จงตามเรามา
7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9: “ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น”


“7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9: ‘ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“7–13 ธันวาคม โมโรไน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), โมโรไน: ชาวนีไฟคนสุดท้าย, 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้เนื้อแข็ง, 34¾ x 47 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

7–13 ธันวาคม

โมโรไน 7–9

“ขอให้พระคริสต์ทรงยกลูกขึ้น”

จุดประสงค์ของท่านคือช่วยให้ผู้คนเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ไม่ใช่แค่นำเสนอบทเรียน เตรียมสำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์โดยอ่าน โมโรไน 7–9 พร้อมกับนึกถึงสมาชิกชั้นเรียนไปด้วย โดยมองหาหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนทบทวน โมโรไน บทที่ 7, 8 หรือ 9 และหาความจริงประการหนึ่งที่มีความหมายต่อเขา จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันความจริงที่พบและบอกว่าความจริงนั้นเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โมโรไน 7:3–19

“สิ่งที่เป็นของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญและชักจูงให้ทำดีอยู่ตลอดเวลา”

  • เพื่อเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราต้องสามารถตัดสินระหว่างความดีกับความชั่วได้ บางทีการสนทนาความจริงใน โมโรไน 7:3–19 อาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนหลีกเลี่ยงการตัดสิน “ผิด” (โมโรไน 7:18) เพื่อเตรียมสนทนา ให้นักเรียนครึ่งชั้นค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อหาคำแนะนำที่โมโรไนให้เกี่ยวกับวิธีแยกแยะสิ่งที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า และอีกครึ่งชั้นหาวิธีแยกแยะสิ่งที่มาจากมาร จากนั้นพวกเขาจะสนทนาสิ่งที่พบและยกตัวอย่างสิ่งที่เชื้อเชิญให้พวกเขา “ทำดี, และรักพระผู้เป็นเจ้า, และรับใช้พระองค์” (โมโรไน 7:13) เราประยุกต์ใช้คำแนะนำของมอรมอนในการตัดสินใจประจำวันอย่างไร เราจะทำการเลือกที่ชอบธรรมและยังคงแสดงความรักต่อคนรอบข้างผู้ไม่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณได้อย่างไร

  • หลายคนสงสัยว่า “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าการกระตุ้นเตือนที่ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือจากความคิดของฉันเอง” ท่านจะเขียนคำถามนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า โมโรไน 7:13–16 เพื่อหาหลักธรรมที่จะช่วยตอบคำถามนี้ ข้อเหล่านี้จะช่วยให้เรารับรู้การดลใจจากพระเจ้าได้อย่างไร อาจช่วยได้ถ้าอธิบายว่า “พระวิญญาณของพระคริสต์” หรือที่เรียกกันว่าแสงสว่างของพระคริสต์ บางครั้งเราเรียกว่ามโนธรรมของเรา คำกล่าวของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” และวีดิทัศน์เรื่อง “Patterns of Light: Discerning Light” (ChurchofJesusChrist.org) จะเป็นประโยชน์เช่นกัน

โมโรไน 7:21–48

ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์แสวงหาศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

  • เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลดีขึ้น ท่านจะให้ดูม้านั่งสามขา (หรือดูภาพ) และขอให้สมาชิกชั้นเรียนพิจารณาว่าศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลเหมือนสามขานี้อย่างไร (ดูคำกล่าวของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) จากนั้นท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกหนึ่งในสามคุณลักษณะนี้และมองหาสิ่งที่มอรมอนสอนเกี่ยวกับคุณลักษณะดังกล่าวใน โมโรไน 7:21–48 สนทนาคำถามทำนองนี้: เหตุใดเราจึงต้องมีศรัทธาและความหวังเพื่อรับของประทานแห่งจิตกุศล คุณลักษณะเหล่านี้เชื่อมโยงเรากับพระเยซูคริสต์อย่างไร เหตุใดคุณลักษณะเหล่านี้จึงจำเป็นสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ อะไรจะเกิดขึ้นกับเราถ้าเราสูญเสียศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนใช้เวลาสักครู่เขียนความประทับใจที่ได้รับ

โมโรไน 8:4–21

การเข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้องจะช่วยให้เราทำการเลือกที่ถูกต้อง

  • ชั้นเรียนของท่านอาจไม่จำเป็นต้องสนทนาว่าเหตุใดการให้บัพติศมาทารกจึงไม่ถูกต้อง แต่ถ้อยคำของมอรมอนเกี่ยวกับหัวข้อนี้จะช่วยให้พวกเขาเห็นอันตรายของหลักคำสอนเท็จทั่วไป เพื่ออธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอน “หักล้างหลักคำสอนที่ผิด” (2 นีไฟ 3:12) ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน โมโรไน 8:4–21 ในกลุ่มหรือเป็นส่วนตัว นักเรียนครึ่งชั้นจะมองหาหลักคำสอนที่มอรมอนรู้สึกว่าผู้คนไม่เข้าใจ รวมถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ดู ข้อ 20) และการรู้จักผิดชอบ (ดู ข้อ 10) นักเรียนอีกครึ่งชั้นจะมองหาผลจากความผิดของผู้คน แต่ละกลุ่มจะแบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความสำคัญของการเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนที่ถูกต้อง เราจะหาคำอธิบายที่ถูกต้องของหลักคำสอนของพระคริสต์ได้จากที่ใด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเข้าใจหลักคำสอนถูกต้อง

  • ชั้นเรียนของท่านอาจจะได้ประโยชน์จากการทำตามแบบอย่างของมอรมอนในการช่วยให้คนบางคนเลือกได้ดีขึ้นโดยสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องให้พวกเขา ท่านจะทำสิ่งนี้โดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงคนบางคนจากพระคัมภีร์ ผู้ที่เลือกผิด ความจริงใดของหลักคำสอนจะช่วยให้บุคคลนั้นเลือกไม่ผิดอีก ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีเพื่อหาข้อพระคัมภีร์หรือคำกล่าวจากการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดที่จะช่วยให้บุคคลนั้นเข้าใจความจริงของหลักคำสอน จากนั้นท่านจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ

โมโรไน 9:25–26

เรามีความหวังในพระคริสต์ได้ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร

  • ข่าวสารสุดท้ายที่มอรมอนให้บุตรชายดังบันทึกไว้ใน โมโรไน 9:25–26 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความหวังในพระคริสต์ แม้ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนสิ้นหวัง ท่านอาจจะเริ่มโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนบอกเหตุผลที่โมโรไนรู้สึกท้อแท้ จากนั้นพวกเขาจะอ่านข้อเหล่านี้และเขียนความจริงที่มอรมอนกระตุ้นโมโรไนให้มุ่งเน้นไว้บนกระดาน ความจริงเดียวกันนี้จะ “ยก [เรา] ขึ้น” ในยุคสมัยของเราได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนจะยกตัวอย่าง “พระเมตตาและความอดกลั้น” ของพระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาเคยเป็นพยานด้วย หรือพวกเขาจะแบ่งปันแนวคิดที่จะช่วยกันทำให้พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์อยู่ “ในจิตใจ [เรา] ตลอดกาล” แม้เมื่อเราประสบความท้อแท้ (ข้อ 25)

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้อ่าน โมโรไน 10 ท่านจะเสนอแนะว่านี่อาจเป็นจังหวะเหมาะให้ใคร่ครวญว่าพวกเขาเคยประสบพยานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนอีกครั้งอย่างไรขณะพวกเขาศึกษาปีนี้

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

สิ่งนี้มาจากพระวิญญาณหรือไม่

เพื่อตอบคำถามว่า “เรารับรู้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณอย่างไร” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อ้าง โมโรไน 7:13 และกล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ยากเลย … สิ่งนั้นชักจูงให้ทำดี ลุกขึ้น ยืนอย่างภาคภูมิ ทำสิ่งถูกต้อง เมตตา และเอื้อเฟื้อหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าสิ่งนั้นมาจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 260–261)

ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเปรียบเทียบศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลกับม้านั่งสามขา โดยอธิบายว่าคุณธรรมสามประการนี้ “ทำให้ชีวิตเรามั่นคงแม้พื้นผิวที่เราเผชิญจะขรุขระหรือไม่สม่ำเสมอ …

“ศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลเสริมกันและกัน ขณะที่อย่างหนึ่งเพิ่ม อย่างอื่นจะเพิ่มตาม ความหวังมาจากศรัทธา เพราะปราศจากศรัทธา จะ มี ความหวังไม่ได้เลย ในทำนองเดียวกัน ศรัทธาเกิดจากความหวัง เพราะศรัทธาคือ ‘ความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้’

“ความหวังสำคัญทั้งต่อศรัทธาและจิตกุศล เมื่อการไม่เชื่อฟัง ความผิดหวัง และการผัดวันประกันพรุ่งกัดกร่อนศรัทธา ความหวังจะคอยประคอง เมื่อความไม่สมหวังและความไม่อดทนท้าทายจิตกุศล ความหวังจะยึดเหนี่ยวความตั้งใจของเราและกระตุ้นให้เราดูแลเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ความหวังยิ่งเจิดจ้า ศรัทธายิ่งมากขึ้น ความหวังยิ่งแรงกล้า จิตกุศลยิ่งบริสุทธิ์” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 26, 28)

“ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำสองความหมายที่เป็นไปได้ของวลี “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” ได้แก่

“หนึ่งคือความรักแบบให้อภัยและเปี่ยมด้วยเมตตาที่เหล่าสานุศิษย์ของพระคริสต์พึงมีให้กัน …

“[อีกความหมายหนึ่งคือ] ความรักอันเป็นการชดใช้ สูงสุด และไม่สิ้นสุดที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรา … นั่นคือจิตกุศล—ความรักอันบริสุทธิ์ของพระองค์ต่อเรา—ซึ่งหากปราศจากจิตกุศลเราจะไม่เป็นอะไรเลย” (Christand the New Covenant: The Messianic Message of the Book ofMormon [1997], 336)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการพึ่งพาตนเองทางวิญญาณ “เมื่อท่านสอน แทนที่จะเพียงบอกข้อมูล จงช่วย [สมาชิกชั้นเรียน] ให้ค้นพบความจริงแห่งพระกิตติคุณ … ด้วยตนเอง เมื่อพวกเขามีคำถาม บางครั้งเป็นการดีกว่าที่จะสอนพวกเขาถึงวิธีค้นหาคำตอบด้วยตนเอง” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 28) ตัวอย่างเช่น ท่านจะให้สมาชิกดู หัวข้อพระกิตติคุณ ที่ topics.ChurchofJesusChrist.org ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ