2019
พระวิหารลาอีเอ ฮาวาย: ศตวรรษของการรวม
ตุลาคม 2019


พระวิหารลาอีเอ ฮาวาย: ศตวรรษของการรวม

พระวิหารลาอีเอ ฮาวายที่ได้รับการอุทิศเมื่อ 100 ปีที่แล้วทำให้วิสุทธิชนได้มารวมกันเพื่อรับพรพระวิหารขณะพระกิตติคุณเริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก

ภาพ
Laie Hawaii Temple rendering

ทัศนียภาพทางสถาปัตยกรรมโดยสถาปนิกไฮรัม โป๊ปและฮาโรลด์ ดับเบิลยู. เบอร์ตัน

หนึ่งในพันธกิจสำคัญของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้ายคือจัดเตรียมพรพระวิหารให้คนของโลก ทั้งคนเป็นและคนตาย ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “จุดประสงค์ของการรวม … ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าในทุกยุคทุกสมัยของโลกคือ … สร้างพระนิเวศน์แด่พระเจ้าซึ่งที่นั่นพระองค์ทรงสามารถเปิดเผยศาสนพิธีของพระนิเวศน์พระองค์แก่ผู้คนของพระองค์”1

ต้นศตวรรษที่ 20 มีพระวิหารเปิดดำเนินการเพียงสี่แห่งบนแผ่นดินโลก ทุกแห่งตั้งอยู่ในยูทาห์ ด้วยเหตุนี้ การรวมตัวกันมายูทาห์จึงเป็นช่องทางแรกของการได้รับพรพระวิหาร ในปี 1919 สถานการณ์เปลี่ยนไป วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919 ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ (1856–1945) อุทิศพระวิหารลาอีเอ ฮาวาย นี่เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูเมื่อพรพระวิหารไปถึงชนหลายชาติ

พระวิหารลาอีเอ ฮาวายเป็นพระวิหารนานาชาติแห่งแรกในหลายๆ ด้าน พระวิหารแห่งนี้รับใช้สมาชิกจากฮาวาย นิวซีแลนด์ ซามัว ตองกา ตาฮีตี ญี่ปุ่น และออสเตรเลียทันที เมื่อศาสนจักรเติบโตต่อเนื่องทั่วแปซิฟิกและเอเชีย จำนวนประเทศที่ได้รับพรจากพระวิหารแห่งนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปีนี้เป็นปีที่ 100 ของหลักไมล์สำคัญนี้ในการรวมอิสราเอลทั้งสองด้านของม่าน

การรวมจากซามัว

หมู่เกาะซามัวอยู่ห่างจากฮาวายราว 2,500 ไมล์ (4,023 กิโลเมตร) ในปี 1919 จอห์น คิว. อดัมส์ประธานคณะเผยแผ่ในซามัวกล่าวว่า “เมื่อพระวิหารที่ลาอีเอเสร็จสมบูรณ์ ดูเหมือนคนของเรามีความปรารถนาแรงกล้าขึ้นมาทันทีในการสะสมทรัพย์สินของโลกนี้ให้มากพอจะไปพระวิหาร” ตัวอย่างเช่น อูเลลิโอ อนาเอ รับใช้เป็นผู้สอนศาสนานาน 20 ปีโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะการเสียสละหลายปีของเขา เขาจึงมีเงินไม่พอเดินทางไปพระวิหาร บราเดอร์อนาเอจึงขายทุกอย่างที่เขาเป็นเจ้าของและรวบรวมเงินได้ 600 หรือ 700 ดอลลาร์สหรัฐ2 บราเดอร์อนาเอกับชาวซามัวคนอื่นๆ เสียสละทุกอย่างเพื่อย้ายไปลาอีเอในช่วงทศวรรษ 1920

ครอบครัวหนึ่งชื่อเลโอตามาถึงฮาวายในวันปีใหม่ ค.ศ. 1923 วาอิลีน เลโอตาวัยเจ็ดขวบจำได้ว่า “[วิว] พระวิหารที่เราเห็นครั้งแรก … เป็นภาพสวยงามที่สุด”3 สองสัปดาห์ต่อมา อาอิวาโอกับมาตาลาพ่อแม่ของวาอิลีนได้รับเอ็นดาวเม้นท์และผนึกเป็นครอบครัว ลูกๆ ได้รับการผนึกกับพวกเขาเช่นกัน ครอบครัวเลโอตารับใช้อย่างซื่อสัตย์ในพระนิเวศน์ของพระเจ้าเป็นเวลา 50 ปี ร่างของพวกเขาฝังไว้ “ใกล้พระวิหารที่พวกเขารักมาก”4 ปัจจุบัน ลูกหลานที่ซื่อสัตย์หลายร้อยคนของพวกเขาอาศัยอยู่ทั่วฮาวาย

ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้

ขณะที่สมาชิกจำนวนมากในแปซิฟิกออกจากภูมิลำเนาและอพยพไปฮาวาย หลายวอร์ดและหลายสาขาจากหลายประเทศจัดกลุ่มทัวร์ไปพระวิหารแห่งนี้ เรียกว่าการเดินทางระยะสั้น การรวมทางวิญญาณในรูปแบบนี้เตรียมทางให้สมาชิกศาสนจักรได้เดินทางไปรับศาสนพิธีพระวิหารแล้วกลับบ้านมาสร้างศาสนจักรในประชาชาติของตน

ที่การอุทิศ ประธานแกรนท์สวดอ้อนวอนขอพระเจ้าทรงเปิดทางให้วิสุทธิชนในนิวซีแลนด์และหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งหมด ให้พวกเขาทำลำดับเชื้อสายเพื่อจะมาพระวิหารและเป็นผู้ช่วยบรรพชนของพวกเขาให้รอด

การเดินทางไปพระวิหารเริ่มต้นด้วยวิสุทธิชนชาวเมารีกลุ่มหนึ่งในนิวซีแลนด์เพียงหกเดือนหลังการอุทิศ แม้จะห่างจากฮาวาย 5,000 ไมล์ (8,045 กิโลเมตร) แต่วิสุทธิชนเหล่านี้ชื่นชมยินดีกับข่าวการอุทิศ

วาอิมาเตกับเฮนี อนารู ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มแรกที่เดินทางไปพระวิหาร ทว่าภารกิจนี้ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เพราะความยากจนของครอบครัวและต้องใช้เงินค่าเดินทาง 1,200 ปอนด์นิวซีแลนด์—เงินก้อนใหญ่ พวกเขาจะต้องอาศัยปาฏิหาริย์

ครอบครัวอนารูทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์และรวบรวมบันทึกลำดับเชื้อสายของพวกเขาเป็นเวลาหลายปี บันทึกเหล่านั้นกองเป็นตั้งๆ ขณะครอบครัวอนารูรอให้เกิดปาฏิหาริย์ วิวินีบุตรชายของพวกเขารู้ถึงศรัทธาของพ่อแม่ “คุณแม่ไม่เคยสิ้นหวังว่าจะ [ไม่] ได้คุกเข่ากับพระบิดาที่แท่นพระวิหาร”

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น วาอิมาเตได้รับสัญญาว่าจ้างจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้ทำโครงการพัฒนาที่ดินโครงการใหญ่ รายได้ของเขาจากโครงการนี้ทำให้มีเงินสดที่ได้รับล่วงหน้ามากพอจ่ายค่าเดินทางไปฮาวาย วาอิมาเตกับเฮนีเอาชนะความกลัวเรื่องการเดินทางข้ามมหาสมุทรและเดินทางไปฮาวายกับกลุ่มวิสุทธิชน 14 คนในเดือนพฤษภาคม ปี 1920 พวกเขาได้รับเอ็นดาวเม้นท์และการผนึก ความเป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

เรื่องราวของอนารูเป็นเพียงหนึ่งในหลายพันเรื่องเกี่ยวกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เดินทางไปพระวิหารลาอีเอ ฮาวายเพื่อรับศาสนพิธีและทวงสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ในพระนิเวศน์ของพระองค์ ทั้งหมดนี้เรียกร้องการเสียสละมาก แต่ทำให้เกิดวิสุทธิชนที่เข้มแข็งขึ้น วิสุทธิชนผู้กลับมาภูมิลำเนาและพร้อมนำศาสนจักร5

การสร้างลาอีเอ

ศาสนจักรพยายามสร้างลาอีเอยุคใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นพรแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วแปซิฟิก ในทศวรรษ 1950 และ 1960 ผู้สอนศาสนาจากฮาวาย ตองกา ซามัว นิวซีแลนด์ ตาฮีตี หมู่เกาะคุก ฟิจิ และอเมริกาเหนือได้รับเรียกให้ใช้พรสวรรค์ด้านวัฒนธรรมและทักษะการสร้างช่วยก่อสร้างวิทยาลัยฮาวายของศาสนจักร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ฮาวาย) ศูนย์วัฒนธรรมโปลินีเซีย และศูนย์นักท่องเที่ยวของพระวิหารแห่งใหม่ ผู้สอนศาสนาสี่สิบเจ็ดคนจากตองกาและซามัวรับศาสนพิธีพระวิหารของตนเองเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1960—ตัวอย่างของพรทางวิญญาณที่มาคู่กับงานทางโลกของพวกเขา (ดู Building Missionaries in Hawaii, 1960–1963, Church History Library, Salt Lake City, 100)

มัตเต เตโอผู้สอนศาสนาคนหนึ่งถูกไฟไหม้สาหัสก่อนออกจากซามัว แต่เขาก็มาฮาวาย คณะแพทย์เกรงว่าจะต้องตัดมือที่ไหม้เกรียมของเขา เพื่อนผู้สอนศาสนาหลายคนสวดอ้อนวอนให้เขา ขณะอยู่ในพระวิหาร บราเดอร์เตโอร้องทูลพระเจ้าให้ “สัมผัสมือข้าพระองค์” “ขอทรงซ่อมมือนี้เพื่อข้าพระองค์จะสามารถช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้” เขาเริ่มหายทันที ปัจจุบันมือของเขาไม่มีแผลเป็น เวลานี้เขารับใช้เป็นผู้ผนึกในพระวิหารลาอีเอ ฮาวายและกล่าวว่า “พระวิหารแห่งนี้ … มีอิทธิพลแรงกล้าทั่วชุมชนเหล่านี้ ไม่เฉพาะที่นี่เท่านั้น แต่ทั่วแปซิฟิก” (ใน Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 328–330)

การรวมทางวิญญาณจากเอเชีย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการสถาปนาศาสนจักรอีกครั้งในญี่ปุ่น วิสุทธิชนที่นั่นจัดการเดินทางไปพระวิหารครั้งแรกของชาวเอเชีย ในปี 1965 เครื่องบินพาวิสุทธิชนที่ภักดีเต็มลำ 165 คนเดินทางจากโตเกียวไปฮาวายเพื่อรับศาสนพิธีพระวิหาร การเดินทางครั้งนี้ทำให้ศาสนจักรในญี่ปุ่นเข้มแข็งอย่างไม่น่าเชื่อ เก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของสมาชิกเหล่านี้ยังแข็งขันในศาสนจักร ต่อมาสมาชิกห้าคนเป็นประธานพระวิหารในแผ่นดินเกิด รวมทั้งเอ็ลเดอร์โยชิฮิโกะ คิคุชิเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่คนแรกจากญี่ปุ่น6

ในปี 1970 สมาชิกชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งเดินทางไปลาอีเอ ชอยวุควอนประธานสาขากล่าวว่า “เราไปพระวิหารและนั่นเปิดจิตใจเราให้รับรู้ว่าเราจะรับความรอดได้อย่างไร แผนนิรันดร์กลายเป็นจริง ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งขึ้นมากจนยากจะอธิบาย นับเป็นพรอย่างยิ่งสำหรับคนเกาหลีที่ได้มีโอกาสเข้าพระวิหาร”7

ภาพ
Laie Hawaii Temple at night

ภาพถ่ายลวดลายแกะสลักพระวิหารฮาวายเอื้อเฟื้อโดยหอสมุดประวัติศาสนจักร; ภาพถ่ายยามค่ำของพระวิหารลาอีเอ ฮาวาย โดย คาร์ลา จอห์นสัน

การรวมผู้วายชนม์ที่เป็นญาติของเรา

เมื่อศาสนพิธีพระวิหารมีให้แก่ประชาชาติหนึ่ง ศาสนพิธีเหล่านี้ไม่เพียงนำพรของพระเจ้าไปให้คนที่ยังมีชีวิตในประเทศของตนเท่านั้นแต่นำไปให้คนอีกด้านหนึ่งของม่านจากประเทศนั้นด้วย สมาชิกในประเทศแถบเอเชียรู้สึกถึงพรนี้ ประเทศที่วัฒนธรรมของพวกเขาบันทึกลำดับเชื้อสายไว้อย่างละเอียดมานานหลายศตวรรษ

พ่อแม่ของไควชุนหลุงอพยพจากจีนมาฮาวาย เขาเกิดที่เกาะคาไวในปี 1894 และรับบัพติศมาในปี 1944 ตรงกับวันเกิดปีที่ 50 ของเขา บราเดอร์หลุงสอนประวัติครอบครัวที่โบสถ์และบอกชั้นเรียนของเขาว่า “คืนหนึ่งผมมีนิมิตเห็นญาติที่สิ้นชีวิตแล้วหลายคนกวักมือเรียกผมให้ไปทำงานแทนพวกเขา” สามวันต่อมาเขาได้รับลำดับเชื้อสายของเขาจากคุณลุงในประเทศจีน 22 หน้าเป็นอักษรภาษาจีนแสดงให้เห็นบรรพชนของเขาย้อนกลับไปถึง ค.ศ. 1221 พวกเขากับเกลนน์ลูกชายและจูลินาลูกสะใภ้ทำศาสนพิธีในพระวิหารให้ครอบครัวไปหลายพันคน ต่อมาเกลนน์กับจูลินา หลุงรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในฐานะประธานและภรรยาประธานพระวิหารลาอีเอตั้งแต่ปี 2001 ถึง 20048

หนังสือม้วนที่ไม่ยอมไหม้

มิชิเอะ อิกูชิจากญี่ปุ่นมาถึงฮาวายเมื่อต้นทศวรรษ 1900 และนำหนังสือม้วนภาษาญี่ปุ่นที่ทำจากผ้าไหมมาด้วย คานานี คาเซย์หลานสาวของเธอรับใช้งานเผยแผ่ในญี่ปุ่นและต่อมาทราบว่าหนังสือม้วนของคุณย่าสืบสายบรรพชนของครอบครัวย้อนกลับไปเกือบหนึ่งพันปี

ในปี 2013 บ้านของคานานีถูกไฟไหม้ทั้งหลัง เธอกับครอบครัวสูญเสียเกือบทุกอย่างในกองเพลิง พวกเขาเก็บลำดับเชื้อสายไว้ในถังพลาสติกใต้เตียง หลังเพลิงไหม้ พวกเขากลับไปบ้านและพบแต่กองเถ้าถ่านกับเขม่า

“อย่างเดียวที่ดิฉันหวังจะพบจริงๆ คือหนังสือม้วนกับคำแปลและประวัติ” คานานีกล่าว “ดิฉันสบายใจที่ได้ทำงานพระวิหารให้บรรพชนชาวญี่ปุ่นไปหมดแล้ว แต่หนังสือม้วนมีค่าต่อดิฉันมาก”

ขณะคานานีกับบิลลีสามีคุ้ยเขี่ยตามกองเถ้าถ่าน ในที่สุดพวกเขาก็พบถุงพลาสติกสีน้ำเงิน ในถุงพวกเขาพบหนังสือม้วนพร้อมคำแปลกับหนังสือประวัติครอบครัว น่าแปลกที่ยังอยู่ในสภาพเดิม ขอบหนังสือม้วนไหม้เล็กน้อย แต่สิ่งของอย่างเดียวที่เหลือรอดในห้องนอนคือหนังสือม้วน

คานานีรู้สึกว่าพระเจ้าทรงปกปักรักษาหนังสือม้วน “เพื่อประโยชน์ของลูกหลานดิฉันอันเป็นประจักษ์พยานถึงความรักที่ทรงมีต่อเราและเพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของการทำประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร” (ใน Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 172–74)

การรวมผ่านการศึกษา

พรของพระวิหารลาอีเอ ฮาวายขยายไปถึงคนที่มารับการศึกษาขั้นสูงที่ลาอีเอด้วย ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 นักศึกษาหลายหมื่นคนจากทั่วโปลินีเซียและเอเชียมาที่นี่ ปัจจุบันคือบีวายยู–ฮาวาย นักศึกษาเหล่านี้หลายคนรับบัพติศมาแทนผู้วายชนม์และรับใช้เป็นเจ้าหน้าที่ศาสนพิธีพระวิหาร พระวิหารลาอีเอได้ช่วยนักศึกษาพัฒนาความรักต่องานพระวิหารและประวัติครอบครัว และช่วยให้พวกเขาพร้อมรับใช้มากขึ้นเมื่อพระวิหารมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา

ชุน ชัว เจมส์จากสิงคโปร์มาบีวายยู–ฮาวายในทศวรรษ 1970 กับน้องสาวของเธอ ทั้งคู่แต่งงานกับชายจากประเทศอื่นในปี 1978 ซิสเตอร์เจมส์เล่าถึงอดีตว่า “การแต่งงานของเราในพระวิหารลาอีเอนำผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสองคนและสองวัฒนธรรมมารวมกันเพื่อกาลเวลาและชั่วนิรันดร—จุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราหวังว่าจะเป็นมรดกยืนยาวของพรพระวิหารในครอบครัวเรา การแต่งงานของเราสองคนเป็นหนึ่งในการแต่งงานนิรันดร์ของนักศึกษาบีวายยูหลายร้อยคู่ที่ประกอบพิธีในพระวิหารลาอีเอ น่าจะเป็นมรดกล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งตลอดหกสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีมหาวิทยาลัยแห่งนี้” (ใน Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 236)

การรวมดำเนินต่อไป

พระวิหารลาอีเอ ฮาวายที่ตั้งอยู่ตรงจุดตัดกันของแปซิฟิกระหว่างอเมริกากับเอเชียได้เปิดประตูของพรพระวิหารให้หลายประชาชาติ ด้วยเหตุนี้การรวมอิสราเอลจึงกลายเป็นการรวมทางวิญญาณอันดับแรกเมื่อสมาชิกสามารถรับพรพระวิหารแล้วกลับไปสร้างศาสนจักรในแผ่นดินเกิด โอกาสนี้ช่วยขยายพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูไปถึงคนมากมายหลายวัฒนธรรมในทั้งสองด้านของม่าน

ขณะที่เราเฉลิมฉลองปีที่ 100 ของพระวิหารลาอีเอ ฮาวาย เรามีสิทธิพิเศษที่ได้เห็นหลักไมล์ในการฟื้นฟูและสัมฤทธิผลตามคำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์เจคอบในพระคัมภีร์มอรมอนที่ว่า “พระสัญญาของพระเจ้ากับพวกเขาผู้ที่อยู่บนหมู่เกาะในทะเลนั้นสำคัญยิ่ง” (2 นีไฟ 10:21)

อ้างอิง

  1. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 448.

  2. ดู James Adams Argyle, comp., “The Writings of John Q. Adams,” 14, FamilySearch.org.

  3. Vailine Leota Niko, in Clinton D. Christensen, comp. Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi (2019), 70–71.

  4. Aivao Frank Leota (1878–1966), FamilySearch.org.

  5. ดู Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 64–65.

  6. ดู Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 114–17.

  7. Choi Wook Whan, in “Going to the Temple Is Greatest Blessing,” Church News, Apr. 17, 1971, 10.

  8. ดู Christensen, Stories of the Temple in Lāʻie, Hawaiʻi, 166.