พันธสัญญาใหม่ 2023
10–16 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9: “พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าทำสิ่งใด?”


“10–16 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9: ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าทำสิ่งใด?,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“10–16 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
เปาโลล้มลงกับพื้นดิน

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสระหว่างทางไปดามัสกัส โดย มีเกลันเจโล เมริซี ดา คาราวัจโจ

10–16 กรกฎาคม

กิจการของอัครทูต 6–9

“พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าทำสิ่งใด?”

เริ่มโดยอ่าน กิจการของอัครทูต 6–9 ข้อเสนอแนะในโครงร่างนี้จะช่วยท่านระบุหลักธรรมสำคัญบางประการในบทเหล่านี้ถึงแม้ท่านจะพบหลักธรรมอื่นในการศึกษาส่วนตัว

บันทึกความประทับใจของท่าน

หากใครสักคนไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนใจเลื่อมใส คนนั้นน่าจะเป็นเซาโล—ชาวฟาริสีผู้มีชื่อเสียงเรื่องการข่มเหงชาวคริสต์ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระเจ้ารับสั่งกับสาวกคนหนึ่งชื่ออานาเนียให้ตามหาเซาโลและให้พรเขา อานาเนียจึงลังเล “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เขากล่าว “ข้าพระองค์ได้ยินหลายคนพูดถึงคนนั้นว่าเขาทำร้ายธรรมิกชนของพระองค์” (กิจการของอัครทูต 9:13) แต่พระเจ้าทรงรู้ใจและศักยภาพของเซาโล และทรงมีพันธกิจให้เซาโลทำ “คนนี้เป็นภาชนะที่เราเลือก‍สรรไว้ เขาจะนำนามของเราไปถึงบรร‌ดาคน‍ต่าง‍ชาติ และบรร‌ดากษัตริย์ และไปถึงพวกอิสรา‌เอล” (กิจการของอัครทูต 9:15) อานาเนียจึงเชื่อฟัง และเมื่อเขาพบอดีตผู้ข่มเหงคนนี้ เขาเรียกคนนี้ว่า “พี่เซาโล” (กิจการของอัครทูต 9:17) หากเซาโลสามารถเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิงและอานาเนียสามารถต้อนรับเขาได้อย่างสบายใจ แล้วเราควรจะคิดว่าจะมีคนที่ไม่น่าจะเปลี่ยนได้หรือ—รวมทั้งตัวเราเอง?

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

กิจการของอัครทูต 6–8

ใจฉันต้อง “ซื่อตรงต่อพระเจ้า”

ศาสนจักรที่กำลังเติบโตหมายถึงต้องการให้เหล่าสานุศิษย์รับใช้ในอาณาจักรมากขึ้น ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 6:1–5 อัครสาวกสิบสองกำลังมองหาคุณสมบัติอะไรในคนเหล่านั้นผู้จะรับใช้กับพวกเขา ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 6–8 ให้สังเกตว่าคนแบบสเทเฟนและฟีลิปแสดงให้เห็นคุณสมบัติเหล่านี้และอื่นๆ อย่างไร ซีโมนขาดอะไรและเราสามารถเรียนรู้อะไรจากเขาเกี่ยวกับการเต็มใจที่จะเปลี่ยน?

มีสิ่งใดหรือไม่ที่ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้เปลี่ยนเพื่อให้ใจท่าน “ซื่อตรงต่อพระเจ้า”? (กิจการของอัครทูต 8:21–22) การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นพรแก่ท่านอย่างไรขณะที่ท่านรับใช้พระผู้เป็นเจ้า?

กิจการของอัครทูต 6–7

การขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำไปสู่การปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดและผู้รับใช้ของพระองค์

ผู้นำชาวยิวมีหน้าที่เตรียมประชาชนให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังไม่รู้จักพระเมสสิยาห์และปฏิเสธพระองค์ นี่เกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบส่วนหนึ่งอาจพบได้ในคำพูดของสเทเฟน: “ท่านขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เสมอ” (กิจการของอัครทูต 7:51) ท่านคิดว่าขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายถึงอะไร? เหตุใดการขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงนำไปสู่การปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดและผู้รับใช้ของพระองค์?

ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 6–7 ให้มองหาข่าวสารอื่นที่สเทเฟนสอนชาวยิว เขากำลังเตือนให้ระวังเจตคติอะไรบ้าง? ท่านสังเกตเห็นเจตคติคล้ายกันนี้ในชีวิตท่านหรือไม่? คำพูดของสเทเฟนสอนอะไรท่านเกี่ยวกับผลของการขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์? ท่านจะรู้สึกไวและตอบรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตท่านมากขึ้นได้อย่างไร?

กิจการของอัครทูต 8:26–39

พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยฉันนำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์

ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณจากเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 8:26–39? พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยฟีลิปอย่างไร? การแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นเหมือนการเป็นผู้นำทางอย่างไร? (ดู กิจการของอัครทูต 8:31)

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสกล่าวว่าเรื่องราวนี้ “เป็นสิ่งเตือนใจถึงพระบัญชาจากสวรรค์ที่เราทุกคนได้รับที่จะแสวงหา เรียนรู้ และสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กัน … บางครั้งเราเป็นเหมือนชาวเอธิโอป—เราต้องการความช่วยเหลือจากครูที่ซื่อสัตย์และได้รับการดลใจ และบางครั้งเราเป็นเหมือนฟีลิป—เราต้องการสอนและทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของผู้อื่นเข้มแข็งขึ้น” (“ฉันจะเข้าใจได้อย่างไร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 6) ท่านอาจจะอ่านข่าวสารที่เหลือของเอ็ลเดอร์ซวาเรสและไตร่ตรองว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยให้ท่านเป็นผู้เรียนและเป็นครูสอนพระกิตติคุณได้ดีขึ้นอย่างไร

กิจการของอัครทูต 9

เมื่อฉันยอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า ฉันสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโลดูเหมือนจะเกิดขึ้นทันทีทันใด เขารีบเปลี่ยนจากการจำคุกคริสต์ศาสนิกชนเป็นการสั่งสอนเรื่องพระคริสต์ในธรรมศาลา ขณะที่ท่านอ่านเรื่องนี้ ให้ไตร่ตรองว่าเหตุใดเขาเต็มใจเปลี่ยน (อ่านคำบรรยายของเซาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขาได้จาก กิจการของอัครทูต 22:1–16 และ 26:9–18 สังเกตว่าในเรื่องราวเหล่านี้ เซาโลใช้ชื่อเปาโล [ดู กิจการของอัครทูต 13:9])

แม้จะจริงที่ประสบการณ์ของเซาโลผิดจากธรรมดา—สำหรับคนส่วนใหญ่ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นกระบวนการยาวนานกว่านั้นมาก—มีสิ่งใดที่ท่านสามารถเรียนรู้ได้จากเซาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสหรือไม่? ท่านเรียนรู้อะไรจากวิธีที่อานาเนียกับสาวกคนอื่นๆ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโล? ท่านจะทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้บทเรียนเหล่านี้ในชีวิตท่าน? ท่านอาจจะเริ่มโดยทูลถามในการสวดอ้อนวอนเช่นเดียวกับเปาโลว่า “พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำอะไร?”

ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 9:36–42 ให้พิจารณาว่าทาบิธาเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ท่านได้รับแรงบันดาลใจอะไรเกี่ยวกับตัวอย่างของเธอ?

ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การรอคอยบนถนนสู่ดามัสกัส,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 88–96 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

กิจการของอัครทูต 6:8; 7:51–60เปรียบเทียบเรื่องราวของสเทเฟนใน กิจการของอัครทูต 6:8 และ กิจการของอัครทูต 7:51–60 กับเรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 23:1–46 สเทเฟนทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

กิจการของอัครทูต 7:51–60พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานพรสเทเฟนอย่างไรเมื่อเขาถูกข่มเหง? เราได้รับพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในช่วงเวลายากๆ เมื่อใด?

กิจการของอัครทูต 9:5ปฏัก คือหอกแหลมที่ใช้แทงสัตว์พาหนะ บ่อยครั้งสัตว์จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกแทง ซึ่งจะทำให้ปลายหอกฝังลงไปในเนื้อสัตว์ลึกขึ้น การเปรียบเทียบนี้บางครั้งอาจนำไปใช้กับเราได้อย่างไร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อยอมรับการแก้ไขจากพระเจ้าได้ดีขึ้น?

ภาพ
เปโตรทำให้ทาบิธาคืนชีพ

ทาบิธาลุกขึ้น โดย แซนดีย์ เฟรกเคิลตัน กากอน

กิจการของอัครทูต 9:32–43ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัววาดภาพเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 9:32–43 เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงจากเรื่องราวเหล่านี้ คนที่ “ทำคุณประโยชน์และสงเคราะห์คนจนมากมาย” เหมือนทาบิธาจะช่วยให้ผู้อื่นเชื่อในพระเจ้าได้อย่างไร? (ดู กิจการของอัครทูต 9:36)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงสวดที่แนะนำ: “ข้าจะไปที่พระองค์บัญชาเพลงสวด บทเพลงที่ 136

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

เปรียบพระคัมภีร์กับชีวิตท่าน ขณะที่ท่านอ่าน ให้พิจารณาว่าเรื่องเล่าและคำสอนในพระคัมภีร์ประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านมีโอกาสอะไรบ้างในการรับใช้ผู้อื่น เช่นเดียวกับทาบิธาใน กิจการของอัครทูต 9:36–39

ภาพ
สเทเฟนถูกขว้างด้วยก้อนหินจนตาย

“ขณะ‍ที่พวก‍เขาเอาหินขว้างส‌เท‌เฟนอยู่นั้น ท่านร้อง‍ทูลว่า ข้า‍แต่พระ‍เยซูองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า ขอทรงรับจิต‍วิญญาณของข้าพระ‍องค์ด้วย” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, กิจการของอัครทูต 7:59 )