เซมินารี
ยอห์น 18:33–40; ลูกา 23:8–11


ยอห์น 18:33–40; ลูกา 23:8–11

พระเยซูทรงถูกสอบสวนและทรงถูกโบย

ภาพ
Ecce Homo (คนนี้ไงล่ะ) โดย อันโตนิโอ ซิเซรี

หลังจากพระเยซูทรงถูกจับกุมและถูกสอบสวนอย่างไม่ถูกต้องต่อหน้าพวกผู้นำชาวยิวแล้ว พระองค์ทรงถูกส่งไปรับการสอบสวนต่อหน้าปีลาตผู้มีอำนาจตามกฎหมายโรมัน พระผู้ช่วยให้รอดทรงอ่อนน้อมยอมจำนนต่อชาวโรมัน ทรงถูกโบยอย่างเจ็บปวด และถูกตัดสินประหารชีวิต บทเรียนนี้ตั้งใจจะช่วยให้ท่านเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอดสำหรับทุกคนและพระอุปนิสัยที่ดีพร้อมของพระองค์ และท่านจะสามารถทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร

การรู้สึกว่าถูกปฏิบัติไม่ดี

  • มีสถานการณ์ทั่วไปอะไรบ้างที่วัยรุ่นคนหนึ่งอาจถูกเยาะเย้ย ถูกกล่าวหาผิดๆ หรือถูกปฏิบัติไม่ดี?

  • วัยรุ่นทั่วไปอาจจะตอบสนองการปฏิบัติเช่นนั้นด้วยวิธีใดบ้าง?

พระเจ้าจะทรงอยู่กับเราและช่วยให้เราเติบโตจากประสบการณ์ยากๆ พระองค์จะทรงช่วยเราตอบสนองความยากลำบากและการต่อต้านในวิธีเหมือนพระคริสต์ได้ ลองนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวของท่านตอนถูกเยาะเย้ย ถูกกล่าวหาผิดๆ หรือถูกปฏิบัติไม่ดี รวมถึงวิธีที่ท่านตอบสนองและเหตุผล

ขณะพระเยซูคริสต์ทรงเข้าใกล้เหตุการณ์สุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงถูกเยาะเย้ย ถูกกล่าวหาผิดๆ และถูกปฏิบัติไม่ดี ขณะท่านศึกษาเหตุการณ์สุดท้ายเหล่านี้จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ให้มองหาพระอุปนิสัยที่ช่วยให้พระองค์ทรงอดทนและทำพระพันธกิจของพระองค์สำเร็จอย่างซื่อสัตย์ นอกจากนี้ให้พิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนด้วยว่าท่านจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร

พระเยซูทรงถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมและถูกตัดสินประหารชีวิต

หลังจากพระเยซูทรงทนทุกข์ทรมานในสวนเกทเสมนีแล้ว พระองค์ทรงถูกจับกุม และผู้นำชาวยิว (สภาซานเฮดริน) สอบสวนพระองค์อย่างไม่เป็นธรรมและตัดสินประหารชีวิตพระองค์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอิสราเอลอยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน การประหารชีวิตต้องได้รับอนุมัติจากชาวโรมันเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ ชาวยิวจึงส่งพระเยซูไปให้ปีลาตผู้นำชาวโรมันเหนือยูเดีย โดยกล่าวหาว่าพระองค์ทรงกบฏต่อรัฐบาลโรมันเพราะทรงอ้างว่าเป็น “กษัตริย์ของพวกยิว” (ดู มาระโก 15:2) ปีลาตส่งพระเยซูไปให้เฮโรด อันทีพาสผู้ร่วมเทศกาลปัสกาอยู่ในเยรูซาเล็มโดยหวังว่าเฮโรดจะสอบสวนพระองค์ในกาลิลี แต่เฮโรดส่งพระเยซูกลับไปหาปีลาต

อ่านเรื่องราวต่อไปนี้อย่างน้อยสองเรื่องซึ่งเล่าว่าพระเยซูทรงถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมและถูกตัดสินโทษในที่สุดอย่างไร ขณะอ่านให้มองหาว่าพระเยซูทรงตอบสนองอย่างไรในแต่ละสถานการณ์เหล่านี้ จำไว้ว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพที่จะปลดปล่อยพระองค์เองจากสภาวการณ์เหล่านี้ (ดู มัทธิว 26:52–54)

  1. พระเยซูทรงถูกสภาซานเฮดรินซักถาม อ่าน มัทธิว 26:57–68 หรือ ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Is Tried by Caiaphas, Peter Denies Knowing Him” ตั้งแต่ช่วงเวลา 0:00 ถึง 1:39 วีดิทัศน์เรื่องนี้อยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org

  2. พระเยซูทรงถูกปีลาตซักถาม อ่าน ยอห์น 18:33–40 หรือดู “Jesus Is Condemned Before Pilate” (3:19) ยู่ที่ChurchofJesusChrist.org

  3. พระเยซูทรงอยู่ต่อหน้าเฮโรด อ่าน ลูกา 23:8–11

  4. พระเยซูทรงถูกทหารโรมันโบย และถูกปีลาตซักถามครั้งที่สอง อ่าน ยอห์น 19:1–16 หรือดู “Jesus Is Scourged and Crucified” ตั้งแต่ช่วงเวลา 0:00 ถึง 2:03 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org อาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าการโบยคือการหวดด้วยแส้ที่มักมีของแหลมคม (เช่น เศษหิน โลหะ หรือกระดูก) ฟั่นเป็นเกลียวหลายเกลียว หลายคนไม่รอดจากการโบยเพราะร่างกายบาดเจ็บสาหัส

1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้?

  • ท่านคิดว่าทำไมพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองแบบนั้น?

พระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์

อ่าน 1 นีไฟ 19:9 และคำกล่าวต่อไปนี้โดยมองหาข้อคิดเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอด

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ (1932–2017) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันดังนี้:

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

การตอบสนองแบบพระคริสต์ไม่สามารถเขียนเป็นสคริปต์หรือใช้สูตรสำเร็จได้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ เมื่อทรงประจันหน้ากับกษัตริย์เฮโรดผู้ชั่วร้าย พระองค์ทรงนิ่งเงียบ เมื่อทรงยืนอยู่ต่อหน้าปีลาตพระองค์ทรงแสดงประจักษ์พยานอันเรียบง่ายและทรงพลังถึงความเป็นพระเจ้าและจุดประสงค์ของพระองค์ …

คนบางคนคิดผิดๆ ว่าการตอบสนอง เช่น ความนิ่งเงียบ ความอ่อนโยน การให้อภัย และการแสดงประจักษ์พยานอย่างนอบน้อมเป็นความไม่ยินดียินร้ายหรืออ่อนแอ แต่การ “รักศัตรู [ของเรา อวยพรคนที่แช่งด่าเรา ทำดีต่อคนที่เกลียดชังเรา] และอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ [ใช้เราอย่างดูหมิ่นและ] ข่มเหง [เรา]” ( มัทธิว 5:44) ต้องใช้ศรัทธา ความเข้มแข็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์

(ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

ลองพิจารณาว่าพระอาจารย์ทรงถูกกล่าวหาต่อหน้าปีลาตและถูกลงโทษให้ตรึงกางเขนอย่างไร [ดู มัทธิว 27:2,11, 11–26]. … ความอ่อนโยนของพระผู้ช่วยให้รอดประจักษ์ชัดในการตอบรับอย่างดีของพระองค์ การยับยั้งชั่งใจได้ดี และการไม่ยอมใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน

(เดวิด เอ. เบดนาร์, “อ่อนโยนและใจนอบน้อม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 33)

2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากวิธีที่พระองค์ทรงตอบสนองในสภาวการณ์ยากๆ เหล่านี้?

  • การกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็น “ความการุณย์รักของพระองค์ … ต่อลูกหลานมนุษย์” อย่างไร? (1 นีไฟ 19:9)

  • การรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีคุณลักษณะเหล่านี้ช่วยให้ท่านรักและวางใจพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าหลายครั้งหลายคราพระผู้ช่วยให้รอดทรงกล้าให้ผู้อื่นรับผิดชอบการกระทำของตน (ดู มาระโก 11:15–17, ยอห์น 2:13–16, หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:48–51) ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราต้องการตอบสนองการเยาะเย้ย การกล่าวหาผิดๆ หรือการปฏิบัติไม่ดีด้วยความรัก ความกล้าหาญ และความอ่อนโยน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรยอมให้ผู้อื่นข่มเหงหรือทำร้ายเรา “พระเจ้าทรงประณามพฤติกรรมทารุณทุกรูปแบบ—รวมถึงการปล่อยปละละเลยและการทารุณกรรมทางกาย ทางเพศ หรือทางวาจาด้วย” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, “Preventing and Responding to Abuse,” 26 มี.ค. 2018) หากเราถูกกระทำทารุณกรรม สิ่งสำคัญคือเราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจทันที

3. ทำกิจกรรมต่อไปนี้หนึ่งอย่างลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  1. นึกถึงตอนที่ท่านรู้สึกถูกเยาะเย้ย ถูกกล่าวหาผิดๆ หรือถูกปฏิบัติไม่ดี แสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อรู้วิธีที่ท่านจะตอบสนองสถานการณ์นี้อย่างเหมาะสมเหมือนพระคริสต์ เขียนสิ่งที่ท่านทำได้ดีและวิธีที่ท่านอาจต้องการปรับปรุง

  2. เขียนสองตัวอย่างของช่วงเวลาหรือสภาวการณ์ซึ่งการจดจำพระอุปนิสัยของพระคริสต์เคยช่วยท่านหรืออาจจะช่วยท่านได้ ชีวิตท่านอาจจะต่างจากเดิมอย่างไรหากท่านพยายามพัฒนาลักษณะนิสัยเหมือนพระคริสต์อยู่เสมอ?

  3. เลือกลักษณะนิสัยเหมือนพระคริสต์หนึ่งอย่างที่ท่านต้องการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คิดถึงช่วงเวลาในวันที่ท่านจะฝึกใช้ลักษณะนิสัยนี้ได้

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?

ยอห์น 18:36 พระเยซูตรัสถึงราชอาณาจักรใด?

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

เมื่อดาเนียลทำนายพระสุบินของเนบูคัดเนสซาร์กษัตริย์บาบิโลน ท่านทำให้กษัตริย์ทรงทราบ “สิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย” [ดาเนียล 2:28] ท่านประกาศว่า “พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์ [จะ] ทรงสถาปนาราชอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งไม่มีวันถูกทำลาย หรือถูกมอบให้ชนชาติอื่น ราชอาณาจักรนั้นจะทำให้ราชอาณาจักร [อื่นๆ] เหล่านี้ทั้งหมดแตกเป็นเสี่ยงจนพินาศไป และราชอาณาจักรนั้นจะตั้งมั่นอยู่เป็นนิตย์” [ดาเนียล 2:44] ศาสนจักรคืออาณาจักรยุคสุดท้ายที่พยากรณ์ไว้นั้นซึ่งมิได้สร้างโดยมนุษย์ แต่จัดตั้งขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และกลิ้งออกมาดังก้อนหินที่ “ถูกตัดออกจากภูเขา ไม่ใช่ด้วยมือมนุษย์” เพื่อจะเต็มแผ่นดินโลก [ดาเนียล 2:45; ดู ข้อ 35ด้วย]

เป้าหมายของอาณาจักรคือการสถาปนาไซอันเพื่อเตรียมรับการเสด็จกลับมาและการปกครองหนึ่งพันปีของพระเยซูคริสต์ ก่อนวันนั้นไซอันจะไม่เป็นอาณาจักรในสำนึกด้านการเมือง—ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้ “ราชอำนาจของเราไม่ได้เป็นของโลก นี้ ” [ยอห์น 18:36; เน้นตัวเอน] แต่เป็นขุมพลังแห่งสิทธิอำนาจในแผ่นดินโลก เป็นผู้บริหารแห่งพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เป็นนักการแห่งพระวิหาร เป็นผู้พิทักษ์และผู้ประกาศความจริงของพระองค์ เป็นสถานที่รวมพลของอิสราเอลที่กระจายไป และเป็น “เพื่อการคุ้มภัยและเพื่อเป็นที่พักพิงจากพายุ และจากพระพิโรธเมื่อจะเทลงมาโดยมิได้เจือจางบนทั้งผืนแผ่นดินโลก” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 115:6]

(ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เหตุใดจึงต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 111)