เซมินารี
ลูกา 2:1–14


ลูกา 2:1–14

“ในวันนี้พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่าน … มาประสูติ”

ภาพ
ฉากการประสูติ

โยเซฟกับมารีย์เดินทางไปเบธเลเฮมที่พระเยซูประสูติ ทูตสวรรค์ประกาศการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดต่อคนเลี้ยงแกะใกล้เบธเลเฮม (ดู ลูกา 2:9–12) “ในทันใดนั้นชาวสวรรค์หมู่หนึ่งมาปรากฏ … สรรเสริญพระเจ้าว่า ‘พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่พระองค์โปรดปรานนั้น’” (ลูกา 2:13–14) บทเรียนนี้ตั้งใจจะช่วยท่านทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดและแนะนำท่านให้รู้หลักคำสอนที่สอนไว้ในข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ลูกา 2:10–12 ท่านจะศึกษาบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของท่านและเรียนรู้ว่าพระองค์ทรงช่วยท่านให้รอดจากสิ่งใด ทั้งนี้เพื่อท่านจะยกย่องสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกับเหล่าทูตสวรรค์สำหรับของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์

การประสูติ

  • รายละเอียดอะไรบ้างที่ท่านชื่นชอบเกี่ยวกับการประสูติ?

  • เหตุใดรายละเอียดเหล่านี้จึงสำคัญต่อท่าน?

อ่าน ลูกา 2:1–14 เพื่อมองหารายละเอียดเหล่านั้นที่สำคัญต่อท่านหรือรายละเอียดใหม่ที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนในเรื่องราวการประสูติ

  • ท่านสังเกตเห็นรายละเอียดอะไรบ้างในเรื่องราวการประสูติที่มีความสำคัญต่อท่าน?

พระผู้ช่วยให้รอดประสูติ

อ่าน ลูกา 2:10–12 อีกครั้งเพื่อดูว่าทูตสวรรค์ประกาศการประสูติของพระเยซูอย่างไร

ลูกา 2:10–12 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ท่านอาจจะทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนให้ชัดเจนเพื่อจะค้นหาได้ง่าย ท่านจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนนี้ในบทเรียนต่อไป

  • พระนามแรกที่ทูตสวรรค์ใช้เรียกพระเยซูคริสต์เมื่อประกาศการประสูติของพระเยซูต่อคนเลี้ยงแกะคืออะไร?

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ในบรรดาพระนามทั้งหมดที่พระเยซูคริสต์ทรงมี นี่คือพระนามที่ทูตสวรรค์ใช้ประกาศการประสูติของพระองค์?

อาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าในการแปลต้นฉบับภาษากรีกของพระคัมภีร์ไบเบิล คำที่ใช้สำหรับ พระผู้ช่วยให้รอด หมายถึง ผู้ปลดปล่อย หรือ ผู้ปกปักรักษา ด้วย

ความจริงอย่างหนึ่งที่ข้อนี้สอนคือ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก

เราต้องการพระผู้ช่วยให้รอด

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันประสบการณ์ดังต่อไปนี้:

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

ไม่นานมานี้ คนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรมาหลายปีถามข้าพเจ้าว่า “ทำไมผมต้องมีพระเยซูคริสต์? ผมรักษาพระบัญญัติ ผมเป็นคนดี ทำไมผมต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?” ข้าพเจ้าต้องบอกว่าการที่สมาชิกคนนี้ไม่เข้าใจส่วนสำคัญพื้นฐานที่สุดของหลักคำสอนของเรา องค์ประกอบพื้นฐานนี้ของแผนแห่งความรอด ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมาก

(ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เหตุผลที่เราต้องมีพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2020, 19–20)

ใช้เวลาสักครู่พิจารณาว่าท่านจะตอบอย่างไรตามความคิดและความรู้สึกของท่านเองหากอยู่ในสถานการณ์ของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน

เราสามารถเรียนรู้ว่าเราจำเป็นต้องมีพระผู้ช่วยให้รอดโดยศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ (ดู เจคอบ 7:11)

ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่จะช่วยเสริมความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมคือการสร้างข้ออ้างโยงในพระคัมภีร์ของท่าน เพื่อทำการอ้างโยง ให้สร้างลิงก์ในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือเชื่อมโยงพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องโดยบันทึกพระคัมภีร์อ้างอิงไว้ใกล้ๆ ข้อความพระคัมภีร์อีกข้อ

ศึกษาข้อพระคัมภีร์สามถึงสี่ข้อต่อไปนี้เพื่อช่วยตอบคำถามว่า “เหตุใดฉันจึงต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?” และ “พระองค์ทรงช่วยฉันให้รอดจากอะไร?” ท่านอาจจะอ้างโยงข้อเหล่านี้โดยเชื่อมโยงกับ ลูกา 2:10–12 ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือโดยบันทึกข้ออ้างอิง ลูกา 2:10–12 ไว้ใกล้ข้อที่ท่านศึกษา

1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านเลือกพระคัมภีร์ข้อใดบ้าง?

  • ข้อเหล่านี้ช่วยตอบคำถามของท่านอย่างไรว่า “เหตุใดฉันจึงต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?” และ “พระองค์ทรงช่วยฉันให้รอดจากอะไร?”

สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้ท่าน

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Why We Need a Savior—A Christmas Message about Our Savior Jesus Christ” (2:15) เพื่อดูว่าเหตุใดเราจึงต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด วีดิทัศน์เรื่องนี้อยู่บน ChurchofJesusChrist.org

เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันเป็นพยานถึงพรบางอย่างที่เราได้รับผ่านพระเยซูคริสต์:

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจึงสามารถกลับตัวจากการเลือกที่ไม่ดีได้ เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ผลกระทบของบาปและความผิดพลาดของผู้อื่นต่อเรา และความอยุติธรรมทั้งหลายจึงถูกชดเชย เพื่อทำให้สมบูรณ์ และเพื่อทำให้บริสุทธิ์ เราต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด

(ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เหตุผลที่เราต้องมีพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2020, 22)

ใน ลูกา 2:10 ทูตสวรรค์ประกาศว่า “เรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่ง”

2. ตอบคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านค้นพบ “ความยินดีอย่างยิ่ง” ในพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ของท่านอย่างไร?

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มความยินดีของเราในพระผู้ช่วยให้รอด?

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?

เหตุใดมารีย์กับโยเซฟจึงไปจดทะเบียนสำมะโนครัวที่เบธเลเฮม?

ซีซาร์ ออกัสตัสเป็นผู้ปกครองชาวโรมันที่มีความสามารถและมีพลังผู้ซึ่งการปกครองของเขา—ตั้งแต่ 31 ปีก่อน ค.ศ. จนถึง ค.ศ. 14—เด่นชัดเรื่องระเบียบและความถูกต้องตามกฎหมาย “การจดทะเบียนสำมะโนครัว” ที่กล่าวถึงใน ลูกา 2:2 จริงๆ แล้วคือการขึ้นทะเบียน [หรือการสำรวจ] บุคคลเพื่อการเก็บภาษีในอนาคต เป็นการขึ้นทะเบียนที่ต้องให้ผู้เสียภาษีส่งข้อมูลที่จำเป็นด้วยตนเอง เนื่องจากทั้งโยเซฟกับมารีย์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์เดวิด พวกท่านจึงต้องเดินทางไปเบธเลเฮมซึ่งเป็นบ้านเกิดของกษัตริย์ดาวิด … ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเป็นพยานว่าพระเมสสิยาห์จะประสูติในเบธเลเฮม ในแผ่นดินเยรูซาเล็ม (ดู มีคาห์ 5:2; แอลมา 7:10) เบธเลเฮมอยู่ทางใต้ของนาซาเร็ธประมาณ 85–90 ไมล์ (137–145 กิโลเมตร) การเดินทางซึ่งปกติเดินอย่างน้อยสี่ถึงห้าวันอาจใช้เวลานานกว่านั้นเมื่อดูจากสภาพของมารีย์

(คู่มือนักเรียนพันธสัญญาใหม่ [2014], 143)