จงตามเรามา 2024
25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม: “ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์” อีเธอร์ 12–15


“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม: ‘ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์’ อีเธอร์ 12–15” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม อีเธอร์ 12–15” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
อีเธอร์เข้าไปในถ้ำ

อีเธอร์ซ่อนอยู่ในซอกหิน โดย แกรีย์ เอิร์นเนสต์ สมิธ

25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม: “ด้วยศรัทธาพระองค์จะทรงทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์”

อีเธอร์ 12–15

คำพยากรณ์ของอีเธอร์ต่อชาวเจเร็ด “สำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” (อีเธอร์ 12:5) เขา “บอกคนเหล่านั้นโดยแท้ถึงเรื่องทั้งปวง, นับจากกาลเริ่มต้นของมนุษย์” (อีเธอร์ 13:2) เขาเห็น “วันเวลาของพระคริสต์” และเยรูซาเล็มใหม่ในยุคสุดท้ายล่วงหน้า (อีเธอร์ 13:4) และเขาพูดถึงความ “หวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้, แท้จริงแล้ว, แม้มีที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า” (อีเธอร์ 12:4) แต่ชาวเจเร็ดปฏิเสธถ้อยคำของเพราะเพราะเหตุผลเดียวกับที่ผู้คนมักปฏิเสธคำพยากรณ์ของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าในปัจจุบัน—“เพราะพวกเขาหาเห็นมันไม่” (อีเธอร์ 12:5) การเชื่อในคำสัญญาหรือคำเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่เรามองไม่เห็นต้องใช้ศรัทธา อีเธอร์ต้องใช้ศรัทธาเพื่อพยากรณ์ถึง “เรื่องสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” ต่อคนที่ไม่เชื่อ โมโรไนต้องใช้ศรัทธาเพื่อวางใจว่าพระเจ้าจะทรงเปลี่ยน “ความอ่อนแอในการเขียน” ของเขาให้เป็นความเข้มแข็ง (ดู อีเธอร์ 12:23–27) ศรัทธาเช่นนี้ทำให้เรา “มั่นคงและแน่วแน่, ทำงานดีมากมายอยู่เสมอ, อันจะนำไปสู่การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า” (อีเธอร์ 12:4) และศรัทธาเช่นนี้ทำให้ “ทุกสิ่งสมบูรณ์” (อีเธอร์ 12:3)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

อีเธอร์ 12

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะทำให้เกิดปาฏิหาริย์

การที่ผู้คนต้องการเห็นหลักฐานก่อนจะเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและเดชานุภาพของพระองค์ถือเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน เช่นเดียวกับในยุคสมัยของอีเธอร์ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับแนวคิดนี้จาก อีเธอร์ 12:5–6?

ขณะที่ท่านอ่าน อีเธอร์ 12 ท่านอาจจะจดคำว่า “ศรัทธา” ทุกครั้งที่ท่านพบ พิจารณาว่าแต่ละตัวอย่างสอนอะไรเกี่ยวกับศรัทธา คำถามทำนองนี้อาจช่วยได้: ศรัทธาคืออะไร? การใช้ศรัทธาหมายความว่าอย่างไร? ผลของศรัทธาในพระเยซูคริสต์คืออะไร? ท่านจะบันทึกความคิดของท่านเกี่ยวกับพยานที่ท่านได้รับ “หลังการทดลองศรัทธาของท่าน” ด้วย (อีเธอร์ 12:6)

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระคริสต์ทรงฟื้น: ศรัทธาในพระองค์จะเคลื่อนภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 101–104 ด้วย

ให้ผู้อื่นแบ่งปัน และสอนในบางครั้ง ผู้คนเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่กำลังเรียนรู้หรือสอนในสภาพแวดล้อมที่เป็นทางการ ท่านอาจจะให้ผู้อื่นรวมทั้งเยาวชนสอนส่วนหนึ่งของบทเรียนไม่ว่าที่บ้านหรือที่โบสถ์

อีเธอร์ 12:1–9, 28, 32

พระเยซูคริสต์ประทาน “ความหวังอันประเสริฐยิ่งกว่า” แก่เรา

นอกจากข้อคิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับศรัทธาแล้ว อีเธอร์ 12 ยังกล่าวไว้มากเกี่ยวกับความหวังด้วย ให้คำถามเหล่านี้เป็นแนวทางการศึกษาของท่าน:

  • อะไรคือเหตุผลที่อีเธอร์ต้อง “[หวัง] โลกที่ดีกว่า”? (ดู อีเธอร์ 12:2–5)

  • สมอมีไว้ทำอะไร? ความหวังทำอะไรกับจิตวิญญาณของท่านซึ่งคล้ายกับที่สมอเรือทำกับเรือ? (ดู อีเธอร์ 12:4)

  • เราควรหวังอะไร? (ดู อีเธอร์ 12:4; โมโรไน 7:41)

  • พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ “ความหวังอันประเสริฐยิ่งกว่า” อย่างไร? (อีเธอร์ 12:32)

ดู โมโรไน 7:40–41; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 81–84 ด้วย

อีเธอร์ 12:23–29

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
พระเยซูคริสต์ทรงสามารถเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็ง

เมื่อเราอ่านข้อเขียนอันเปี่ยมด้วยพลังของโมโรไน เรามักจะลืมว่าเขากังวลกับ “ความอ่อนแอในการเขียน” ของตนและกลัวว่าคนจะล้อเลียนถ้อยคำของเขา (ดู อีเธอร์ 12:23–25) หากท่านเคยรู้สึกกังวลกับความอ่อนแอของท่านเอง ให้อ่านเกี่ยวกับการดิ้นรนของโมโรไน—และพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอด—ใน อีเธอร์ 12:23–29 ท่านอาจจะไตร่ตรองเวลาที่พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ท่านรับรู้ความอ่อนแอของท่านและทำให้ท่านเข้มแข็ง—แม้พระองค์ไม่ได้ทรงขจัดความอ่อนแอนั้นออกไปจนหมด คิดถึงความอ่อนแอที่ท่านมีอยู่เวลานี้ด้วย ท่านต้องทำอะไรจึงจะได้รับสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดว่าจะ “ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง”? (อีเธอร์ 12:27)

ท่านอาจจะค้นคว้าข้อต่อไปนี้เพื่อดูว่าคนอื่นๆ ในพระคัมภีร์ได้รับความเข้มแข็งผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไร:

ดู “พระเจ้าเป็นแสงฉัน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 37 ด้วย

อีเธอร์ 13:13–22; 14–15

การปฏิเสธศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าทำให้ฉันตกอยู่ในอันตรายทางวิญญาณ

ประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าการเป็นกษัตริย์ของชาวเจเร็ดเป็นตำแหน่งที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโคริแอนทะเมอร์ เมื่อ “ผู้ทรงอำนาจ [มากมาย] … หมายมั่นจะทำลาย [เขา]” (อีเธอร์ 13:15–16) ใน อีเธอร์ 13:15–22 ให้สังเกตว่าโคริแอนทะเมอร์ทำอะไรเพื่อป้องกันตนเองและศาสดาพยากรณ์อีเธอร์แนะนำให้เขาทำอะไรแทน ขณะที่ท่านอ่านส่วนที่เหลือของหนังสืออีเธอร์ ให้ไตร่ตรองผลของการปฏิเสธศาสดาพยากรณ์ เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเมื่อ “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงละความเพียรกับพวกเขา”? (อีเธอร์ 15:19) พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านี้? พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรเพื่อทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

อีเธอร์ 12:6–22

ศรัทธาคือการเชื่อในสิ่งที่ฉันมองไม่เห็น

  • ท่านอาจจะช่วยให้เด็กพูดทวนกับท่านว่า “ศรัทธาคือสิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” จาก อีเธอร์ 12:6 เด็กอาจจะชอบดูภาพที่แสดงตัวอย่างของศรัทธาใน อีเธอร์ 12:13–15, 19–21 (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 7885 และ หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) ให้เด็กอธิบายสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับแต่ละเรื่อง คำถามบางข้อต่อไปนี้จะช่วยท่านสนทนาตัวอย่างของศรัทธาเหล่านี้:

    • คนเหล่านี้หวังอะไร?

    • ศรัทธาของพวกเขาถูกทดสอบอย่างไร?

    • เกิดอะไรขึ้นเพราะศรัทธาของพวกเขา?

    ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์การใช้ศรัทธาของท่านเองด้วย

อีเธอร์ 12:4, 32

ความหวังเป็นเหมือนสมอให้จิตวิญญาณฉัน

  • เพื่อเข้าใจสิ่งที่ อีเธอร์ 12:4 สอนเกี่ยวกับความหวัง ท่านและเด็กจะดูภาพเรือและสมอ ทำไมเรือต้องมีสมอ? อะไรจะเกิดขึ้นกับเรือที่ไม่มีสมอ? ขณะที่ท่านอ่าน อีเธอร์ 12:4 ด้วยกัน ให้พูดคุยกันว่าความหวังช่วยเราเหมือนสมอช่วยเรืออย่างไร ให้เด็กวาดภาพเรือและสมอเอาไว้ใช้สอนผู้อื่นเกี่ยวกับความหวัง

  • หากเด็กต้องการนิยามของคำว่า ความหวัง ให้ช่วยพวกเขาหานิยามในคู่มือพระคัมภีร์ “ความหวัง” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ตามนิยามนี้และ อีเธอร์ 12:4, 32 เราควรหวังอะไร? (ดู โมโรไน 7:40–42 ด้วย) ช่วยให้เด็กคิดถึงคำอื่นของ ความหวัง พร้อมกับคำที่มีความหมายตรงข้ามกับ ความหวัง ท่านจะแบ่งปันกันเรื่องความจริงพระกิตติคุณบางอย่างที่ให้ความหวังด้วย

อีเธอร์ 12:23–29

พระเยซูคริสต์ทรงสามารถช่วยให้ฉันเข้มแข็งทางวิญญาณได้

  • บางครั้งเด็กพบเจอสถานการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกอ่อนแอเหมือนโมโรไน ช่วยเด็กหาใน อีเธอร์ 12:23–25 ให้พบว่าเหตุใดโมโรไนจึงรู้สึกแบบนี้และถามเด็กว่าพวกเขาเคยมีความรู้สึกคล้ายกันหรือไม่ จากนั้นให้พวกเขาอ่าน ข้อ 26–27 เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงช่วยเหลือโมโรไนอย่างไร

  • ท่านอาจจะให้เด็กวาดรูปสิ่งที่อ่อนแอและสิ่งที่เข้มแข็ง จากนั้นให้พวกเขาเติมบางคำและบางวลีจาก อีเธอร์ 12:23–29 ลงในภาพวาดที่สอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็งได้อย่างไร กระตุ้นให้เด็กนึกถึงความอ่อนแอที่พวกเขามี แล้วขอให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เป็นความเข้มแข็ง ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านเข้มแข็งมากพอจะทำงานยากบางอย่างได้

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
อีเธอร์คุกเข่าที่ปากถ้ำ

คำพยากรณ์ของอีเธอร์น่าอัศจรรย์ โดย วอลเตอร์ เรน