2019
โรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ: เกมมีพิษชื่อ “หาจุดต่าง”
กันยายน 2019


คนหนุ่มสาว

โรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ เกมมีพิษชื่อ “หาจุดต่าง”

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในแทสเมเนีย ออสเตรเลีย

มีหลายครั้งที่เราทุกคนรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ แต่เราต้องแน่ใจว่าเรากำลังประเมินตัวเราอย่างถูกต้อง

ภาพ
people in a crowd

ภาพประกอบ โดย เคลซีย์ การ์ริตี ไรลีย์

เมื่อผมอายุน้อยกว่านี้ ผมชอบเล่นเกม “หาจุดต่าง” ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาพเหมือนกันแทบทุกอย่างสองภาพที่อยู่คู่กันท้าให้หาจุดต่างเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างสองภาพนี้ ถ้าคุณเพ่งมององค์ประกอบแต่ละอย่างของภาพใกล้พอ คุณจะหาจุดต่างได้ถ้าไม่หมดก็เกือบหมด จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ไม่ใช่เพื่อชื่นชมภาพหรือเพื่อทำให้ภาพที่สองสมบูรณ์ จุดประสงค์คือเพื่อมองหาข้อบกพร่องทั้งหมดในภาพแรกที่ไม่สมบูรณ์

ความท้าทายทั่วไปสำหรับคนหนุ่มสาวคือความรู้สึกว่าเราไม่ดีเท่ากับมาตรฐานที่เราวาดหวังไว้ว่าเราควรเป็น เราเปรียบเทียบกันมากขึ้นเรื่อยๆ และเห็นคนหนึ่งเริ่มอาชีพที่ประสบความสำเร็จ อีกคนได้เกรดยอดเยี่ยมในการเรียน อีกคนมีเพื่อนกลุ่มใหญ่ขึ้น อีกคนมีจิตใจดี ฉลาด เอื้อเฟื้อและโอบอ้อมอารีมากกว่าเรา และพวกเขาน่าจะอายุน้อยกว่าเราด้วย! แน่นอนว่าเราเล่นเกม “หาจุดต่าง” ระหว่างตัวเรากับคนรอบข้างได้ไม่ยาก และเราสามารถคิดเหตุผลยาวเหยียดได้เสมอว่าคนอื่น “ดีกว่า” เรา

วิธีคิดแบบนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าเราเชื่อว่าความสำเร็จของเรา คุณลักษณะของเรา หรือความมั่งคั่งทางโลกที่เพิ่มมากขึ้นของเราเป็นตัวกำหนดคุณค่าของตัวเรา นอกเหนือจากนั้น เกม “หาจุดต่าง” ของเราแทบไม่บอกข้อดีและคุณสมบัติเหมือนพระคริสต์ที่เราได้พัฒนาไปแล้วในชีวิตเราและข้ามความจริงพื้นฐานที่ว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะสมบูรณ์แบบเหมือนพระคริสต์ … ในวันหน้า เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “ดีพร้อมแม้ดังเรา, หรือพระบิดาของเจ้าผู้ทรงสถิตอยู่ในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (3 นีไฟ 12:48) ผมเชื่อว่าพระองค์ทรงพยายามยกระดับการมองเห็นของเราและให้ความหวังแก่เรา—อย่างไรก็ตาม พระดำรัสเชื้อเชิญของพระองค์เป็นทั้งการขอร้องให้กลับใจและการแสดงความเชื่อมั่นในเราว่าเราสามารถบรรลุสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ ความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับเราคือเอาชนะแนวโน้มของมนุษย์ปุถุชนที่จะอิจฉา ไม่พอใจ ผิดหวัง และสงสัย ที่จะเลือกความอ่อนน้อมถ่อมตน การกลับใจ ศรัทธา และความหวัง

ชอบธรรมตอนนี้ สมบูรณ์แบบทีหลัง

ส่วนหนึ่งของการเอาชนะ “โรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ” ในเชิงลบที่ปฏิปักษ์เผยแพร่คือเราต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้วความสมบูรณ์แบบคืออะไร ในคำพูดของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องความสมบูรณ์แบบ ท่านอธิบายว่าคำภาษากรีกดั้งเดิมของ สมบูรณ์แบบ ใน มัทธิว 5:48 หมายถึง “ครบถ้วนสมบูรณ์”1 จะไม่มีใครในพวกเรา “ครบถ้วนสมบูรณ์” ในชีวิตมรรตัยนี้ ความครบถ้วนสมบูรณ์จะมาในนิรันดร

เมื่อเราพบว่าความสมบูรณ์แบบทำให้หนักใจ เราสามารถเดินไปตามเส้นทางสู่ความดีพร้อมได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราจ่ายส่วนสิบเต็ม เท่ากับเราสามารถรักษาพระบัญญัติเรื่องส่วนสิบได้ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อเราสวดอ้อนวอนทุกวัน เราจะพบว่าเรา สมบูรณ์แบบ เรื่องการเลือกสวดอ้อนวอนในแต่ละวัน แต่ละก้าวบนเส้นทางสู่ความสมบูรณ์แบบ (อีกชื่อหนึ่งคือเส้นทางพันธสัญญา) ออกแบบไว้เพื่อให้เราเกิดปีติ การสำรวจตัวเราเป็นประจำจะยืนยันกับเราว่าเรากำลังก้าวหน้าและพระบิดาพอพระทัยกับแรงผลักดันทางวิญญาณของชีวิตเรา

ความชอบธรรมและความสมบูรณ์แบบมีความหมายไม่เหมือนกัน ความสมบูรณ์แบบคือผลลัพธ์ ส่วนความชอบธรรมคือรูปแบบของศรัทธาและการกลับใจซึ่งเราเลือกทุกวัน ถ้าความสมบูรณ์แบบเป็นจุดหมาย พันธสัญญาของเราย่อมเป็นหนังสือเดินทางและความชอบธรรมเป็นก้าวเดินระหว่างการเดินทาง ถ้าสิ่งนี้เป็นมุมมองของเราเรื่องความสมบูรณ์แบบ เราหวังให้สิ่งดีเกิดขึ้นได้เมื่อเราพัฒนารูปแบบที่ชอบธรรมอย่างอดทนและไม่หยุดยั้ง

คาดว่าจะล้มเหลว รักการกลับใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ผมใคร่ครวญคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์แห่งสาวกเจ็ดสิบ “การกลับใจไม่ใช่แผนสำรอง [ของพระผู้เป็นเจ้า] ในเหตุการณ์ที่เราอาจล้มเหลว การกลับใจ เป็น แผนของพระองค์ โดยทรงทราบว่าเราจะล้มเหลว”2 ชีวิตนี้เป็นช่วงการทดลองให้เราเตรียมพร้อมสำหรับนิรันดร การกลับใจเตรียมเราโดยเปลี่ยนวิธีที่เรามองตนเองและนำเราให้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น เราควรคาดว่าจะล้มเหลวหรือทำผิดพลาด อาจจะทุกวัน เราไม่ควรเลิกคาดหวังความผิดพลาด ทั้งไม่ควรทำให้เราสิ้นหวัง อันที่จริง เราควรมีความสุขเมื่อเรารู้ข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดของเราขณะมีโอกาสร่วมมือกับพระคริสต์ในการเปลี่ยนความอ่อนแอของเราให้เป็นความเข้มแข็ง

ดังนั้น ขณะที่ความสมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมาย เส้นทางที่เราเดินจึงเกี่ยวข้องกับการกลับใจและการเดินหน้าทุกวันด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าและความกตัญญูในใจเรา

มองไปที่พระคริสต์

ภาพ
looking toward Christ

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “สิ่งที่เราปรารถนาอยู่ตลอดเวลาคือสิ่งที่เราจะเป็นในท้ายที่สุดและสิ่งที่เราจะได้รับในนิรันดร”3 การเลือกในแต่ละวันของเรากำหนดว่าเราจะเป็นใคร ถ้าความปรารถนาที่จริงใจของเราคือเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดและแรงจูงใจของเราคือรักพระองค์ การเลือกของเราจะสะท้อนความปรารถนานั้นและเราจะเปลี่ยน

เมื่อเราชนที่กั้นถนน เมื่อเราทำผิดพลาด และเมื่อเราตกไปสู่การล่อลวง เราสามารถตอบสนองโดยออกห่างจากพระคริสต์หรือเราสามารถมองไปที่พระคริสต์ด้วยศรัทธา คามหวัง ความอดทน ใจที่ชอกช้ำ และวิญญาณที่สำนึกผิด เราพบทางออกหรือคำตอบของสภาวการณ์ยากๆ ของเราในพระคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เสมอ เมื่อเรามองไปที่พระคริสต์ พระองค์จะทรงสอนและเปลี่ยนเรา

ความท้าทายมากมายของชีวิตมีสองประเภทคือ ความท้าทายที่เราจะเอาชนะในชีวิตนี้และความท้าทายที่เราจะเอาชนะในชีวิตหน้า บางทีอาจจะเป็นความพิการ ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล หรือการล่อลวงอย่างต่อเนื่อง พระคริสต์ทรงมีอำนาจทำให้เราสมบูรณ์ พระองค์ทรงมีอำนาจเปลี่ยนเรา เมื่อเราเลือกความอ่อนน้อมถ่อมตน เท่ากับเรายอมรับจังหวะเวลาและพระประสงค์ของพระเจ้า ถ้าเราหมั่นแสวงหาความช่วยเหลือและการนำทางจากพระองค์ เราจะพบพลัง กำลังใจจากสวรรค์ และสันติสุข

จงระวังความจองหอง

ภาพ
comparing

ปฏิปักษ์ไม่มีวันมอบทางออกที่ดีให้กับความท้าทายของเรา เมื่อเราค้นพบความล้มเหลวและความอ่อนแอของเรา เขากระตุ้นให้เราปิดบังไว้เพราะเราต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่มีข้อบกพร่อง นี่คือความจองหองรูปแบบหนึ่ง พระคริสต์ทรงมอบทางออกที่ดีให้กับความท้าทายของเราเสมอ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ทางออกของพระองค์ง่าย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราวางใจพระองค์ขณะที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณ ส่วนซาตานบอกเราว่าเราไม่ควรแบ่งปันพระกิตติคุณเพราะเราไม่มีวาทศิลป์ แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะประทานสิ่งที่เราต้องพูด “ในชั่วขณะนั้นนั่นเอง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:6) โดยแท้แล้ว ปฏิปักษ์ป้อนความสงสัยให้เราส่วนพระเจ้าป้อนศรัทธาให้เรา

แทนที่จะหมกมุ่นกับการเล่นเกม “หาจุดต่าง” และ “ปิดบังความอ่อนแอ” พระคริสต์ทรงประสงค์ให้เรามองไปที่พระองค์และมีส่วนในการ “เปลี่ยนความอ่อนแอ” โดยพื้นฐานแล้วความจองหองเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แต่ชีวิตไม่ได้ออกแบบให้เป็นการแข่งขัน เมื่อเราเลือกพระคริสต์เป็นแบบอย่างของเรา สหาย และผู้สนับสนุนเรา เราสามารถเลิกทำการเปรียบเทียบที่เป็นภัยต่อเราและหาสันติสุขบนเส้นทางสู่ความดีพร้อม

พึงจดจำว่า ในชีวิตเราทุกคนประสบความท้าทายเรื่องความไม่ดีพร้อมและความอ่อนแอที่ตามมา ถ้าเราเห็นคนอื่นลำบาก เราจะเป็นแรงบวกยกพวกเขาให้สูงขึ้น ถ้าเราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ เราจะกล่าวชมเชยด้วยใจจริง แต่เราจะไม่ได้ประโยชน์จากการพยายามมุ่งมั่นค้นหาว่าความชอบธรรมหรือความสำเร็จของเราเทียบกับอีกคนหนึ่งได้หรือไม่ คนอื่นอาจไม่เห็นคุณค่าของเรา แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็น เรามีค่าไม่สิ้นสุดต่อพระองค์ เราจะเป็นบุตรธิดาของพระองค์ตลอดไป พระองค์ทรงรักเราอย่างไม่มีเงื่อนไข และพระองค์พอพระทัยกับความพยายามอันชอบธรรมของเราเพื่อจะเป็นเหมือนพระองค์

พระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงเป็นผู้มองดูชีวิตเราโดยไม่สนพระทัยใยดี พระองค์ทรงอยู่ที่นั่น ทรงรับรู้ และทรงงานเพื่อช่วยให้เรารอดและนำเรากลับไปบ้านซีเลสเชียล ในพระพลานุภาพของพระองค์เราสามารถทำได้ทุกอย่างและไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้โดยผ่านพระองค์ ในชีวิตนี้ที่มีความไม่ดีพร้อม พระเจ้าทรงเป็นความหวังและแบบอย่างของเรา พระองค์จะไม่ทรงพิพากษาเราโดยเปรียบเทียบเรากับพี่น้องชายหญิงของเรา พระองค์ทอดพระเนตรใจเรา และจะทรงให้กำลังใจและนำทางเราระหว่างเดินทางอย่างต่อเนื่องสู่ความครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้เราปฏิบัติด้วยศรัทธา กลับใจและมองไปที่พระคริสต์ด้วยความหวังในสัญญาของพระองค์ แล้วเราจะ “ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32)

อ้างอิง

  1. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความดีพร้อมเป็นกระบวนการต่อเนื่อง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 95.

  2. ลินน์ จี. รอบบินส์, “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 22.

  3. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “ตามความปรารถนาของใจ [เรา],” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 22.