2022
เรียนรู้หัตถศิลป์แห่งพระผู้รักษา
เมษายน 2022


ดิจิทัลเท่านั้น

เรียนรู้หัตถศิลป์แห่งพระผู้รักษา

หลักการหกข้อสามารถช่วยให้เราช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น

ภาพ
ผู้หญิงสองคนกำลังคุยกันในสวนสาธารณะ

เพื่อนเคยบอกท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ท้าทายและท่านไม่แน่ใจว่าจะช่วยได้ดีที่สุดอย่างไร หรือท่านมองย้อนกลับไปในภายหลังและอยากให้ท่านตอบสนองอย่างแตกต่างออกไปหรือไม่? ท่านเคยยอมรับการเรียกและกังวลว่าจะช่วยคนที่ท่านได้รับมอบหมายให้รับใช้ได้ดีเพียงใดหรือไม่?

เพลงสวดข้อที่สาม “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์” (เพลงสวด บทเพลงที่ 106) กระตุ้นให้ “ฉันจะเรียนรู้หัตถศิลป์แห่งพระผู้รักษา” ช่างเป็นประโยคอันทรงพลังยิ่ง! เราแต่ละคนสามารถเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดของเราได้มากขึ้นโดยเรียนรู้วิธีหนุนใจและเสริมความเข้มแข็งให้ผู้อื่น ไม่ว่าภูมิหลังหรือสภาวการณ์จะเป็นเช่นไร

หลักธรรมหกข้อต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านเรียนรู้หัตถศิลป์แห่งพระผู้รักษา 1

1. รักก่อน

บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าสมควรได้รับความรักและความเมตตา เราอาจไม่เข้าใจประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่ง แต่เราสามารถแสดงความรักต่อบุคคลนั้นได้เสมอ เมื่อเราใส่ใจคนอื่นอย่างแท้จริง สิ่งนั้นจะส่องประกายผ่านปฏิสัมพันธ์ของเรา โดยจะสร้างรากฐานของความไว้วางใจซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างเหลือเชื่อเมื่อเราต้องรับมือกับการสนทนาที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่ได้พูดสิ่งที่สมบูรณ์แบบในเวลาที่เหมาะสม

2. ฟังให้เข้าใจ

ระวังอย่าตั้งสมมติฐานว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรหรือทำไมพวกเขาจึงทำสิ่งนั้นๆ ให้ถามคำถามและฟังโดยมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังเผชิญอะไรอยู่ จำไว้ว่าท่านไม่จำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ หากเรามุ่งไปที่การแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว เราอาจสื่อความโดยไม่ได้ตั้งใจว่าสิ่งที่คนอื่นกำลังเล่าให้ฟังนั้นไม่สำคัญ

แต่เราสามารถฝึกการฟังอย่างอดทน โดยพยายามทำความเข้าใจแบบ ไม่ต้อง วางแผนว่าเราจะพูดอะไรต่อไปได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะฟังและนั่งเป็นเพื่อนใครสักคนที่กำลังเจ็บปวด เพียงเท่านั้นเราก็สามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงได้แล้วว่าการกระทำนั้นสามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วยตัวมันเอง

3. สอนความจริง

หลังจากเราเข้าใจสถานการณ์แล้ว เราอาจรู้สึกอยากแบ่งปันสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่ปลอบโยน สวดอ้อนวอนทูลขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณเพื่อให้รู้ว่าจะแบ่งปันอะไร จดจ่อกับความจริงที่จะช่วยให้บุคคลนั้นก้าวหน้าไปบนเส้นทางสู่ปีตินิรันดร์

ซิสเตอร์มิเชล ดี. เครก ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า “บางทีสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะเห็นชัดเจนคือพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นใครและจริงๆ แล้วเราเป็นใคร—เราเป็นบุตรธิดาของพระบิดามารดาบนสวรรค์ที่ ‘มีธรรมชาติแห่งสวรรค์และมีจุดหมายนิรันดร์’” 2

4. บำรุงเลี้ยงศรัทธา

เราสามารถกระตุ้นให้ผู้อื่นมีศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์ ผู้ทรงรู้จักและรักพวกเขา พระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขาที่เข้าใจพวกเขาอย่างสมบูรณ์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงกระตือรือร้นที่จะนำทางพวกเขา สิ่งง่ายๆ อย่างการสวดอ้อนวอนกับพวกเขาหรืออ่านพระคัมภีร์ด้วยกันสามารถช่วยบำรุงเลี้ยงศรัทธาของพวกเขาได้

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสัญญาว่า

“พระเจ้าไม่ได้ทรงเรียกร้องศรัทธาอัน สมบูรณ์ เพื่อที่เราจะเข้าถึงเดชานุภาพอัน สมบูรณ์ ของพระองค์ แต่ทรงขอให้เราเชื่อ …

“…เริ่มเพิ่มพูนศรัทธาของท่านนับจากวันนี้ โดยผ่านศรัทธาของท่าน พระเยซูคริสต์จะทรงเพิ่มความสามารถให้ท่านเคลื่อนภูเขาในชีวิตได้ ถึงแม้ความท้าทายส่วนตัวของท่านอาจจะใหญ่เท่ายอดเขาเอเวอเรสต์ก็ตาม” 3

คำสอนนี้ใช้ได้กับชีวิตของเราตลอดจนชีวิตของคนที่เราพยายามจะช่วย

5. ยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไป

เมื่อเราสร้างความสัมพันธ์และตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้อื่นต้องการ เราจะวางใจได้ว่าพระวิญญาณจะทรงช่วยให้เรารู้วิธีดำเนินการ—ทั้งในแบบทันทีและแบบค่อยเป็นค่อยไป การทดลองและการท้าทายบางอย่างใช้เวลานาน คนที่เราปฏิบัติศาสนกิจด้วยอาจต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤตครั้งแรกผ่านไปแล้ว เมื่อเราแสวงหาการนำทางร่วมกับการสวดอ้อนวอน จากนั้นเปิดตาและใจเรา เราจะได้รับความช่วยเหลือจากสวรรค์เพื่อให้รู้วิธีรับใช้กันอย่างชาญฉลาด

6. แบ่งปันอุปสรรคของเราให้ฟัง

พวกเราหลายคนเต็มใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น แต่จะมีสักกี่คนที่เต็มใจตอบคำถามว่า “สบายดีไหม?” อย่างจริงใจด้วยคำตอบที่ตรงไปตรงมา? เราเชื่อใจผู้อื่นมากพอที่จะแสดงความอ่อนแอออกไปและแบ่งปันสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ของเรา หรือไม่?

แม้แต่พระพระคัมภีร์เองยังอธิบายถึงตอนที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมรับการรับใช้และถึงกับขอการรับใช้อยู่หลายครั้ง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน

  • พระองค์เสวยกระยาหารในบ้านของคนอื่น (ดู มาระโก 2)

  • พระองค์ยอมให้ล้างพระบาทด้วยน้ำมันราคาแพง (ดู ลูกา 7)

  • พระองค์ทรงขอน้ำจากผู้หญิงที่บ่อน้ำ (ดู ยอห์น 4)

  • พระองค์ทรงแสดงให้คนอื่นเห็นว่าพระองค์ทรงมีความทุกข์ใจ (ดู ยอห์น 11)

บางทีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านี้ในพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดคือ เมื่อเราแบ่งปันชีวิตของเรากับผู้อื่นอย่างซื่อสัตย์ เราก็มีโอกาสเป็นพรแก่ผู้อื่นและได้รับพรในเวลาเดียวกัน เราอาจแบ่งปันบางสิ่งที่จะช่วยให้คนอื่นตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตามลำพังในการต่อสู้ดิ้นรน—และพวกเขาอาจเป็นคำตอบสำหรับการสวดอ้อนวอนของเราเอง

เราไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะเข้ามาหาเราพร้อมกับความยากลำบากในชีวิต เมื่อเราเริ่มต้นจากความรักและการฟัง พระวิญญาณจะทรงช่วยให้เรารู้วิธีปฏิบัติศาสนกิจและบำรุงเลี้ยงศรัทธา เราสามารถขอความช่วยเหลือและควรขอความช่วยเหลือกลับมาเช่นกัน วิธีเหล่านี้ช่วยให้เราดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) พระองค์ทรงเป็นแหล่งพลังแห่งการปลอบโยนและความหวังอย่างแท้จริง พระองค์ทรงเป็นพระผู้เชี่ยวชาญการรักษา