใจ

โมไซยาห์ 4:13–26

ฉันควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและความกรุณา

ท่านจะใช้ โมไซยาห์ 4:13–26 สอนเด็กให้ “รักกัน, และรับใช้กัน” ได้อย่างไร (ข้อ 15)

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดหัวใจขนาดเล็กบนกระดาน เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันวิธีที่พวกเขาจะมีน้ำใจต่อผู้อื่น แต่ละครั้งที่พวกเขาแบ่งปัน ให้ลบหัวใจและวาดให้ใหญ่กว่าเดิม เป็นพยานว่าความรักที่เรามีต่อผู้อื่นเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีน้ำใจต่อพวกเขา แจกหัวใจกระดาษให้เด็ก และเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดวิธีที่พวกเขาจะแสดงความรักและความกรุณาไว้บนหัวใจ

  • ช่วยเด็กคิดท่าประกอบขณะร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการรักผู้อื่น เช่น “พระเยซูตรัสจงรักทุกคน” หรือ “จงรักกันและกัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39, 74)

โมไซยาห์ 5:5–15

เมื่อฉันทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ฉันรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวฉัน

ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเตรียมทำพันธสัญญาบัพติศมากับพระผู้เป็นเจ้าและได้รับ “เรียกว่าลูกๆ ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 5:7) ได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กทำป้ายชื่อที่เขียนว่า “พระเยซูคริสต์” และติดไว้ที่เสื้อเหนือหัวใจของพวกเขา (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) อธิบายว่ากษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขาว่าเมื่อเราทำพันธสัญญา หรือสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า นั่นเหมือนกับมีชื่อของพระคริสต์ “จารึกอยู่ในใจ [เรา] เสมอ” (โมไซยาห์ 5:12) เราสัญญาจะทำอะไรเมื่อเรารับบัพติศมาและรับศีลระลึก (ดู โมไซยาห์ 5:8; คพ. 20:37, 77, 79)

  • ถามเด็กว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเป็นเพื่อนกับคนบางคน (ตัวอย่างเช่น พูดคุยด้วย ทำสิ่งต่างๆ กับคนนั้น และใช้เวลากับคนนั้น) อ่าน โมไซยาห์ 5:13 ให้เด็กฟัง เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรู้จักพระเยซูคริสต์ดีขึ้นทั้งนี้เพื่อพระองค์จะไม่เป็น “คนแปลกหน้า” สำหรับเรา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

โมไซยาห์ 4:1–11

ฉันสามารถกลับใจ

ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการกลับใจได้อย่างไร ท่านรู้สึกว่าข้อใดใน โมไซยาห์ 4:1–11 จะช่วยพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนคำว่า การให้อภัย บนกระดาน อ่าน โมไซยาห์ 4:1–3 ด้วยกันและขอให้เด็กค้นหาคำใน ข้อ 3 ซึ่งพูดถึงพรที่เกิดขึ้นเมื่อเรากลับใจและได้รับการให้อภัย

  • ขอให้เด็กบอกชื่อสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะได้กลับใจอย่างครบถ้วนจริงใจ ช่วยพวกเขาหาการกระทำบางอย่างเหล่านี้ใน โมไซยาห์ 4:10 สนทนาความหมายของคำและวลีที่พบในข้อนั้น เล่าเรื่องที่แสดงตัวอย่างการกลับใจ อาจจะจากชีวิตท่านเองหรือจากนิตยสารศาสนจักรฉบับล่าสุด

  • ช่วยเด็กหาคำใน โมไซยาห์ 4:6, 9 และ 11 ที่พูดถึงพระบิดาบนสวรรค์ เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นอย่างไรเมื่อเราต้องกลับใจ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อท่านกลับใจ

โมไซยาห์ 4:12–26

พระกิตติคุณเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและความกรุณา

กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่าเมื่อเรามาหาพระคริสต์และรับการปลดบาปของเรา เรา “เปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 4:12) ซึ่งนำเราให้รักและกรุณาต่อผู้อื่น

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กคนคว้า โมไซยาห์ 4:13–16, 26 และระบุวลีที่บอกว่าเราจะรับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาทำท่าประกอบสิ่งเหล่านั้นหรือวาดภาพ และให้เด็กคนอื่นทายวลีดังกล่าว เราจะแสดงความรักและความกรุณาที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่โบสถ์ได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารักหรือรับใช้บางคนและประสบการณ์นั้นทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร ผู้คนอาจไม่ต้องการรับใช้ผู้อื่นด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ถามเด็กว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับคนบางคนเพื่อชักชวนคนนั้นให้ช่วยคนขัดสน พวกเขาสามารถหาแนวคิดได้ใน โมไซยาห์ 4:16–26

ภาพ
เด็กผู้หญิงเล่นกับทารก

พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้เรามีน้ำใจต่อผู้อื่น

โมไซยาห์ 5:5–15

เมื่อฉันรับบัพติศมาและรับศีลระลึก ฉันรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวฉัน

เด็กหลายคนที่ท่านสอนอาจจะได้รับบัพติศมาแล้วและกำลังต่อพันธสัญญาผ่านศีลระลึก เตือนพวกเขาว่าส่วนสำคัญของพันธสัญญาบัพติศมาคือการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตนเอง

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดวงกลมบนกระดาน และติดภาพพระเยซูคริสต์ไว้กลางวงกลม เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพตนเองขณะท่านอ่าน โมไซยาห์ 5:8 ด้วยกัน ข้อนี้บอกว่าเราควรรับอะไรไว้กับตัวเรา เราได้ “เข้ามาใน” อะไร เชื้อเชิญให้เด็กเขียนพระนามของพระคริสต์ไว้บนภาพตนเองและติดภาพเหล่านั้นไว้กับพระผู้ช่วยให้รอดในวงกลม เราทำพันธสัญญาอะไรบ้างเมื่อเรารับบัพติศมาและรับศีลระลึก (ดู โมไซยาห์ 18:8–9; คพ. 20:77, 79)

  • พูดคุยกับเด็กว่าเหตุใดบางคนเขียนชื่อตนเองไว้บนสิ่งต่างๆ เช่น การบ้านจากโรงเรียน ชุดกีฬา และอื่นๆ (ดู โมไซยาห์ 5:14–15) เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเรามีพระนามของพระคริสต์ “จารึกอยู่ในใจ [เรา] เสมอ” (โมไซยาห์ 5:12)

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงคนหนึ่งจากวอร์ดมาเยี่ยมชั้นเรียนของท่านและอธิบายพันธสัญญาที่เราต่อโดยการรับส่วนศีลระลึก อ่านคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77 และ 79 กับเด็กๆ โดยเชื้อเชิญให้พวกเขามองหาวลีที่บอกว่าเราทำพันธสัญญาว่าจะทำอะไรและพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาอะไรกับเราเป็นการตอบแทน

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กวาดบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้และใช้ภาพวาดสอนครอบครัวของพวกเขา

ปรับปรุงการสอนของเรา

สอนเด็กให้บันทึกความประทับใจ แม้แต่เด็กก็สามารถฝึกนิสัยของการบันทึกความประทับใจทางวิญญาณ—ตัวอย่างเช่น ทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ วาดภาพ หรือเขียนบันทึกส่วนตัวง่ายๆ