คู่มือและการเรียก
2. การสนับสนุนบุคคลและครอบครัวในงานแห่งความรอดและความสูงส่ง


“2. การสนับสนุนบุคคลและครอบครัวในงานแห่งความรอดและความสูงส่ง” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)

“2. การสนับสนุนบุคคลและครอบครัว” คู่มือทั่วไป

ภาพ
ภาพถ่ายครอบครัว

2.

การสนับสนุนบุคคลและครอบครัวในงานแห่งความรอดและความสูงส่ง

2.0

บทนำ

ในฐานะผู้นำในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ท่านสนับสนุนบุคคลและครอบครัวในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ (ดู 1.2) จุดประสงค์สูงสุดของงานนี้คือช่วยให้บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าได้รับพรแห่งชีวิตนิรันดร์และความสมบูรณ์แห่งปีติ

งานแห่งความรอดและความสูงส่งส่วนใหญ่สำเร็จผ่านครอบครัว สำหรับสมาชิกทุกคนของศาสนจักรงานนี้มีบ้านเป็นศูนย์กลาง บทนี้จะช่วยให้ท่านมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ:

  • บทบาทของครอบครัวในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

  • งานแห่งความรอดและความสูงส่งในบ้าน

  • ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับศาสนจักร

2.1

บทบาทของครอบครัวในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและเป็นศูนย์กลางในแผนของพระองค์ เราแต่ละคน “เป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ [มี] ลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org). เราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระองค์ เราอยู่กับพระองค์ก่อนเราเกิดบนแผ่นดินโลก

แผนส่วนหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์คือพระองค์ทรงสถาปนาครอบครัวบนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงมุ่งหมายให้ครอบครัวนำความสุขมาให้เรา ครอบครัวจัดเตรียมโอกาสให้เรียนรู้ เติบโต รับใช้ กลับใจ และให้อภัย ครอบครัวสามารถช่วยเราเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตนิรันดร์ด้วย

ในชีวิตนี้ คนมากมายมีโอกาสจำกัดสำหรับความสัมพันธ์ที่รักกันในครอบครัว ไม่มีครอบครัวใดปราศจากความท้าทาย ความเจ็บปวด และความโศกเศร้า บุคคลและครอบครัวใช้ศรัทธาในพระเจ้าและขวนขวายดำเนินชีวิตตามความจริงที่พระองค์ทรงเปิดเผยเกี่ยวกับครอบครัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาว่าจะทรงช่วยแบกภาระของทุกคนที่มาหาพระองค์ (ดู มัทธิว 11:28–30)

แผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์รับรองว่าบุตรธิดาทุกคนของพระองค์จะมีโอกาสยอมรับพระกิตติคุณและได้รับพรประเสริฐสุดของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–10) ทุกคนที่ทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าจะประสบปีติและ “สันติสุขในโลกนี้ และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23; ดู โมไซยาห์ 2:41 ด้วย)

สัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าครอบคลุมถึงการแต่งงานนิรันดร์ บุตรธิดา และพรอื่นทั้งหมดของครอบครัวนิรันดร์ สัญญานี้ใช้กับคนที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือไม่มีครอบครัวในศาสนจักร (ดู 38.1.4) ถึงแม้ไม่ทราบเวลาและรูปแบบที่แน่ชัดในการได้รับพรแห่งความสูงส่ง แต่คนที่ขวนขวายดำเนินชีวิตดังสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์จะได้รับพรเหล่านี้แน่นอน

2.1.1

ครอบครัวนิรันดร์

ครอบครัวนิรันดร์ก่อร่างสร้างขึ้นเมื่อสมาชิกศาสนจักรทำพันธสัญญาขณะพวกเขารับศาสนพิธีผนึกในพระวิหาร พรแห่งครอบครัวนิรันดร์เป็นจริงเมื่อสมาชิกรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นและกลับใจเมื่อพวกเขาผิดพลาด ผู้นำศาสนจักรช่วยสมาชิกเตรียมรับศาสนพิธีเหล่านี้และให้เกียรติพันธสัญญาของพวกเขา

แต่ละบุคคลจะทำหลายบทบาทในครอบครัวนิรันดร์ บทบาททั้งหมดในครอบครัวล้วนศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ บทบาทเหล่านี้ได้แก่ มารดาและบิดา บุตรสาวและบุตรชาย พี่สาวน้องสาวและพี่ชายน้องชาย ลุงป้าน้าอา และปู่ย่าตายาย การทำหน้าที่ตามบทบาทเหล่านี้ด้วยความรักจะช่วยให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์

อีกด้านของการสถาปนาครอบครัวนิรันดร์คือการประกอบศาสนพิธีในพระวิหารที่ยินยอมให้สมาชิกได้รับการผนึกกับบรรพชนผู้ล่วงลับของพวกเขา

เมื่อเข้าใจแผนของพระผู้เป็นเจ้า สมาชิกย่อมแสวงหาพรแห่งครอบครัวนิรันดร์ รวมถึงการเตรียมเป็นคู่ครองและบิดามารดาที่มีค่าควรและรักกัน

2.1.2

สามีและภรรยา

การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:15) สามีและภรรยามุ่งหมายเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ด้วยกัน (ดู 1 โครินธ์ 11:11)

ข้อกำหนดประการหนึ่งสำหรับการได้รับชีวิตนิรันดร์คือชายและหญิงต้องเข้าสู่พันธสัญญาของการแต่งงานซีเลสเชียล (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4) คู่สามีภรรยาทำพันธสัญญานี้เมื่อพวกเขารับศาสนพิธีผนึกการแต่งงานในพระวิหาร พันธสัญญาดังกล่าวเป็นรากฐานของครอบครัวนิรันดร์ เมื่อรักษาอย่างซื่อสัตย์ พันธสัญญาจะทำให้การแต่งงานของพวกเขาดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ สุดท้ายแล้วพวกเขาจะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20)

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้สามีภรรยาแนบสนิทกัน (ดู ปฐมกาล 2:24; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:22) ในบริบทนี้คำว่า แนบสนิท หมายถึงทุ่มเทให้และซื่อสัตย์ต่อคนบางคนอย่างสมบูรณ์ คู่แต่งงานแนบสนิทกันโดยรักกันและรับใช้กัน

การแนบสนิทรวมถึงความจงรักภักดีโดยสมบูรณ์ระหว่างสามีภรรยา ความใกล้ชิดทางกายระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องสวยงามและศักดิ์สิทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับการให้กำเนิดบุตรและการแสดงความรักระหว่างสามีภรรยา ความนุ่มนวลและความเคารพ—ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว—ควรชี้นำความสัมพันธ์ทางกายของพวกเขา

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้สงวนความใกล้ชิดทางเพศไว้สำหรับการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น การรักษาความบริสุทธิ์ทางเพศก่อนแต่งงานและซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงานช่วยให้บุคคลมีความสุขอย่างแท้จริงและหลีกเลี่ยงภัยทางวิญญาณ อารมณ์ และร่างกาย บิดามารดาและผู้นำศาสนจักรควรทำสุดความสามารถเพื่อส่งเสริมคำสอนนี้ (ดู 38.6.5)

คู่สามีภรรยาหมายมั่นเป็นหนึ่งเดียวกันในการสถาปนาครอบครัวของตน (ดู ปฐมกาล 2:24) การเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิตแต่งงานเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่และรับผิดชอบร่วมกัน สามีและภรรยาเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า ฝ่ายหนึ่งจะไม่ครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเขาจะทำการตัดสินใจในความเป็นหนึ่งเดียวกันและความรักด้วยความร่วมมือกันเต็มที่

อาดัมกับเอาวาเป็นแบบอย่างสำหรับสามีและภรรยา พวกเขาทำงาน สวดอ้อนวอน และนมัสการด้วยกัน (ดู โมเสส 5:1, 4) พวกเขาสอนพระกิตติคุณให้บุตรธิดาและโศกเศร้าไปด้วยกันเมื่อประสบการทดลอง (ดู โมเสส 5:12, 27) พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันและกับพระผู้เป็นเจ้า

2.1.3

บิดามารดาและบุตรธิดา

ก่อนบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับ “ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์” พวกเขาต้องได้รับร่างกายมรรตัย (โมเสส 1:39) พระบัญญัติข้อแรกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาอาดัมกับเอวาในฐานะสามีภรรยาคือมีบุตรธิดา (ดู ปฐมกาล 1:28) ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายสอนไว้ว่า “พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้บุตรธิดาของพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกยังมีผลบังคับ” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:16–17 ด้วย)

สิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับสามีภรรยาคือดูแลบุตรธิดาที่พวกเขาให้กำเนิดหรือรับมาเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดาบุญธรรมมีพรและหน้าที่รับผิดชอบเหมือนบิดามารดาผู้ให้กำเนิด

สามีภรรยาที่รักกันจะจัดเตรียมสภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรธิดา สภาวการณ์ส่วนตัวอาจทำให้บิดามารดาไม่ได้เลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยกัน แต่พระเจ้าจะทรงอวยพรพวกเขาเมื่อพวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์และพยายามรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระองค์

บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบอันสำคัญยิ่งต่อการช่วยบุตรธิดาเตรียมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ พวกเขาสอนบุตรธิดาให้รักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น (ดู มัทธิว 22:36–40) อีกทั้งสอนบุตรธิดาให้สวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์และศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 37:36–37, 44–46) พวกเขาช่วยให้บุตรธิดาเข้าใจหลักคำสอนเรื่องศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25) อีกทั้งช่วยบุตรธิดาเตรียมทำพันธสัญญาขณะพวกเขารับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง

“บิดาเป็นผู้นำครอบครัวด้วยความรัก ด้วยความชอบธรรมและรับผิดชอบที่จะจัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิต และคุ้มครองครอบครัว” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”) เมื่อไม่มีสามีหรือบิดาในบ้าน มารดาจะเป็นผู้นำครอบครัว

การนำในครอบครัวคือหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยนำสมาชิกครอบครัวกลับไปพำนักในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เราทำสิ่งนี้โดยรับใช้และสอนด้วยความสุภาพ ความอ่อนโยน และความรักอันบริสุทธิ์ โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ (ดู มัทธิว 20:26–28) การนำในครอบครัวได้แก่ การนำสมาชิกครอบครัวให้สวดอ้อนวอน ศึกษาพระกิตติคุณ และนมัสการด้านอื่นเป็นประจำ บิดามารดาทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ให้ลุล่วง

“มารดารับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูบุตรธิดา” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”) เลี้ยงดูหมายถึงบำรุงเลี้ยง สอน และสนับสนุน โดยทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 3 นีไฟ 10:4) มารดาเป็นหนึ่งเดียวกันกับสามีเธอในการช่วยให้ครอบครัวเรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณและพัฒนาศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ พวกเขาช่วยกันส่งเสริมสภาพแวดล้อมของความรักในครอบครัว

“ในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ บิดาและมารดาจำต้องช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (“ครอบครัว:ถ้อยแถลงต่อโลก”) พวกเขาปรึกษากันและกับพระเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอน พวกเขาตัดสินใจด้วยกันในความเป็นหนึ่งเดียวกันและความรัก ด้วยความร่วมมือกันเต็มที่จากสองฝ่าย

ภาพ
พ่อกำลังสอนครอบครัว

2.2

งานแห่งความรอดและความสูงส่งในบ้าน

ฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “บ้านเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ชอบธรรม” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด 11 ก.พ. 1999) บุคคลและครอบครัวร่วมมือกันทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งในบ้านของพวกเขา งานนี้ประกอบด้วยความรับผิดชอบที่ทรงกำหนดสี่ประการ:

  • การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู 1.2.1)

  • การดูแลคนขัดสน (ดู 1.2.2)

  • การเชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ (ดู 1.2.3)

  • การทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ (ดู 1.2.4)

เพื่อสนับสนุนสมาชิกในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งที่บ้าน ผู้นำศาสนจักรกระตุ้นให้พวกเขาสถาปนาบ้านที่พระวิญญาณสถิตอยู่ ทั้งยังกระตุ้นให้สมาชิกให้เกียรติวันสะบาโต ศึกษาและเรียนรู้พระกิตติคุณที่บ้าน และจัดกิจกรรมยามค่ำที่บ้านทุกสัปดาห์ด้วย ผู้นำเน้นเป็นพิเศษเรื่องการสนับสนุนบุคคลที่อาจขาดความช่วยเหลือหรือกำลังใจจากสมาชิกครอบครัว

2.2.1

บ้านที่พระวิญญาณสถิตอยู่

ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกทำบ้านเป็นสถานที่แห่งความเข้มแข็งทางวิญญาณและปีติ พวกเขาสามารถอัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้าเข้ามาในบ้านผ่านความพยายามอันเรียบง่าย บ้านทุกหลังสามารถเป็น “บ้านแห่งการสวดอ้อนวอน, บ้านแห่งการอดอาหาร, บ้านแห่งศรัทธา, บ้านแห่งการเรียนรู้, บ้านแห่งรัศมีภาพ, บ้านแห่งระเบียบ, บ้านแห่งพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:119)

2.2.2

การถือปฏิบัติวันสะบาโต

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาบุตรธิดาของพระองค์ให้ “ระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8) สมาชิกศาสนจักรมารวมกันในวันสะบาโตเพื่อรับส่วนศีลระลึกในความระลึกถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:12) วันสะบาโตเป็นวันแห่งการเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณที่โบสถ์และที่บ้าน สมาชิกจะเข้มแข็งขึ้นในวันสะบาโตเมื่อพวกเขาร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น:

  • การนมัสการส่วนตัวผ่านการสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร

  • การศึกษาและการเรียนรู้พระกิตติคุณ

  • การปฏิบัติศาสนกิจและการรับใช้ผู้อื่น

  • ประวัติครอบครัว

  • เวลาครอบครัวที่เปี่ยมด้วยปีติ

  • การชุมนุมที่เหมาะสมอื่นๆ

2.2.3

การศึกษาและการเรียนรู้พระกิตติคุณที่บ้าน

การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณมีบ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรสนับสนุน ผู้นำศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนศึกษาพระกิตติคุณที่บ้านในวันสะบาโตและตลอดสัปดาห์ การศึกษาพระกิตติคุณที่บ้านทำให้บุคคลและครอบครัวเข้มแข็ง อีกทั้งทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระ‍บิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระ‍เยซู‍คริสต์ลึกซึ้งขึ้นด้วย

การศึกษาพระคัมภีร์ตามโครงร่างใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เป็นหลักสูตรแนะนำของการศึกษาพระกิตติคุณที่บ้าน จงตามเรามา ทำให้บทเรียนในปฐมวัย โรงเรียนวันอาทิตย์ เยาวชนหญิง โควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน และเซมินารีสอดคล้องกับการศึกษาพระกิตติคุณในบ้าน

บุคคลและครอบครัวพึงแสวงหาการดลใจขณะเลือกศึกษาให้ตรงกับความต้องการของพวกเขามากที่สุด นอกจากข้อพระคัมภีร์ที่แนะนำไว้ใน จงตามเรามา แล้วพวกเขาอาจจะพิจารณาศึกษาสิ่งต่อไปนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน:

  • พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์เล่มอื่น

  • ข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญ

  • นิตยสารศาสนจักรและเนื้อหาจรรโลงใจอื่นๆ

2.2.4

กิจกรรมยามค่ำที่บ้านและกิจกรรมอื่นๆ

ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายได้แนะนำให้สมาชิกศาสนจักรจัดกิจกรรมยามค่ำที่บ้านทุกสัปดาห์ นี่เป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์ให้บุคคลและครอบครัวเรียนรู้พระกิตติคุณ เสริมสร้างประจักษ์พยาน สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน และสนุกสนานด้วยกัน

กิจกรรมยามค่ำที่บ้านยืดหยุ่นได้ตามสภาวการณ์ครอบครัว จะจัดในวันสะบาโตหรือวันอื่นและเวลาอื่นก็ได้ อาจประกอบด้วย:

  • การศึกษาและการแนะนำสั่งสอนพระกิตติคุณ (ใช้เนื้อหาใน จงตามเรามา ได้ตามต้องการ)

  • การรับใช้ผู้อื่น

  • การร้องเพลงหรือการเล่นเพลงสวดและเพลงปฐมวัย (ดู บทที่ 19)

  • การสนับสนุนสมาชิกครอบครัวใน โปรแกรมเด็กและเยาวชน

  • สภาครอบครัวเพื่อตั้งเป้าหมาย แก้ไขปัญหา และทำให้ตารางเวลาสอดคล้องกัน

  • กิจกรรมนันทนาการ

สมาชิกโสดและคนอื่นๆ สามารถมารวมกลุ่มกันนอกพิธีนมัสการปกติของวันสะบาโตเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมยามค่ำที่บ้านและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กันผ่านการศึกษาพระกิตติคุณ จงตามเรามา จะเป็นแหล่งช่วยสำหรับคนที่ปรารถนาจะศึกษาด้วยกัน

ผู้นำเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อการช่วยคนใหม่ๆ จัดกิจกรรมยามค่ำที่บ้านและศึกษาพระกิตติคุณ

นอกจากกิจกรรมยามค่ำที่บ้าน ผู้นำกระตุ้นให้ครอบครัวจัดเวลาอยู่ด้วยกันตลอดสัปดาห์ รวมถึงการรับประทานอาหารพร้อมหน้า การทำงานและรับใช้ด้วยกัน และกิจกรรมนันทนาการ

เพื่อให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกัน ผู้นำควรกันค่ำวันจันทร์ให้ว่างเว้นจากการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร

ผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกเสมอต้นเสมอปลายในการจัดกิจกรรมยามค่ำที่บ้านและการใช้เวลาด้วยกันเป็นครอบครัว (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33)

2.2.5

การสนับสนุนบุคคล

ผู้นำศาสนจักรช่วยเหลือสมาชิกผู้ขาดการสนับสนุนจากครอบครัว สมาชิกที่อาจต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมได้แก่:

  • เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ครอบครัวไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร

  • ผู้ใหญ่โสดทุกวัย รวมทั้งบิดามารดาตัวคนเดียวและสมาชิกที่เป็นม่าย

ผู้นำช่วยให้สมาชิกเหล่านี้และครอบครัวของพวกเขามีโอกาสได้ผูกมิตร รับประสบการณ์ทางสังคมที่ดีงาม และเติบโตทางวิญญาณ ผู้นำกระตุ้นและช่วยเหลือพวกเขาในการพยายามเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ อีกทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับใช้ในศาสนจักรด้วย

ภาพ
คู่สามีภรรยากำลังหัวเราะ

2.3

ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับศาสนจักร

งานแห่งความรอดและความสูงส่งมีบ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรสนับสนุน หลักธรรมต่อไปนี้ประยุกต์ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับศาสนจักร

  • ผู้นำและครูให้เกียรติบทบาทของบิดามารดาและช่วยเหลือพวกเขา ผู้นำและครูสร้างและรักษาการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับบิดามารดา

  • ผู้นำหาทางทำให้การประชุม กิจกรรม และโปรแกรมต่างๆ ของศาสนจักรสนับสนุนบุคคลและครอบครัวในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งในบ้านของพวกเขา

  • การประชุมบางอย่างของศาสนจักรจำเป็นในแต่ละวอร์ดหรือแต่ละสาขา การประชุมเหล่านี้รวมถึงการประชุมศีลระลึก การประชุมชั้นเรียนและโควรัมที่จัดในวันสะบาโต การประชุม กิจกรรม และโปรแกรมอีกหลายอย่างไม่จำเป็นต้องจัด ผู้นำจัดการประชุมเหล่านั้นตามความจำเป็นเพื่อช่วยสนองความต้องการของบุคคลและครอบครัว อีกทั้งคำนึงถึงสภาวการณ์และแหล่งช่วยในท้องที่ด้วย

  • บุคคลและครอบครัวพิจารณาสภาวการณ์ของตนเมื่อตัดสินใจเรื่องการเข้าร่วมโปรแกรมศาสนจักรที่ไม่จำเป็น

  • การรับใช้และการมีส่วนร่วมในศาสนจักรจำเป็นต้องเสียสละระดับหนึ่ง พระเจ้าจะประทานพรสมาชิกเมื่อพวกเขารับใช้และเสียสละในศาสนจักรของพระองค์ แต่จำนวนเวลาที่รับใช้ศาสนจักรไม่ควรทำให้สมาชิกสามารถทำหน้าที่รับผิดชอบของตนที่บ้าน ที่ทำงาน และที่อื่นได้น้อยลง ผู้นำและสมาชิกไม่ควรทำหน้าที่รับผิดชอบในศาสนจักรมากเกินไป ทั้งไม่ควรขอให้พวกเขาเสียสละมากเกินเหตุเพื่อสนับสนุนโปรแกรมหรือกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร

เมื่อสมาชิกปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้และการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ พระบิดาบนสวรรค์จะทรงอวยพรความพยายามของพวกเขา