จงตามเรามา
4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระ‍เยซู​คริสต์ ‘แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​’’


“4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระ‍เยซู​คริสต์ ‘แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงยืนอยู่กับเด็กสาวและชายคนหนึ่ง

พิมเสนแห่งกิเลอาด, โดย แอนนี เฮนรี

4–10 พฤศจิกายน

ฮีบรู 1–6

พระ‍เยซู​คริสต์, “แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​”

ท่านอาจแบ่งปันกับสมาชิกชั้นเรียนของท่านเกี่ยวกับความประทับใจบางอย่างที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ใน ฮีบรู 1–6 การทำเช่นนั้นอาจกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาความประทับใจของตนเองเมื่อพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

สมาชิกชั้นเรียนบางคนที่ไม่ได้แบ่งปันบ่อยๆ ในชั้นเรียนอาจเพียงต้องการคำเชื้อเชิญที่เจาะจงและเวลาสักเล็กน้อยเพื่อเตรียม ท่านอาจติดต่อพวกเขาสองสามคน หนึ่งหรือสองวันล่วงหน้า และขอให้พวกเขาเตรียมมาแบ่งปันข้อหนึ่งจาก ฮีบรู 1–6 ที่มีความหมายต่อพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ฮีบรู 1–5

พระ‍เยซู​คริสต์ทรงเป็น “แหล่ง​กำ‌เนิด​แห่ง​ความ​รอด​นิ‌รันดร์​”

  • ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันพระคัมภีร์ที่มีความหมายเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่พวกเขาพบในการศึกษาส่วนตัวและกับครอบครัวสัปดาห์นี้ได้อย่างไร ท่านอาจตีเส้นแบ่งเป็นห้าช่องบนกระดานเพื่อแทนห้าบทแรกในฮีบรู เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนวลีจากบทเหล่านี้ที่สอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และหมายเลขข้อที่พบในช่องที่เหมาะสม การรู้เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อศรัทธาของเราในพระองค์และความเต็มใจที่จะติดตามพระองค์อย่างไร

  • ฮีบรู 1–5 ใช้ภาพพจน์หลากหลายเพื่อบรรยายถึงพระผู้ช่วยให้รอด บางทีท่านอาจใช้ภาพพจน์เหล่านี้เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระพันธกิจของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ท่านอาจติดต่อสมาชิกชั้นเรียนหลายๆ คนสองสามวันล่วงหน้าและขอให้พวกเขานำอุปกรณ์จริงมาที่ชั้นเรียน เป็นอุปกรณ์จริงที่ใช้แทนคำบรรยายแต่ละข้อซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์หรือพระพันธกิจของพระองค์จาก ฮีบรู 1–5 (ดู ฮีบรู 1:3; 2:10; 3:1, 6; 5:9 เป็นพิเศษ) พวกเขาอาจอธิบายต่อชั้นเรียนว่าอุปกรณ์จริงของพวกเขาสอนอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และอ่านข้อที่สอดคล้องกันจากฮีบรู การรู้ความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างไร

ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8

พระเยซูคริสต์ทรงทนรับทุกขเวทนาทุกอย่างเพื่อว่าพระองค์จะเข้าพระทัยและทรงช่วยคนทุกข์ยากเหล่านั้น

  • อาจมีสมาชิกชั้นเรียนของท่านที่กำลังทนทุกข์กับการทดลองและบางครั้งรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งและสิ้นหวัง บางทีการสนทนาถึง ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8 อาจสร้างศรัทธาของพวกเขาว่าพวกเขาสามารถหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อรับความช่วยเหลือได้ วิธีหนึ่งที่จะเริ่มการสนทนาเช่นนั้นคือการเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงบางคนที่พวกเขารู้จักที่กำลังทนทุกข์และอาจกำลังสูญเสียความหวัง พวกเขาพบความจริงใดบ้างในข้อเหล่านี้ที่พวกเขาอาจแบ่งปันกับบุคคลนั้น สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปลอบประโลมและสนับสนุนพวกเขาด้วย ท่านอาจแบ่งกันคำพูดของประธานจอห์น เทย์เลอร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้

  • ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16 จะช่วยคนที่มองดูการทนทุกข์ในโลกและสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นหรือใส่พระทัยหรือไม่ด้วย บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจค้นข้อเหล่านี้เพื่อหาความจริงที่จะช่วยตอบคำถามดังกล่าว ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขานรับการทนทุกข์ของมนุษยชาติ อาจเป็นประโยชน์เช่นกันที่จะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันตัวอย่างจากพระคัมภีร์ที่ผู้คนได้รับการสนับสนุนจากพระเยซูคริสต์ขณะที่พวกเขามีความทุกข์ (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) สนทนาด้วยกันถึงสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเราได้เมื่อเราเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบาก

ฮีบรู 3:7–4:2

พรของพระผู้เป็นเจ้ามีให้แก่คนที่ “หาทำใจ [ของพวกเขา] แข็งกระด้างไม่”

  • ฮีบรู 3 และ 4 มีคำร้องขอให้วิสุทธิชนไม่ทำใจแข็งกระด้างและปฏิเสธพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประทานแก่พวกเขา เมื่อท่านและชั้นเรียนของท่านอ่าน ฮีบรู 3:7–4:2 และสนทนาวิธีที่เราจะประยุกต์ใช้ประสบการณ์ของชาวอิสราเอลโบราณในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ประยุกต์ใช้กับชาวฮีบรูในศาสนจักรยุคแรก (ท่านอาจให้สมาชิกชั้นเรียนดูเนื้อหาการศึกษาเกี่ยวกับข้อเหล่านี้ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) อะไรเป็นสาเหตุให้ผู้คนในยุคของเราทำใจแข็งกระด้าง เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาใจเราให้อ่อนโยนและตอบรับพระประสงค์ของพระเจ้า (ดู อีเธอร์ 4:15; แอลมา 5:14–15)

ฮีบรู 5:1–5

คนที่รับใช้ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าต้องได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

  • ใช่ว่าสมาชิกทุกคนในชั้นเรียนของท่านจะเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิต แต่ข่าวสารจาก ฮีบรู 5 เกี่ยวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าประยุกต์ใช้กับทุกคนที่รับการเรียกของศาสนจักร เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเรียนรู้ว่าการที่ “พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​เขา​เหมือน​อย่าง​ทรง​เรียก​อา‌โรน” หมายความว่าอย่างไร ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวนเรื่องราวของอาโรนที่รับการเรียกของเขาใน อพยพ 4:10–16, 27–31; 28:1 ข้อคิดใดจากเรื่องเล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจ ฮีบรู 5:1–5 สมาชิกชั้นเรียนรวมถึงผู้นำวอร์ดเคยได้รับการยืนยันเมื่อใดว่าบางคนได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้การเรียกที่เฉพาะเจาะจงเกิดสัมฤทธิผล การยืนยันนั้นช่วยให้พวกเขาสนับสนุนบางคนในการเรียกของพวกเขาได้ดีขึ้นอย่างไร (ท่านอาจต้องการขอให้สมาชิกชั้นเรียนไม่เปิดเผยรายละเอียดที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน) อาจมีสมาชิกชั้นเรียนเช่นกันที่อาจเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจพวกเขาเมื่อพวกเขาทำให้การเรียกของตนเองเกิดสัมฤทธิผล

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกชั้นเรียนของท่านเคยรู้สึกว่าพวกเขาเป็น “คน‍แปลก‍ถิ่น​ที่​ท่อง‍เที่ยว​ไป​ใน​โลก” (ฮีบรู 11:13) หรือไม่เนื่องจากความเชื่อของพวกเขาแตกต่างจากคนที่อยู่รอบข้าง บอกพวกเขาว่าเมื่อพวกเขาอ่าน ฮีบรู 7–13 พวกเขาจะพบตัวอย่างของบุคคลที่ได้รับและน้อมรับสัญญาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์แม้ว่าหลายคนรอบข้างพวกเขาไม่มีศรัทธา

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ฮีบรู 1–6

พระเยซูคริสต์ทรงทราบว่าการประสบกับความทุกขเวทนาเป็นอย่างไร

ประธานจอห์น เทย์เลอร์สอนว่า “เป็นเรื่องจำเป็นที่เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดประทับบนแผ่นดินโลกที่พระองค์ ‘ถูก​ทด‍ลอง‍ใจ​เหมือน​เรา​ทุก‍อย่าง’ และ ‘​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อน‌แอ​ของ​เรา’ [ดู ฮีบรู 4:15] เพื่อเข้าพระทัยความอ่อนแอและความเข้มแข็ง ความดีพร้อมและไม่ดีพร้อมของธรรมชาติมนุษย์ที่ตกไปอย่างน่าเวทนา และได้ทรงเผชิญกับความน่าซื่อใจคด ความเสื่อม ความอ่อนแอ และความเบาปัญญาของมนุษย์ —โดยได้ทรงพบกับการล่อลวงและการทดลองในทุกรูปแบบ และเอาชนะ พระองค์ทรงเป็น ‘มหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์’ [ดู ฮีบรู 2:17] ทรง​อธิษ‌ฐาน​ขอ​เพื่อ​เรา​ในอาณาจักรนิรันดร์ของพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงทราบวิธีประเมิน และให้คุณค่าอันเหมาะสมกับธรรมชาติของมนุษย์ เพราะพระองค์ที่ทรงเคยถูกวางไว้ในตำแหน่งเดียวกับที่เราเป็น ทรงรู้วิธีที่จะทนรับความอ่อนแอและความทุพพลภาพของเรา และสามารถเข้าใจความล้ำลึก อำนาจ และพลังของความทุกข์และการทดลองที่มนุษย์ต้องทนรับในโลกนี้ จึงทรงสามารถทนรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเข้าใจและด้วยประสบการณ์ในฐานะบิดาและพี่ชายองค์โต” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: จอห์น เทย์เลอร์ [2001], 204–205)

ตัวอย่างจากพระคัมภีร์ของคนที่ได้รับการปลอบโยนจากพระเยซูคริสต์

  • ยอห์น 8:1–11: พระเจ้าทรงปลอบโยนสตรีที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

  • ยอห์น 11:1–46: พระเจ้าทรงปลอบโยนมา‌รีย์​และ​มาร‌ธา​หลังจากลา‌ซา‌รัส​ น้องชายของพวกนางสิ้นชีวิต

  • อีนัส 1:4–6: พระเจ้าทรงให้อภัยบาปของอีนัสและทรงลบล้างความผิดของเขา

  • โมไซยาห์ 21:5–15: พระเจ้าทรงทำให้ใจของชาวเลมันอ่อนลงเพื่อพวกเขาจะผ่อนปรนสัมภาระของผู้คนของลิมไฮ

  • โมไซยาห์ 24:14–15: พระเจ้าทรงทำให้สัมภาระของผู้คนของแอลมาเบาลง

  • อีเธอร์ 12:23–29: พระคำของพระเจ้าปลอบโยนโมโรไน

  • 3 นีไฟ 17:6–7: พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาชาวนีไฟให้หายจากความทุพพลภาพของพวกเขา

  • หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10: พระเจ้าทรงปลอบโยนโจเซฟ สมิธ (ดู คพ. 123:17ด้วย)

ปรับปรุงการสอนของเรา

สร้างสภาพแวดล้อมทางวิญญาณ เมื่อท่านบ่มเพาะสภาพแวดล้อมที่เปี่ยมด้วยสันติสุข และความรักในชั้นเรียนของท่าน พระวิญญาณจะทรงสัมผัสใจคนที่ท่านสอนได้ง่ายขึ้น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่ออัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณเข้ามาในห้องเรียนของท่าน ท่านจะจัดที่นั่งใหม่หรือใช้ภาพหรือดนตรีเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณได้หรือไม่ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 15)