2023
จงสงบเงียบ: ทำให้พายุของเราสงบ
กุมภาพันธ์ 2023


“จงสงบเงียบ: ทำให้พายุของเราสงบ,” เลียโฮนา, ก.พ. 2023.

ปาฏิหาริย์ของพระเยซู

มาระโก 4:35–41; มัทธิว 14:22–33

จงสงบเงียบ: ทำให้พายุของเราสงบ

ปาฏิหาริย์ของพระเจ้าแสดงให้เห็นว่าบางครั้งทรงทำให้พายุสงบ และบางครั้งทรงทำให้นักเดินเรือสงบ

ภาพ
พระเยซูกับสานุศิษย์ในเรือขณะมีพายุ

The Storm on the Sea of Galilee [พายุในทะเลกาลิลี] โดย แรมบรันต์ ฟัน ไรน์ © Isabella Stewart Gardner Museum / Bridgeman Images

เราแต่ละคนได้รับผลกระทบจากพายุหรือการทดลองในช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน ลักษณะและระยะเวลาของพายุเหล่านี้แตกต่างและมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นไปตามสภาวการณ์ของเรา บ่อยครั้งที่เรื่องท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราโดยคาดไม่ถึง ไม่ว่าเราจะพยายามเตรียมตัวให้พร้อมเผชิญพายุในชีวิตมากเพียงใด เรามักพบว่าเราไม่มีกำลังพอที่จะทำให้พายุสงบลงได้

การปฏิบัติศาสนกิจและปาฏิหาริย์ของพระเยซูคริสต์ทำให้เรามีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือขณะเผชิญพายุเหล่านี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์เหล่านี้สองครั้งที่ทะเลกาลิลี ทั้งสองกรณี พระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์กำลังข้ามทะเลในคืนที่มีพายุโหมกระหน่ำ การศึกษาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับแง่มุมทางวิญญาณและทางกายภาพของปาฏิหาริย์ทั้งสองครั้งนี้สอนบทเรียนสำคัญแก่เราเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดที่ช่วยให้เราต้านพายุของเราเองได้

บางครั้งพระองค์ทรงทำให้พายุสงบ …

ปาฏิหาริย์ (มาระโก 4:35–41)

มาระโกเล่าให้เราฟังว่าครั้งแรกของปาฏิหาริย์สองครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพระเยซูทรงใช้ช่วงเวลาที่ดีของวันนั้นสอนฝูงชนที่ชายฝั่งทะเลกาลิลี ฝูงชนนั่งบนเนินเขามองออกไปยังท้องทะเลขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดประทับในเรือ ในยามค่ำ พระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์ลงเรือข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของทะเล

แต่แล้ว ไม่นานนัก เรือลำนั้นก็ถูกกลืนเข้าไปในพายุ ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดบรรทมหลับอย่างสงบ เหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ทำงานกันอย่างสุดกำลังเพื่อรักษาชีวิตตน ลมแรงและคลื่นสูงใหญ่กำลังจะทำให้เรือลำนั้นจม ในที่สุด ด้วยความสิ้นหวัง เหล่าอัครสาวกปลุกพระผู้ช่วยให้รอดด้วยถ้อยคำที่แสดงความเจ็บช้ำว่า “พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงเป็นห่วงว่าพวกเรากำลังจะพินาศหรือ?” แล้วปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้น

“พระองค์จึงทรงลุกขึ้นห้ามลมและตรัสกับทะเลว่า ‘จงสงบเงียบ’ แล้วลมก็สงบ พายุก็เงียบสนิท

“พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า ‘ทำไมพวกเจ้ากลัว? พวกเจ้าไม่มีความเชื่อหรือ?’” (มาระโก 4:38–40)

ในเชิงฟิสิกส์

สภาพทางภูมิศาสตร์เฉพาะถิ่นของทะเลกาลิลีทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพายุได้ง่าย โดยที่ยาว 13 ไมล์และกว้าง 8 ไมล์ ทะเลนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ยกสูงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 690 ฟุต โดยมีภูเขาล้อมรอบ ภูเขาบางลูกสูงถึง 2,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ตอนหัวค่ำ อากาศร้อนชื้นเหนือน้ำมักจะยกตัวขึ้น ขณะอากาศที่เย็นกว่าจากภูเขาจะลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเร็วลมสูงเหนือผืนน้ำ นอกจากนี้ ทะเลกาลิลียังตื้นเมื่อเทียบกับขนาด โดยมีความลึกสูงสุด 250 ฟุต ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดคลื่นใหญ่ได้เมื่อมีความเร็วลมสูง

แม้จะมีการทำรูปจำลองและพยากรณ์เกี่ยวกับพายุไว้ล่วงหน้า แต่มนุษย์ก็ยังไม่มีความสามารถพอที่จะควบคุมพายุได้ เราเพิ่งเรียนรู้วิธีควบคุมดินฟ้าอากาศและภูมิอากาศเมื่อก่อนศตวรรษที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การใช้การเพาะเมฆเพื่อสร้างหยาดน้ำฟ้า และมีหลักฐานว่าสิ่งแวดล้อมและมลภาวะในชนบทสามารถเปลี่ยนภูมิอากาศระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้ อย่างไรก็ตามความสามารถที่จะหยุดพายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ยังเกินความสามารถของมนุษย์ ลมเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอากาศที่หลากหลายในด้านอุณหภูมิและความกดอากาศ พายุลมแรงจะหยุดลงเมื่ออุณหภูมิและความกดอากาศอยู่ในภาวะสมดุลเท่านั้น

บทเรียน

บทเรียนหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากปาฏิหาริย์ครั้งนี้คือพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพเหนือวัตถุธาตุต่างๆ พระผู้ช่วยให้รอดคือผู้ทรงสร้างแผ่นดิน ผืนน้ำ บรรยากาศ และทุกสิ่งบนแผ่นดินโลก (ดู ยอห์น 1:3) ในการสร้าง พระองค์ทรงมีเดชานุภาพที่จะบัญชาวัตถุธาตุต่างๆ และสิ่งเหล่านั้นเชื่อฟัง (ดู อับราฮัม 4:18) ปาฏิหาริย์ของการทำให้พายุสงบแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพแบบเดียวกันนั้นระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย

ผมเชื่อว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับเดชานุภาพแห่งการช่วยให้รอดและการปกป้องที่ทรงมี พายุแห่งความชั่วร้ายทำให้เกิดคลื่นลมแห่งความสับสนวุ่นวายได้ทุกประเภทในชีวิตเรา (ดู ฮีลามัน 5:12) ขณะเรามองไปที่พระผู้ช่วยให้รอด เราจะได้รับการปกป้องให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายและผลกระทบของสิ่งเหล่านั้น เราจะปลอดภัยจากความพินาศทางวิญญาณ (ดู มัทธิว 7:24–27)

แท้จริงแล้วพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพที่จะทำให้พายุในชีวิตเราสงบได้ บางครั้งพายุสงบเร็ว และบางครั้งเราต้องอดทนฝ่าพายุจนกว่าจะสิ้นฤดูกาล แต่จงจำไว้ว่าลมพายุที่คล้ายกันนั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดคลื่นในน้ำตื้นที่ใหญ่กว่าได้เมื่อเทียบกับน้ำลึก เมื่อเราทำให้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะพบว่าคลื่นลมทางวิญญาณที่เคยคุกคามส่งผลกระทบต่อเราน้อยลง

บางครั้งพระองค์ทรงทำให้นักเดินเรือสงบ

ภาพ
พระเยซูทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปยังเปโตรในน้ำ

พระผู้ทรงประสิทธิ์ศรัทธา โดย เจ. อลัน บาร์เรตต์

ปาฏิหาริย์ (มัทธิว 14:22–33)

เมื่อฝูงชนจำนวนมากติดตามพระผู้ช่วยให้รอดไปยังพื้นที่อันเงียบสงบ ทรงสอนพวกเขาจากนั้นทรงเลี้ยงอาหารพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์ ในยามค่ำ พระองค์ทรงส่งสานุศิษย์ออกเรือข้ามทะเลล่วงหน้าไปก่อนพระองค์ ทรงให้ฝูงชนแยกย้ายกันไป จากนั้นเสด็จขึ้นไปสวดอ้อนวอนบนภูเขาที่อยู่ใกล้

เกิดลมสวนทางเรือขึ้นในทะเล เหล่าสานุศิษย์จึงออกเรือไปได้ไม่ไกลนัก ในคืนนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกที่จะพบพวกเขาในวิธีที่น่าอัศจรรย์: โดยทรงดำเนินบนผิวน้ำ

เมื่อเปโตรเห็นพระองค์ เขาต้องการออกจากความปลอดภัยในเรือเพื่อเลียนแบบพระผู้ช่วยให้รอดและเดินบนผิวน้ำ เปโตรประสบความสำเร็จตอนแรก แต่เมื่อความกลัวเข้ามาในใจ เขาเริ่มจมลงจนพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยชีวิตเขา (ดู มัทธิว 14:22–33)

ในเชิงฟิสิกส์

นัยเชิงฟิสิกส์อย่างหนึ่งในปาฏิหาริย์นี้คือความเข้าใจของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง พลวัตแห่งของเหลว และหลักการอื่นๆ ในเชิงฟิสิกส์อยู่ในระดับที่เหนือกว่าเรามาก ตัวอย่างเช่นความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ของเราเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงพัฒนาขึ้นตามกาลเวลา ในทศวรรษ 1600 เซอร์ไอแซค นิวตันอธิบายเชิงคณิตศาสตร์เรื่องแรงโน้มถ่วงในฐานะแรงที่กระทำระหว่างมวลสารสองอย่างในจักรวาล ในปลายศตวรรษที่ 18 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เฮนรีย์ คาเวนดิช สาธิตว่าเราสามารถวัดแรงโน้มถ่วงได้ ทัศนะเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงในฐานะของแรงเปลี่ยนไปเมื่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์พิมพ์เผยแพร่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาในปี 1915 คำอธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงของเขาซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางกล่าวว่ามวลสารต่างๆ สร้างแรงบิดของเส้นใยทั้งของเวลาและอวกาศ

ขณะที่ความเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงของเรามีมากขึ้น เราใช้ความเข้าใจนั้นในวิธีที่เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเราเกี่ยวกับข้อจำกัดที่ว่าแรงโน้มถ่วงกำหนดไว้กับเรา ตัวอย่างเช่น ลองนึกว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราเป็นหนึ่งในหลายพันคนในนครนิวยอร์กที่อยู่ตามแนวฝั่งแม่น้ำฮัดสันในปี 1909 ขณะที่วิลเบอร์ ไรท์ทะยานขึ้นไปในท้องฟ้าแล้วบินเหนือแม่น้ำและรอบๆ อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ผู้คนในวันนั้นต่างประหลาดใจที่ดูเหมือนว่าวิลเบอร์ ไรท์จะเอาชนะแรงโน้มถ่วงได้ พวกเขาเห็นปาฏิหาริย์ด้วยตาตนเอง—ปาฏิหาริย์ด้านการบิน

บทเรียน

ปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงดำเนินบนทะเลกาลิลีแสดงให้เห็นว่าเรายังคงต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและกฎทางฟิสิกส์ด้านอื่นๆ มีอีกมากมายหลายสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

นอกจากนี้ พระผู้ช่วยให้รอดอาจทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ทั้งในครั้งนั้นและในขณะนี้เกี่ยวกับเดชานุภาพของพระองค์ที่จะเสริมกำลัง ยกขึ้น และให้ความสามารถ เราทุกคนเผชิญคลื่นลมแห่งความท้าทายในชีวิตนี้ เช่นเดียวกับเปโตร สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเราเช่นกัน บางครั้งพายุอาจไม่สงบลง และวิธีเดียวที่จะฝ่าพายุและดำเนินต่อไปยังจุดหมายนิรันดร์ของเราคือการก้าวออกไปในพายุพร้อมมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด

เราต้องมีศรัทธาในเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดที่ช่วยให้เราเอาชนะความกลัวและข้อจำกัดของตนเอง นี่เป็นแนวทางสำคัญซึ่งจะถักทอขึ้นจากปาฏิหาริย์ทั้งสองนี้

มีบทเรียนอีกมากมายจากปาฏิหาริย์เหล่านี้ซึ่งจะช่วยและดลใจเราขณะที่ก้าวหน้าไปตามเส้นทางของเราเอง ปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดยืนหยัดในฐานะพยานอันประเสริฐถึงความเป็นพระเจ้า พระปรีชาญาณ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อเราแต่ละคน โดยเดชานุภาพของพระองค์ เราจะได้รับสันติสุขเมื่อคลื่นคุกคามเพื่อกลืนเรา และเราสามารถมั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงยกเราขึ้นสู่ขอบเขตที่สูงขึ้นในอาณาจักรของพระบิดาของเรา

พระองค์ทรงมีเดชานุภาพอย่างแท้จริงที่ทำให้พายุสงบเช่นเดียวกับนักเดินเรือ