จงตามเรามา 2024
15–21 กรกฎาคม: “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” แอลมา 30–31


“15–21 กรกฎาคม: ‘อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า’ แอลมา 30–31” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“15–21 กรกฎาคม แอลมา 30–31” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
แอลมาสอนคอริฮอร์

ทุกสิ่งชี้ให้เห็นว่ามีพระผู้เป็นเจ้า (แอลมากับคอริฮอร์) โดย วอลเตอร์ เรน

15–21 กรกฎาคม: “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า”

แอลมา 30–31

เรื่องราวใน แอลมา 30–31 แสดงให้เห็นอานุภาพแห่งพระวจนะอย่างชัดเจน—เพื่อความชั่วและเพื่อความดี “คำป้อยอ” และ “ทวีความรุนแรงในคำพูด” ของผู้สอนปลอมชื่อคอริฮอร์ส่อเค้าจะนำ “จิตวิญญาณเป็นอันมากลงไปสู่ความพินาศ” (แอลมา 30:31, 47) ทำนองเดียวกัน คำสอนของผู้แยกตัวออกจากชาวนีไฟชื่อโซรัมนำคนทั้งกลุ่มให้ตก “ไปสู่ความผิดมหันต์” และ “บิดเบือนทางของพระเจ้า” (แอลมา 31:9, 11)

ในทางตรงกันข้าม แอลมามีศรัทธาแน่วแน่ว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะมี “ผลอันมีพลังแก่จิตใจผู้คนยิ่งกว่าดาบ, หรือสิ่งใด” (แอลมา 31:5) ถ้อยคำของแอลมาแสดงความจริงนิรันดร์และอาศัยเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ทำให้คอริฮอร์พูดไม่ออก (ดู แอลมา 30:39–50) และอัญเชิญพรจากพระองค์มาบนคนที่ไปกับเขาเพื่อนำชาวโซรัมกลับมาสู่ความจริง (ดู แอลมา 31:31–38) สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ล้ำค่าสำหรับผู้ติดตามพระคริสต์ในปัจจุบันเมื่อข่าวสารเท็จมีอยู่ทั่วไป เราจะพบความจริงได้โดยวางใจ “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” เช่นเดียวกับแอลมา (แอลมา 31:5)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

แอลมา 30:6–31

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
ปฏิปักษ์พยายามหลอกลวงฉันด้วยคำสอนเท็จ

ใน แอลมา 30 คอริฮอร์ถูกเรียกว่า “ผู้ต่อต้านพระคริสต์” (ข้อ 6) ผู้ต่อต้านพระคริสต์คือคนใดหรือสิ่งใดที่ต่อต้านพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณทั้งอย่างลับๆ หรืออย่างเปิดเผย ข้อใดใน แอลมา 30:6–31 แสดงให้เห็นว่าคอริฮอร์เหมาะกับคำอธิบายนี้? การศึกษาคำสอนเท็จของคอริฮอร์จะช่วยให้ท่านแยกแยะและปฏิเสธคำสอนที่คล้ายกันได้ กิจกรรมต่อไปนี้อาจช่วยท่านในการศึกษาได้:

  • ท่านจะใช้บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดกับการเลียนแบบผิดๆ ของซาตานได้ดีขึ้น? บางตัวอย่างได้แก่เหยื่อตกปลา เงินปลอม และการโฆษณาหลอกลวง ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นของปลอม? ท่านจะแยกแยะความจริงได้อย่างไร?

  • ท่านอาจจะเขียนหลักคำสอนเท็จที่คอริฮอร์สอนใน แอลมา 30:6–31 ออกมาเป็นข้อๆ คำสอนใดของเขาอาจจะล่อใจในปัจจุบัน? (ดู แอลมา 30:12–18, 23–28) การยอมรับแนวคิดดังกล่าวส่งผลเสียอะไรบ้าง? ปฏิปักษ์ใช้ข่าวสารเท็จอะไรเพื่อพยายามหลอกลวงท่านในปัจจุบัน?

  • แอลมาทำอะไรเพื่อพูดโต้ตอบคำสอนของคอริฮอร์ด้วยความจริง? (ดู แอลมา 30:31–54) ท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมเดียวกันนี้ในชีวิตท่านอย่างไร?

เช่นเดียวกับแอลมา ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบันช่วยให้เรารู้ความแตกต่างระหว่างความจริงกับคำเท็จของซาตาน ท่านพบคำแนะนำอะไรในข่าวสารเหล่านี้: แกรีย์ อี. สตีเวนสัน “อย่าหลอกข้าพเจ้าเลย” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 93–96); ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “อย่าถูกหลอกเลียโฮนา, พ.ย. 2004, 54–58)

ดู “บอกมา สัจจะคืออะไร,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 139 ด้วย

ภาพ
คอริฮอร์พูดคุยกับแอลมา

คอริฮอร์เผชิญหน้าแอลมา โดย โรเบิร์ต ที. แบร์เรตต์

แอลมา 30:39–46

ทุกสิ่งล้วนเป็นพยานถึงพระผู้เป็นเจ้า

คนมากมายทุกวันนี้เชื่อว่าไม่มีพระผู้เป็นเจ้า ท่านพบอะไรใน แอลมา 30:39–46 ที่ช่วยให้ท่านรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีอยู่จริง? อะไรขัดขวางเราไม่ให้รู้จักพระองค์? พระผู้เป็นเจ้าประทานประจักษ์พยานอะไรแก่ท่านอีกบ้างที่แสดงว่าพระองค์ทรงพระชนม์?

แอลมา 30:56–60

ปฏิปักษ์ไม่สนับสนุนผู้ติดตามเขา

ท่านเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 30:56–60 เกี่ยวกับวิธีที่มารปฏิบัติต่อผู้ติดตามเขา? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคุ้มครองครอบครัวท่านจากอิทธิพลของมาร?

ดู แอลมา 36:3 ด้วย

แอลมา 31

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังนำผู้คนไปสู่ความชอบธรรม

ปัญหาของชาวโซรัมที่แยกมาจากชาวนีไฟอาจดูเหมือนต้องแก้ด้วยการเมืองหรือการทหาร (ดู แอลมา 31:1–4) แต่แอลมาได้เรียนรู้ว่าต้องวางใจ “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 31:5) ท่านเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 31:5 เกี่ยวกับพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า? (ดู ฮีบรู 4:12; 1 นีไฟ 15:23–24; 2 นีไฟ 31:20; เจคอบ 2:8; ฮีลามัน 3:29–30 ด้วย)

ขณะที่ท่านศึกษา แอลมา 31 ท่านจะพบความจริงพระกิตติคุณอะไรอีกบ้างที่ประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ชีวิตของท่านได้? ตัวอย่างเช่น:

  • ท่านเคยเห็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้านำผู้คนให้ทำสิ่งดีอย่างไร? (ดู ข้อ 5)

  • เปรียบเทียบทัศนคติ ความรู้สึก และการกระทำของแอลมา (ดู ข้อ 34–35) กับของชาวโซรัมเกี่ยวกับผู้อื่น (ดู ข้อ 17–28) ท่านจะเป็นเหมือนแอลมามากขึ้นได้อย่างไร?

  • ท่านพบอะไรใน แอลมา 31:30–38 ที่สามารถช่วยผู้โทมนัสเพราะบาปของผู้อื่น?

แอลมา 31:5-6

เพราะพระเยซูคริสต์ ทุกคนจึงเปลี่ยนแปลงได้

สังเกตกลุ่มคนที่แอลมาพาไปสอนพระกิตติคุณแก่ชาวโซรัมด้วย (ดู แอลมา 31:6) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตของคนเหล่านี้ใน โมไซยาห์ 27:8–37; 28:4; แอลมา 10:1–6; 11:21–25; 15:3–12 ประสบการณ์ของพวกเขาอาจจะมีข่าวสารอะไรสำหรับท่าน?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 30

พระคัมภีร์มอรมอนเตือนฉันให้ระวังคำสอนเท็จ

  • ท่านอาจจะให้ดูของบางอย่าง (เช่น เงินหรืออาหาร) และของเล่นเลียนแบบของเหล่านี้ นี่จะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับวิธีแยกแยะความแตกต่างระหว่างของจริงกับของปลอม จากนั้นท่านจะช่วยเด็กหาคำโกหกหรือคำสอนเท็จที่คอริฮอร์สอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าจาก แอลมา 30:12–18 ใน แอลมา 30:32–35 แอลมาตอบสนองคำสอนเท็จเหล่านั้นอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของเขา?

แอลมา 30:44

ทุกสิ่งล้วนเป็นพยานถึงพระผู้เป็นเจ้า

  • แอลมาพูดถึงวิธีที่สิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าและบนแผ่นดินโลกเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ออกไปเดินเล่นข้างนอกกับเด็กๆ หรือยืนตรงหน้าต่างขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 30:44 ขอให้พวกเขาชี้สิ่งที่เห็นซึ่งช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริงและทรงรักพวกเขา พวกเขาจะวาดรูปสิ่งที่พบเห็นด้วยก็ได้ (ดู หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้)

  • ขณะที่ท่านและเด็กๆ ร้องเพลง “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) ให้ส่งลูกบอลหรือของอย่างอื่นไปรอบๆ หยุดเพลงเป็นระยะและขอให้เด็กที่ถือของชิ้นนั้นบอกหนึ่งอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสร้างและเขารู้สึกขอบพระทัย

เด็กเรียนรู้ผ่านภาพ ภาพจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ดีขึ้นและจำสิ่งที่สอนพวกเขาได้นานขึ้น กิจกรรมส่วนใหญ่สำหรับเด็กในโครงร่างนี้แนะนำให้ใช้ภาพ ท่านอาจจะให้ดูภาพเดียวกันอีกครั้งในอนาคตเพื่อช่วยให้เด็กจำสิ่งที่เรียนรู้

แอลมา 31:5

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลัง

  • ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังเหนือ “สิ่งใด”? (แอลมา 31:5) ท่านอาจจะขอให้พวกเขานึกถึงบางสิ่งหรือบางคนที่มีพลัง หรือให้ดูภาพสิ่งที่มีพลัง อะไรทำให้สิ่งเหล่านั้นมีพลัง? อ่าน แอลมา 31:5 ด้วยกันและถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่าข้อนี้หมายความว่าอย่างไร แบ่งปันประสบการณ์หนึ่งเมื่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลอันทรงพลังต่อท่าน

แอลมา 31:8–35

พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของฉัน

  • สรุปเรื่องราวของแอลมาและชาวโซรัมพอสังเขป โดยใช้ข้อต่างๆ จาก แอลมา 31:8–35 (ดู “บทที่ 28: ชาวโซรัมกับแรมีอัมทัมเรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 78–80 ด้วย) ช่วยเด็กระบุสิ่งที่ชาวโซรัมกล่าวในการสวดอ้อนวอน (ดู แอลมา 31:15–18) ขณะพวกเขาช่วยท่านสร้างหอสูงแรมีอัมทัมด้วยไม้บล็อกหรือก้อนหิน อธิบายว่าเราไม่ควรสวดอ้อนวอนแบบนี้ ขณะที่ท่านและเด็กพูดคุยกันว่าเราควรสวดอ้อนวอนอย่างไร ให้พวกเขาเอาไม้บล็อกหรือก้อนหินออกทีละก้อน พวกเขาอาจจะเก็บหินก้อนหนึ่งไว้ข้างเตียงเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้สวดอ้อนวอนทุกเช้าค่ำ พวกเขาอาจจะชอบตกแต่งก้อนหิน

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
ชาวโซรัมสวดอ้อนวอนบนแรมีอัมทัม

ใจของชาวโซรัม “ทะนงจนถึงการโอ้อวดอย่างใหญ่หลวง, ด้วยความถือดี” (แอลมา 31:25)