2021
วิธีช่วยผู้ที่กำลังค้นหาคำตอบสำหรับคำถามพระกิตติคุณ
ธันวาคม 2021


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

วิธีช่วยผู้ที่กำลังค้นหาคำตอบสำหรับคำถามพระกิตติคุณ

การค้นหาคำตอบนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงลำพัง

ภาพ
photo of two men walking on a tree-covered path

ทุกคนมีคำถาม คำถามเป็นส่วนหนึ่งของวิธีที่เราทำความเข้าใจโลกรอบตัวเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งเสริมให้เราถามคำถามและหาคำตอบ (ดู มัทธิว 7:7) กระบวนการนี้เป็นส่วนสำคัญของเส้นทางชีวิตในการเรียนรู้และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:36) เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับคำถามที่ท้าทายเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น การได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นอาจช่วยได้

สมาชิกของศาสนจักรในเทกซัส สหรัฐอเมริกาแบ่งปันประสบการณ์นี้:

“วันหนึ่งที่สมาคมสงเคราะห์ ซิสเตอร์ที่ฉันไม่เคยพบที่โบสถ์มาก่อนได้แบ่งปันความรู้สึกว่าสตรีในสมาคมสงเคราะห์หน้าไหว้หลังหลอกและกีดกันเธอ หลังการประชุม เธอออกไปไวมากจนฉันตามไม่ทัน

“หลังจากโบสถ์ ฉันไปที่บ้านเธอ ฉันแนะนำตัวเองและบอกว่าฉันขอบคุณความคิดเห็นของเธอในสมาคมสงเคราะห์ และต้องการรับฟังข้อกังวลของเธอเพิ่มเติม เธอพูดแล้วฉันก็ฟัง ฉันแสดงความรักที่ฉันมีต่อเธอและครอบครัวของเธอ และถามว่าฉันจะไปเยี่ยมเธออีกครั้งได้ไหม

“ฉันรับงานมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้เยี่ยมสอนของเธอ เวลาผ่านไป เมื่อฉันเข้าใจความกังวลของเธอดีขึ้น เราเริ่มพูดถึงคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอนของเธอ ลูกๆ ของเธอเริ่มมาที่โบสถ์ แล้วเธอก็เริ่มมากับพวกเขา ฉันชื่นชมความกล้าหาญและความอุตสาหะของเธอ เธอกลายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดคนหนึ่งของฉัน”

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสี่ข้อเกี่ยวกับวิธีที่คุณสามารถช่วยผู้ที่กำลังประสบปัญหากับคำถามของเขา

แนวทางสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ที่มีคำถาม

1. รักเหนืออื่นใด ถ้ามีใครกำลังประสบปัญหากับคำถามหรือได้ข้อสรุปที่แตกต่างจากที่เรามี พวกเขายังคงต้องการความรัก (ดู ลูกา 10:25–37)

ผู้ที่มีช่วงเวลายากลำบากจะหันไปหาคนที่พวกเขาไว้ใจ การรักผู้อื่นและการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายสามารถทำให้เราอยู่ในจุดที่จะปฏิบัติศาสนกิจได้เมื่อพวกเขาต้องการเรา นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดประตูให้ผู้ที่ต้องการกลับมาแต่อาจรู้สึกไม่สบายใจที่จะกลับมาด้วย (ดู ลูกา 15:11–24)

(สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ให้อ่าน “การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย” เลียโฮนา, ส.ค. 2018, 6–9)

2. ฟังด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเห็นใจ เราจะจำกัดความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นเกี่ยวกับคำถามของพวกเขา หากเราด่วนตัดสินว่าเข้าใจแทนที่จะอดทนฟังเพื่อทำความเข้าใจ มีหลายเหตุผลที่บางคนอาจประสบปัญหา บางคนมีคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอน บางคนอาจมีคำถามเกี่ยวกับนโยบายหรือประวัติศาสตร์ บางคนอาจสงสัยว่าพวกเขาเหมาะกับศาสนจักรหรือไม่

การรับฟังและถามคำถามอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ของพวกเขา เพื่อที่เราจะสามารถให้คำตอบที่ดีกว่า และช่วยให้พวกเขาเปิดรับคำตอบของเรามากขึ้นหากพวกเขารู้สึกว่าเราฟังอย่างแท้จริง

(เพื่อเรียนรู้วิธีรับฟังให้ดีขึ้น อ่าน “หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ” เลียโฮนา, มิ.ย. 2018, 6–9)

3. จงยืนหยัดด้วยศรัทธาและจำไว้ว่าอาจต้องใช้เวลา คำถามที่ท้าทายเราอย่างแท้จริงมักไม่ได้รับคำตอบภายในวันเดียว ดังนั้นเราจึงไม่ควรสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับตัวเราเองหรือผู้ที่เราต้องการช่วยเหลือ โดยรู้สึกว่าเราจำเป็นต้อง “แก้ไข” ในทันทีที่เรารู้ความกังวลของพวกเขา

หากเราต้องการช่วยเหลืออย่างแท้จริง เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมตัวเดินทางบนถนนที่ยาวไกลไปกับพวกเขาเพื่อให้พวกเขาทราบว่าเมื่อไปจนสุดถนนนั้นแล้ว ไม่ว่าปลายทางจะเป็นเช่นไร เราจะยังคงอยู่ที่นั่น (ดู ฮีบรู 12:12–13)

4. กระตุ้นพวกเขาในการเดินทางของพวกเขา พวกเขาต้องรู้ว่าเรามีความเชื่อมั่นในตัวพวกเขาและศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาขณะที่พวกเขาแสวงหาการชี้นำจากพระองค์ แต่ในที่สุดแล้ว นี่คือการเดินทางของพวกเขา เราสามารถรักและสนับสนุนพวกเขาได้ แต่กระบวนการเติบโตผ่านการวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและหันมาหาพระองค์เพื่อหาคำตอบคือสิ่งที่พวกเราแต่ละคนต้องมีประสบการณ์ของตนเองและไม่สามารถทำแทนผู้อื่นได้ (ดู มอรมอน 9:27)