เซมินารี
มัทธิว 21:1–11; ยอห์น 12:27–36


มัทธิว 21:1–11; ยอห์น 12:27–36

การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
Jesus Christ’s triumphal entry into Jerusalem. altered version

พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต มีผู้คนสรรเสริญและนมัสการพระองค์ด้วยการโห่ร้อง “โฮซันนา” (ดู มัทธิว 21:9) จากนั้นพระเยซูทรงสอนผู้คนเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระองค์เพื่อช่วยให้พวกเขารอด บทเรียนนี้ประกอบด้วยบทสรุปสัปดาห์สุดท้ายของพระเยซูคริสต์ในพระชนม์ชีพมรรตัยบนแผ่นดินโลก ซึ่งจะช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความเคารพและความคารวะได้มากขึ้นต่อพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์เพื่อช่วยให้เรารอด

ความจำเป็นในการช่วยให้รอด

นึกถึงช่วงเวลาที่ท่านอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากและต้องการให้ใครบางคนช่วยเหลือหรือช่วยท่านให้รอด

  • เหตุใดท่านจึงต้องการความช่วยเหลือหรือการช่วยให้รอด?

  • อาจจะเกิดอะไรขึ้นหากท่านไม่ได้รับความช่วยเหลือ?

  • ประสบการณ์นี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อความรู้สึกของท่านต่อบุคคลที่ช่วยเหลือหรือช่วยให้ท่านรอด?

เราทุกคนต้องการพลังอำนาจแห่งการช่วยให้รอดของพระเยซูคริสต์ เราทุกคนทำสิ่งผิดพลาดที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ ประสบกับความสูญเสียที่เราไม่สามารถนำกลับคืนได้ และเผชิญความเจ็บปวด การข่มเหง โศกนาฏกรรม ภาระหนัก และความผิดหวังที่เราไม่สามารถจัดการได้โดยลำพังตรึกตรองความจำเป็นของท่านที่ต้องมีพระเยซูคริสต์ ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านให้เขียนว่าท่านต้องการพลังอำนาจแห่งการช่วยให้รอดของพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยท่านในเรื่องใด

ในบทเรียนนี้ให้แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเราให้รอดได้จากความผิดพลาด ความสูญเสีย ความเจ็บปวด และสถานการณ์ทั้งหมดที่เราไม่สามารถแก้ไขได้

การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตของพระเยซูคริสต์

ก่อนเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเป็นครั้งสุดท้าย พระเยซูทรงขอให้สานุศิษย์พาลูกลามาให้พระองค์ สานุศิษย์ทั้งหลายคลุมลาและลูกลาด้วยเสื้อผ้าของพวกเขาและให้พระผู้ช่วยให้รอดประทับบนลูกลา (ดู มัทธิว 21:1–7; ยอห์น 12:14–15)

อ่าน มัทธิว 21:8–11 และ ยอห์น 12:12–13, โดยค้นหาว่าผู้คนตอบสนองอย่างไรต่อพระเยซูคริสต์ขณะพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ขณะท่านอ่าน จินตนาการว่าตนเองอยู่ที่นั่น

ผู้คนมากมายโห่ร้อง “โฮซันนา” ซึ่งเป็นคำฮีบรู “หมายความว่า ‘โปรดช่วยเราให้รอดเถิด’ ใช้ในการสรรเสริญและการวิงวอน” (คู่มือพระคัมภีร์, “โฮซันนา,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมกคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มว่า

ภาพ
Head and shoulders portrait of Elder Bruce R. McConkie.

มีแต่กษัตริย์และผู้พิชิตเท่านั้นที่จะได้รับเครื่องหมายแห่งความเคารพเช่นนี้ … ท่ามกลางเสียงโห่ร้องสรรเสริญและคำวอนขอความรอดและการปลดปล่อย เราเห็นสานุศิษย์แผ่ทางพระราชดำเนินของพระเจ้าด้วยกิ่งใบปาล์มในเครื่องหมายของชัยชนะและการพิชิต ฉากอันสมจริงทั้งหมดนี้แสดงล่วงหน้าว่าการรวมในอนาคตเมื่อ “มหาชน” ที่ไม่มีใครนับจำนวนได้ … จะยืน “อยู่หน้าพระที่นั่งและเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก พวกเขาสวมผ้าสีขาว และถือใบตาลอยู่ในมือ” ร้องเสียงดังว่า “ความรอดขึ้นอยู่กับพระเจ้าของเราผู้ประทับบนพระที่นั่ง และขึ้นอยู่กับพระเมษโปดก” (วิวรณ์ 7:9–10)

(คู่มือเซมินารี พันธสัญญาใหม่ [2015], บทที่ 23: มัทธิว 21:1–16)

1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านอาจจะพูดอะไร ทำอะไร และรู้สึกอย่างไรหากท่านอยู่ที่นั่นระหว่างการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอด? เพราะเหตุใด?

  • เมื่อใดที่ท่านรู้สึกอยากจะโห่ร้อง “โฮซันนา” (ถวายการสรรเสริญและความสำนึกคุณอย่างจริงใจ) แด่พระเยซูคริสต์?

  • เหตุใดท่านอาจจะโห่ร้อง “โฮซันนา” แด่พระผู้ช่วยให้รอดในเวลานี้? ในอนาคต?

เมื่อพระเยซูทรงลูกลาเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็ม ผู้คนจำนวนมากรับรู้ว่านี่เป็นการประกาศต่อสาธารณชนว่าพระองค์ไม่ได้เป็นเพียงพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอลที่สัญญาไว้อีกด้วย คนจำนวนมากมองว่าเป็นการสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เช่นคำพยากรณ์ที่บันทึกไว้ใน เศคาริยาห์ 9:9

หลายคนคิดว่าพระเมสสิยาห์จะเป็นผู้นำทางทหารที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารอดจากการกดขี่ของชาวโรมัน พวกเขาเข้าใจพระพันธกิจช่วยให้รอดของพระผู้ช่วยให้รอดผิดไป

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาช่วยให้เรารอดจากอะไร?

จุดประสงค์และพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

หลังจากการเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอด “พวกกรีก” ซึ่งมาเยรูซาเล็มเพื่อถือปฏิบัติเทศกาลปัสการ้องขอที่จะพบพระองค์ (ดู ยอห์น 12:20–21) เมื่อพระเยซูทรงทราบเกี่ยวกับคำขอของพวกเขา พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการทนทุกข์ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ที่กำลังจะมาถึง พระองค์ทรงอธิบายว่าเหตุการณ์สุดท้ายเหล่านี้ในเยรูซาเล็ม รวมทั้งการตรึงการเขนพระองค์ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ คือจุดประสงค์ทั้งหมดสำหรับการเสด็จมายังแผ่นดินโลกของพระองค์ (ดู ยอห์น 12:23–33)

อ่าน ยอห์น 12:27–28, 32–33 และค้นหาสิ่งที่พระเยซูตรัสว่าจุดประสงค์และพระพันธกิจของพระองค์คืออะไร (สังเกตว่าเสียงที่พูดจากสวรรค์คือพระสุรเสียงของพระบิดาบนสวรรค์ที่ทรงแสดงความมั่นพระทัยว่าพระเยซูคริสต์จะทำการชดใช้ของพระองค์ให้เสร็จสมบูรณ์)

  • พระเยซูทรงสอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์และพระพันธกิจของพระองค์?

  • ความมั่นพระทัยของพระบิดาบนสวรรค์ในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มความมั่นใจของท่านในพระปรีชาสามารถและความเต็มพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะช่วยให้ท่านรอดได้อย่างไร?

วิธีหนึ่งที่จะสรุปสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนใน ยอห์น 12:27–28, 32–33 คือ พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินการชดใช้ของพระองค์เพื่อพระองค์จะทรงสามารถดึงเราทุกคนเข้าไปหาพระองค์

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพยานถึงความจริงเดียวกันนี้ใน 3 นีไฟ 27:13–15 อ่านข้อความนี้และค้นหาว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เพิ่มความเข้าใจของท่านถึงความจริงนี้อย่างไร ท่านอาจต้องการอ้างโยงหรือเชื่อมโยงข้อความนี้ไปที่ ยอห์น 12:32

ภาพรวมของเหตุการณ์ในสัปดาห์สุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอด

หลายเหตุการณ์ในสัปดาห์สุดท้ายของพระชนม์ชีพบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอดมีความสำคัญต่อพระพันธกิจและจุดประสงค์ของพระองค์ที่จะช่วยให้เรารอดโดยการดึงเรามาหาพระองค์

ภาพประกอบต่อไปนี้สามารถช่วยให้ท่านเข้าใจเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้น

ภาพ
New Testament Seminary Teacher Manaul - 2023

ดูภาพประกอบ อ่านข้อความบางส่วนจากพระคัมภีร์เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่อธิบายไว้ให้มากขึ้น ใคร่ครวญว่าเหตุการณ์เหล่านี้ช่วยให้พระเยซูคริสต์ทรงทำพระพันธกิจช่วยให้รอดได้อย่างไร และไตร่ตรองว่าพระองค์จะทรงช่วยและช่วยให้ท่านรอดได้อย่างไรเนื่องจากสิ่งที่ทรงสอนและทำในระหว่างสัปดาห์นี้

ในบันทึกการศึกษาของท่านเขียนคำถามที่ท่านมีเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้และจดไว้ว่าเหตุการณ์ใดที่ท่านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมและเพราะเหตุใด

2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

  • ท่านมีคำถามอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้?

  • ท่านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องใด? เพราะเหตุใด?

  • ท่านคิดว่าการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจได้ดีขึ้นถึงพระปรีชาสามารถและความปรารถนาของพระเยซูคริสต์ในการช่วยให้เรารอดอย่างไร?

ทางเลือก: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมใช่หรือไม่?

การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตมีความหมายอย่างไรต่อชาวยิวและจะมีความหมายต่อเราได้อย่างไร?

การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างการถือปฏิบัติเทศกาลปัสกา ทำให้คำพยากรณ์ที่บันทึกไว้ใน เศคาริยาห์ 9:9–10 เกิดสัมฤทธิผลโดยตรงและประกาศต่อสาธารณชนว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์และกษัตริย์แห่งอิสราเอลที่สัญญาไว้ ในสมัยโบราณ ลาเป็นสัญลักษณ์ของราชตระกูลยิว ในช่วงเวลาของราชาธิปไตยในอิสราเอลสมัยโบราณ หลังจากกษัตริย์ซาอูลขึ้นครองราชย์ ชาวยิวจัดพิธีกรรมขึ้นครองราชย์ประจำปีซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญที่กษัตริย์ทรงลาเข้าไปในเยรูซาเล็ม ผู้ทรงลาจะเข้าเยรูซาเล็มจากทิศตะวันออกของเมืองและมาที่พระวิหาร พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกเหตุในอนาคตถึงเวลาที่พระเมสสิยาห์จะเสด็จมายังผู้คนของพระองค์ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นในเวลาที่เยรูซาเล็มเต็มไปด้วยชาวยิวเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในลักษณะที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ กษัตริย์แห่งอิสราเอล การทรงลาแสดงให้เห็นด้วยว่าพระเยซูเสด็จมาในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดที่ “ต่ำต้อย” และมาอย่างสันติ ไม่ใช่อย่างผู้พิชิตบนม้ารบ (ดู เศคาริยาห์ 9:9–10)

ในการเสด็จมาครั้งที่สอง พระเยซูจะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกด้วยเดชานุภาพและรัศมีภาพยิ่งใหญ่ ในสัญลักษณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์ พระองค์จะทรง “ม้าสีขาว” แทนการทรงลาเข้าเยรูซาเล็ม (ดู วิวรณ์ 19:11–16) พระองค์จะทรงปกครองในฐานะ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย” (วิวรณ์ 17:14; ดู วิวรณ์ 19:16 ด้วย)

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการใช้ใบปาล์มในการเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต?

เอ็ลเดอร์เกอร์ริท  ดับเบิลยู. กอง แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
Official Portrait of Gerrit W. Gong. Photographed in 2018.

ตามประเพณีแล้ว ใบปาล์มเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อแสดงถึงความปีติยินดีในพระเจ้า ดังเช่นใน การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตของพระคริสต์ ที่นั่น “มหาชน … ถือทางอินทผาลัมพากันออกไปต้อนรับพระองค์” [ยอห์น 12:12–13; ดู มัทธิว 21:8–9; มาระโก 11:8–10 ด้วย]. … ในหนังสือวิวรณ์ คนที่สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าและพระเมษโปดก “สวมเสื้อผ้าสีขาว และถือใบตาลอยู่ในมือ” [วิวรณ์ 7:9] ใบปาล์มรวมอยู่ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์พร้อมกับ “เสื้อคลุมแห่งความชอบธรรม” และ “มงกุฎแห่งรัศมีภาพ” [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:76]. …

(เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “โฮซันนาและฮาเลลูยา— พระเยซูคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูและอีสเตอร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 53)