การประชุมใหญ่สามัญ
เข้าถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพันธสัญญา
การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2023


เข้าถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพันธสัญญา

ขณะที่ท่านทั้งหลายเดินตามเส้นทางพันธสัญญา ตั้งแต่บัพติศมาจนถึงพระวิหารและตลอดชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะมีพลังอำนาจต้านกระแสธรรมชาติฝ่ายโลก

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสอุทิศพระวิหารเบเลง บราซิล นับเป็นความยินดีที่ได้อยู่กับสมาชิกผู้อุทิศตนของศาสนจักรทางตอนเหนือของบราซิล เวลานั้นข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าเบเลงเป็นประตูสู่ภูมิภาคที่มีแม่น้ำที่ทรงพลังที่สุดในโลก นั่นคือ แม่น้ำแอมะซอน

แม้แม่น้ำจะไหลเชี่ยว แต่มีบางอย่างที่ดูผิดธรรมชาติเกิดขึ้นปีละสองครั้ง เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกเรียงเป็นระเบียบในแนวเดียวกัน คลื่นยักษ์อันทรงพลังจะไหลทวนกระแสธรรมชาติของน้ำขึ้นมาสู่แม่น้ำ มีเอกสารยืนยันว่าคลื่นสูงถึง 6 เมตร1 ไหลทวนน้ำมาไกลถึง 50 กิโลเมตร2 ปรากฏการณ์นี้ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าคือกำแพงน้ำ คนท้องถิ่นเรียกว่า pororoca หรือ “มหาเสียงกัมปนาท” เพราะเสียงดังที่เกิดจากคลื่นนี้ เราสามารถสรุปได้อย่างถูกต้องว่า แม้แอมะซอนที่ยิ่งใหญ่ยังต้องสยบต่อพลังอำนาจสวรรค์

เฉกเช่นแอมะซอน เรามีกระแสธรรมชาติที่ไหลมาสู่ชีวิตเรา เรามักจะทำสิ่งที่มาตามธรรมชาติ และเฉกเช่นแอมะซอน ด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ เราสามารถทำสิ่งที่ดูผิดธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องไม่ธรรมชาติที่เราถ่อมตน อ่อนโยน หรือเต็มใจยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ด้วยการทำเช่นนี้เท่านั้นเราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลง กลับไปอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า และบรรลุจุดหมายนิรันดร์ของเราได้

ต่างจากแอมะซอนตรงที่เราเลือกได้ว่าจะยอมต่อพลังอำนาจสวรรค์หรือ “ไปตามกระแส”3 การสวนกระแสอาจเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเรายอม “ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” และทิ้งนิสัยเห็นแก่ตัวอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์4 เราสามารถได้รับพลังอำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิต พลังอำนาจที่จะทำเรื่องยากๆ ได้

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนวิธีทำเช่นนี้ ท่านสัญญาว่า “แต่ละคนที่ทำพันธสัญญาในอ่างบัพติศมาและในพระวิหาร—และรักษาพันธสัญญา—มีสิทธิ์เข้าถึงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์มากขึ้น … [เพื่อยก] เราขึ้นเหนือแรงดึงของโลกที่ตกใบนี้5 อีกนัยหนึ่งคือ เราจะเข้าถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์ผ่านพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

ก่อนสร้างโลก พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งพันธสัญญาขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกให้เรา บุตรธิดาพระองค์ หลอมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ได้ ตามกฎนิรันดร์อันไม่เปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงระบุเงื่อนไขที่ต่อรองไม่ได้ซึ่งเปลี่ยนแปลงเรา ช่วยเราให้รอด และทำให้เราสูงส่ง ในชีวิตนี้เราทำพันธสัญญาเหล่านี้โดยร่วมในศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและสัญญาว่าจะทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำ และพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาพรที่แน่นอนเป็นการตอบแทน6

พันธสัญญาเป็นคำมั่นสัญญาที่เราควรเตรียมตัวรับ เข้าใจให้ชัดเจน และรักษาอย่างเคร่งครัด7 การทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าต่างจากการทำสัญญาธรรมดาๆ อย่างแรก ต้องมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต อย่างที่สอง คำสัญญาที่อ่อนแอไม่มีพลังเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะยกเราขึ้นเหนือแรงดึงของกระแสธรรมชาติ เราทำพันธสัญญาก็ต่อเมื่อเราตั้งใจจะผูกมัดตัวเราเป็นมั่นเหมาะว่าจะทำตามพันธสัญญา8 เรากลายเป็นลูกแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นทายาทอาณาจักรของพระองค์ โดยเฉพาะเมื่อเราเอาตัวเองมาร่วมพันธสัญญาอย่างเต็มตัว

คำว่า เส้นทางพันธสัญญา หมายถึงลำดับพันธสัญญาที่เรามาหาพระคริสต์และเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์ โดยผ่านข้อผูกมัดตามพันธสัญญานี้ เรามีสิทธิ์เข้าถึงเดชานุภาพนิรันดร์ของพระองค์ เส้นทางดังกล่าวเริ่มต้นด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ ตามด้วยบัพติศมาและการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์9 พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้เราเห็นวิธีเข้ามาในเส้นทางเมื่อพระองค์ทรงรับบัพติศมา10 ตามเรื่องราวพันธสัญญาใหม่ในกิตติคุณของมาระโกและลูกา พระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับพระเยซูโดยตรงขณะทรงรับบัพติศมาว่า “ท่านเป็นบุตรที่‍รักของเรา เราชอบ‍ใจท่านมาก” เมื่อเราออกเดินทางบนเส้นทางพันธสัญญาผ่านบัพติศมา ข้าพเจ้านึกภาพออกว่าพระบิดาบนสวรรค์จะตรัสกับเราแต่ละคนทำนองนี้: “เจ้าเป็นลูกที่รักของเรา ผู้ที่เราปลื้มใจมาก จงเป็นแบบนี้ต่อไป”11

ที่บัพติศมาและเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก12เราเป็นพยานว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์13 ในบริบทนี้ ขอให้เราตระหนักถึงพระบัญญัติในพันธสัญญาเดิม “ห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด”14 ในสมัยเราจะฟังเหมือนเป็นการห้ามไม่ให้ใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่เคารพ พระบัญญัติหมายรวมถึงเรื่องนั้นด้วย แต่คำสั่งห้ามนี้ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น คำฮีบรูที่แปลเป็นคำว่า “ใช้” หมายถึง “ยก” หรือ “แบก” เหมือนที่คนจะยกหรือแบกธงซึ่งบ่งบอกถึงกลุ่มหรือบุคคลที่ตนเป็นพวกด้วย15 ส่วนคำที่แปลเป็นคำว่า “ในทางที่ผิด” หมายถึง “ว่างเปล่า” หรือ “หลอกลวง”16 พระบัญญัติไม่ให้ใช้พระนามของพระเจ้าในทางที่ผิดจึงหมายความได้ว่า “ท่านไม่ควรแสดงตัวเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เว้นแต่ท่านตั้งใจจะเป็นตัวแทนที่ดีของพระองค์”

เรากลายเป็นสานุศิษย์และเป็นตัวแทนที่ดีของพระองค์เมื่อเราตั้งใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านพันธสัญญา พันธสัญญาของเราให้พลังอำนาจที่จะอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาเพราะความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์เปลี่ยนไป เราเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์โดยข้อผูกมัดตามพันธสัญญา

เส้นทางพันธสัญญานำไปสู่ศาสนพิธีพระวิหาร เช่น เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร17 เอ็นดาวเม้นท์เป็นของประทานแห่งพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้าที่เชื่อมความสัมพันธ์เรากับพระองค์ให้สมบูรณ์มากขึ้น ในเอ็นดาวเม้นท์ หนึ่ง เราทำพันธสัญญาว่าจะพากเพียรรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า สอง กลับใจด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด สาม ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราทำสิ่งนี้โดยใช้ศรัทธาในพระองค์ ทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าขณะเราได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง รักษาพันธสัญญาเหล่านั้นตลอดชีวิตเรา และพากเพียรดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติสำคัญสองข้อที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้าน สี่ เราทำพันธสัญญาเพื่อรักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ และห้า อุทิศตนเองและทุกอย่างที่พระเจ้าประทานพรให้เราเพื่อเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์18

โดยการทำและรักษาพันธสัญญาพระวิหาร เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับจุดประสงค์ของพระเจ้าและได้รับความสมบูรณ์แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์19 เราได้รับการนำทางสำหรับชีวิตเรา เราเติบโตในการเป็นสานุศิษย์เพื่อจะได้ไม่เป็นเด็กไม่รู้เหมือนเดิมเรื่อยไป20 แต่เราดำเนินชีวิตด้วยมุมมองนิรันดร์และมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น เราได้รับความสามารถเพิ่มขึ้นที่จะบรรลุจุดประสงค์ในความเป็นมรรตัย เราได้รับการปกป้องจากความชั่ว21 และเราได้พลังอำนาจมากขึ้นที่จะต่อต้านการล่อลวงและกลับใจเมื่อเราพลาด22 เมื่อเราสะดุด ความทรงจำเรื่องพันธสัญญาของเรากับพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยให้เรากลับมายังเส้นทาง เมื่อเชื่อมกับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เราจะกลายเป็น pororoca ของตนเอง สามารถต้านกระแสโลกตลอดชีวิตนี้และในนิรันดร ในที่สุด จุดหมายของเราจะเปลี่ยนไปเพราะเส้นทางพันธสัญญานำไปสู่ความสูงส่งและชีวิตนิรันดร์23

การรักษาพันธสัญญาที่ทำในอ่างบัพติศมาและในพระวิหารทำให้เรามีพลังต้านทานการทดลองและความปวดร้าวใจของความเป็นมรรตัย24 หลักคำสอนเกี่ยวกับพันธสัญญาเหล่านี้ทำให้ทางของเราสะดวก ตลอดจนให้ความหวัง ความสบายใจ และสันติสุข

ลีนา โซเฟีย กับแมทส์ ลีนเดอร์ เรนลันด์ คุณปู่คุณย่าของข้าพเจ้าได้รับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพันธสัญญาบัพติศมาเมื่อเข้าร่วมศาสนจักรในปี 1912 ในฟินแลนด์ พวกท่านมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสาขาแรกของศาสนจักรในฟินแลนด์

ลีนเดอร์เสียชีวิตจากวัณโรคในอีกห้าปีต่อมาตอนที่ลีนาตั้งครรภ์ลูกคนที่สิบ เด็กคนนั้น ซึ่งคือคุณพ่อข้าพเจ้า เกิดหลังจากลีนเดอร์เสียชีวิตได้สองเดือน สุดท้ายลีนาไม่เพียงต้องฝังสามีเท่านั้นแต่ฝังลูกเจ็ดในสิบคนด้วย เนื่องจากเป็นแม่ม่ายยากจน ท่านจึงลำบากมาก ท่านหลับไม่เต็มอิ่มเป็นเวลา 20 ปี ระหว่างวันท่านดิ้นรนหาอาหารให้ครอบครัว ตอนกลางคืนท่านดูแลสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ตาย แทบนึกไม่ออกเลยว่าท่านรับมืออย่างไร

ลีนาไม่ย่อท้อเพราะท่านรู้ว่าสามีกับลูกๆ ที่เสียชีวิตสามารถเป็นของท่านชั่วนิรันดร หลักคำสอนเรื่องพรพระวิหาร รวมถึงเรื่องครอบครัวนิรันดร์ นำสันติสุขมาให้ท่านเพราะท่านวางใจในอำนาจการผนึก ขณะอยู่ในความเป็นมรรตัย ท่านไม่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์และไม่ได้ผนึกกับลีนเดอร์ แต่ลีนเดอร์ยังคงมีอิทธิพลสำคัญยิ่งในชีวิตท่านและเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ส่วนหนึ่งสำหรับอนาคต

ในปี 1938 ลีนาส่งบันทึกให้พระวิหารประกอบศาสนพิธีให้แก่สมาชิกครอบครัวที่เสียชีวิต บันทึกแรกๆ บางส่วนส่งมาจากฟินแลนด์ หลังจากท่านตาย คนอื่นประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้ท่านกับลีนเดอร์ และลูกๆ ที่เสียชีวิต ลีนาได้รับเอ็นดาวเม้นท์โดยตัวแทน ท่านกับลีนเดอร์ผนึกกัน และลูกๆ ที่เสียชีวิตกับคุณพ่อข้าพเจ้าผนึกกับทั้งคู่ ลีนาเหมือนคนอื่นๆ คือ “ตายในขณะที่ยังมีความเชื่ออยู่ และยังไม่ได้รับสิ่งต่างๆ ที่ทรงสัญญาไว้ แต่พวกเขาก็สังเกตเห็นแต่ไกลและรอรับด้วยใจยินดี”25

ลีนาดำเนินชีวิตประหนึ่งได้ทำพันธสัญญาเหล่านี้แล้วในชีวิต ท่านรู้ว่าพันธสัญญาบัพติศมาและพันธสัญญาศีลระลึกเชื่อมโยงท่านกับพระผู้ช่วยให้รอด ท่าน “ให้ความโหยหาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ [ของพระผู้ไถ่] นำความหวังมาสู่จิตใจเปล่าเปลี่ยว [ของท่าน]”26 ลีนาถือว่านี่เป็นพระเมตตาครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์ก่อนประสบเรื่องเศร้าสลดในชีวิต โดยผ่านพันธสัญญาลีนาได้รับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่จะอดทนและขึ้นมาอยู่เหนือแรงดึงอันชวนหดหู่ของความท้าทายและความยากลำบาก

ขณะที่ท่านทั้งหลายเดินตามเส้นทางพันธสัญญา ตั้งแต่บัพติศมาจนถึงพระวิหารและตลอดชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะมีพลังอำนาจต้านกระแสธรรมชาติฝ่ายโลก—พลังอำนาจที่จะเรียนรู้ พลังอำนาจที่จะกลับใจและได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ พลังอำนาจที่จะพบความหวัง การปลอบโยน และแม้ปีติขณะท่านเผชิญความท้าทายของชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านกับครอบครัวจะได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของปฏิปักษ์ โดยเฉพาะเมื่อท่านทำให้พระวิหารเป็นจุดศูนย์รวมหลักในชีวิต

เมื่อท่านมาหาพระคริสต์และเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์โดยพันธสัญญา สิ่งที่ดูผิดธรรมชาติจะเกิดขึ้น ท่านจะถูกเปลี่ยนและถูกทำให้ดีพร้อมในพระเยซูคริสต์27 ท่านจะกลายเป็นลูกแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นทายาทในอาณาจักรของพระองค์28 ข้าพเจ้านึกภาพออกว่าพระองค์จะตรัสกับท่าน “เจ้าเป็นลูกที่รักของเรา ผู้ที่เราปลื้มใจมาก ยินดีต้อนรับกลับบ้าน” ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ประมาณ 20 ฟุต

  2. ประมาณ 30 ไมล์

  3. เรามีทางเลือกเพราะพระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิพิเศษให้เราเลือกและกระทำด้วยตนเอง ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สิทธิ์เสรี,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org; 2 นีไฟ 2:27; โมเสส 7:32

  4. ดู โมไซยาห์ 3:19

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ชนะโลกและหยุดพัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 96, 97.

  6. ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สามัคคี (ความ), หนึ่งเดียว (ความเป็น),” scriptures.ChurchofJesusChrist.org

  7. ทุกคนสะดุดบางครั้ง แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงอดทนกับการสะดุดของเราและทรงมอบของประทานแห่งการกลับใจให้เราแม้หลังจากที่เราฝ่าฝืนพันธสัญญา ตามที่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์สอน “พระเจ้าทรงมองความอ่อนแอต่างจากการกบฏ … [เพราะ] เมื่อพระเจ้าตรัสถึงความอ่อนแอ พระองค์ตรัสด้วยความเมตตาเสมอ” (“ความเข้มแข็งส่วนบุคคลผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 83) ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรสงสัยพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะช่วยเราในความอ่อนแอของเรา แต่การจงใจฝ่าฝืนพันธสัญญาโดยเจตนาวางแผนจะกลับใจหลังจากนั้น—อีกนัยหนึ่งคือวางแผนทำบาปก่อนแล้วกลับใจทีหลัง—เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงรังเกียจ (ดู ฮีบรู 6:4–6)

  8. ดู Robert Bolt, A Man for All Seasons: A Play in Two Acts (1990), xiii–xiv, 140.

  9. ดู 2 นีไฟ 31:17–18

  10. ดู 2 นีไฟ 31:4–15

  11. ลูกาบันทึกว่า “และพระ‍วิญ‌ญาณ‍บริ‌สุทธิ์ทรงรูป‍สัณ‌ฐานเหมือนนก‍พิราบเสด็จลง‍มาอยู่กับพระ‍องค์ และมีพระ‍สุร‌เสียงมาจากฟ้า‍สวรรค์ว่า ‘ท่านเป็นบุตรที่‍รักของเรา เราชอบ‍ใจท่านมาก’” (ลูกา 3:22) มาระโกบันทึกว่า “แล้วมีพระ‍สุ‌รเสียงมาจากฟ้า‍สวรรค์ว่า ‘ท่านเป็นบุตรที่‍รักของเรา เราชอบ‍ใจท่านมาก’” (มาระโก 1:11) การแปลของวิลเลียม ทีนเดลชัดเจนและใกล้เคียงมากกว่าฉบับคิงเจมส์ ในการแปลของเขา สุรเสียงของพระบิดาบนสวรรค์ตรัสว่า “เจ้าเป็นบุตรที่รักของเรา ผู้ที่เราปลื้มใจมาก” (ใน Brian Moynahan, God’s Bestseller: William Tyndale, Thomas More, and the Writing of the English Bible—A Story of Martyrdom and Betrayal [2002], 58) เฉพาะมัทธิวเท่านั้นที่รายงานว่าสุรเสียงนั้นตรัสรวมๆ มากกว่าตรัสโดยตรงว่า “และนี่แน่ะ มีพระสุรเสียงตรัสจากฟ้าสวรรค์ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก’” (มัทธิว 3:17) เฉพาะกิตติคุณของยอห์นเท่านั้นที่รายงานเรื่องบัพติศมาโดยยอห์นผู้ถวายบัพติศมา: “และข้าพเจ้าก็เห็นแล้ว และเป็นพยานว่าพระองค์นี้แหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (ยอห์น 1:34)

  12. ดู 2 นีไฟ 31:13; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77

  13. ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายความสำคัญของคำว่า “เต็มใจ” เมื่อเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาด้วยศีลระลึก: “สำคัญตรงที่เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกเราไม่ได้เป็นพยานว่าเรา รับ พระนามของพระเยซูคริสต์ เราเป็นพยานว่าเรา เต็มใจ รับพระนามนั้น [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77] ความจริงที่ว่าเราเป็นพยานถึงความเต็มใจของเราเท่านั้นบ่งบอกว่าต้องมีสิ่งอื่นเกิดขึ้นก่อนที่เราจะรับพระนามอันศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยความรู้สึกสำคัญที่สุดจริงๆ” (“Taking upon Us the Name of Jesus Christ,” Ensign, May 1985) “สิ่งอื่น” หมายถึงพรพระวิหารและความสูงส่งในอนาคต

  14. อพยพ 20:7

  15. ดู James Strong, The New Strong’s Expanded Exhaustive Concordance of the Bible (2010), Hebrew dictionary section, page 192, number 5375.

  16. ดู Strong, The New Strong’s Expanded Exhaustive Concordance of the Bible, Hebrew dictionary section, page 273, number 7723.

  17. เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า: “พันธสัญญาบัพติศมามุ่งหวังเหตุการณ์ในอนาคตและตั้งตารอพระวิหาร … กระบวนการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ที่เริ่มต้นในน้ำบัพติศมาจะดำเนินต่อเนื่องและขยายกว้างขึ้นในพระนิเวศน์ของพระเจ้า เมื่อเรายืนในน้ำบัพติศมา เรามองไปถึงพระวิหาร เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เรามองไปถึงพระวิหาร เราให้สัญญาว่าจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาและรักษาพระบัญญัติเพื่อเป็นการเตรียมร่วมศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารและรับพรสูงสุดที่มีให้ผ่านพระนามและโดยสิทธิอำนาจของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ด้วยเหตุนี้ ในศาสนพิธีของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เราจึงรับพระนามของพระเยซูคริสต์อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น” (“Honorably Hold a Name and Standing,” Liahona, May 2009, 98) กระบวนการนี้อาจจะไม่สมบูรณ์จนกว่า “เราจะเป็นเหมือนพระองค์” (โมโรไน 7:48) เมื่อเราเปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิง

  18. ตามที่อธิบายไว้ใน คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 27.2 (ChurchofJesusChrist.org) พันธสัญญาคือการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเชื่อฟัง รักษากฎแห่งการพลีบูชา รักษากฎแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ รักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ และรักษากฎแห่งการอุทิศถวาย; ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ให้สร้างนิเวศน์นี้แด่นามของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 84–87.

  19. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:14–15 เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “‘ความสมบูรณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์’ รวมถึงสิ่งที่พระเยซูทรงเรียกว่า ‘สัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์ซึ่งเราให้แก่เจ้า, แม้รัศมีภาพของอาณาจักรซีเลสเชียล; ซึ่งรัศมีภาพนั้นคือรัศมีภาพของศาสนจักรของพระบุตรหัวปี, แม้ของพระผู้เป็นเจ้า, ผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเหนือสิ่งทั้งปวง, โดยผ่านพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์’ (คพ. 88:4–5)” (“The Power of Covenants,” Liahona, May 2009, 23, เชิงอรรถ 5)

  20. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:15

  21. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:22, 25–26

  22. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:21

  23. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:15, 22; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พลังของแรงขับเคลื่อนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 98.

  24. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ชนะโลกและหยุดพัก,” 96; หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20 น่าสังเกตที่ประธานเนลสันกล่าวว่า “… ทุกครั้งที่ท่านแสวงหาและทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ทุกครั้งที่ท่านทำสิ่งดีอะไรก็ตาม—ที่ ‘มนุษย์ปุถุชน’ จะไม่ทำ—ท่านกำลังชนะโลก” (“ชนะโลกและหยุดพัก,” 97)

  25. ฮีบรู 11:13

  26. พระผู้ไถ่แห่งอิสราเอล,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 5, ข้อ 5 นี่เป็นเพลงโปรดของลีนา โซเฟีย เรนลันด์

  27. ดู โมโรไน 10:30–33

  28. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20