จงตามเรามา
4–10 มีนาคม มัทธิว 8–9; มาระโก 2–5: ‘ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายเป็นปกติแล้ว’


“4–10 มีนาคม มัทธิว 8–9; มาระโก 2–5: ‘ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายเป็นปกติแล้ว’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“4–10 มีนาคม มัทธิว 8–9; มาระโก 2–5,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระเยซูทรงรักษาคนง่อย

การรักษาในปีกของพระองค์, โดย จอน แม็คนอห์ตัน

4–10 มีนาคม

มัทธิว 8–9; มาระโก 2–5

“ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายเป็นปกติแล้ว”

ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 8–9 และ มาระโก 2–5 จงพร้อมตอบรับความประทับใจที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจจะจดการกระตุ้นเตือนที่ได้รับและสิ่งที่ท่านจะทำได้เพื่อทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น

บันทึกความประทับใจของท่าน

คงยากที่ท่านจะอ่านพันธสัญญาใหม่โดยไม่ประทับใจเรื่องราวมากมายของพระผู้ช่วยให้รอดในการรักษาคนเจ็บป่วยและคนมีทุกข์—ทุกคนตั้งแต่หญิงมีไข้จนถึงเด็กหญิงที่คนอื่นบอกว่าเธอตายแล้ว ปาฏิหาริย์เหล่านี้ของการรักษาทางกายอาจจะมีข่าวสารอะไรสำหรับเรา แน่นอนว่าข่าวสารที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ทรงมีเดชานุภาพเหนือสิ่งทั้งปวง รวมทั้งความเจ็บปวดและความบกพร่องทางกาย แต่อีกความหมายหนึ่งพบในพระดำรัสของพระองค์ต่อพวกธรรมาจารย์ที่สงสัย “ทั้ง‍นี้เพื่อให้พวก‍ท่านรู้ว่าบุตร‍มนุษย์มีสิทธิ‍อำนาจในโลกที่จะอภัยบาปได้” (มาระโก 2:10) ดังนั้นเมื่อท่านอ่านเรื่องการรักษาคนตาบอดหรือคนโรคเรื้อน ท่านอาจจะนึกถึงการรักษา—ทั้งวิญญาณและร่างกาย—ที่ท่านจะได้รับจากพระผู้ช่วยให้รอดและได้ยินพระองค์ตรัสกับท่านว่า “ความเชื่อของท่านทำให้ท่านหายเป็นปกติแล้ว” (มาระโก 5:34)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 8–9; มาระโก 25

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถรักษาความทุพพลภาพและความเจ็บป่วย

บทต่อไปนี้สองสามบทบันทึกเหตุการณ์มากมายของการรักษาอันน่าอัศจรรย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ขณะท่านศึกษาการรักษาเหล่านี้ ให้มองหาข่าวสารสำหรับท่าน ท่านอาจจะถามตัวท่านเองว่า เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับศรัทธา เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ฉันเรียนรู้อะไรจากปาฏิหาริย์ครั้งนี้

ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “รักษาคนป่วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 58–62 ด้วย

ภาพ
พระเยซูทรงรักษาผู้ป่วย

พระเยซูทรงรักษาผู้ป่วย โดย โจเซฟ บริกคีย์ หลังไฮน์ริค ฮอฟแมนน์

มัทธิว 8:5–3; มาระโก 5:24–34

ฉันสามารถขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าได้แม้จะรู้สึกไม่สมควร

นายร้อยซึ่งเป็นคนต่างชาติรู้สึกไม่คู่ควรให้พระผู้ช่วยให้รอดอยู่ในบ้านของเขา หญิงเป็นโรคโลหิตตกถือกันว่าไม่สะอาดและถูกเนรเทศจากสังคมชาวยิว แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอวยพรทั้งสองคน ท่านเรียนรู้อะไรจากสองเรื่องนี้เกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า

มัทธิว 8:18–22; มาระโก 3:31–35

การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์หมายความว่าฉันให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต

ในข้อเหล่านี้ พระเยซูทรงสอนว่าการเป็นสานุศิษย์ของพระองค์เรียกร้องเราให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา แม้บางครั้งหมายความว่าเราต้องเสียสละอย่างอื่นที่เราเห็นค่า ขณะท่านศึกษาข้อเหล่านี้ ให้ไตร่ตรองการเป็นสานุศิษย์ของท่าน เหตุใดสานุศิษย์ต้องเต็มใจให้พระผู้ช่วยให้รอดมาเป็นอับดับแรก ท่านอาจจะต้องยอมทิ้งอะไรเพื่อให้พระเยซูมาเป็นอันดับแรก (ดู ลูกา 9:57–62 ด้วย)

มัทธิว 8:23–27; มาระโก 4:35–41

พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพทำให้เกิดสันติสุขท่ามกลางมรสุมชีวิต

ท่านเคยรู้สึกเหมือนเหล่าสาวกของพระเยซูคราวเกิดมรสุมที่ทะเลหรือไม่—มองดูคลื่นน้ำเข้ามาเต็มเรือและถามว่า “พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงเป็นห่วงว่าพวกเรากำลังจะพินาศหรือ”

ใน มาระโก 4:35–41 ท่านจะพบคำถามสี่ข้อ เขียนคำถามแต่ละข้อ และไตร่ตรองว่าข้อนั้นสอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเผชิญความท้าทายของชีวิตด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เกิดสันติสุขท่ามกลางมรสุมของชีวิตเราอย่างไร

มัทธิว 9:1–13; มาระโก 2:15–17

ฉันปกป้องความเชื่อของฉันได้โดยสอนหลักธรรมที่แท้จริง

บางครั้งยากจะรู้วิธีโต้ตอบเมื่อผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อและระเบียบปฏิบัติทางศาสนาของเรา ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 9:1–13 และ มาระโก 2:15–17 ให้มองหาคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้กล่าวหาและวิธีโต้ตอบของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจจะใช้สีต่างๆ ทำเครื่องหมายคำวิพากษ์วิจารณ์และวิธีโต้ตอบหรือจดไว้ ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน การทำตามแบบอย่างของพระองค์จะช่วยท่านได้อย่างไรถ้าท่านต้องปกป้องหลักธรรมพระกิตติคุณหรือระเบียบปฏิบัติของศาสนจักร

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Everyday Example: When Beliefs Are Questioned” (LDS.org) ด้วย

มัทธิว 9:1–8

เพราะการกลับใจ ฉันจึงชื่นใจได้

เมื่อผู้คนหามคนเป็นอัมพาตมาหาพระผู้ช่วยให้รอด ฝูงชนเห็นว่าเขาต้องได้รับการรักษาทางกาย แต่พระเยซูตรัสถึงความต้องการที่สำคัญกว่านั้นของเขาก่อน—นั่นคือการให้อภัยบาปของเขา ถึงแม้เขาไม่ได้รับการรักษาทางกาย แต่เขายังคงสามารถทำตามพระดำรัสแนะนำของพระเยซูให้ “ชื่นใจเถิด” (มัทธิว 9:2) ท่านเคยรู้สึกปีติเพราะท่านได้รับการให้อภัยเมื่อใด (ดู แอลมา 36:18–24 ด้วย)

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะยังคงเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดกับครอบครัวท่าน พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะสนองความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 8–9; มาระโก 25

ท่านอาจจะเขียนปาฏิหาริย์ที่บรรยายไว้ในบทเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ และหาภาพปาฏิหาริย์บางอย่าง (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือ LDS.org) ท่านอาจจะขอให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนเล่าปาฏิหาริย์หนึ่งอย่าง (โดยใช้ภาพถ้าหาได้) และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ท่านอาจจะยกตัวอย่างของปาฏิหาริย์บางอย่างที่ท่านเคยเห็นหรืออ่านเรื่องนั้นในประวัติศาสนจักรยุคปัจจุบัน

มัทธิว 9:10–13

เราเรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติต่อคนเก็บภาษีและคนบาปที่คนอื่นรังเกียจ เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไรขณะที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

มัทธิว 9:36–38

ท่านจะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจคำขอร้องของพระผู้ช่วยให้รอดให้คนช่วยแบ่งปันพระกิตติคุณมากขึ้นได้อย่างไร ท่านอาจจะช่วยกันทำงานง่ายๆ บางอย่างที่จะใช้เวลานานกว่านั้นมากถ้าทำคนเดียว เช่น ทำความสะอาดห้องครัวหลังอาหารเย็น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแบ่งปันข่าวสารของพระกิตติคุณ

มาระโก 4:35–41

เรื่องนี้จะช่วยสมาชิกครอบครัวเมื่อพวกเขารู้สึกกลัวได้หรือไม่ บางทีพวกเขาอาจจะอ่าน ข้อ 39 และแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้พวกเขารู้สึกสงบในช่วงเวลาของความวุ่นวายหรือความกลัว

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

มีเวลาให้พูดคุยด้วยได้ ช่วงการสอนที่ดีที่สุดบางครั้งเริ่มต้นเมื่อสมาชิกครอบครัวมีคำถามหรือข้อกังวลในใจ ให้สมาชิกครอบครัวรู้ผ่านคำพูดและการกระทำของท่านว่าท่านอยากฟังพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 16)

ภาพ
คนบนเตียงถูกหย่อนจากหลังคาลงมาหาพระเยซู

พระคริสต์กับคนเป็นอัมพาต โดย เจ. เคิร์ค ริชาร์ดส์