2023
พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน
กุมภาพันธ์ 2023


ดิจิทัลเท่านั้น

พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เรารักพระองค์เพราะพระองค์ทรงทราบว่าสิ่งนั้นจะทำอะไรเพื่อเรา

ภาพ
ความรักของพระเจ้าที่เข้าถึงใจของผู้คนทั่วโลก

พระกิตติคุณทั้งสามเล่ม—มัทธิว มาระโก และลูกา—เล่าถึงคำถามที่มีผู้ทูลถามพระเยซูเกี่ยวกับพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดในธรรมบัญญัติ ในมัทธิว ผู้ถามเป็นผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่งที่มีแรงจูงใจไม่บริสุทธิ์ ทดสอบพระอาจารย์ (ดู มัทธิว 22:35–36) ในมาระโกเป็นธรรมาจารย์คนหนึ่งที่ถามคำถาม แต่เป็นคนที่ดูเหมือนจะอยากรู้อย่างจริงใจ (ดู มาระโก 12:28–34) ในลูกา เราย้อนมาที่ “ผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่ง [ผู้] ยืนขึ้นทดสอบพระองค์” (ลูกา 10:25)

แม้ว่าข้าพเจ้าจะมีพื้นฐานวิชาชีพด้านกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับข้าพเจ้าที่จะปกป้องผู้เชี่ยวชาญบัญญัติในเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยข้าพเจ้าจะยกความดีให้เขาที่ถาม แม้ว่าเขาจะมีเจตนาแอบแฝง เพราะคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นยอดเยี่ยมและลึกซึ้งมาก ข้าพเจ้าต้องขอบคุณเขาเช่นกันสำหรับคำถามติดตามผลของเขา “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ลูกา 10:29)—ซึ่งนำไปสู่อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 10:30–37) ผู้เชี่ยวชาญบัญญัติได้มากกว่าที่เขาต้องการ แต่เราได้สิ่งที่ประเมินค่ามิได้

เรื่องราวของมัทธิวเกี่ยวกับคำตอบของพระเยซูเป็นที่คุ้นเคยสำหรับท่านทุกคน:

“ท่านอาจารย์ ในธรรมบัญญัตินั้น พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?

“พระเยซูทรงตอบเขาว่า จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน

“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก

“ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

“ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:36–40)

เพื่อรักพระเจ้าด้วยสุดใจ ด้วยสุดจิต และด้วยสุดความคิด มาระโกและลูกา เพิ่ม “และด้วยสุดกำลังของท่าน” (มาระโก 12:30; ลูกา 10:27)

ข้าพเจ้าขอให้ท่านพิจารณาถึงอำนาจสูงสุดของพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้ซึ่ง “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมดก็ขึ้นอยู่” และเหตุใดพระบัญญัติข้อแรกจึงมาก่อน อะไรคือความสำคัญของลำดับนั้นสำหรับเรา?

พระบัญญัติข้อที่สองเป็นแนวทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ พิจารณาว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไรหากทั่วโลกยอมรับและปฏิบัติตามพระบัญญัติข้อที่สอง ลองนึกถึงสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้น นอกเหนือจากสิ่งอื่นๆ แล้ว จะไม่มีอาชญากรรมรุนแรง ไม่มีการล่วงละเมิด ไม่มีการฉ้อฉล ไม่มีการประหัตประหารหรือการกลั่นแกล้ง ไม่มีการนินทา และไม่มีสงครามอย่างแน่นอน โดยพื้นฐานแล้วพระบัญญัติข้อที่สองนี้คือกฎทองคำ: “จงปฏิ‌บัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวก‍ท่านต้อง‍การให้พวก‍เขาปฏิ‌บัติต่อท่านเพราะนี่คือธรรม‍บัญญัติและคำสั่ง‍สอนของบรร‌ดาผู้‍เผย‍พระ‍วจนะ” (มัทธิว 7:12; ดู ลูกา 6:31; 3 นีไฟ 14:12 ด้วย) ในฐานะสานุศิษย์ เราควรตั้งใจดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติข้อที่สองนี้โดยแสดงความรักและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นเพื่อนบ้านของเรา—ซึ่งคือทุกคน

เพื่อสนับสนุน “ธรรม‍บัญญัติและผู้‍เผย‍พระ‍วจนะ”—เนื้อความของจริงและพระบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งขึ้นและสอนโดยศาสดาพยากรณ์—จำเป็นต้องมีทั้งพระบัญญัติข้อที่หนึ่งและสองโดยทำงานควบคู่กัน แต่ทำไมพระบัญญัติข้อต้นจึงมีความสำคัญสูงสุด? มีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการเข้ามาในความคิด

ประการแรกคือธรรมชาติพื้นฐานของพระบัญญัติข้อแรกนี้ แม้พระบัญญัติข้อสองเป็นสิ่งที่วิเศษและสำคัญอย่างยิ่งก็ตาม พระบัญญัติข้อนี้ไม่ได้จัดเตรียมรากฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิตเรา และไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นเช่นนั้น การเชื่อฟังพระบัญญัติข้อที่สองทำให้เราเป็นคนดี แต่เพื่ออะไร? จุดประสงค์ของการดำรงอยู่ของเราคืออะไร? สำหรับจุดประสงค์ ทิศทาง และความหมาย เราต้องมองไปที่พระบัญญัติข้อแรกและข้อสำคัญ

การให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อนไม่ได้ลดทอนหรือจำกัดความสามารถของเราในการรักษาพระบัญญัติข้อที่สอง ในทางตรงกันข้ามกลับขยายและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพระบัญญัติข้อสอง นั่นหมายความว่าเราเพิ่มพูนความรักโดยให้ความรักนั้นมีหลักยึดในเดชานุภาพและจุดประสงค์แห่งสวรรค์ นั่นหมายความว่าเรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะดลใจเราในวิธีต่างๆ เพื่อเข้าถึงสิ่งที่เราจะไม่เคยเห็นด้วยตนเอง ความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าทำให้เราสามารถรักผู้อื่นได้สมบูรณ์เต็มที่มากขึ้นเพราะเราเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าในการดูแลลูกๆ ของพระองค์

ประการที่สอง การเพิกเฉยต่อพระบัญญัติข้อแรกหรือการฝืนพระบัญญัติข้อแรกและข้อสอง เสี่ยงต่อการเสียสมดุลในชีวิตและการหันเหที่เป็นภัยต่อวิถีแห่งความสุขและความจริง ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและการยอมตนต่อพระองค์ช่วยตรวจสอบแนวโน้มของเราที่จะเสื่อมเสียซึ่งคุณธรรมโดยการผลักสิ่งเหล่านั้นออกไปสุดแรง ความเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อนบ้านเป็นสิ่งประเสริฐและดีงาม เช่น แม้เมื่อความทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะการละเมิดของตัวเขาเอง แต่ความเห็นอกเห็นใจที่ไร้การควบคุมอาจนำเราไปสู่การตั้งคำถามต่อความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใจพระเมตตาของพระองค์ผิด เหมือนกับโคริแอนทอน บุตรชายของแอลมา (ดู แอลมา 42:1)

ตัวอย่างเช่น มีบางคนที่เชื่อว่าการรักผู้อื่นหมายความว่าเราต้องบิดเบือนหรือเพิกเฉยต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้าในทางที่สนับสนุนหรือให้อภัยบาป เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงความเข้าใจผิดนี้เมื่อท่านสอนว่า:

“ดังนั้นหากความรักต้องเป็นคำเตือนใจเราดังที่มัน ต้อง เป็น พระผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักจึงตรัสว่าเราต้องทิ้งการล่วงละเมิดและนัยยะใดๆ … พระเยซูเข้าพระทัยชัดเจนถึงสิ่งที่หลายคนในวัฒธรรมสมัยใหม่คล้ายจะหลงลืมว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างพระบัญชาให้เราอภัยบาป (ซึ่งทรงสามารถทำได้อย่างไร้ขอบเขต) กับพระดำรัสเตือนไม่ให้ยอมรับบาป (ซึ่งพระองค์ไม่เคยทำแม้แต่ครั้งเดียว)”1

ดังที่แอลมาอธิบายให้โคริแอนทอนฟัง เราต้องการทั้งความยุติธรรมและความเมตตา และโดยความรักของพระผู้เป็นเจ้าในของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์และในของประทานแห่งการกลับใจจากพระบุตรของพระองค์เท่านั้นที่เราสามารถมีทั้งสองอย่างได้ (ดู แอลมา 42:13–15, 22–24)

ประการที่สาม บัญญัติข้อแรกต้องมาก่อนเพราะความพยายามในความรักที่ไม่มีพื้นฐานมาจากความจริงของพระผู้เป็นเจ้าอาจเสี่ยงที่จะทำร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือบุคคลอื่นๆ ที่เรากำลังพยายามช่วย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า

“เพราะพระบิดาและพระบุตรทรงรักเราด้วยความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดและสมบูรณ์แบบและเพราะทรงทราบว่าเราไม่สามารถเห็นทุกสิ่งเหมือนที่ทั้งสองพระองค์ทรงเห็น จึงประทานกฎที่จะนำทางและปกป้องเรา

“มีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นระหว่างความรักของพระผู้เป็นเจ้ากับกฎของพระองค์”2

นั่นเป็นเหตุผลสามประการว่าทำไมพระบัญญัติข้อแรกจึงมาก่อน แต่เราน่าจะระบุอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งตามจริงแล้วเหตุผลนี้เพียงพอในตัวมันเอง: พระบัญญัติข้อแรกมาเป็นอันดับแรกเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงให้ข้อนี้มาก่อน

พระบัญญัติสำคัญข้อแรกให้กระบวนทัศน์ที่แท้จริงสำหรับชีวิต ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันกล่าวไว้ว่า:

“เมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อน สิ่งอื่นทั้งหมดตกไปอยู่ในลำดับที่เหมาะสมหรือหลุดออกจากชีวิตเรา ความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าจะควบคุมการเรียกร้องทางอารมณ์ของเรา การเรียกร้องเวลาของเรา ความสนใจที่เราเสาะแสวงหา และการจัดลำดับความสำคัญของเรา”3

ความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา: ประทาน “สิทธิ์ก้าวหน้าเช่นพระองค์”

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงบัญชาให้เรารักพระองค์ ทรงรักเราก่อน (ดู 1 ยอห์น 4:19) ขอให้พิจารณาสักครู่ว่าความรักของพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายต่อท่านและข้าพเจ้าอย่างไรในการดำรงอยู่ของเราจนถึงจุดนี้ แม้กระทั่งก่อนการดำรงอยู่ของวิญญาณ เราดำรงอยู่ในฐานะความรู้แจ้งที่มิได้สร้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาท่ามกลางความรู้แจ้งและทรงวางแผนเพื่อที่เราจะก้าวหน้า จงจดจำคำพูดของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ:

“พระผู้เป็นเจ้าโดยที่ทรงพบว่าพระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางวิญญาณ [หรือความรู้แจ้ง] และรัศมีภาพ เพราะทรงรู้แจ้งมากกว่า พระองค์จึงทรงเห็นควรให้ตั้งกฎเพื่อให้คนอื่นๆ มีสิทธิ์ก้าวหน้าเช่นพระองค์” 4

ดังที่ท่านทราบ แผนของพระองค์ครอบคลุมการที่เรากลายเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ ซึ่งเป็นก้าวอันรุ่งโรจน์ “สถานะแรก” ของเรา (อับราฮัม 3:26) จากนั้นพระองค์ทรงกำหนดเส้นทางซึ่งเราอาจเพิ่มร่างกายเข้าไปในจิตวิญญาณ—เป็น “สถานะที่สอง” (อับราฮัม 3:26)—จำเป็นต่อการได้รับความสมบูรณ์ของการมีชีวิตและรัศมีภาพซึ่งพระผู้เป็นเจ้ามี จำเป็นต้องมีการสร้างโลกเพื่อเป็น “สภาพแห่งการทดลอง” (แอลมา 12:24), ความตายทางวิญญาณและทางร่างกาย และพระผู้ช่วยให้รอดที่จะไถ่และฟื้นคืนชีวิตเรา ในทั้งหมดนี้ พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีให้เราเลือกและทรงจัดเตรียมผลลัพธ์และพรที่มากขึ้นและน้อยลงตามที่เราเลือก

ด้วยเหตุนี้ เริ่มตั้งแต่สถานะแรกในฐานะความรู้แจ้ง—ในความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของเรา พระบิดาบนสวรรค์ทรงวางพระองค์เองและงานของพระองค์ไว้เป็นศูนย์กลางในเรา พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นงานและรัศมีภาพของพระองค์ที่จะทำเช่นนั้น (ดู โมเสส 1:39) ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าพระองค์ต้องทำแบบนั้น แล้วทำไมพระองค์จึงทำเช่นนั้นเพื่อเรา? แรงจูงใจของพระองค์คืออะไร? จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความรัก? หลักฐานชัดเจนของความรักนี้คือของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์:

“พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 3:16)

มากเกินไปหรือไม่ที่จะขอการตอบแทนนั้นเป็นการให้ชีวิตของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าและรักพระองค์ด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิด และสุดกำลังของเรา ดังที่พระองค์ทรงรัก? เราจะต่อต้านความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราและกีดกันความรักของเราจากพระองค์ได้อย่างไรโดยที่รู้ว่าความรักที่เรามีต่อพระเจ้าเป็นกุญแจสู่ความสุขของเรา

ความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้า: แบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

หากเรารักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิด และสุดกำลังของเรา จุดมุ่งหมายในชีวิตเราคือการทำให้ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จ แน่นอนว่าไม่มีใครทำได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบมากไปกว่าพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของเรา ผู้ที่เคยสังเกตว่า “พระ‍องค์ผู้ทรงใช้เรามาก็สถิตอยู่กับเราพระ‍องค์ไม่‍ได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำ‌พังเพราะ‍ว่าเราทำตามชอบ‍พระ‍ทัยพระ‍องค์เสมอ” (ยอห์น 8:29) สิ่งสำคัญสูงสุดของพระองค์คือการถวายพระเกียรติแด่พระบิดา

ลำดับความสำคัญสูงสุด ความภักดีสูงสุดนั้น ทำให้พระเยซูทรงสามารถเห็นการชดใช้ของพระองค์เองจนเสร็จสิ้น ทรงดื่มถ้วยที่ขมขื่นที่สุดนั้นจนหยดสุดท้าย ในการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (และเหนือมนุษย์โดยแท้) นี้ ความรุนแรงของความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอด “ทำให้ตัวเรา, แม้พระผู้เป็นเจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวง, ต้องสั่นเพราะความเจ็บปวด, และเลือดออกจากทุกขุมขน, และทนทุกข์ทั้งร่างกายและวิญญาณ—และปรารถนาที่เราจะไม่ต้องดื่มถ้วยอันขมขื่น, และชะงักอยู่” (คพ. 19:18) กระนั้นก็ตาม ความรักและความปรารถนาที่จะถวายพระเกียรติแด่พระบิดานั้นเหนือกว่าความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจเข้าใจได้ ในพระดำรัสของพระองค์เอง “กระนั้นก็ตาม, รัศมีภาพจงมีแด่พระบิดา, และเรารับส่วนและทำให้การเตรียมของเราเสร็จสิ้นเพื่อลูกหลานมนุษย์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:19; เน้นตัวเอน)

ขณะที่พระคริสต์ถูกตรึงกางเขน ชะตากรรม ความเป็นอมตะ และชีวิตนิรันดร์ของเราอยู่บนความไม่แน่นอน และสิ่งที่จะช่วยเราพิจารณาว่าการดำรงอยู่ของเราจะมีความหมายหรือไม่คือการที่พระเยซูคริสต์ทรงรักพระบิดาด้วยสุดพระทัย สุดจิต สุดความคิด และสุดกำลังของพระองค์

จากพระคริสต์เราพบรูปแบบของเรา: ความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเหนือสิ่งอื่นใดและเหนือใครอื่น; ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อพระองค์ตลอดเวลาและในทุกสิ่ง; และความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะรู้และทำตามพระประสงค์ของพระองค์ นี่คือแบบแผนของเราในการตัดสินใจ เมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้าก่อน เราจะมองโลกและชีวิตของเราผ่านสายพระเนตรของพระองค์แทนที่จะมองผ่านสายตาของบุคคลอื่น (แม้แต่ผู้มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดีย)

ดังนั้นการให้บัญญัติข้อแรกมาก่อนมีลักษณะอย่างไร ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนทุกรายการที่เกี่ยวข้องกับการรักพระผู้เป็นเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด แต่ข้าพเจ้าอยากจะอธิบายบางตัวอย่าง

การให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน: “รักษาพระบัญญัติของเรา”

แน่นอนว่าแนวคิดที่มาก่อนอย่างอื่นของการรักษาพระบัญญัติข้อแรกคือการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าอย่างเคร่งครัด พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะ [รักษา] บัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:29 ด้วย) พระเยซูทรงมุ่งมั่นที่จะรักษาพระบัญญัติทุกข้อของพระบิดาและแสดงให้เราเห็นว่าการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายอย่างไรในชีวิตจริง

เพื่อนที่ดีคนหนึ่งของข้าพเจ้าเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทั่วไปของเราในการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองเมื่อเป็นเรื่องของพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เขากล่าว ตัวอย่างเช่น จากการสังเกตและประสบการณ์ของเขาเองว่าคำถามที่ขึ้นต้นว่า “พระผู้เป็นเจ้าสนพระทัยจริง ๆ หรือไม่หากฉัน … ?” จะได้รับคำตอบว่า “ไม่” เสมอ เป็นข้อแก้ตัวที่ง่ายเกือบทุกเรื่อง ถ้าเราจะโน้มน้าวใจตนเองว่าพระเจ้าจะไม่สนพระทัยอย่างแน่นอนในบางสิ่งที่ค่อนข้างเล็กน้อยตามที่เราคิด แต่เพื่อนของข้าพเจ้ากล่าวว่านี่เป็นคำถามที่ผิด ไม่ใช่ว่าพระเจ้าสนพระทัยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำสิ่งที่เราสัญญาไว้หรือไม่ คำถามคือ “ฉันจะถวายเครื่องหมายอะไรแด่พระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับความรักที่ฉันมีต่อพระองค์?” หรือ “การรักษาพระบัญญัติและพันธสัญญาของพระองค์ด้วยความเที่ยงตรงและสมพระเกียรติหมายความว่าอย่างไร?”

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการรักษาพระบัญญัติข้อแรกคือการรักษาพระบัญญัติข้อที่สองในการรักพี่น้องของเรา ดังที่ยอห์นกล่าว “ถ้าใครกล่าวว่าข้าพ‌เจ้ารักพระ‍เจ้าแต่ใจยังเกลียด‍ชังพี่‍น้องของตนเขาเป็นคนพูดมุสาเพราะ‍ว่าผู้ที่ไม่รักพี่‍น้องของตนที่มอง‍เห็นแล้วจะรักพระ‍เจ้าที่มองไม่เห็นไม่‍ได้” 1 ยอห์น 4:20 และเรามีพระวจนะที่คุ้นเคยจากพระเจ้า: “ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35)

การให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน: “จงเลี้ยงดูลูกแกะของเราเถิด”

แนบสนิทกับการยอมตนที่ได้รับการฝึกฝนมาต่อพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าคือการรับใช้พระองค์และอุดมการณ์ของพระองค์ สำหรับเปโตรและสำหรับเรา พระองค์ทรงถามคำถามของพระองค์ซ้ำสามครั้ง: “ท่านรักเราหรือ?” (ยอห์น 21:15–17) และเหมือนกับเปโตร คำตอบของเราต้องเป็น “ใช่ ยิ่งกว่าอาชีพของข้าพระองค์หรืออะไรหรือใครอื่น” และเราต่างก็ได้ยินเสียงของผู้เลี้ยงแกะ: “จงเลี้ยงดูลูกแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:15) ; “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:16–17) 5

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์พอพระทัยในความกรุณาของท่านแต่ละคน แม้ว่าอาจดูเล็กน้อยหรือไม่สำคัญในโลกอันไพศาลก็ตาม ทุกการกระทำและการถวายมีความสำคัญ ข้าพเจ้ามั่นใจเช่นกันว่าทั้งสองพระองค์พอพระทัยกับสิ่งที่เราทำร่วมกันในฐานะศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและร่วมกับผู้อื่น ดังเช่นตัวอย่างหนึ่ง ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดจากสงครามปัจจุบันที่มุ่งเป้าไปที่ประเทศยูเครน ความช่วยเหลือนั้นเป็นเหมือนพระคริสต์อย่างแท้จริง เราพยายามจดจ่ออย่างต่อเนื่องกับสิ่งจำเป็นที่มีอยู่และไม่ให้มือขวารู้ว่ามือซ้ายกำลังทำอะไร แต่ข้าพเจ้าหวังว่าในฐานะศาสนจักร เราจะจัดทำเรื่องราวที่ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคตเพื่อท่านจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านกำลังทำในฐานะส่วนหนึ่งของกายของพระคริสต์เพื่อเลี้ยงแกะของพระองค์

การรักษาพระบัญญัติข้อแรกยังหมายถึงการส่งเสริมอุดมการณ์ของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก ในการช่วยทำให้เกิดชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระบิดา ข้าพเจ้านึกตัวอย่างอื่นที่ดีไปกว่างานเผยแผ่ศาสนาไม่ออก งานซึ่งพวกท่านหลายคนเคยรับใช้หรือกำลังจะทำ พวกเราในอัครสาวกสิบสองโหยหาทุกโอกาสที่ได้อยู่กับผู้สอนศาสนาเพราะเรารู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณที่ยกระดับและมีชีวิตชีวาท่ามกลางคนเหล่านั้นที่มีส่วนเร่งด่วนในการเลี้ยงแกะและลูกแกะของพระผู้เป็นเจ้า

ในยุคของเรา ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเน้นย้ำ การรวบรวมผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกและในโลกวิญญาณเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เรารักษาพระบัญญัติสำคัญข้อแรกนี้

การให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน: เรียกหาพระองค์; ดื่มด่ำพระวจนะของพระองค์

อีกวิธีหนึ่งที่เราให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อนค่อนข้างชัดเจน คือการเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าด้วยการสวดอ้อนวอนและดื่มด่ำพระวจนะของพระองค์เพื่อความเข้าใจและการนำทาง เราต้องการรู้และทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ เราต้องการรู้ว่าพระองค์ทรงทราบอะไร เราต้องการเรียนรู้ทุกสิ่งที่พระองค์จะทรงสอนเราในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ เราต้องการการเปิดเผยส่วนตัว

อมิวเล็คกระตุ้นให้เราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าในพระนามของพระคริสต์เพื่อขอความเมตตา ร้องทูลเพื่อครัวเรือนของเรา และร้องทูลเพื่อไร่นาและฝูงสัตว์ของเรา ท่านกระตุ้นให้เราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าเพื่อต่อต้านอำนาจของศัตรูและอิทธิพลของมาร “และเมื่อท่านไม่เรียกหาพระเจ้า, ขอให้ใจท่านจงอิ่มเอิบ, และมุ่งไปที่การสวดอ้อนวอนถึงพระองค์ตลอดเวลาเพื่อความผาสุกของท่าน, และเพื่อความผาสุกของบรรดาคนที่อยู่รอบ ๆ ท่านด้วย” (แอลมา 34:27).6

นีไฟแนะนำให้เรา “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์; เพราะดูเถิด, พระวจนะของพระคริสต์จะบอกท่านทุกสิ่งที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:3) นับเป็นการประสาทพรที่น่าทึ่งในสมัยของเราที่มีพระวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรของพระผู้เป็นเจ้ามากมายที่ปลายนิ้วของเรา—ซึ่งเข้าถึงได้ตลอดเวลาสำหรับเราแต่ละคน—เช่นเดียวกับคำสอนปัจจุบันของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่จัดพิมพ์ในรูปแบบและภาษาที่หลากหลาย ไม่เหมือนเวลาใดในประวัติศาสตร์โลก ถามตัวท่านว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงมีจุดประสงค์อะไรในเรื่องนี้?

ข้าพเจ้ารักการสวดอ้อนวอน ข้าพเจ้ารักพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าต้องการแสงสว่างและความรู้ทั้งหมดที่พระบิดาบนสวรรค์เต็มพระทัยประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงเที่ยงธรรมและพระองค์จะประทานทุกสิ่งที่เราจะเตรียมรับไว้ได้ทั้งแก่ท่านและข้าพเจ้า จงรักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงจนท่านไขว่คว้าการติดต่อสื่อสารกับพระองค์ตลอดเวลาด้วยวิธีต่างๆ ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ และจดจำแบบอย่างของประธานเนลสัน—จดบันทึกสิ่งที่ท่านได้รับผ่านพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติตามนั้น

การให้พระบัญญัติข้อแรกมาก่อน: “ภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า”

ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงอีกวิธีหนึ่งที่เรารักษาพระบัญญัติข้อแรกเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา คือการมีชีวิตอยู่ด้วยภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า—ภาระรับผิดชอบต่อทิศทางชีวิตของเราและในแต่ละวันของชีวิตเรา นั่นหมายถึงการต่อต้านและเอาชนะการล่อลวง กลับใจและให้อภัย ต่อสู้กับความเห็นแก่ตัว รับพระนามของพระคริสต์ไว้กับเรา และพัฒนาอุปนิสัยของพระคริสต์ นี่หมายถึงการระวังแม้ความนึกคิดและคำพูดของเราตลอดจนการกระทำของเรา (ดู โมไซยาห์ 4:30 และ แอลมา 12:14) หมายถึงการยอม “ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” และกลายเป็น “ดังเด็ก, ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก, เต็มใจยอมในสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงเห็นควรจะอุบัติแก่เขา, แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน” (โมไซยาห์ 3:19)

นี่ไม่ใช่ภาระความรับผิดชอบแบบที่ถ่วงท่านลง แต่กลับเป็นการยอมรับพระบิดาผู้ทรงปรีชาสามารถ สนพระทัย และห่วงใย ผู้ทรงทราบเส้นทางสู่ความสมหวังและปีติสูงสุด นี่เป็นการยอมรับว่าพระองค์ทรงให้โอกาสเราโดยที่เราไม่สามารถสร้างเองได้—และเป็นโอกาสที่เราไม่สามารถบรรลุเองได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์ เป็นการ “มีชีวิตอยู่ด้วยการน้อมขอบพระทัยทุกวัน, สำหรับพระเมตตาและพรหลายประการซึ่ง [พระผู้เป็นเจ้า] ประสาทให้ [เรา]” (แอลมา 34:38) และในบริบทของภาระรับผิดชอบนี้เองที่เรารู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยในตัวเรา เราเข้าใจว่าพระองค์ทรงชื่นชมยินดีแม้ความพยายามเล็กน้อยที่สุดที่เราทำเพื่อรักพระองค์ด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิด และสุดกำลังของเรา ท่านจะมีความมั่นใจและสันติสุขใดได้มากไปกว่าการเป็นพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อวิญญาณของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ไถ่ของท่านพอพระทัยในตัวท่านและแนวทางชีวิตของท่าน?

สิ่งสำคัญที่สุดคือพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เรารักพระองค์เพราะพระองค์ทรงทราบว่าสิ่งนั้นจะทำอะไรเพื่อเรา พระองค์ทรงบัญชาให้เรารักกันด้วยเหตุผลเดียวกัน ความรักของพระผู้เป็นเจ้าเปลี่ยนแปลงเรา ความรักของพระผู้เป็นเจ้าเปลี่ยนความรักที่เรามีให้กัน ความรักนี้จำเป็นต่อการมารู้จักพระองค์, พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา (ยอห์น 17:3) นี่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์

ข้าพเจ้าทราบว่าความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อท่านนั้นมีอยู่จริงและไม่สิ้นสุด ความรักนี้เห็นประจักษ์อย่างทรงพลังที่สุดผ่านพระคุณของพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าอวยพรท่านให้ความรักของพระผู้เป็นเจ้าจะปกคลุมท่านขณะที่ท่านรักและพยายามรับใช้พระองค์ ข้าพเจ้าอวยพรท่านให้รู้สึกถึงความรักของพระองค์และความรักนั้นจะกลายเป็นอิทธิพลที่ทรงพลังที่สุดในชีวิตท่าน ข้าพเจ้ารู้และยืนยันกับท่านได้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ของท่านทรงพระชนม์ เช่นเดียวกับพระบุตรของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ของเรา และเช่นเดียวกับพระผู้ส่งสารแห่งพระคุณ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้ารู้และสวดอ้อนวอนขอให้ท่านรู้สิ่งเหล่านี้

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 8; เน้นในต้นฉบับ.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “The Love and Laws of God” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 17 ก.ย., 2019], 2, speeches.byu.edu

  3. Ezra Taft Benson, “The Great Commandment—Love the Lord,” Ensign, May 1988, 4.

  4. Joseph Smith, discourse at a conference of the Church, Nauvoo, Illinois, 7 April 1844; HC 6:312; quoted in คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 485.

  5. เห็นได้ชัดว่าการเลี้ยงดูแกะและลูกแกะรวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ที่ขาดอาหารทางกายและทางวิญญาณ เราระลึกถึงคำรับรองของพระเจ้าที่ว่า “ซึ่งท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ก็เหมือนทำกับเราด้วย” (มัทธิว 25:40) ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสังคมไซอันตามที่ระบุไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:19 คือ “มนุษย์ทุกคนหมายมั่นประโยชน์สุขของเพื่อนบ้านตน, และทำสิ่งทั้งปวงด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว”

  6. ดู แอลมา 34:18–26 ด้วย อมิวเล็คเตือนเราด้วยว่าหากไม่มีการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตกุศล คำสวดอ้อนวอนของเราจะไร้ผล (ดู แอลมา34:28–29)