จงตามเรามา
2–8 มีนาคม 2 นีไฟ 31–33: “นี่คือทางนั้น”


“2–8 มีนาคม 2 นีไฟ 31–33: ‘นี่คือทางนั้น’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“2–8 มีนาคม 2 นีไฟ 31–33,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์

พระคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ โดย จัสติน คุนซ์

2–8 มีนาคม

2 นีไฟ 31–33

“นี่คือทางนั้น”

เริ่มการเตรียมของท่านโดยอ่าน 2 นีไฟ 31–33 แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านจะสอนเด็ก โครงร่างนี้จะให้แนวคิดแก่ท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพราะนีไฟสอนเรื่องบัพติศมาของพระคริสต์ จงขอให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเคยเรียนรู้เกี่ยวกับบัพติศมา พวกเขาอาจจะแบ่งปันความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับบัพติศมาของพวกเขาเองหรือบัพติศมาของเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

2 นีไฟ 31

พระเยซูคริสต์ทรงสอนฉันให้รู้วิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

นีไฟสอนว่าการทำตามแบบอย่างและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นทางเดียวที่ “จะได้รับการช่วยให้รอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 31:21)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ขณะท่านสรุปเรื่องบัพติศมาของพระเยซู (ดู 2 นีไฟ 31:4–13) อธิบายว่าบัพติศมาเป็นหนึ่งขั้นบนเส้นทางกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ เชื้อเชิญให้คนที่เพิ่งรับบัพติศมาเล่าความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับบัพติศมาให้เด็กฟัง

  • อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อกลับไปหาพระองค์หลังจากเราสิ้นชีวิต วาดทางเดินบนกระดานแล้วติดภาพพระคริสต์ไว้ปลายทาง แจกภาพแทนองค์ประกอบต่างๆ จากหลักคำสอนของพระคริสต์ให้เด็ก (ศรัทธาในพระคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่) ช่วยพวกเขาติดภาพตามทาง

  • ช่วยให้เด็กเรียนรู้หลักแห่งความเชื่อข้อสี่ ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ เช่น “ศรัทธา,” “เมื่อฉันรับบัพติศมา” หรือ “เลือกทางที่ถูก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 50–51, 53, 82–83)

2 นีไฟ 32:3

ฉันสามารถดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

ประสบการณ์การ “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์” ของท่าน (2 นีไฟ 32:3) จะช่วยให้เด็กเข้าใจวลีนี้ได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กบอกชื่ออาหารบางอย่างที่พวกเขาโปรดปราน และให้พวกเขาทำท่าดื่มด่ำกับอาหารเหล่านั้น อ่าน 2 นีไฟ 32:3 และขอให้เด็กฟังสิ่งที่นีไฟกล่าวว่าเราควรดื่มด่ำ ดื่มด่ำพระคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร อธิบายว่าพระคัมภีร์เป็นที่หนึ่งที่เราสามารถหาพระวจนะของพระคริสต์ได้

  • เขียนคำว่า พระผู้เป็นเจ้า และ พระเจ้า บนกระดาน เชื้อเชิญให้เด็กเปิดพระคัมภีร์ไปที่หน้าใดหน้าหนึ่งและมองหาคำเหล่านี้ ให้ความช่วยเหลือพวกเขาหากจำเป็น เป็นพยานว่าเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า

2 นีไฟ 32:8–9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันสวดอ้อนวอนเสมอ

ข้อเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทำให้การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ถามเด็กว่าพวกเขาสวดอ้อนวอนเมื่อใด พวกเขาสวดอ้อนวอนตอนเช้า ตอนกลางคืน ก่อนอาหารหรือไม่ ช่วยเด็กคิดท่าแสดงเวลาที่เราสามารถสวดอ้อนวอน เช่น เมื่อเราตื่นนอน เข้านอน และรับประทานอาหาร—หรือเวลาใดก็ได้ อ่านบรรทัดแรกหรือสองบรรทัดจาก 2 นีไฟ 32:9 ให้เด็กฟังและเน้นวลี “สวดอ้อนวอนเสมอ”

  • ถามเด็กว่าพวกเขาสวดอ้อนวอนอย่างไร พวกเขาทำอะไรกับศีรษะ มือ และอื่นๆ พวกเขากล่าวคำสวดอ้อนวอนเรื่องอะไรบ้าง ขอให้พวกเขาสมมติว่าท่านไม่รู้วิธีสวดอ้อนวอนและให้พวกเขาสอนท่าน เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราสวดอ้อนวอน

ภาพ
เด็กผู้หญิงสวดอ้อนวอน

เราสามารถพูดคุยกับพระผู้เป็นเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

2 นีไฟ 31

พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้ฉันรู้วิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

เราสามารถกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้าหลังจากชีวิตนี้โดยทำตามหลักคำสอนที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน ได้แก่ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับบัพติศมาของพระเยซู (ดู มัทธิว 3:13–17) ติดคำต่อไปนี้บนกระดานโดยไม่ต้องเรียงลำดับ: พระเยซูทรงเป็นพยานต่อพระบิดาว่าพระองค์จะทรงเชื่อฟังพระบิดา เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน 2 นีไฟ 31:7 ในชั้นเรียนและเรียงคำให้ถูกต้องตามลำดับ

  • ถามเด็กว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับคนที่กำลังเตรียมรับบัพติศมา และช่วยพวกเขารวบรวมคำแนะนำไว้บนการ์ดที่พวกเขาจะมอบให้บางคน เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูต่อไปได้อย่างไรหลังจากเรารับบัพติศมา

  • อธิบายว่าหลักคำสอนของพระคริสต์นับรวมถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าเราต้องทำเพื่อกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ เขียน ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ในกระดาษแยกแผ่นและวางกระจายทั่วห้อง อ่าน 2 นีไฟ 31:11–19 ให้เด็กฟัง และเชื้อเชิญให้พวกเขาผลัดกันกระโดดจากกระดาษแผ่นหนึ่งไปอีกแผ่นหนึ่งเมื่อพวกเขาได้ยินหลักธรรมเหล่านี้ ช่วยให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์ที่เคยมีกับหลักธรรมแต่ละข้อ

2 นีไฟ 32:3–5

ฉันสามารถดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

เหตุใดเด็กจึงต้องเข้าใจความสำคัญของการดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กนึกภาพงานเลี้ยงฉลอง พวกเขาอยากกินอาหารอะไรที่นั่น พวกเขาอยากกินอะไรก่อน จากนั้นให้พวกเขานึกภาพการดื่มด่ำพระคัมภีร์ว่าจะหมายถึงอะไรขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 32:3 เหตุใดนีไฟจึงใช้คำว่า ดื่มด่ำ เพื่อสอนเราให้รู้ว่าเราควรศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร เหตุใดเขาจึงไม่พูดแค่ อ่าน ดื่มด่ำพระคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร บอกเด็กเกี่ยวกับพรที่ท่านเคยได้รับเมื่อท่านดื่มด่ำพระคัมภีร์

  • ทำหน้ากิจกรรมกับเด็กให้ครบถ้วน และให้พวกเขาตั้งเป้าหมายทำอย่างน้อยหนึ่งอย่างเพื่อดื่มด่ำพระคัมภีร์สัปดาห์นี้

2 นีไฟ 32:8–9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันสวดอ้อนวอนเสมอ

ปฏิปักษ์ล่อลวงเราไม่ให้สวดอ้อนวอน พิจารณาว่าท่านจะช่วยเด็กต่อต้านการล่อลวงนี้และ “สวดอ้อนวอนเสมอ” (2 นีไฟ 32:9) ได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เลือกวลีหนึ่งเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจาก 2 นีไฟ 32:8–9 เขียนวลีนั้นบนกระดาน และปิดแต่ละคำไว้ด้วยกระดาษ เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันหยิบกระดาษออกทีละแผ่นจนกว่าพวกเขาจะทายได้ว่าวลีนั้นคืออะไร

  • อ่าน 2 นีไฟ 32:8–9 ด้วยกันและขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากข้อเหล่านี้ “สวดอ้อนวอนเสมอ” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 9) เราจะสวดอ้อนวอนเสมอได้อย่างไร

  • อะไรอาจจะทำให้คนบางคนไม่อยากสวดอ้อนวอน แบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านสวดอ้อนวอนทั้งที่รู้สึกไม่อยากสวดอ้อนวอน ท่านรู้สึกอย่างไรหลังจากนั้น เชิญเด็กคนหนึ่งอ่านครึ่งหลังของ 2 นีไฟ 32:8 และให้เวลาเด็กไตร่ตรอง เหตุใดซาตานจึงไม่ต้องการให้เราสวดอ้อนวอน เราจะเตือนตัวเราให้สวดอ้อนวอนแม้เมื่อเรารู้สึกไม่อยากสวดอ้อนวอนได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กหาคนๆ หนึ่ง—เพื่อน พี่น้อง หรือสมาชิกครอบครัว—ที่พวกเขาจะสอนวิธีสวดอ้อนวอนให้ได้

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กกระตือรือร้น ให้เด็กทำท่าประกอบเรื่องราวพระคัมภีร์และเพลง ใช้ธรรมชาติที่กระตือรือร้นของพวกเขายกระดับการเรียนรู้ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)