จงตามเรามา 2024
29 กรกฎาคม–4 สิงหาคม: “พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต” แอลมา 36–38


“29 กรกฎาคม–4 สิงหาคม: ‘พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต’ แอลมา 36–38” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“29 กรกฎาคม–4 สิงหาคม แอลมา 36–38” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
ผู้หญิงกำลังสวดอ้อนวอน

ผู้หญิง โดย เจน โทลแมน ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

29 กรกฎาคม–4 สิงหาคม: “พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต”

แอลมา 36–38

เมื่อแอลมาเห็นความชั่วร้ายรอบตัว ท่านรู้สึกถึง “โทมนัส” “ความยากลำบาก” และ “ความปวดร้าวอย่างมากของจิตวิญญาณ” (แอลมา 8:14) “ความชั่วร้ายเช่นนั้นในบรรดาคนเหล่านี้” ท่านพูดว่าชาวโซรัม “ทำให้จิตวิญญาณข้าพระองค์เจ็บปวด” (แอลมา 31:30) ท่านรู้สึกคล้ายกันหลังกลับจากงานเผยแผ่ในบรรดาชาวโซรัม—ท่านสังเกตว่าใจของชาวนีไฟหลายคน “เริ่มแข็งกระด้างขึ้น, และว่าพวกเขาเริ่มขุ่นเคืองเพราะความเคร่งครัดแห่งพระวจนะ” และนี่ทำให้ใจเขา “โทมนัสยิ่ง” (แอลมา 35:15) แอลมาทำอะไรกับสิ่งที่ท่านเห็นและรู้สึก? ท่านไม่ได้ท้อแท้หรือดูถูกเหยียดหยามสภาพของโลก แต่ “ท่านให้บุตรของท่านมารวมกัน” และสอนพวกเขาใน “เรื่องที่เกี่ยวกับความชอบธรรม” (แอลมา 35:16) ท่านสอนพวกเขาว่า “ไม่มีทางหรือวิธีอื่นใดซึ่งโดยทางนั้นมนุษย์จะได้รับการช่วยให้รอดได้, เว้นแต่ในและโดยผ่านพระคริสต์ … ดูเถิด, พระองค์ทรงเป็นพระวาทะแห่งความจริงและความชอบธรรม” (แอลมา 38:9)

แนวคิดสำหรับการสอนที่บ้านและที่โบสถ์

แอลมา 36; 38:5–6

ฉันสามารถเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า

น้อยคนจะมีประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจเหมือนการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมา แต่ทุกคนต้อง “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” แม้การเกิดนั้นจะเกิดขึ้นทีละนิดก็ตาม (แอลมา 36:23; 38:6) ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 36 ให้ไตร่ตรองความหมายของการเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างเช่น ในกระบวนการเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบาป? เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? การเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อสิ่งที่ท่านทำเพื่อตอบสนองความผิดพลาดของท่านเองอย่างไร? มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกบ้างในความเชื่อและการกระทำของท่าน? ไตร่ตรองว่าท่านกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร

ดู โมไซยาห์ 5:7; 27:25–26; แอลมา 5:14; 22:15; ฮีลามัน 3:35; “Alma the Younger Is Converted unto the Lord” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

แอลมา 36:12–24; 38:8–9

พระเยซูคริสต์ทรงแทนที่โทมนัสด้วยปีติ

บางครั้งผู้คนกลัวการกลับใจ เพราะมองว่าการกลับใจเป็นการลงโทษที่เจ็บปวดสำหรับบาป ท่านคิดว่าแอลมาจะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? เพื่อหาคำตอบ ท่านจะเปรียบเทียบชีวิตของแอลมาก่อนเขากลับใจ (ดู แอลมา 36:6–17) กับสิ่งที่เขาพูดถึงตนเองหลังจากกลับใจแล้ว (ดู ข้อ 18–27) ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 36:17–18 แอลมารับการให้อภัยนี้อย่างไร?

ดู แมทธิว เอส. ฮอลแลนด์, “ของประทานอันเป็นที่สุดแห่งพระบุตร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 45–47 ด้วย

แอลมา 37

พระคัมภีร์ได้รับการปกปักรักษาไว้ “เพื่อจุดประสงค์อันชาญฉลาด”

พิจารณาปาฏิหาริย์และพรของการมีพระคัมภีร์ในยุคปัจจุบัน! ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 37 ให้มองหาพรที่มาจากการมีพระคัมภีร์ (ดูตัวอย่างใน ข้อ 7–10, 18–19, 44–45)

ใน แอลมา 37:38–47 แอลมาเปรียบเทียบ “พระวจนะของพระคริสต์” กับเลียโฮนา ขณะท่านไตร่ตรองการเปรียบเทียบนี้ ให้ใคร่ครวญด้านต่างๆ ที่ท่านเคยประสบปาฏิหาริย์และพลังแห่งคำสอนของพระคริสต์ “วันแล้ววันเล่า” (แอลมา 37:40)

ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 39–43; “เมื่อฉันค้นพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 108; “Alma Testifies to His Son Helaman” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

ภาพ
ผู้หญิงอ่านพระคัมภีร์

พระคัมภีร์สอนเราให้รู้วิธีทำตามพระผู้เป็นเจ้า

แอลมา 37:1–14

ภาพ
seminary icon
“โดยเรื่องเล็กและเรียบง่ายสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น”

บางครั้งเราอาจรู้สึกเหมือนปัญหาของเราใหญ่โตและซับซ้อนจนวิธีแก้ต้องใหญ่โตและซับซ้อนด้วย แต่นั่นไม่ใช่วิธีของพระเจ้าเสมอไป ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 37:1–14 ให้พิจารณาว่าท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ทรงทำงานของพระองค์ จากนั้นท่านสามารถไตร่ตรองและจดบันทึกวิธีที่ท่านเคยเห็นหลักธรรมนี้ในชีวิตท่าน

ถ้าท่านกำลังจะสอนหลักธรรมนี้ให้กับใครบางคน ท่านจะใช้ตัวอย่างใดจากธรรมชาติหรือชีวิตประจำวันเพื่ออธิบายหลักธรรมนี้? ท่านสามารถหาบางตัวอย่างในข่าวสารของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “เรื่องเล็กและเรียบง่าย” (เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 89–92)

เรื่องเล็กและเรียบง่ายอะไรบ้างที่นำท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น?

บ่อยครั้งการเลือกที่ “เล็กและเรียบง่าย” ของเราทำให้เกิดความแตกต่างใหญ่หลวงในชีวิตเรา ท่านอาจจะเลือกหัวข้อหนึ่งจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก และถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง: การเลือกของฉันในเรื่องนี้ส่งผลต่อฉันและคนรอบตัวฉันอย่างไร? ฉันจะทำการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ และเรียบง่ายอะไรได้บ้างที่จะนำไปสู่สันติและความสุขมากขึ้น?

ดู ไมเคิล เอ. ดันน์, “ดีขึ้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 106–108 ด้วย

ใช้สิ่งเล็กและเรียบง่าย เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องในชีวิต การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณสามารถทำได้ด้วยวิธีเล็กๆ และเรียบง่าย ตัวอย่างเช่น ท่านจะใช้เกลือหรือยีสต์เล็กน้อยสอนเรื่องพลังของเรื่องเล็กและเรียบง่ายได้อย่างไร? (ดู มัทธิว 5:13; 13:33)

แอลมา 37:35–37

“ปรึกษาพระเจ้า”

ใน แอลมา 37:35–37 ให้มองหาคำเชื้อเชิญของแอลมาถึงฮีลามันบุตรชายของเขา คำเชื้อเชิญใดเหล่านี้ที่ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำตาม? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะไตร่ตรองความหมายของการ “ปรึกษาพระเจ้า” (ข้อ 37) ท่านเคยพยายามปรึกษาพระองค์อย่างไร? พระองค์ทรงชี้ทางให้ท่านเพื่อความดีอย่างไร?

แอลมา 38

การแบ่งปันประจักษ์พยานของฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จะทำให้คนที่ฉันรักเข้มแข็ง

ถ้อยคำของแอลมาถึงชิบลันบุตรชายให้ตัวอย่างที่ดีของวิธีเสริมสร้างความเข้มแข็งและให้กำลังใจคนที่เรารักให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ การศึกษา แอลมา 38 อาจจะให้แนวคิดบางอย่างสำหรับการช่วยให้สมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ พบความเข้มแข็งในพระเยซูคริสต์ จดสิ่งที่ท่านพบ

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 36:6–24

การกลับใจทำให้ฉันเกิดปีติในพระเยซูคริสต์

  • เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการกลับใจทำให้เกิดปีติ ท่านจะแจกกระดาษแผ่นหนึ่งที่หน้ายิ้มอยู่ด้านหนึ่งและหน้าเศร้าอยู่อีกด้านหนึ่งให้พวกเขา ขอให้พวกเขาฟังขณะท่านอ่านหรือสรุป แอลมา 36:13, 17–20 และยกด้านที่จะแสดงความรู้สึกของแอลมา ท่านจะให้เด็กโตจดคำหรือวลีที่อธิบายความรู้สึกของพวกเขา อะไรทำให้แอลมาเศร้า และอะไรทำให้เขาเกิดปีติ? จากนั้นท่านจะบอกเด็กเกี่ยวกับปีติที่ท่านรู้สึกเมื่อท่านกลับใจ

แอลมา 37:6–7

“โดยเรื่องเล็กและเรียบง่ายสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น”

  • เด็กอาจจะสนุกกับการหาของชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้สิ่งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น อย่างเช่น แบตเตอรี่ กุญแจรถ หรือแม้แต่ของเล่นที่ช่วยปลอบพวกเขาอาจจะใช้เป็นตัวอย่างได้ จากนั้นท่านจะอ่าน แอลมา 37:6–7 ด้วยกันและนึกถึงเรื่องเล็กหรือเรียบง่ายบางอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราทำ จะเกิดเรื่องใหญ่อะไรได้บ้างเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติเล็กๆ หรือเรียบง่ายเหล่านี้?

  • ท่านอาจให้เด็กลองทำดังนี้: เริ่มเติมน้ำใส่แก้วทีละหยด นี่เกี่ยวข้องกับ แอลมา 37:6–7อย่างไร? จากนั้นท่านจะพูดคุยกันว่า “เรื่องเล็กและเรียบง่าย” ของพระเจ้า เช่น การอ่านพระคัมภีร์ทุกวัน เป็นเหมือนหยดน้ำในแก้วอย่างไร

  • ช่วยเด็กคิดวิธีที่พวกเขาจะทำให้เกิดสิ่งสำคัญที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่โบสถ์ เพลง “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116–117) อธิบายหลักธรรมนี้เช่นกัน

แอลมา 37:38–47

พระคัมภีร์สามารถช่วยฉันได้ทุกวัน

  • ท่านจะช่วยให้เด็กรักพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนแอลมาช่วยฮีลามันได้อย่างไร? ท่านอาจจะให้เด็กดูภาพเลียโฮนา (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 68) หรือให้เด็กวาดเลียโฮนาขณะพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่รู้เกี่ยวกับเลียโฮนา (ดู แอลมา 37:38–47; 1 นีไฟ 16:10, 28–29) พระคัมภีร์เหมือนเลียโฮนาอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
เทพปรากฏต่อแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์

เทพปรากฏต่อแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์ โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์